Skip to main content

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

เพื่อนนักโบราณคดีส่งภาพความเสียหายที่ ‘ปราสาทหินพนมรุ้ง’ จังหวัดบุรีรัมย์มาให้ดูอย่างเศร้าๆ สะพานนาคราชชั้นที่ 1, 2 และ 3 เศียรนาคถูกตีใบหน้าตรงส่วนปากกึ่งจมูก เสียหายไป 13 เศียร โคนนทิ พาหนะแห่งองค์ศิวะถูกตีทำลายบริเวณใบหน้า ส่วน ‘แท่งศิวลึงค์’ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลในไศวะนิกาย สัญลักษณ์แห่งองค์ศิวะถูกเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมบนฐานโยนีแล้วเอาลงไปวางไว้ในร่องน้ำมนต์

ข้างนอกปราสาทแม้แต่ทวารบาลผู้รักษาประตูประจำทิศใต้ก็ไม่อาจรักษาดูแลตัวเองได้ แขนและมือถูกทำลายมือข้างหนึ่งถูกวางไว้ที่สะพานนาคราชชั้นที่ 1 มืออีกข้างถูกเอาไปวางที่สะพานนาคราชชั้นที่ 2 ด้านทิศเหนือ สิงห์ทวารบาลด้านทิศตะวันตกของปราสาทใบหน้าถูกทำลายทั้ง 2 ตัว รวมจำนวนตำแหน่งของโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 18 แห่ง

ที่วงกลมกลีบบัวบนพื้นพบเครื่องบูชาเป็นพวงมาลัย บุหรี่ แก้วน้ำ เงินเหรียญ 10 บาท มีข้อสันนิษฐานกันว่าเบื้องลึกแล้วคงเป็นการทำพิธีกรรมบางอย่างเพื่อสลาย ‘อำนาจ’ โดยมีเป้ามุ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลายฝ่ายผูกโยงกันไปเป็น ‘คุณไสยทางการเมือง’ ที่จงใจทำให้สัญลักษณ์ของการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง ‘ศิวลึงค์’ อันเป็นศูนย์กลางโลกและการกำเนิดไป ‘ลดทอนพลัง’ บางอย่างของคนบางคน.. โดยเฉพาะ ‘คนเล่นของเขมร’ แถวๆ บุรีรัมย์..คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

คุณไสยการเมืองนี้ก็คล้ายกับกรณี ‘ทุบพระพรหมเอราวัณ’ กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ถูกนำมาผูกโยงกันก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  แม้แต่คนในวงการโหรที่ชอบโหนอย่าง วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือที่รู้จักกันในนามโหร คมช.ก็รีบสะท้อนออกมาว่า จะเกิดวิกฤตไม่ว่าภัยธรรมชาติหรือเหตุการณ์นองเลือด ให้ทำบุญรักษาศีลกันไว้เยอะๆ ให้หันหน้าเข้าหากัน เลยไม่วายกล่าวถึง ‘น้าจิ๋วหวานเจี๊ยบ’ ให้มาช่วยประคอง ‘ลุงหมัก’ ด้วย

ก็ว่ากันไป..การเมืองกับไสยศาสตร์

อีกมุมมองหนึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะการทุบทำลายโบราณวัตถุในโบราณสถานครั้งนี้อาจมีเงื่อนงำความขัดแย้งจากภายในกรมศิลปากรท้องถิ่นเอง บล็อกเกอร์ชื่อ  ‘ศุภศรุต’ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าของที่ถูกทุบทำลายเป็นเฉพาะรูปที่เป็นซีเมนต์หล่อจำลองใหม่อายุไม่กี่ปี เครื่องบูชาๆ ขอขมาก็เป็นของง่ายๆ เพียงแค่บุหรี่ หรือดอกไม้ธูปเทียน เท่านั้น บางทีการทุบทำลายเพียงของจำลองอาจเป็นการตั้งใจเลือกของ “กลุ่มคน” ผู้เสียผลประโยชน์ อาจเป็นทั้งลูกจ้าง ข้าราชการ แม่ค้า พระ ที่อยู่รายล้อมรอบซากปราสาทโบราณมาก่อนแต่ถูกกีดกันออกไปจากเดิม  

