ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
ตั้งใจจะพักเรื่องการเมืองที่กำลังร้อนขึ้นหลังวันที่ 28 มี.ค.นี้ เลยหลบไปแถวแม่น้ำเพื่อให้ลมเย็นๆ กับสายน้ำที่ชุ่มฉ่ำๆ ไหลมาชโลมให้ชื่นจิตชื่นใจ แต่ไปจนถึงริมฟังแม่โขง กลับมาไม่วายร้อนรุ่มใจดังเดิม ไม่ใช่เพราะดื่มไปหลายกลมจนตัวร้อน แต่ได้ไปฟังข่าวแว่วๆ มาแล้วท่าทางไม่ค่อยจะดี....
วันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็น ‘วันหยุดเขื่อนโลก' และตรงกับงานบุญ 100 วัน คุณมด ‘วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์' ที่ ตำบลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หลังไปร่วมงาน เลยไปอีกหน่อยเป็นอำเภอโขงเจียม ติดแม่น้ำโขง ได้ดูแม่น้ำอันกว้างใหญ่สมใจ แต่ชาวบ้านที่งานบุญคุณมดเล่าให้ฟังว่า หลังท่านสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนประเทศลาวแล้ว ดูเหมือนจะจับมือปลงใจกันเตรียมสร้างฝายห้วยกุ่มกั้นแม่น้ำโขง
ที่สำคัญคือ เขาบอกว่าจะสร้างฝายแต่สูงถึง 18 เมตร
ดูท่าขนาดมันน่าจะใหญ่โตกว่าเขื่อนปากมูลเสียอีก !!!
ครั้นเมื่อหันหน้าไปอีกทางสุดปลายฝั่งตะวันตกของประเทศ เป็นที่วางตัวของแม่น้ำคงหรือที่รู้จักกันในนามสาละวิน สายน้ำสุดท้ายในอุษาคเนย์ที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น แต่คราวนี้คงนี้ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันกับแม่น้ำโขง เพราะด้วยความร้อนรุ่มอยากได้ไฟฟ้ามากๆของจีนเพื่อไปทำให้ประเทศเมลืองมลังการสมเกียรติแห่งมหาอำนาจ เซี่ยงไฮ้ หรือเสิ่นเจิ้น ประตูการค้าเสรีตะวันออกจึงจะต้องสว่างไสวทั้งวันทั้งคืน เลยดำริมาแล้วสร้างเขื่อนบนแม่น้ำคงหรือนู่เจียงตามคำเรียกจีน
ส่วนพม่าเมื่อปกครองแบบเผด็จการทหาร การค้าจึงไม่ค่อยดี เห็นว่าจีนและไทยอยากได้ไฟฟ้าเลยตั้งใจให้มาลงทุนสร้างเขื่อนและขายไฟเลียนแบบลาวที่ขายไฟฟ้าให้ไทยจากเขื่อนน้ำเทิน 1 และ 2 ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นบนแม่น้ำคงจะมีเขื่อนอีกราวๆ 4 เขื่อน ติดชายแดนไทยเสีย 2 เขื่อน และระบุไว้ในแผนสำรองไฟฟ้าในอนาคตหรือพีดีพี 2007 ซึ่งเตรียมซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำคงมาใช้ ที่สำคัญท่านสมัครเพิ่งบินไปคุยกับท่านตานฉ่วยแห่งพม่าอีกประเทศหนึ่ง ในวันหยุดเขื่อนโลกพอดี แต่สำหรับความร่วมมือด้านพลังงานแล้วดูเหมือนจะหยุดไม่ได้ ดูอี๋อ๋อกันพอสมควร ไม่คุยเรื่องส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่คุยเรื่องอองซานซูจี และดูชอบใจการปกครองแบบลาวกับพม่าเป็นที่สุด
ทั้งที่ปากท่านบอกว่าเกลี๊ยดเกลียดคอมมิวนิสต์จนเลยต้องเอาตัวไปเอี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 19 และไม่ชอบเผด็จการทหารม๊ากมาก จนด่าทหารที่มายึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 และถึงขั้นอดรนทนไม่ได้เลยไปรับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนเพื่อลงเลือกตั้งตามระบอบ ‘ประชาธิปไตย' จนมาเป็นนายกฯ เสียเองเลย
แต่...สงสัยเวลาเป็น ‘ประชาธิปไตย' การคุยธุรกิจกับเผด็จการดูเหมือนมันจะคล่องปากกว่า
น้ำคงกับน้ำโขง ตำนานพื้นบ้านบอกว่าเป็นแม่น้ำพี่น้องกันครับ แม่น้ำทั้งสองสายไหลมาจากทางเหนือ น้ำคงเป็นพี่ ส่วนน้ำโขงเป็นน้อง วันหนึ่งพี่น้องอยากเห็นทะเลจึงชวนกันลงมา น้ำโขงออกมาก่อนในเวลาน้ำคงหลับไหลโดยมีลิงลมนำทาง ทำให้น้ำคงเมื่อตื่นขึ้นมามองไม่เห็นน้องจึงโกรธและให้งูนำทางเพื่อให้มาถึงทะเลก่อน นับแต่นั้นมา 2 พี่น้องก็ไม่ถูกกัน จนกล่าวกันว่าหากจะล่องแม่น้ำหนึ่งห้ามเอ่ยนามอีกแม่น้ำหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม่น้ำทั้ง 2 สาย เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ เป็นสายชีวิตของป่า เป็นที่พักพิงของคนริมน้ำ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใด ทั้งอาบทั้งกินเลี้ยงคนอย่างไม่เลือกถิ่นเลือกเผ่าพันธุ์ ยิ่งปลาแม่น้ำเป็นทั้งอาหารและเป็นทั้งเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางคมนาคมเก่าแก่ของภูมิภาคมานมนาน แต่บัดนี้แม่น้ำสองพี่น้องที่เคยไม่ถูกกันกลับต้องมาเผชิญชะตากรรมเดียวกัน นึกสงสัยเหลือเกินว่า น้ำคง น้ำโขง จะกลับมาคืนดีเพื่อเผชิญปัญหาร่วมกันหรือยัง
