“นักปฏิวัติท้ายที่สุดแล้วจะเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด ก้าวหน้าที่สุด ในทางตรงข้ามนักปฏิรูปหากทำการปฏิรูปเพียงลำพังโดยปราศจากเป้าในการปฏิวัติ ก็จะเป็นผู้รักษาระบบแห่งการกดขี่ที่ขยันที่สุดอย่างขันแข็งที่สุดเช่นกัน”
โรซา ลัคเซมเบิร์ก
บทนำ
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งในสังคมที่ทุกฝ่ายอยากเบือนหน้าหนี ภาคประชาชนถึงคราวตีบตัน เมื่อหันไปดูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็พบว่าเป็นรัฐบาลทุนนิยมสามานย์ที่สร้างบาดแผลลึกแก่สังคมไทย ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมรัฐสมัย6ตุลาคม2519 ยังไม่นับรวมการเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณซึ่งอื้อฉาวในกรณี ฆ่าตัดตอนยาเสพติด และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย แต่เมื่อหันไปมองที่ม็อบขับไล่รัฐบาล ซึ่งเหล่าภาคประชาชนทั้งหลายต่างไม่ปฏิเสธจุดยืนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ด้วยประชาธิปไตยบนท้องถนน แต่ก็ต้องระเหี่ยใจกับจุดยืนของขบวนการซึ่งเรียกร้องให้ทำการรัฐประหารใช้แนวชาตินิยม สถาบันนิยม อย่างบ้าคลั่ง-เพื่อ กลบเกลื่อนกลุ่มทุนอีกกลุ่มซึ่งอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสามานย์ไม่น้อยกว่ากัน รวมถึงสื่อมวลชนผู้สนับสนุนขบวนการก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกับ หนังสือพิมพ์อนุรักษ์นิยมในอดีตในการบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกระดมให้เกิด การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนต่างๆซึ่งอยู่คนละข้างอุดมการณ์กับตน
แน่นอนที่สุดเราต่างเรียกร้องหาแนวทางที่สาม และ เราภาคประชาชนย่อมไม่ได้พูดถึงความเป็นกลาง ที่ฟังดูยิ่งใหญ่แต่ไร้ความหมายหากแต่พูดถึงแนวทางรูปธรรมของขบวนการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ(ซึ่งเป็นคนยากจน-ผู้ใช้แรงงาน-เกษตรกรรายย่อย) จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยหวังว่าพื้นที่ในบล็อกที่ทางประชาไทจัดให้ตรงนี้จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับแนวทางที่สาม ...ซึ่งหากเราพูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม เราคงหมายถึงแนวทางสังคมนิยม รูปธรรมของแนวทางการต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม....
สำหรับบทความนี้เราจะพิจารณาความล้มเหลวของขบวนการภาคประชาชน ซึ่ง ณ ปัจจุบันสถานการณ์ได้พิสูจน์ซึ่งความล้มเหลวของพวกเขาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวทาง การเข้าร่วมกับรัฐบาลทักษิณสำหรับกลุ่มซ้ายเก่าหรือภาคประชาชนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย เข้าร่วมกับพันธมิตรฯใช้แนวชาตินิยมเข้าสู้ แต่ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็ต้องผิดหวัง อย่างไม่เป็นท่า... บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่คิดจะสร้างแนวร่วมกับแนวคิดล้าหลังต่างๆ ในกรณีศึกษาของมาร์กซิสต์ลัทธิแก้ จะแสดงถึงข้อจำกัดทางทฤษฎีและปฏิบัติของการสร้างแนวร่วมกับชนชั้นนำ หรือการประนีประนอมกับระบบทุนนิยม
