Skip to main content
 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

กลุ่มประกายไฟ

           

"รัฐสวัสดิการ เป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมทั้งทางปฏิบัติและตรรกะ แต่ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากรัฐสวัสดิการ"

วอลเตอร์ คอร์ปี

 

ทำไมต้องสังคมนิยมประชาธิปไตย?

 

สำหรับฝ่ายซ้ายทั่วไปอาจตั้งข้อสงสัยกับหัวข้อ ว่าสังคมนิยมมันต้องเป็นประชาธิปไตยในตัวอยู่แล้วมิใช่หรือ  แล้วทำไมต้องมีประชาธิปไตยต่อท้าย มันมีด้วยหรือ สังคมนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย....เพื่อความเข้าใจตรงกัน...การใช้คำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย(Socialism Democracy)ในที่นี้เพื่อเป็นภาพสะท้อนระบบเศรษฐกิจสังคมที่เราสามารถจินตนาการถึงได้ในบริบทปัจจุบัน ที่ก้าวหน้ากว่ารัฐอุตสาหกรรมทั่วไปในยุโรปตะวันตก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตย(Social Democracy) พูดง่ายๆคือแบบหลังเป็นรัฐทุนนิยมประชาธิปไตยทั่วไปที่มีฐานคติการอยู่ร่วมกันระหว่างชนชั้นดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมต่างๆในสังคมเพื่อ ให้สังคมสามารถอยู่รอดด้วยกันได้ (ดังที่ได้เสนอไปในบทความว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองของลัทธิแก้) ขณะที่อย่างแรก-สังคมนิยมประชาธิปไตยที่เราจะพูดถึงคือระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มองสังคมอยู่บนฐานของความขัดแย้งทางชนชั้น และรัฐของชนชั้นล่าง(ซึ่งพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานอาจชนะการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา) ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้ชนชั้นล่างซึ่งเป็น คนส่วนใหญ่ในสังคมมากที่สุด มีการต่อสู้ทางชนชั้นตลอดเวลา.....และแม้ประชาชนยังกินดีอยู่ดีก็ยังมีสำนึกผลประโยชน์ทางชนชั้นสูงและรัฐบาลไม่ว่าพรรคซ้ายหรือขวาก็มิอาจที่จะลดทอนผลประโยชน์ทางชนชั้นได้ ประเทศที่มีแนวทางใกล้เคียงกับแนวคิดนี้ ที่พอจะจัดได้ก็เช่น สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ โดยเฉพาะสวีเดนที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน หรือทรัพยากรธรรมชาติอะไรมากมายเช่นประเทศเพื่อนบ้าน คงมีแต่อุตสาหกรรม และเกษตรเท่านั้น (ซึ่งไทยยังมีโรงงานและพื้นที่การเกษตรมากกว่าแน่นอน)  แต่ก็ยังคงความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่น และเมื่อการจัดวัดคุณภาพชีวิตประชากรประเทศกลุ่มนี้ก็ติดอันดับต้นๆทุกครั้งไป

 

สาเหตุที่เราจำเป็นต้องพูดถึงแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย....คงไม่พ้นเรื่องการประกาศ6มาตรการฉุกเฉิน6เดือนของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนในภาวะน้ำมันแพง อันประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาษีน้ำสรรพสามิตน้ำมันทั้งดีเซล ก๊าซโซฮอลล์ ทั้ง 91 และ 95 2.มาตรการชะลอปรับราคาก๊าซหุงต้ม 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน 4.ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน 5.มาตรการลดค่าเดินทางรถโดยสารประจำทาง และ6.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3  แม้จะมีข้อถกเถียงว่ามีสาระเป็นไปในลักษณะประชานิยมเพื่อซื้อสียงประชาชนล่วงหน้าจากกลุ่มพันธมิตร แต่สำหรับภาคประชาชนแล้วนี่คือโอกาสที่เราต้องผลักดันหลักคิดอะไรบางอย่างเพื่อโหนกระแส 6มาตรการ6เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสามและข้อสี่ ซึ่งมีลักษณะเป็นประเด็นทางชนชั้นอย่างชัดเจน ที่ยกเลิกการเก็บค่าน้ำ-ไฟสำหรับผู้ที่ใช้น้ำไฟ-น้อยไม่ถึงกำหนด รวมถึงการโดยสารรถโดยสารไม่ปรับอากาศฟรี (แม้จะแปลกๆที่ฟรีคันเว้นคัน)

