"...ในเมื่อการกักผู้อพยพไว้เป็นการสร้างภาระ รัฐก็น่าจะอนุญาตให้ผู้อพยพทำงานได้ เพราะเมื่อผู้อพยพมีงานทำก็จะทำให้มีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐไทย แถมจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยด้วยคือด้านหนึ่งเป็นการเพิ่มกำลังแรงงานเข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ..."
โดย Chotisak Onsoong
ประเด็นร้อนแรงหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงในสังคมไทย รวมถึงในโซเชี่ยลมีเดีย ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงยา, ท่ามกลางการถกเถียงดังกล่าว ข้อกังวลหนึ่งที่ผมได้ยินมาก็คือหากรัฐไทยยอมรับผู้อพยพไว้ก็จะกลายเป็นภาระทั้งเรื่องการจัดการและเรื่องงบประมาณ, สิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ก็คือความพยายามที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ (อย่างไรก็ตามผมก็พยายามจะตอบคำถามในลักษณะคำถามต่อเนื่องจากข้อเสนอนี้ด้วย)
นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพของรัฐบาลปัจจุบันเท่าที่ผมทราบมาล่าสุดก็คือพยายามผลักดันออกนอกประเทศ โดยเฉพาะการส่งไป “ประเทศที่ 3” แต่ระหว่างการรอเพื่อหาประเทศที่ 3 นั้นก็จะกักผู้อพยพไว้ในสถานที่เฉพาะหนึ่ง ซึ่งระหว่างนี้แหละที่รัฐไทยจะต้องใช้กำลังคนและงบประมาณเพื่อดูแลผู้อพยพ (นอกจากนั้น ระยะเวลาที่จะต้องรอเพื่อหาประเทศที่ 3 นั้นยาวนานแค่ไหนก็ไม่มีใครบอกได้)
ผมเชื่อว่าผู้อพยพส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยมองประเทศไทยในฐานะ “ทางผ่าน” เท่านั้นเอง เป้าหมายจริงๆน่าจะเป็นประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย ดังนั้นผมจึงไม่มีข้อขัดแย้งเรื่องการแสวงหาประเทศที่ 3 (เพราะมันเป็นเจตจำนงค์ของผู้อพยพอยู่แล้ว) แต่สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือการจัดการช่วงที่รอหาประเทศที่ 3 นี่แหละ คือแทนที่จะกักผู้อพยพไว้ในพื้นที่กักกัน (แล้วก็มีคนบ่นเรื่อง “ภาระ”) รัฐน่าจะออก (1) ใบอนุญาตพักอาศัยชั่วคราว และ (2) ใบอนุญาตทำงาน ให้กับผู้อพยพ
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ข้อเสนอของผมต้องการตอบข้อกังวลเรื่อง “ภาระ” เป็นหลัก คือในเมื่อการกักผู้อพยพไว้เป็นการสร้างภาระ รัฐก็น่าจะอนุญาตให้ผู้อพยพทำงานได้ เพราะเมื่อผู้อพยพมีงานทำก็จะทำให้มีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐไทย (สามารถเช่าบ้านเองได้ ซื้อหาหาร/เสื้อผ้าเองได้) แถมจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยด้วยคือด้านหนึ่งเป็นการเพิ่มกำลังแรงงานเข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ
และผมเชื่อว่าผู้อพยพก็น่าจะยินดีกับมีงานทำมากกว่าที่อยู่ไปวันๆในสถานกักกันครับ (เท่าที่ผมทราบ เวลามีค่ายอพยพในประเทศไทยผู้อพยพก็จะพยายามแอบออกมาหางานทำข้างนอกอยู่ตลอด)
