โดย วีรนันท์ ฮวดศรี
กลุ่มราม-ประกายไฟ
นับตั้งแต่มีการปฎิวัติอุตสาหกรรม คือการเริ่มต้นนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต ทำให้โรงงานไม่เหมือนโรงงานแบบเดิมอีกต่อไป คนงานถูกขูดรีดแรงงานหนักขึ้น ทำงานที่ซ้ำซากท่าทางเดิมๆทุกวัน การทำงานมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุคแรกๆต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งการประท้วงนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและแต่ละครั้งสร้างความเสียหายมาก เพราะนึกจะหยุดก็หยุด หนักเข้าถึงขั้นเผาโรงงาน ทำลายทรัพย์สิน พวกนายทุนจึงต้องหาทางให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาเบาบางลง ไม่อย่างนั้นการผลิตในระบบทุนนิยมอาจต้องล่มสลาย จึงต้องสร้างกติกากลางขึ้นมาเพื่อให้การขูดรีดยังดำรงตนต่อไปได้ คนงานทำงานไม่หนักเกินไปเพื่อให้เขายังมีแรงมาทำงานให้นายจ้างได้ในวันรุ่งขึ้น และทำให้การนัดหยุดงานทำได้ยากขึ้น เพื่อให้นายจ้างเตรียมตัวโยกออเดอร์ให้ที่อื่นผลิตได้ทัน
กฎหมายแรงงานได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศตะวันตกในยุคนี้เอง โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้นได้ออกกฎหมายเพื่อการคุมครองสิทธิของลูกจ้าง โดยวางข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาอันสมควร การห้ามแรงงานหญิงและเด็กทำงานหนักและที่เป็นอันตราย
กฎหมายแรงงานคืออะไร?
อาจารย์คุณหลวงประเจิดอักษรลักษณ์[1] ได้ให้คำนิยามไว้ว่า
“กฎหมายอุตสาหกรรมและกรรมกรเป็นกฎหมายส่วนหนึ่งที่รวมดังนี้
1. ศึกษาเรื่องสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิการฝึกหัดทำงาน สัญญาจ้างทำงาน
2. ศึกษาหลักกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับคนทำงานและเจ้าของ
3. ศึกษาการป้องกันอันตรายอันจะพึงเกิดแก่คนงาน อาทิเช่น การหางาน การว่างงาน การเจ็บป่วย ความแก่ ความตาย การอุบัติเหตุฯลฯ และหาทางแก้ไขเพื่อชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เช่น การรับประกัน”
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้นิยามกฎหมายแรงงานไว้ว่า
“เป็นกฎหมายที่คุ้มครองหรือปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนงาน ตลอดจนกล่าวถึงสิทธิของสมาคมนายจ้างและลูกจ้างและประชาชนส่วนรวม”
ดังนั้นกฎหมายแรงงานจึงเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง ควบคุม คุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ดีขึ้น ตลอดจนถึงการให้ลูกจ้างและนายจ้างทำข้อตกลงในการจ้างงานเพื่อให้นายจ้างได้ประกอบกิจการในทางการที่จ้าง
วิวัฒนาการของกฎหมายแรงงานในประเทศไทย
กฎหมายแรงงานในประเทศไทยนั้นมีมายาวนานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในลักษณะกฎหมายที่เกี่ยวกับทาส (ทาสคือแรงงานในสมัยนั้น) เช่นกฎหมายที่ออกในปี พ.ศ.2181 ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชโองการเลิกทาสพ.ศ.2417นั้นได้กำหนดลักษณะเกี่ยวกับการลดค่าตัวทาสรวมถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างรายเดือนที่เป็นไทแล้วไม่ให้ต่ำกว่าเดือนละ 4 บาท ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกแรกเริ่มขององค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ตามแต่รูปแบบการผลิตโดยรวมของสังคมในเวลานั้นยังเป็นสังคมกสิกรรมอยู่กฎหมายแรงงานจึงมิได้มีพัฒนาการทางกฎหมายเท่าที่ควร[2]
พ.ศ.2454 ได้มีกฎหมายควบคุมแรงงานและสหภาพการทำงานเกี่ยวกับคนใช้ตามบ้าน โดยให้มีการจดทะเบียนและถ้าจะลาออกก็ให้แจ้งวันเวลาและสาเหตุการลาออกแก่กรมตำรวจด้วย[3] กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการควบคุมลุกจ้างมากกว่าการดูแลลูกจ้าง ในระยะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแรงงานใช้บังคับ[4]
พ.ศ.2459 ได้มีการตรากฎหมายให้กรรมกรลากรถต้องจดทะเบียนใบอนุญาตและผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องมีร่างกายแข็งแรง อายุระหว่าง 18-40 ปี พูดภาษาไทยได้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายแรงงานฉบับต้นๆที่กำหนดมาตรฐานการใช้แรงงานและการควบคุมแรงงานต่างด้าว (กรรมกรลากรถส่วนใหญ่นั้นเป็นคนจีน)
พ.ศ.2470 ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขึ้นมาหนึ่งชุด และคณะกรรมการเห็นควรให้มีกฎหมายอุตสาหกรรมและกรรมกร แต่ปรากฏว่าไม่มารดำเนินการต่อใดๆ ร่างกฎหมายอุตสาหกรรมและกรรมกรจึงตกไป[5]
พ.ศ.2472 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้มีการกำหนดหลักการว่าจ้าง การจ่ายค่าจ้าง การทำงานและการเลิกจ้าง โดยมีสัญญาการจ้างบัญญัติไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 6 เรื่องการจ้างแรงงาน ถือได้ว่าการบัญญัติกฎหมายในครั้งนี้เป็นการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานอย่างแท้จริง
