ต้องยอมเสียในเรื่องที่ควรเสีย แต่อย่าไปเสียกับเรื่องงี่เง่า

5 September, 2013 - 12:03 -- iskra

โดย โชติศักดิ์ อ่อนสูง

 

เวลามีคนเรียกร้องเสื้อแดง/นปช./พท./รัฐบาลให้ทำเรื่องบางเรื่องที่จะทำให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น (ยกตัวอย่างก็ได้ เช่นเรื่อง ม.112) หรือมีคนต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์เสื้อแดง/นปช./พท./รัฐบาลที่ไม่ขยับเรื่องพวกนั้น ก็จะมีพวก "แดงอวย" กลุ่มหนึ่งออกมาแก้ต่างทำนองว่า ทำไม่ได้เพราะจะทำให้เสียคะแนนนิยมจากคนที่อยู่กลางๆ

 

ขณะเดียวกัน ถ้ามีคนวิจารณ์เสื้อแดง/นปช./พท./รัฐบาลว่าอย่าทำเรื่องงี่เง่า (เช่น กรณีจ่าประสิทธิ์) หรือให้แก้ปัญหางี่เง่าพวกนั้นซะ ก็จะมี "แดงอวย" อีกพวกหนึ่งออกมาแก้ต่างว่าไม่ต้องไปสนใจ เพราะคนเขาเลือกข้างกันหมดแล้ว

 

จะเห็นว่า "แดงอวย" 2 กลุ่มนี้ ประเมินสถานการณ์กันไปคนละทางเลย แต่ก็พร้อมจะอวยได้เหมือนๆกัน
 

แล้วเอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่พวกเขายกมาพูดนั้นมันอาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการการประเมินสถานการณ์ด้วยซ้ำ แต่มันอาจจะเป็นแค่ "ข้ออ้าง" เพื่อแก้ต่างให้กับเสื้อแดง/นปช./พท./รัฐบาลเท่านั้น

 

พวกแรก, ที่เชื่อว่ายังมีคนกลางๆ (ยังไม่เลือกข้าง/หรือเลือกแล้วแต่พร้อมจะเปลี่ยนตลอดเวลา) ก็เลยไม่อยากทำอะไรที่กระทบต่อคนกลางๆ, แต่กลับเลือกที่จะเงียบเวลามีเรื่องงี่เง่าแบบกรณีจ่าประสิทธิ์ ซึ่งมันกระทบต่อการตัดสินใจของคนกลางๆแน่ๆ

 

คือถ้าคุณซีเรียสเรื่องความนิยมจากคนกลางๆจริง ทำไมถึงเฉยๆอยู่ได้?

 

ขณะเดียวกัน พวกหลัง, ที่เชื่อว่าทุกคนในประเทศนี้เลือกข้างกันหมดแล้ว, ก็กลับเลือกที่จะเงียบที่เสื้อแดง/นปช./พท./รัฐบาลไม่ขยับเรื่อง ม.112 (หรือบางทีแดงอวยกลุ่มนี้ก็ออกมาด่าคนที่เคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้ด้วยซ้ำ)

 

ก็ถ้าคุณเชื่อว่าทุกคนเลือกข้างหมดแล้ว แถมคุณยังอ้างว่าตัวเองต้องการประชาธิไตย แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะเงียบต่อเรื่องพวกนี้?

 

ในความเห็นของผม พวกเขาทั้ง 2 กลุ่ม เงียบก็เพราะว่าสิ่งที่เขายกมาพูดนั้นมันแค่ "ข้ออ้าง" ซึ่งตัวพวกเขาเองก็อาจจะยังไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูดด้วยซ้ำ พวกเขาถึงได้เฉย/เงียบ ต่อเหตุการณ์อื่นๆ แม้ว่าถ้าจะว่ากับตามสิ่งที่เขายกมาอ้างแล้วมันควรจะต้องพูดอะไรเกี่ยวกับกรณีเหล่านั้นบ้างก็ตาม

 

- - - -

 

ผมประเมินยังไง?

 

ผมประเมินเหมือนพวกแรกนะ คือผมเชื่อว่ามันมีคนที่กลางๆ, ในความหมายที่ว่ายังไม่เลือกข้างชัดเจน หรือเลือกแล้วแต่พร้อมจะเปลี่ยนข้างได้ตลอดเวลา (ไม่ได้หมายถึง "เป็นกลาง"), อยู่จริง

 

แน่นอนว่ามีคนที่เลือกข้างชัดเจน ในระยะสั้นจะไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนยาก อยู่จริงๆด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นแบบนี้

 

ทั้งหมดนี้ไม่มีงานวิจัยอะไรรองรับหรอกครับ ผมดูเอาจากคนที่รู้จักนั่นแหละ

 

ซึ่งถ้าใครไม่ "โลกแคบ" จนเกินไปก็น่าจะเห็นอยู่ว่าคนมันมีทัศนะทางการเมือง/การเลือกข้างทางการเมืองหลายเฉดจริงๆ

 

ผมรู้จักคนที่ยังไม่เลือกข้างชัดเจน/พร้อมจะเปลี่ยนข้างได้ตลอดเวลาหลายคน นั่นหมายความว่าไอ้ความเชื่อ/การประเมินแบบ "แดงอวย" กลุ่มหลัง นี่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแน่ๆ

 

ทีนี้ถ้ามันมีคนหลายๆเฉดอย่างที่ว่า เราจะต้องยอมเอาใจพวก "กลางๆ" ทุกเรื่องหรือเปล่า?

 

ในความเห็นของผมก็คือ ไม่

 

อย่างไรก็ตาม อย่างแรกที่สุดก็คือ เราไม่ควรเสียคนกลางๆไปเพราะเรื่องงี่เง่า

(คือผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม? ทำแล้วได้อะไร?)

 

แต่ในเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพ หรือเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ฯลฯ ถึงแม้ทำแล้วจะทำให้เสียคะแนนคนกลางๆ บางทีก็จำเป็นต้อง "แลก" ครับ

 

ไม่ใช่ต้องเอาใจพวก "คนกลางๆ" ไปซะเสียทุกอย่าง ไม่งั้นก็ทำอะไรไม่ได้เลยซักอย่าง

 

ต้องยอมเสียในเรื่องที่ควรเสีย แต่อย่าไปเสียกับเรื่องงี่เง่า

 

อย่าไปทำกลับหัวกลับหางแบบพวก "แดงอวย" กลุ่มแรก คือในเรื่องงี่เง่านี่ยอมเสียได้ (อย่างน้อยที่สุดก็คือเลือกที่จะเงียบ ไม่ออกมาพูดอะไรเลย) ขณะเดียวกับพอเรื่องที่เป็นประโยชน์กลับบอกว่าทำไม่ได้เพราะกลัวเสียคะแนน

 

 

 

 

 

ระบบเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Participatory Economy)

28 May, 2013 - 17:49 -- iskra

...ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการสังคมหลังทุนนิยมข้างต้นนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก และเป็นผลผลิตโดยตรงของการเติบโตของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐาน ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาท่ามกลางซากปรักหักพังของโลกสังคมนิยม ในทศวรรษ 1990 ที่นักคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างประกาศว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือแล้วนอกจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่บรรลุ แต่คุณูปการที่สำคัญที่สุดที่ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้สร้างไว้ก็คือ ความหวังที่ว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ซึ่งเป็นคำขวัญของขบวนการสมัชชาสังคมโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2001 เป็นต้นมา