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะชื่นชม กับนโยบายเหล่านี้ เราอาจตั้งคำถามต่อไปอีกได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไทยสู่ สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งสร้างรัฐสวัสดิการได้หรือไม่? ...คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ พรรคไทยรักไทย(พลังประชาชน) ทำให้แปลกใจได้เสมอ กับนโยบายสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญที่เราต้องเน้นย้ำถึงตรรกะในการชื่นชมนโยบายเหล่านี้ของเรา ว่ามันไม่ใช่เกิดจากความใจดีมีเมตตาของรัฐบาล....อาจจะฟังดูมองแบบกลไกลแต่ก็สามารถอธิบายได้ว่า นโยบายต่างๆเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีอยู่ในสังคมทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น  รัฐบาลนายทุนไม่โง่ขนาดที่จะไม่รู้ว่าสภาพทุกวันนี้วิกฤติมาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ40 ไม่มีทางให้ชนชั้นล่างยอมจำนนกับระบบได้อย่างมีความสุข

 

6 มาตรการฉุกเฉินสู่รัฐสวัสดิการ?

 

มีข้อถกเถียง เสมอว่านโยบายดังกล่าวจะยั่งยืนยาวนานแค่ไหน   เราจำเป็นต้องเน้นย้ำว่าการจัดสวัสดิการต้องดีขึ้นและไม่สามารถที่จะยกเลิกได้ ปัญหาอยู่ที่งบประมาณของรัฐบาล...ซึ่งตรงนี้สามารถตอบคำถามได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน คงไม่สามารถพัฒนาสู่ สังคมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างแน่นอน เพราะไม่มีนโยบายใดที่จะไปสะกิดขนหน้าแข้งของนายทุน งบประมาณการจัดการต่างๆย่อมมีจำกัดอย่างแน่นอน  เส้นทางที่เป็นไปได้คือ การจัดสวัสดิการแบบเครือข่ายปลอดภัยทางสังคม(Social Safety Net) ซึ่งภาคประชาชนส่วนหนึ่งพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนเพราะ จัดการได้ง่ายกว่า...และไม่กระทบต่อชนชั้นนายทุน เพราะงบประมาณยังคงเป็นเศษเนื้อที่พวกเขาโยนให้ แค่มีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้นเท่านั้นเอง

 

 

 

ภาพการ์ตูนล้อการลดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

 

ปัญหาทางการคลังต้องแก้ไข ด้วยการเก็บภาษีมรดกและภาษีอัตราก้าวหน้า....เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมามากแล้ว แต่เพื่อการขยายวงของการถกเถียงให้กว้างขวางขึ้น...เราจำเป็นต้องเข้าใจตรรกะของวิธีการคิดของการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ในแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่ง คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ประโยชน์ มีผลสำรวจพบว่าถ้าไทยเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า ถึงร้อยละ50 จะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ62ของประชากรประเทศ-ซึ่งคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ยังไม่นับรวมผู้ที่จ่ายภาษีเพิ่ม แต่ได้รับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ตนไม่เคยได้รับ สำหรับเมืองไทยผู้ที่เสียประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของประเทศซึ่งชีวิตมั่นคงด้วยการสะสมทุนรุ่นต่อรุ่นและไม่ประสบปัญหาเดือดร้อนยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ....พูดง่ายๆคือถ้ามีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า....ผู้ที่มีรายได้ ต่ำกว่า2หมื่นบาทอาจไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ เพราะเท่านี้พวกเขาก็แทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้วด้วย แต่เราควรไปเก็บภาษีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ ผู้บริหารCEOต่างๆ หรือหากเราคิดด้วยฐานของชนชั้นนายทุน การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสร้างรัฐสวัสดิการก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เลวร้ายเสมอไป พวกเขาสามารถออกจากบ้านกำแพงสูงได้โดยไม่ต้องระวังเรื่องอาชญากรรม แม้แต่กับบรรษัทยักษ์ใหญ่เอง ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำประกันบริษัทเอกชนให้พนักงานได้ รัฐสวัสดิการจะเป็นการลดความกดดันของผู้ประกอบการจากการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน เพราะชนชั้นแรงงานที่รวมตัวกันข้ามสถานประกอบการในกลุ่มวิชาชีพเดียวกันก็จะไปกดดันเรียกร้องกับรัฐบาลเอง

เป็นไปได้แค่ไหน?