พ.ศ.2475 สภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักมีการปลดลูกจ้าง แรงงาน และข้าราชการจำนวนหนึ่ง ในด้านการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบพระกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย[6] ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองเศรษฐกิจ นับเป็นระยะเวลาที่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก ในปีนี้เองได้มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับแรงงานถึงสองฉบับคือ
1.พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พ.ศ.2475
2.พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ.2475
กฎหมายทั้ง2ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดหางานให้คนที่ต้องการหางาน และจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นเพื่อช่วยผู้ที่ต้องการจะหางานทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
พ.ศ.2479 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ.2479 รัฐบาลมีความต้องการที่จะทราบจำนวนและความเป็นอยู่ของกรรมกรในอาณาจักร เพื่อการควบคุมดูแลกรรมกร นำมาเป็นนโยบายและออกกฎหมายแรงงาน
พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติโรงงานออกมาเพื่อควบคุมโรงงานและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการทำงานในบางอุตสาหกรรม ทั้งยังมีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสุขภาพอานามัยและความปลอดภัยในการทำงานของคนงานในเบื้องต้นด้วย ซึ่งสาระสำคัญของ พรบ.นั้นได้เน้นไปในด้านการควบคุมการใช้และการติดตั้งเครื่องจักรในโรงงาน
ในด้านสภาผู้แทนราษฎรได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายแรงงานหลายครั้ง ได้มีการเสนอร่าง พรบ.แรงงานเข้าสู่สภา (นายดุสิต บุญธรรม ส.ส.นครนายกเป็นผู้เสนอ) แต่สภาไม่เห็นด้วยกับร่าง พรบ.ดังกล่าว
พ.ศ.2484-2488 เป็นช่วงภาวะการหยุดชะงักงันทางด้านกฎหมายเนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้าการอุตสาหกรรม ในช่วงเวลานี้ได้มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับแรงงานออกมาเพียงแค่ 1 ฉบับ คือในปี พ.ศ.2484 (พรบ.ว่าด้วยวิชาชีพและอาชีพ พ.ศ.2484) เพื่อสงวนอาชีพไว้ให้แก่คนไทยและจัดหาอาชีพแก่ผู้ไร้อาชีพ ได้แก่ ช่างตัดผม
สถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบรรยากาศทางการเมืองโลกสงบลงเข้าสู่ยุคสงครามเย็นกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานก็ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมากเพราะนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องทางเศรษฐกิจทำให้เกิดภาวะการจ้างงานมากขึ้น การประกอบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้มีการดำเนินนโยบายด้านกฎหมายแรงงานเพิ่มขึ้น
พ.ศ.2499 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ.2499 ขึ้น สาระสำคัญของ พรบ.ฉบับบนี้คือมุ่งเน้นที่การคุ้มครองคนไทยให้มีโอกาสประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดให้ในสถานประกอบการบางประเภทมีคนไทยทำงานตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นเกิดการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยและเข้าทำงานในสถานประกอบการของคนไทยโดยอาศัยความได้เปรียบด้านภาษา
ได้มีการตราพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 หลังจากที่มีความพยายามจะร่าง พรบ.แรงงานในปี 2482 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องใช้ระยะเวลายาวนานจึงจะสามารถประสบความสำเร็จในการออก พรบ.นี้ในปี 2499 และได้ประกาศใช้ในปี 2500 พรบ.แรงงาน 2499 นี้ ถือว่าเป็นการกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การรวมตัวของสหภาพการทำงาน เวลาในการทำงาน การใช้แรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการ เงินทดแทน และการเลิกจ้าง
พ.ศ.2501 การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ คณะรัฐประหารได้มีการประกาศยกเลิก พรบ.แรงงาน พ.ศ.2499 และมีการออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 มาใช้แทนและให้อำนาจกับกระทรวงมหาดไทย เข้ามากำหนดมาตรการในการบริหารแรงงานได้
ประกาศคณะรัฐประหารฉบับนี้เนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับ พรบ.แรงงาน 2499 แต่ได้มีการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการรวมตัวของสหภาพแรงงาน
พ.ศ.2508 ได้มีการตราพรบ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานออกมาบังคับใช้ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับลูกจ้างมีสิทธิ์เลือกผู้แทนของตนมาเจรจากับนายจ้างในกรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานขึ้น