แนวคิดการพัฒนาด้วยการสร้างเขื่อนมีมานานกาเล แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลที่เห็นชอบมักมาจากการเลือกตั้ง เช่น การสร้างเขื่อนในแม่น้ำคง ดำริกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2522 แต่กว่าจะเห็นชอบก็รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในพ.ศ.2534 สุดท้ายรัฐบาลนี้ถูกรัฐประหารไป โดยทิ้งมรดกเป็นเขื่อนปากมูลจากโครงการโขง ชี มูล เอาไว้
ส่วนเขื่อนสาละวินแม้จะถูกยกไปแต่ได้รับการปัดฝุ่นและเห็นชอบอีกครั้งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2549 พร้อมกับการปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีดำริเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการเปลี่ยนหนองน้ำที่มีงูเห่าให้กลายเป็นสนามบิน และรัฐบาลสมัครที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันดูเหมือนจะมีท่าทีเช่นเดียวกัน บางทีเสียงของคนข้างมากอาจจะเป็นความชอบธรรมบางประการสำหรับการเอาเปรียบคนส่วนน้อยก็ได้
ปัจจุบันการแสวงหาทรัพยากรโดยดูดเอาจากภาคชนบทไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุนนิยมหรือเสรีนิยมที่เป็นกติกาไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับศีลธรรม หากจะอยู่ในโลกแบบนี้ให้สบายใจคงไม่จำเป็นต้องรู้สึกรู้สาอะไร ถึงแม้การสร้างเขื่อนสาละวินจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่อาศัยป่าและแม่น้ำจะต้องถูกทหารพม่ากวาดล้างและเกณฑ์เป็นแรงงาน หรือเราไม่จำเป็นต้องพยายามเงี่ยหูฟังเมื่อชาวบ้านในฝั่งลาวอยากพูดถึงความลำบากของตัวเองแต่ไม่มีสิทธิเพราะคำสั่งอันเข้มงวดของรัฐบาลแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์
และเรายิ่งไม่ต้องสนใจการตายของวนิดาที่พูดเรื่องความทุกข์ยากของชาวบ้านจากการสร้างเขื่อนปากมูลมานานนับสิบปี...
เพราะถ้าเราคิดถึงศีลธรรม เราจะอยู่ในห้องแอร์ไม่ความสุข เดินห้างซื้อเสื้อผ้าก็ไม่สบายใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันแดงฉานไปด้วยเลือดและเย็นยะเยียบไปด้วยน้ำตาทั้งนั้น !!
สิ่งที่ผมร้อนรุ่มหลังจากที่ได้รับรู้ข่าวสารเหล่านี้คือ เรื่อง ‘อำนาจการต่อรอง' ที่ยังคงไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนเมืองกับชนบท และการที่เสียงข้างมากถูกนำไปอ้างในการจัดการทุกสิ่งอย่างโดยกลบเสียงของผู้ถูกช่วงชิงทรัพยากรไป
ในสังคมที่ไม่มีกติกาเรื่องคุณธรรมและเราคงไม่สามารถปฏิเสธอย่างไร้เดียงสาได้ว่า ‘เขื่อน' นำไปสู่ ‘การพัฒนา' ในเมื่อเรายังปฏิเสธการเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้ ดังนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนสักเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ต้องเรียกร้องเอาจากผู้อ้างอำนาจจากเสียงประชาชนต้องไม่ใช่การเรียกร้องเห็นอกเห็นใจในความเจ็บปวด แต่ควรจะเป็นความเท่าเทียมกันในการอ้างสิทธิซึ่งผู้มีอำนาจจะต้องฟังแบบเดียวกับที่ชาวปากมูลซึ่งรวมตัวกันจนสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลทุกสมัยได้อย่างยาวนาน
และจะยิ่งก้าวหน้าไปกว่านั้น หากสามารถใช้อำนาจการต่อรองนั้น นำไปสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมที่รัฐจะต้องสร้างสวัสดิการรองรับพลเมืองของรัฐในทุกมิติและทุกประเด็น ในเมื่อรัฐสร้างความร่ำรวยจากการเสียสละของคนกลุ่มหนึ่ง รัฐจึงต้องจัดสรรเงินจากความร่ำรวยนั้นมาเป็นเงินยังชีพที่สมน้ำสมเนื้อยามพลเมืองของรัฐว่างงาน หรือมีเงินค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นการประกันในระดับหนึ่งว่า เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การพัฒนา' จากรัฐ...
และทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งเติบโตขึ้นแล้ว คนอีกส่วนหนึ่งที่ถูกช่วงชิงทรัพยากรไปนั้นจะไม่ถูกทิ้งขว้างอย่างไม่เห็นหัว...