ส่วนที่อาจจะมีคนบอกว่าแรงงานที่เพิ่มเข้ามาจะทำให้คนไทยตกงาน, ต่อข้อกังวลนี้ผมเข้าใจว่าน่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนมานานแล้วว่า ไม่จริง เพราะงานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานนั้นคืองานที่คนไทยไม่ยอมทำ ถ้าไม่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาในไทยก็จะไม่มีคนทำงานพวกนี้ (ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้วเราจะต้องขอบคุณแรงงานข้ามชาติด้วยซ้ำไปที่ช่วยมาทำงานที่พวกเราไม่อยากทำกัน) ถ้าเราไล่คนงานข้ามชาติออกไปหมดแล้วคนที่ชอบอ้างเรื่องนี้จะไปทำงานเรือประมง จะไปรับจ้างแกะกุ้ง จะไปเป็นคนรับใช้ตามบ้าน ฯลฯ หรือเปล่า?, ถ้าเปล่า ผมว่าน่าจะเลิกอ้างเรื่องนี้ได้แล้ว
ส่วนเรื่องเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ, อาจมีคนแย้งว่าถ้าให้เขาอยู่ในที่กักกันก็เพิ่มการบริโภคเหมือนกัน, ผมคิดว่าไม่หมือนครับ ระหว่างการบริโภคของคนที่ทำงานมีรายได้ กับการบริโภคแบบ “รับทาน” ในสถานกักกันนั้นมันต่างกันอยู่แล้ว (ผมคิดว่ารัฐจัดอาหารและปัจจัยการยังชีพให้แค่พอกันตายหรืออาจจะดีกว่านั้นนิดหน่อยเท่านั้นเอง ไม่งั้นเวลาตั้งศูนย์อพยพคงไม่มีคนดิ้นรนแอบออกมาหางานทำข้างนอกหรอก)
อาจจะมีคนแย้งอีกว่า คนพวกนี้ทำผิดกฎหมายคือเข้าเมืองผิดกฎหมายนะ, ผมคิดว่าเราก่อนอื่นต้องแยกการทำผิดกฎหมาย 2 ประเภทออกจากกันก่อน อันแรกก็คือ การทำผิดกฎหมายที่เป็น “อาชญากรรมแท้ๆ” เช่น ฆ่าคน ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขืน ฯลฯ กับความผิดอีกแบบที่ไม่ใช่ “อาชญากรรมแท้ๆ” ซึ่งกรณีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็คือกรณีหลังนี้ (นอกจากจะไม่ใช่ความผิดแบบ “อาชญากรรมแท้ๆ” แล้ว มันยังความผิดที่เกิดจากความจำเป็น คือจำเป็นเข้าเมืองผิดกฎหมายเพราะต้องหนีตายมา) ซึ่งในความเห็นของผมความผิดในกรณีหลังนี่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องผ่อนปรนได้ และนี่ก็ไม่ใช่แค่ความเห็นลอยๆของผมเพียงอย่างเดียว เพราะเอาเข้าจริงที่ผ่านมารัฐไทยก็เคยผ่อนปรนไปแล้ว และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด สมัยที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาประเทศไทยมากๆก็น่าจะเคยมีการผ่อนปรนในลักษณะนี้มาก่อน (นอกจากจะผ่อนปรนเรื่องนี้แล้วยังให้สัญชาติไทยด้วย) ดังนั้นถ้าใครจะค้านข้อเสนอของผมโดยอ้างเรื่องนี้อาจจะต้องรบกวนช่วยไปเช็คประวัติบรรพบุรุษทั้งฝั่งปู่ย่าตายายก่อนว่าเคยได้รับการผ่อนปรนในลักษณะนี้มาบ้างหรือเปล่า
ข้อกังวลใหญ่อีกอันหนึ่งเท่าที่ทราบก็คือเรื่องความมั่นคง คือกลัวว่าจะมารวมกับขบวนการใน 3 จังหวัดภาคใต้, ผมคิดว่าข้อกังวลนี้ใช้จินตนาการมากไปหน่อย (และไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริงเลย) คือถ้าพวกเขาจะ “ญิฮาด” เพื่อ “ปลดปล่อย” จริงๆ เขาคงรบกับรัฐบาลพม่าเพื่อสร้างประเทศอารกัน/ประเทศโรฮิงยาไปแล้วครับ เขาคงไม่ใจดีขนาดปล่อยให้บ้านของตัวเองถูกพม่าปกครองแล้วมาญิฮาดปลดปล่อยบ้านคนอื่นหรอก
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่หายกังวลเรื่องนี้ผมก็มีข้อเสนอเพิ่มเติมก็คือให้รัฐกำหนดโซน ว่าคุณทำงานได้ในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้เท่านั้น ซึ่งถ้ากลัวไปยุ่งกับ 3 จังหวัดก็กำหนดโซนให้ทำงานในจังหวัดอื่น หรือถ้ากลัวมากก็กำหนดไปภาคอื่นเลยก็ได้ แต่อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้อพยพด้วยนะครับ (ทั้งเรื่องทำงาน และเรื่องพื้นที่) คือคุณเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องอยู่ในที่กักกันไป (การกำหนดโซนหรือข้อบังคับอื่นๆจะต้องคิดอยู่บนฐานความเป็นมนุษย์ด้วย เช่น ถึงจะมีโซนทำงาน/พักอาศัย แต่ในบางโอกาสอย่างมีงานเทศกาล งานศพ งานแต่ง ฯลฯ ก็ต้องสามารถขออนุญาตไปต่างพื้นที่ได้)