ย้อนกลับไปก่อนจะถึงจุดเริ่มต้น
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ปลายศตวรรษที่19 ขณะที่กลิ่นไอของการกดขี่ขูดรีดเริ่มแผ่ขยายไปทั่วยุโรป สังคมเจริญก้าวหน้าขึ้นจากศตวรรษของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ก็ควบคู่ไปกับการกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่ยากลำบากและปราศจากสวัสดิการหรือกฎหมายใดๆรองรับชีวิตของพวกเขา ,คาร์ล มาร์กซ์ได้พูดถึงทฤษฎีการขูดรีดมูลส่วนเกิน การแปลกแยกการผลิต อันนำมาซึ่งความขัดแย้งทางชนชั้น ทฤษฎีของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับปัญญาชนและชนชั้นล่างในยุโรปในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ในขณะเดียวกัน,ขณะที่ไฟแห่งการปฏิวัติสุมอยู่ในทุกตารางนิ้วของการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ก็ได้เกิดข้อถกเถียงใหญ่ขึ้นจากนักกิจกรรมด้วยกัน เมื่อส่วนหนึ่งของพวกเขาสามารถประสบชัยชนะจากการต่อสู้ในระบบทุนนิยม...พวกเขาได้สิ่งที่ต้องการจาการต่อสู้ ด้วยกลุ่มของพวกเขาเอง เปิดศักราชใหม่แห่งการต่อสู้ เมื่อชนชั้นล่างสามารถได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ผ่านการต่อรอง และ ไม่จำเป็นต้องปฏิวัติโค่นล้มระบบ! เช่นนั้นทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งทางชนชั้น คงจะผิดเพี้ยนไปเสียแล้ว เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อระบบทุนนิยมเจริญขึ้นคือทุกคนสามารถต่อรองและได้รับผลประโยชน์จากมัน ข้อถกเถียงดังกล่าวถูกจุดประเด็นด้วย เอดเวิร์ด เบิร์สไตน์ สมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมนี [1] แนวคิดของเขาส่งอิทธิพลอย่างมากต่อทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในศตวรรษถัดมา
เบิร์นสไตน์ และลัทธิแก้
ในช่วงลัทธิสตาลิน-เหมาเป็นกระแสหลักของขบวนการฝ่ายซ้ายในช่วง ทศวรรษ1930-1970 คำว่าลัทธิแก้ถือเป็นคำหยาบและใช้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองในลักษณะที่ว่าผู้ถูกข้อกล่าวหานั้น มีลักษณะที่เอนเอียงไปทางทุนนิยม โทษของข้อกล่าวหานี้รุนแรงมากขึ้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งมีการไต่สวนและลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม กระนั้นเอง เบิร์นสไตน์ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งลัทธิแก้ ในยุคสมัยของเขานั้น เขาประกาศตัวชัดเจนว่าเขาเป็นพวกลัทธิแก้ และมีความพยายามที่จะแก้ (revise) แนวคิดมาร์กซ์ให้สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงมากขึ้น แนวคิดของเบิร์นสไตน์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างประเทศทุนนิยมรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศอุตสาหกรรม แต่ตั้งแต่ทศวรรษ1980เมื่อกระแสเสรีนิยมใหม่เริ่มไหลบ่ามาจากลาตินอเมริกา ร่มรัฐสวัสดิการในยุโรปก็เริ่มถูกตัดทอนลงอันทำให้ภาระแห่งความยากลำบากในชีวิตตกอยู่กับชนชั้นแรงงานทั้งปกคอขาว-ปกคอน้ำเงินซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เราจะใช้ปรากฏการณ์นี้ในการวิพากษ์ทบทวน ความบกพร่องและไม่เพียงพอของแนวคิดเบิร์นสไตน์เพื่อการเสนอถึงยุทธศาสตร์ในการตอบโต้กระแสเสรีนิยมใหม่ ซึ่งได้เปิดเผยความขัดแย้งทางชนชั้นให้เด่นชัดมากขึ้น