 

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยกเมฆขึ้นมา  สวีเดนและประเทศแทบสแกนดิเนเวีย เป็นกลุ่มประเทศที่มีบรรยากาศน่าลงทุนที่สุดในโลกทั้งๆที่มีภาษีสูงอันดับต้นๆของโลก เราลองคิดภาพดูถ้าเราสามารถใช้จุดเปลี่ยนจาก 6มาตรการ6เดือนของรัฐบาลผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และพัฒนาสวัสดิการให้ก้าวไกลมากกว่าแค่6มาตรการ เช่นรถเมล์ของรัฐบาลควรจะฟรีทุกสาย และในสายที่รถเอกชนร่วมบริการ รัฐบาลก็ควรจัดบริการเพิ่มขึ้น เรื่องน้ำมันและพลังงานควรเข้าไปควบคุม ปตท หรือบริษัทกลั่นน้ำมันต่างๆ  รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่แปรรูป รวมถึงมหาวิทยาลัย ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง ค่าแรงขั้นต่ำควรกำหนดลอยตัวตามค่าครองชีพ-เช่นราคาน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และขยายสวัสดิการทุกอย่างให้รอบด้าน

 

ทุกวันนี้เราเสียงบประมาณประเทศไปด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่น งบประมาณด้านทหารและความมั่นคง งบประมาณด้านการรณรงค์ของฝ่ายจารีตนิยม ของกระทรวงวัฒนธรรม เงินเดือนของนักการเมืองมากมายมหาศาล ทั้งสส. และสว. และแม้กระทั่ง ค่าใช้จ่ายให้ ชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคมที่เปล่าประโยชน์ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของฝ่ายซ้ายหรือขวาที่คิดแล้วร้อยละ3ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  เมื่อพิจารณากลุ่มประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย  เราจะพบว่านักการเมืองของประเทศเหล่านั้นมีเงินเดือนมากกว่าพนักงานไปรษณีย์อยู่ไม่กี่เท่า ซึ่งตรงข้ามกับเมืองไทยปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

จาก 6 มาตรการ เราจะพบหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่แม้กระนั้น ในฝ่ายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ก็ยังออกมาสนับสนุนและพูดว่า นโยบายดังกล่าวออกมาช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้จะตรงกับหลักคิดของ วอลเตอร์ คอร์ปี นักวิชาการด้านแรงงาน ที่ว่า รัฐสวัสดิการเป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมแต่ระบบทุนนิยมต้องการการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่จากข้อสัมภาษณ์ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ทำให้เราต้องระมัดระวัง เพราะพวกเขาบอกว่าเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะค่าใช้จ่ายไม่มากเกินไป ซึ่งเราต้องเน้นย้ำต่อไปว่าเราไม่สามารถพอพอใจกับเศษเนื้อเหล่านี้แน่นอน

งานเขียน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ยังคงสามารถอธิบายถึงสิ่งที่เราควรเรียกร้องได้ดี....เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อเหล่าชนชั้นปกครอง ต่อไปว่าแล้วเหตุใดเราจะมีชีวิตแบบนั้นไม่ได้ มองกลับไปที่เหล่าประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยอีกครั้ง ลองคิดดูถ้าวันหนึ่งประเทศของเราเป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องดิ้นรนจนสิ้นลมหายใจ เช่นปัจจุบัน เราไม่ต้องไปหารายได้เสริม ดิ้นรนกับชีวิต เพราะเราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ด้วยเหตุผลคือรัฐจัดสรรคุณภาพชีวิตที่ดีให้เราอยู่แล้ว การหาเงินมามากก็นำสู่การเสียภาษีมาก  แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เราพบว่า แรงงานในสวีเดน กว่า ร้อยละ26 ทำงานโดยไม่มีเงินเดือน ...ในฐานะอาสาสมัคร มูลนิธิ และหน่วยงานสาธารณะในชุมชน

เพียงแค่มองพื้นที่อื่นที่เราไม่คุ้นเคยไม่รู้จักมากมายมากไปกว่าคำบอกเล่าและตัวหนังสือ มันจะดีแค่ไหนถ้าประเทศของเรา....สถานที่ที่เราผูกพันและคุ้นเคยเป็นอย่างนั้นบ้าง ....เมื่อไรที่เราจะเปลี่ยนจากสัตว์(ที่แก่งแย่งแข่งขัน) สู่การเป็นมนุษย์ (ที่โอบอุ้มกัน) เสียที

โดยสรุปแล้ว 6 มาตรการฉุกเฉินเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องผลักดันให้ก้าวหน้าขึ้นไป สร้างพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ขยายมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น และทำลายมายาภาพที่ชนชั้นนายทุนสร้างขึ้นมา....สังคมนิยมประชาธิปไตย ...รัฐสวัสดิการ....ไม่ไกลขนาดที่เป็นไปไม่ได้

...................