อาจจะมีคนแย้งอีกว่าถ้าทำงานแล้วมีปัญหาจนต้องออกจากงาน หรือตกงานเพราะเรื่องอื่น พอไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ก็นำไปสู่การลักขโมยหรืออาชญากรรมอื่นๆ, ผมคิดว่าถ้าทำผิดกฎหมายอื่นๆก็ดำเนินคดีไปตามกฎหมายครับ ส่วนกรณีตกงาน (ไม่ว่าจากสาเหตุอะไร) ผมเสนอว่าให้รัฐกำหนดระยะเวลาหางาน ถ้าเลยกำหนดแล้วยังหางานใหม่ไม่ได้ก็ต้องกลับไปอยู่ในที่กักกัน (นายจ้างที่รับไปก็ต้องมีหน้าที่มาแจ้งรัฐทันทีที่คนงานออกจากงาน อันนี้ก็จะลดภาระของรัฐในการติดตาม)
คนที่มาใหม่ที่ยังไม่มีงานก็ต้องอยู่สถานกักกัน (คนเก่าที่ตกงานแล้วหางานไม่ได้ก็ต้องกลับไปรวมกันคนที่มาใหม่หรือกับคนที่ตกงานอื่นๆในที่กักกัน) ซึ่งรัฐก็ต้องประชาสัมพันธ์ต่อนายจ้างว่ามีคนรองานอยู่ในที่กักกันนะ ใครสนใจก็ให้ไปติดต่อ อะไรทำนองนั้น
แน่นอนว่าตามข้อเสนอนี้จะยังต้องมีสถานกักกันอยู่ แต่ขนาดของมันก็จะเล็กกว่านโยบายเดิม (ที่บังคับทุกคนให้อยู่ในสถานกักกัน) มากๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าภาระของรัฐจะลดลงมากๆด้วย ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ที่ได้ไปทำงานก็จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจอย่างที่ได้เขียนไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น และผมคิดว่าสิ่งที่รัฐจะได้รับจากชาวโรงฮิงยาถ้าอนุญาตให้พวกเขาทำงานถูกกฎหมายจะมากกว่าภาระที่ต้องดูแลชาวโรฮิงยาบางคนที่มีปัญหาแน่นอน (แต่ถ้าไม่อนุญาตให้ทำงาน รัฐก็จะต้องดูแลทุกคนไม่ว่าคนที่มีปัญหาหรือไม่มี)
ประเด็นสุดท้าย สำหรับคนที่กังวลว่าถ้าอนุญาติให้ทำงานแล้วจะทำให้ชาวโรฮิงยาหลั่งไหลเข้ามามาอีกมาก, อย่างที่ผมได้บอกไปว่าเป้าหมายจริงๆของพวกเขาน่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังนั้นถึงสามารถทำงานในไทยได้ถูกกฎหมาย ยังไงรายได้ก็ยังสู้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้ ดังนั้นเป้าหมายของพวกเขาโดยรวมจะยังเหมือนเดิมแน่นอนครับ
อย่างไรก็ตาม ในฐานะ “ทางผ่าน”, ถ้าประเทศไทยอนุญาตให้ผู้อพยพทำงานถูกกฎหมายก็จะทำให้โอกาสที่จะถูกผู้อพยพเลือกเป็น “ทางผ่าน” ก็มีมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติในไทยมีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะพม่าเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานชาวพม่าบางส่วนในไทยก็จะเดินทางกลับไปทำงานในพม่า ในขณะที่ลาวและกัมพูชาเองก็กำลังจะเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งก็จะดึงดูดผู้ใช้แรงงานชาวลาวและกัมพูชาที่ทำงานในไทยกลับไปทำงานในประเทศตัวเองมากขึ้น, ในขณะที่แรงงานข้ามชาติในไทยมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ (อย่างที่ผมได้เขียนไปแล้ว) เศรษฐกิจไทยกลับขาดแรงงานข้ามชาติไม่ได้ (เศรษฐกิจไทยขาดแรงงานข้ามชาติก็คงไม่ต่างจากคนขาดอากาศหายใจเท่ใดนัก) ดังนั้นการที่ในอนาคต (หลังจากรัฐอนุญาติให้ทำงานถูกกฎหมาย) แล้วจะมีแรงงานชาวโรฮิงยาเข้ามามากขึ้น นี่นอกจากจะไม่สร้างปัญหาแล้วยังจะช่วยแก้ปัญหาที่ว่ามาด้วยซ้ำไป