ก็ไม่แน่..ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร

แต่ที่แน่ๆ การทุบทำลายครั้งนี้ เป็นการทุบทำลายความรู้สึกของคนท้องถิ่น เพราะไม่ว่าปราสาทพนมรุ้งจะสร้างด้วยแรงศรัทธาแบบฮินดู ที่ดูห่างไกลกับศรัทธาในสังคมพุทธและผีแบบสังคมไทยในปัจจุบันก็ตาม แต่แท้จริงแล้วปราสาทพนมรุ้งยังคงมีพลังทางวิญญาณที่ส่งผ่านกาลเวลามาถึงผู้คนรุ่นปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย หินทรายไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ที่นี่ยังคงซึมซับศรัทธาทุกแบบไว้อยู่เสมอ

แต่ไม่ว่าคำตอบของการทุบทำลายจะไปตามแนวประเด็นใดก็ตาม มันก็ล้วนสะท้อนวิธีคิดของสังคมที่มีต่อ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ อยู่ไม่น้อย ‘คุณค่า’ ของโบราณวัตถุ/ สถานควรจะถูกหวงแหนไว้แบบใดกันแน่

ครั้งหนึ่งที่ปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้นี้ เคยเป็นจุดกำเนิดของเรียกร้อง ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ กันแทบเป็นแทบตาย เพราะมันถูกขโมยจากที่นี่ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ชิคาโก สหรัฐอเมริกา เราเคยคิดกันไปถึงว่าภูมิหลังแห่งชาติถูกขโมยไปเสียด้วยซ้ำในครานั้น แต่เมื่อ ‘ทับหลัง’ กลับมา เพียงเวลาผ่านไป 20 ปีนี้ สังคมไทยคงลืมทับหลังที่สลักภาพองค์นารายณ์อนันตศายินที่มีดอกปัทมะผุดพรายจากนาภะ พรหมสถิตย์อยู่เหนือดอกบัวเสด็จสู่การสร้างโลกชิ้นนี้ไปแล้ว และบางคนอาจนึกไปเลยว่า ‘เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ด้วยหรือ’

หรือบางทีที่เราลืมเป็นเพราะหินทรายที่ถูกขโมยครั้งนั้นหรืออิฐเก่าๆ ก้อนหนึ่งที่ถูกทำลายครั้งนี้อาจไม่มีค่ามากมายเพียงเพราะอิฐเก่าๆ ก้อนนั้นไม่ใช่อิฐเก่าๆ ของ ‘สุโขทัย’ ของ ‘อยุธยา’ ที่ทำให้ ‘รัตนโกสินทร์’ มีความหมาย มันแค่เป็นเพียงอิฐเก่าๆ ของพวก ‘ขอม’ ที่มาสร้างไว้ในเขตประเทศไทยเท่านั้นเอง

ปราสาทหินพนมรุ้งอันวิจิตรสำหรับสังคมไทยอาจเป็นเพียงฉากถ่ายรูปฉากหนึ่งที่สวยงามของจังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านมาครั้งหนึ่งแล้วก็ผ่านไป แต่...จะสามารถมองลงไปให้ลึกกว่านั้นได้หรือไม่ เพราะหินทรายแต่ละก้อนที่ก่อเป็นปราสาทมันยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายซ่อนอยู่ตั้งแต่เรื่องของผู้คน แรงงาน นักบวช ศาสนา พิธีกรรม ปากท้อง เศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องราวของเจ้านายผู้ปกครอง

ลองฟังดูดีๆ สิ... อิฐ หิน ดินและทรายในโบราณสถานมันพูดได้จริงๆ

ปราสาทพนมรุ้งบอกเราคร่าวๆ ถึงร่องรอยความเชื่อมต่อสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่ทำให้เราลืมเลือนเส้นเขตแดนประเทศได้อย่างน่าสนใจ เช่น จารึกที่พบหลักหนึ่งบอกเราให้ทราบว่าผู้สร้างปราสาท ‘นเรนทราทิตย์’ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระ ที่ปกครองดินแดนแถบนี้ เป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด อันงามตระการ อย่างน้อยครั้งหนึ่งคนที่นี่กับคนในกัมพูชาก็คงเป็นเครือญาติกัน และถ้าไม่มองแบบเหยียดคนอื่นกันเกินไป บางทีความเป็นเครือญาติกันนับพันปีมันก็อาจซ่อนอยู่ในเซลล์เม็ดเล็กๆ เม็ดไหนเม็ดหนึ่งของเรา

พนมรุ้งแม้เป็นเรื่องราวอันไพศาลของศาสนาหรือเจ้าผู้ปกครอง แต่กระนั้นเองพนมรุ้งและปราสาทหินใหญ่โตในวัฒนธรรมแบบขอมก็บอกและช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า ‘ทาส’ หรือ ‘แรงงาน’ ผู้สร้างปราสาทอันใหญ่โตพิศวงนี้ถูกกดขี่เช่นไร และทำไม ‘ชนชั้นปกครอง’ แบบขอมอ่อนแอลงเรื่อยๆ และหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็ว