เบิร์นสไตน์มีวิตอยู่ระหว่างปี 1850ถึงปี1932เมื่อเราพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมที่ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดของเขา เราจะพบปัจจัยหลักสามประการที่มีผลต่อแนวคิดของเขา คือการรวมชาติเยอรมนี 2.อิทธิพลของสังคมนิยมเฟเบียนในอังกฤษ และ 3.การปฏิวัติบอลเชวิค-การขึ้นอำนาจของสตาลิน [2]
ปัจจัยแรกการรวมชาติเยอรมนีของ บิสมาร์ค สิ่งที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมคือเยอรมนีสามารถรวมชาติได้เพราะการผลิตของระบบทุนนิยม ยิ่งไปกว่านั้นการผลิตแบบระบบทุนนิยมได้นำความมั่งคั่งเข้าสู่ประเทศประชาชนมีงานทำ เกิดความมั่งคั่งในประเทศและไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชนชั้นล่างก็ได้ผลประโยชน์จากความมั่งคั่งดังกล่าวไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ปัจจัยที่สองช่วงปลายศตวรรษที่19กรุงลอนดอนเป็นแหล่งรวมของปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ลี้ภัยทางการเมือง ร่วมถึง คาร์ลมาร์กซ์ด้วยแต่มิได้หมายความว่าแนวคิดมาร์กซ์จะโดดเด่นในอังกฤษเช่นในยุโรป แนวคิดการวิพากษ์ระบบทุนนิยมของมาร์กซ์มีการพัฒนามาพร้อมๆกันในเกาะอังกฤษโดยกลุ่มสังคมเฟเบียนซึ่งให้ความสำคัญกับชนชั้นล่างเช่นกัน หากแต่ไม่ได้พูดถึงการปฏิวัติโค่นล้มแต่พูดถึงการปฏิรูปเพื่อความเป็นธรรมแทน เบิร์นสไตน์คงได้อิทธิพลจากกลุ่มเฟเบียนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะภาพสะท้อนสำคัญคือผู้ใช้แรงงานอังกฤษมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการต่อรองของสหภาพแรงงาน โดยไม่ต้องรวมตัวกันเป็นชนชั้นเพื่อโค่นล้มระบบ และ ปัจจัยที่3.เบิร์นสไตน์มีข้อถกเถียงที่กว้างขวางระหว่างหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกันถึงแนวทางการปฏิรูประบบทุนนิยมรวมถึงกับพรรคบอลเชวิค โดยเฉพาะกับโรซา ลัคเซมเบิร์ค เขาวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิคว่าเป็นการกระทำของคนเถื่อน สังคมนิยมที่แท้ต้องเป็นประชาธิปไตยทั้งวิธีการและเป้าหมาย แนวทางของบอลเชวิคมิอาจสร้างสังคมนิยมจริงๆขึ้นมาได้และเหมือนจะเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขาเมื่อ สตาลินขึ้นอำนาจและนำพาโซเวียตสู่เผด็จการทุนนิยมโดยรัฐในที่สุด[3]
ข้อวิพากษ์ลัทธิแก้ต่อแนวคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิม
1.การใช้วิภาษณ์วิธีของเฮเกล ไม่อาจใช้ในทางปฏิบัติได้ หลักของวิภาษณ์วิธีแบบเฮเกลคือการพิจาณาว่าในสังคมหนึ่งย่อมมีส่วนใหญ่และส่วนย่อยซึ่งขัดแย้งกัน และความขัดแย้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหากแต่ในรูปแบบใหม่ก็ยังคงไว้ซึ่งความขัดแย้งระหว่างส่วนใหญ่ส่วนย่อยอย่างไม่สิ้นสุด เบิร์นสไตน์ชี้ว่าการมองเช่นนี้ขัดกับสภาพความเป็นจริงโดยชี้ให้ย้อนกลับไปศึกษาแนวคิดของค้านท์ [4] ที่ว่ามนุษย์ผู้สร้างสรรค์มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันมากขึ้น ความขัดแย้งต่างๆจะถูกแทนที่ด้วย จิตสำนึกแห่งการค้า(Spirit of merchant) เขายังชี้ให้เห็นว่าการสถาปนารัฐเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพโดยบอลเชวิค นอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยในวิธีการแล้วยังเป็นภาพสะท้อนการขัดกับวิภาษณ์วิธีของเฮเกลซึ่ง พวกบอลเชวิคพยายามสถาปนาอำนาจของขัวหนึ่งเหนืออีกขั้วหนึ่งและกำจัดความขัดแย้งออกไป