พ.ศ.2511 ได้มีการตรา พรบ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2511 มาแทนที่ พรบ.ว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ.2475 และ พรบ.สำนักจัดหางานท้องถิ่น พ.ศ.2475
พ.ศ.2512 ตรา พรบ.โรงงาน พ.ศ.2512 แทน พรบ.โรงงาน พ.ศ.2482 โดยมุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการก่อตั้งโรงงานและการคุ้มครองผู้ทำงานในโรงงาน
พ.ศ.2515 หลังจากการรัฐประหารได้มีประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ยกเลิกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 และยกเลิก พรบ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ.2508 ทั้งนี้คณะรัฐประหารได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการคุ้มครองแรงงานและการแรงงานสัมพันธ์ออกมาใช้บังคับใหม่ นอกจากนั้นยังมีประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และขอบเขตการทำงานของ คนต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยออกบังคับใช้
พ.ศ.2518 ตรา พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ออกมาใช้บังคับโดยได้มีการแก้ไขยกเลิกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 103 ในส่วนของการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งยังมีการใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2521 ตรา พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521ได้มีการตรา พรบ.ฉบับนี้ขึ้นเพราะ สถานการณ์ทางการเมืองทั่วไปได้มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประกาศคณะรัฐประหารฉบับ 322 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์
พ.ศ.2522 ตรา พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เพื่อพิจารณาคดีหรือขอพิพาทเกี่ยวกับแรงงานและกำหนดวิธีการในการพิจารณาคดี
พ.ศ.2533 ตราพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดการให้หลักประกันแก่บุคคลในสังคมที่มีปัญหาหรือความเดือดร้อนทางด้านการเงินเนื่องจากประสบเหตุเคราะห์ร้ายหรือมีเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลือในลักษณะของการเฉลี่ยความเสี่ยง ความทุกข์ สุขร่วมกัน ระหว่างประโยชน์ในสังคมโดยการรวมเงินเข้าเป็นกองทุนและจ่ายเงินนั้นช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อน[7]
พ.ศ.2537 ตรา พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มุ่งคุ้มครองลูกจ้างที่ประสบอันตรายเจ็บป่วย สูญหาย หรือเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน โดยลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างจากการประสบอันตรายนั้นๆ ตามแต่ประเภทของการประสบอันตราย
พ.ศ.2541 ตรา พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เน้นไปในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างกำหนดเวลาการทำงานต่อวัน เวลาพักระหว่างวัน วันหยุดต่างๆของลูกจ้าง การลาป่วย ลากิจ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในการทำงาน สวัสดิการและค่าชดเชย ซึ่งเคยมีบรรจุอยู่ใน พรบ.แรงงาน พ.ศ.2499
จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานได้มีพัฒนาการตลอดทุกช่วงเวลาบางช่วงอาจจะช้าบ้างบางช่วงอาจจะรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับช่วงไหนมีความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน ช่วงนั้นก็จะได้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อเรา แต่ช่วงไหนที่บ้านเมืองเป็นเผด็จการ กฎหมายที่ออกมาก็จะเน้นการควบคุมดังนั้นความคิดที่ว่าเป็นนักสหภาพแรงงานไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเป็นความคิดที่ผิด ทั้งนี้การที่กฎหมายแรงงานจะเป็นอาวุธที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานก็ต่อเมื่อชนชั้นแรงงานเป็นผู้ตรากฎหมายแรงงานเอง
-----------
เอกสารอ้างอิง
[1] นิคม จันทรวิทุร แรงงานไทย: การเดินทางที่ยาวนาน สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจำกัด 2524 หน้า25-26
[2] นิคม จันทรวิทุร แรงงานและกฎหมายไทย 2526
[3] ชุดวิจัยพัฒนาการสิทธิมนุษย์ชนในประเทศไทย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์
[4] นิคม จันทรวิทุร แรงงานและกฎหมายไทย2526
[5] นิคม จันทรวิทุร แรงงานและกฎหมายไทย 2526
[6] การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฏร
[7] www.pattanakit.com
(*หมายเหตุ : บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกใน “วารสารสหายแรงงาน” ฉบับที่ 3 วารสารดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นโดยการร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มนักศึกษาสภากาแฟ(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต) และกลุ่มประกายไฟ )