บางทีในความงามก็ซ่อนไว้ด้วยความจริงของประวัติศาสตร์อีกลักษณ์หนึ่ง และอาจเป็นบทเรียนสำคัญให้ใครบางคนได้เช่นกัน

และอาจมีเรื่องราวอีกมากมายอาจซ่อนอยู่ในหินทรายหรือในอิฐที่ถูกทุบ ไม่ว่ามันจะเป็นของใหม่หรือเก่าก็ตาม เพราะทั้งหมดมันย่อมมีนัยแห่งการผสมผสานกลมกลืนอย่างซับซ้อนและสะท้อนออกมาเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรม ไม่วันนี้ก็ในอนาคตข้างหน้า มันจึงควรจะยังอยู่ให้เราค้นหาและส่งผ่านไปต่อให้คนในวันข้างหน้าได้สนุกกับเรื่องราวที่มันเล่าผ่านบ้าง เรามีแง่คิดกับมัน เรามีบทเรียนกับมัน จะผิดบ้างหรือถูกบ้าง... ว่ากันไป

แต่ในตอนนี้หากเรายังไม่หาคำตอบของ 20 ปีก่อนที่ว่า “เราทวงคืนทับหลังฯ มาทำไม” ไม่ได้ การทุบทำลายใดๆ มันก็คงเกิดขึ้นได้อีก เพราะเรื่องเหล่านี้เราอาจไม่ได้สนใจอะไรมันกว่ากระแสตามหน้าสื่อที่ปลุกให้รู้จักและรู้สึกว่ามันสำคัญมันเป็นพักๆ มรดกทางวัฒนธรรมคงสูญสลายจากไปอย่างน่าเสียดายในสภาพแบบนี้ และคงน่าสมน้ำหน้าในวันข้างหน้าที่เราจะตอบอะไรที่เป็นเรื่องราวของเราเองไม่ได้เลย

สำหรับเพื่อนนักโบราณคดีของผม เวลานี้ก็ปล่อยให้มันเศร้าต่อไปก่อนเถอะ... เพราะกรมศิลปากรคงไม่สามารถจ้างยามหรือนักโบราณคดีไปนั่งเฝ้าอิฐทุกก้อนได้จริงๆ แน่นอน

20080524 hitandrun (1)

20080524 hitandrun (2)

20080524 hitandrun (3)

20080524 hitandrun (4)

20080524 hitandrun (5)

20080524 hitandrun (6)

20080524 hitandrun (7)

20080524 hitandrun นารายณ์บรรทมสิทธุ์
นารายณ์บรรทมสิทธุ์

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
  ตติกานต์ เดชชพงศ  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'  รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี'…
Hit & Run
วิทยากร บุญเรือง ผมไปเจอข่าวชิ้นหนึ่ง เหตุเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ข่าวชิ้นนี้ผมว่ามันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สำหรับสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือข่าวที่กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในโรงพยาบาลศิริราช มาหากินกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีได้ลงคอ ... (กรุณาอ่านให้จบก่อนด่า)ท่านพงศพัศ พงษ์เจริญ ตำรวจหน้าหล่อ ได้กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน โดยขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า…
Hit & Run
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ 26 กันยายน 2550ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง   ภาพที่เห็นคือ...ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าวประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้นก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด…
Hit & Run
  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน…
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเป็นข่าวคราวกันพักใหญ่ในรอบสัปดาห์จนผู้หลักผู้ใหญ่ต้องรีบออกมาเต้นเร่าร้อนกันทั่ว เมื่อคุณหนูสาวๆ มีแฟชั่นเทรนใหม่เป็นการนุ่งกระโปงสั้นจุ๊บจิมโดยไม่สวมใส่ ‘กุงเกงลิง’ ความนิยมนี้เล่นเอาหลายคนหน้าแดงผ่าวๆจนพากันอุทาน ต๊ายยย ตาย อกอีแป้นจะแตก อีหนูเอ๊ยย ทำกันไปได้อย่างไร ไม่อายผีสาง เทวดาฟ้าดินกันบ้างหรืออย่างไรจ๊ะ โอ๊ย..ย สังคมเป็นอะไรไปหมดแล้ว รับแต่วัฒนธรรมตะวันตกมาจนไม่ลืมหูลืมตา วัฒนธรรมไทยอันดีงามของไทยไปไหนโม๊ดดดดเรื่องนี้มองเล่นๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็ก จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ใหญ่ แต่ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘กุงเกงลิง’…