2.มูลค่าแรงงาน-ส่วนเกินการผลิต ซึ่งมาร์กซ์ได้ชี้ว่าเมื่อระบบทุนนิยมดำเนินไปมูลค่าส่วนเกินจะลดลง คือกำไรน้อยลงและทำให้มูลค่าแรงงานลดลง กล่าวคือแรงงานที่เป็นทั้งผู้บริโภคและเป็นสินค้าสำหรับการผลิตจะประสบกับความขัดแย้งคือ ค่าแรงต่ำลงขณะที่สินค้าสูงขึ้น เบิร์นสไตน์ชี้ว่าความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามเพราะผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยสามารถสะสมรายได้ของตัวเอง ไต่เต้าตามลำดับขั้นมีชีวิตที่สุขสบายขึ้นภายใต้การทำงานกับระบบ เทคโนโลยีจะเป็นการเร่งให้เกิดการพัฒนาเพื่อได้กำไรมากขึ้น วิกฤติกำไรตามที่มาร์กซ์เสนอจึงไม่เกิด
3.ปลายทางของทุนนิยมไม่จำเป็นต้องผูกขาด ไม่จำเป็นที่ว่าเมื่อเกิดการแข่งขันขึ้นแล้วจะมีเพียงวิสาหกิจขนาดใหญ่เหลืออยู่ และนำมาสู่การผูกขาด แย่งชิงทรัพยากรและพัฒนาสู่จักรวรรดินิยมในที่สุด(ข้อเสนอหลังพัฒนาโดยเลนิน) ซึ่งทางลัทธิแก้ได้ยกประเด็นที่ว่าจริงอยู่ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนยาดย่อมมิได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสูญหายไปเพราะผู้บริโภคมีเงื่อนไขด้านรสนิยม ซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถตอบสนองได้ดีกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่
4.ระบบทุนนิยมทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับที่ระบบทุนนิยมได้แปลกแยกคนออกจากการผลิต ซึ่งคือทำให้ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และได้รับส่วนแบ่งเพียงค่าจ้าง ลัทธิแก้เสนอไว้เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นยิ่งจะมีการส่งเสริมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นผ่านการถือหุ้นส่วนในระดับต่างๆ ซึ่งหมายความว่าทำให้ชนชั้นแรงงานสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกับนายทุนได้ [5]
5.หากเป็นไปตามข้อเสนอสี่ข้อเบื้องต้นแล้ว เบิร์นสไตน์ชี้ว่าชนชั้นก็จะสลายไป ทุกคนสามารถยกระดับชีวิตตัวเองผ่านการต่อสู่ต่อรองในระบบ เส้นแบ่งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและนายทุนจะบางเสียจนไม่สามารถแบ่งแยกได้
6.ดังนั้นรัฐในทรรศนะของลัทธิแก้จึงเป็นเวทีของการจัดสรรผลประโยชน์กล่าวคือ ชนชั้นล่างอาจเรียกร้องต่อสู้นอกช่องทางปกติแต่สุดท้ายแล้วรัฐจะเป็นเวทีการต่อรองให้กับกลุ่มต่างๆในปริมณฑลเศรษฐกิจ-การเมือง การมองเช่นนี้สอดคล้องกับสำนักพหุนิยมที่กลุ่มต่างๆสามารถอยู่ด้วยกันได้ผ่านการต่อรองโดยมิจำเป็นต้องขัดแย้งกัน
ปรัชญาของลัทธิแก้
1.ดัง ที่ได้ระบุไปแล้ว แนวคิดสำนักค้านท์ใหม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อลัทธิแก้คือการมองสังคมในลักษณะ ที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันและสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันมากขึ้น.
