อธิการ.มทส. ค้านนศ.แต่งกายข้ามเพศ เข้ารับปริญญาฯ อ้างเป็นบัณฑิตต้องมีคุณธรรม จริยธรรม รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โต้ประเทศนี้อ้างอะไรไม่ได้ ก็อ้างคุณธรรมจริยธรรมปลอมๆ กลวงๆ ย้ำคุณธรรมของบัณฑิตต้องมีจิตใจที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เป็นอยู่
แม้วิวาทะนี้จะถูกเผยแพร่ในหลายที่แล้ว แต่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจจึงได้รวบรวมนำมาเผยแพร่ต่อใน blog นี้อีกทีเพื่อการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันต่อไป
ภาพจาก Facebook เพจ วิวาทะ
หลังจากที่ นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ออกมาคัดค้านการให้นักศึกษาแต่งกายข้ามเพศ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยอ้างการเป็นบัณฑิตต้องมีคุณธรรม จริยธรรม รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันนี้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติ
“โคตรเบื่อประเทศนี้เลย อ้างห่าอะไรไม่ได้ ก็อ้างเรื่องคุณธรรม จริยธรรมปลอมๆ กลวงๆ ประจำ แม้แต่คนระดับอธิการบดี (เรื่องนี้ดูเหมือนมี "ข้อยุติ" ไปแล้ว ในแง่ที่ ที่ประชุม อธิการบดีทั่วประเทศ ตกลงให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละมหาลัย แต่ในทีนี้ ผมขอแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ อธิการบดี มทส. พูดวันก่อนหน่อย)
คุณประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ออกมาคัดค้าน การที่ มธ. ให้นักศึกษา "ข้ามเพศ" แต่งเครื่องแบบ ตามเพศที่ตัวเองเลือก ดังนี้
"สมัยก่อนเคร่งครัดมาก แม้จะทำสีผมเป็นสีทองเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ก็ยังไม่ได้ มือขวาที่ใช้ยื่นรับพระราชทานปริญญาบัตร ต้องไม่สวมแหวนหรือเครื่องประดับใดๆ ปัจจุบันถึงจะหย่อนยานลงไปบ้าง แต่ใครขานเพศไหน ก็ควรแต่งกายตามเพศนั้น ขณะเดียวกันบัณฑิตควรพึงระลึกไว้ว่า การเป็นบัณฑิตนั้นไม่ใช่เพราะสอบได้ คะแนนถึง ก็เลยได้เป็นบัณฑิต แต่ต้องถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควรด้วย"
“คุณธรรม จริยธรรม ของบัณฑิต ที่แท้จริง ตามปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่ คือการรู้จักคิด วิเคราะห์วิจารณ์ด้วยตัวเอง รู้จักพิจารณาเรืองราวต่างๆในโลก อย่างเปิดใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย รู้จักใช้เหตุผลในการโต้แย้ง มีจิตใจที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เป็นอยู่ (ฝรังเรียก critical thinking)”
คนระดับอธิการบดี หาเหตุผลอะไรไม่ได้ เอะอะ ก็อ้าง "คุณธรรม จริยธรรม" กลวงๆ แบบนี้ นับว่า น่าอนาถมาก
(ปล. ผมตระหนักดีว่า ในหมู่คนที่รณรงค์เรื่องสิทธิทางเพศ มีความเห็นที่คัดค้านการที่ มธ. ต้องให้มี "ใบรับรองแพทย์" เรื่องบัณฑิตข้ามเพศ จะแต่งกายตามเพศที่ตัวเองเลือกอยู่ เรื่องนี้ ผมก็เห็นด้วยว่า มีประเด็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องต่อไป แต่ส่วนหนึ่งคือ ผมเข้าใจว่า ที่ยังต้องมีการทำเช่นนั้น เพราะมันมีระเบียบตัวหนังสืออยู่ ถ้าไม่ทำ จะมีปัญหา ดังนั้น ถ้าจะให้เรื่องนี้ เลิกไป อาจจะต้องแก้ไขที่ตัวระเบียบเอง ซึ่งก็ควรทำกันต่อไป แต่การอนุญาตของ มธ.ครั้งนี้ ผมยังมองว่า เป็น positive step ที่สำคัญ)”
โดย มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 55 นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ได้เสนอให้บรรจุเรื่องการแต่งกายข้ามเพศเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวาระการประชุมของ ทปอ.วันที่ 26 สิงหาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและ มีการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเกินครึ่งจากสมาชิก ทปอ. 24 แห่ง จะไม่เห็นด้วยกับการยอมให้นักศึกษาแต่งกายข้ามเพศ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มทส. ก็อยู่ในฝ่ายไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานยังได้รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน(25 ส.ค.55) นายบารมี พานิช แต่งกายด้วยชุดบัณฑิตหญิงมาร่วมการซ้อมใหญ่พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 30 สิงหาคมนี้
และถ้าจะมองต่อไปอีกในประเด็นชุดนักศึกษาหรือแม้แต่ชุดรับปริญญานั้น ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคยกล่าวไว้เมื่อ 22 ส.ค. 50 ว่า
"เหตุผลของการบังคับเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาเพราะชนชั้นปกครองต้องการรักษาอำนาจ เนื่องจากระเบียบวินัยชุดนักศึกษาสามารถจำกัดระบบวิธีคิดของนักศึกษาได้ด้วย เพราะการเชื่อฟังผ่านการปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายคล้ายการยอมรับอำนาจของชนชั้นปกครอง.."
ดังนั้นด้วยหน้าที่ของชุดหรือยูนิฟอร์มที่นอกจากจะเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังทำหน้าที่ในแง่ของการเป็นสัญญาลักษณ์ที่ผลิตซ้ำความคิดของชนชั้นปกครองแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่อธิการบดี มทส. จะมีความเห็นดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรมกับชุดนักศึกษา ชุดรับปริญญา ที่ว่าด้วยเรื่อง บัณฑิตควรรู้สิ่งใดควรไม่ควร เพราะการเป็นผู้รู้ในสังคมนี้คือการสร้างคนยอมรับกติกาที่ชนชั้นนำเป็นผู้สร้าง แทนที่จะคิดวิพากษ์กติกาที่เป็นอยู่เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ปัญหามันไม่ใช่แค่ชุดรับปริญญาว่าจะข้ามเพศได้หรือไม่ แต่มันอยู่ตั้งแต่พิธีรับปริญญา ชุดนักศึกษาและที่สำคัญคือ ระบบการศึกษาที่แค่ต้องการสอนให้คน "รู้ว่าอะไรควรไม่ควร" อย่างที่ อธิการ มทส. ว่านั่นล่ะ