เอกสารอ้างอิง

1.สุรพล ปธานวนิช นโยบายสังคม : เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547

 

2.ไมเออร์, โทมัส อนาคตของสังคมประชาธิปไตย = The future of social democracy นนทบุรี : เอส. บี. คอนซัลติ้ง, 2550

 

3.คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สวัสดิการพื้นฐาน (Social Safety Net) : รากฐานความเป็นธรรมทางรายได้ : สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,กรุงเทพฯ 2550

 

4.Samuelsson, Kurt From great power to welfare state : 300 years of Swedish social development London : Allen & Unwin, 1972

 

5.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท  รัฐบาลผลัก6 มาตรการรับมือวิกฤตน้ำมัน นักวิชาการชี้ใช้เงินซื้อประชาชน http://www.prachatai.com/05web/th/home/12856 16/7/2551

 

บล็อกของ ประกายไฟ

ประกายไฟ
แถลงการณ์ กลุ่มประกายไฟ 
ประกายไฟ
...ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการสังคมหลังทุนนิยมข้างต้นนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก และเป็นผลผลิตโดยตรงของการเติบโตของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐาน ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาท่ามกลางซากปรักหักพังของโลกสังคมนิยม ในทศวรรษ 1990 ที่นักคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างประกาศว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือแล้วนอกจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่บรรลุ แต่คุณูปการที่สำคัญที่สุดที่ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้สร้างไว้ก็คือ ความหวังที่ว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ซึ่งเป็นคำขวัญของขบวนการสมัชชาสังคมโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2001 เป็นต้นมา
ประกายไฟ
“..รู้สึกว่าธรายอาร์มไม่ใช่แค่กางเกงใน แต่มันแสดงถึงสัญญะบางอย่างของการต่อสู้ ซึ่งเห็นไหมคะ แค่สงสัยว่าทำไมต้องเป็นกางเกงในของธรายอาร์ม คนที่สงสัยเขาก็ต้องหาเรื่องราวของมันบ้างล่ะค่ะ อย่างน้อยเราก็ได้สื่อเรื่องความไม่เป็นธรรมนอกจากแคมเปญหลักของงานนี้..” - ลูกปัด 1 สวาผู้ร่วมรณรงค์ 
ประกายไฟ
 “...พวกนายทุนจึงต้องหาทางให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาเบาบางลง ไม่อย่างนั้นการผลิตในระบบทุนนิยมอาจต้องล่มสลาย จึงต้องสร้างกติกากลางขึ้นมาเพื่อให้การขูดรีดยังดำรงตนต่อไปได้...”
ประกายไฟ
...ผมไม่คิดว่าการมีวันพ่อวันแม่มันจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนที่ "มีพ่อมีแม่" (หรือแม้แต่ตัวคนเป็นพ่อเป็นแม่) แต่ขณะเดียวกันมันกลับเป็นวันที่ "ซ้ำเติม" คนที่ "ขาดพ่อขาดแม่" ซึ่งโดยปกติก็อาจจะมีชีวิตที่รันทดเจ็บปวดกับเรื่องนี้อยู่แล้ว..
ประกายไฟ
...แต่เชื่อไหม (เหมือนถาพในหนัง) ใบหน้าคนเหล่านั้นลอยออกมาปะทะสายตาเรา เรามองไม่เห็นความกลัวในใบหน้าของคนเหล่านั้น บางคนด่าไปอมยิ่มไป บางคนด่าไปก็แสดงอาการท้าทายไป มันต่างกันมาก ต่างกันจริงๆ เราเคยเห็นคนในม็อบเสื้อแดงช่วงที่มีการสลาย ทั้งวันที่ 10 เมษา และ 19 พฤษภา เราเห็นแววตาคนที่กลัวตาย เห็นแววตาคนที่มีห่วงเห็นแววตาคนที่พร้อมจะยอมตาย แต่คนเหล่านั้นไม่กร่างเท่านี้นะ
ประกายไฟ
...ที่มาที่ไปของ "เสื้อแดง" มันไม่เกี่ยวกับเรื่อง "รักเจ้า" หรือ "รักทักษิณ" ..