2.การใช้เวทีประชาธิปไตยแบบทุนนิยมในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเชื่อว่าระบบที่มีอยู่มีความเป็นกลาง การผลักดันความเป็นธรรมเริ่มจากสุญญากาศไม่มีต้นทุนใดๆติดลบ จึงออกมาในรูปแบบของการส่งเสริมการตั้งพรรคการเมืองเมืองเพื่อแข่งขันตามช่องทางปกติ [6]
3.ยังคงให้ความสำคัญแก่สหภาพแรงงาน แต่พิจารณาแยกส่วนโดยมิคำนึงถึงความเป็นชนชั้น ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานอยู่ในฐานะกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มผลักดัน อันหมายความว่าศัตรูของการต่อสู้เรียกร้องแต่ละครั้งคือนายทุน-หรือผู้ประกอบการไม่กี่คนที่ข้องเกี่ยวกับตัวโรงงานของสหภาพนั้น [7]
4.ด้วยการมองว่าทุนนิยมสามารถพัฒนาตัวเองสู่ความเท่าเทียมได้และรัฐก็มีความเป็นกลาง ซึ่งหมายความว่าไม่ได้มองว่ารัฐเป็นเครื่องมือของใคร และกำลังถูกใช้เพื่ออะไร ลัทธิแก้จึงไม่ขัดขวางการทำสงครามของรัฐต่างๆเพื่อการป้องกันตัวเอง และสงครามจะเป็นการคุกคามการพัฒนาของระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบที่จะนำพาสู่ความยุติธรรรมและทั่วถึงของสังคม
นโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตย
ก่อน ที่เราจะพูดถึงความล้มเหลวและข้อจำกัดของแนวทางทุนนิยมรัฐสวัสดิการเราจำ เป็นต้องพิจารณาตัวนโยบายหลักของรัฐสวัสดิการเสียก่อน ซึ่งมีสาระคือการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้านอกจากจะเป็นการเพิ่มค่าใช้สำหรับการสร้างรัฐ สวัสดิการ ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และหากมองจากปัจจัยภายนอกแล้วการที่ระบบทุนนิยมโลกผลักดันให้มีการผลิตแบบใน ประเทศในช่วงเวลานั้นเป็นการเอื้อให้มีการจัดรัฐสวัสดิการขึ้นเพื่อป้องกัน การลุกขึ้นปฏิวัติของชนชั้นล่าง พรรคสังคมประชาธิปไตยครองอำนาจในยุโรปเป็นเวลามากกว่า2ทศวรรษและแม้เมื่อพรรคแนวอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งก็ไม่สามารถลดทอนสวัสดิการของประชาชนอย่างออกหน้าออกตาได้
เสรีนิยมใหม่-ธาตุแท้นายทุน-อวสานรัฐสวัสดิการ?
หลังจากที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ครอบครองความเป็นกระแสหลักของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ1930เป็นต้นมา ควบคู่กับการขึ้นมามีบทบาทของพรรคฝ่ายซ้ายต่างๆในประเทศอุตสาหกรรมใต้อทธิพลของลัทธิแก้แบบเบิร์นสไตน์ สิ่งที่ระบบทุนนิยมโลกพยายามส่งออกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า กล่าวคือประเทศหนึ่งพึงให้เอกชนต่างๆเข้าไปลงทุนในประเทศของตน [8] และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศนั้นๆ แนวคิดดังกล่าวมาควบคู่กับวาทกรรมการพัฒนา และประเทศโลกที่สามก็ตกเป็นสนามทดลองของแนวคิดนี้ โดยการยกเลิกการลงทุนโดยรัฐในอุตสาหกรรมต่างๆและให้เอกชนมาลงทุนรัฐคงแต่ควบคุมวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเท่านั้น แนวคิดนี้ไปได้ด้วยดีกับการพัฒนาในโลกที่สาม กระทั่งวิกฤติน้ำมันในทศวรรษ1970 ซึ่งประเทศในลาตินอเมริกาประสบกับภาวะล้มละลาย(ในทางทุนนิยม) ด้วยการเป็นหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล [9] รัฐบาลขาดดุลการคลัง และตลาดสินค้าแบบผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเริ่มจำกัด เทคโนแครตของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงผลักดันให้ประเทศเหล่านี้เข้าโปรแกรมการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐสูงเกินงบประมาณของประเทศ รัฐต้องรักษาวินัยทางการคลัง และปัญหาต่างๆเกิดจากตัวรัฐเองซึ่งเข้าแทรกแซง-บิดเบือนกลไกราคา รัฐต้องทำตัวให้เล็กที่สุดและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน สิ่งศัพท์ของเทคโนแครตกลุ่มนี้ในการเรียกปรากฏการณ์ในลาตินอเมริกาว่า “Tregedy of Common” ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ถูกรวบรวมและนำเสนอใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ1980ในฐานะเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ
วิกฤติดังกล่าวได้รับผลกระทบในวงกว้าง ในสหรัฐเมริกาเอง นโยบายอภิมหาสังคมของลินดอน จอห์นสัน [10] ควบคู่กับการทำสงครามเวียดนาม ทำให้ดุลงบประมาณขาดดุล มีคนโจมตีนโยบายอภิมหาสังคมมากมายถึงความล้มเหลวในการจัดสวัสดิการแบบสะเปะสะปะ ไม่มีทิศทางและเป็นธรรมดาของสังคมอเมริกันที่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ชนชั้นปกครองมักโยนความผิดให้กับสวัสดิการว่าเป็นการให้ประโยชน์กับ “คนดำ” (Welfare benefits Black!) ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ผู้ได้ประโยชน์จากสวัสดิการของนโยบายอภิมหาสังคม (ซึ่งมิได้จัดแบบถ้วนหน้า) ก็ยังคงเปผ็นชายอเมริกันผิวขาว ในที่สุดก็นำสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่อย่างโรนัลด์เรแกนและดำเนินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่อย่างเต็มที่ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่อังกฤษเช่นเดียวกัน กับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนางแท็ตเธอร์ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และงบประมาณขาดดุลโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดีประเทศในยุโรปเหนือยังคงต้านกระแสนี้ได้จนกระทั่งทศวรษ1990จึงเริ่มมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหรือลดทอนรัฐสวัสดิการลงเพื่อสร้างวินัยทางการคลัง [11]
ทำไมแนวทางทุนนิยมรัฐสวัสดิการจึงล้มเหลว
เมื่อดำเนินมาถึงช่วงปลายทศวรรษ1970 ระบบเศรษฐกิจในประเทศทุนนิยมรัฐสวัสดิการเริ่มประสบกับปัญหา เงินเฟ้อ การขาดดุลการคลัง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มทบทวนว่าอาจเป็นเพราะความผิดพลาดของระบบรัฐสวัสดิการ แต่เหนืออื่นใด เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้ล้มเหลวในตัวจของมันเอง เพราะในปัจจุบันยังมีประเทศทุนนิยมรัฐสวัสดิการอยู่จำนวนหนึ่งและประเทศเหล่านั้นก็ยังไม่ได้มีที่ท่าว่าจะล้มสลายแต่อย่างใด ตรงข้ามเรากลับพบความล่มสลายในประเทศที่ดำเนินนโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว
สาเหตุของความล้มเหลวน่าจะเกิดจากการผลักดันให้เกิดการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก(EOI) เมื่อตลาดภายในของการผลิตแบบISIถึงจุดอิ่มตัว การผลิตแบบEOIเน้นการแบ่งงานกันทำกล่าวคือประเทศหนึ่งพึงผลิตสินค้าชนิดเดียวที่ถนัดที่สุดเพื่อขายแก่ตลาดโลก การผลิตเช่นนี้ส่งผลให้ประสบกับปัญหาการลดลงของอัตรากำไร รัฐบาลจึงเปิดเสรีให้กับทุนการเงิน ยกเลิกภาษีอัตราก้าวหน้า นั่นหมายความว่ารัฐมีเงินทุนสำหรับการจัดสวัสดิการน้อยลง ซึ่งทำให้เราเห็นภาพว่าเหตุใดแนวทางสังคมประชาธิปไตยซึ่งเน้นการปฏิรูปภายใต้ระบบทุนนิยมถึงได้พบกับทางตัน เนื่องด้วย เมื่อเกิดวิกฤติในระบบทุนนิยม สวัสดิการเป็นค่าใช้จ่ายลำดับแรกที่ชนชั้นปกครองคิดที่จะลดทอน ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางกลาโหมกลับมีแต่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระบอบของเหล่าชนชั้นนำไว้ [12]
ใน จุดนี้เรามีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาในมิติของทางเศรษฐศาสตร์ว่า เศรษฐศาสตร์ แบบเคนส์คืออะไรและมีข้อจำกัด อะไร ประการแรกเคนส์เป็นปัญญาชนของชนชั้นนายทุนการพัฒนาแนวทางเศรษฐกิจของเขามิ ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นล่างหากแต่ เป็นไป เพื่อการสร้างเสถียรภาพของระบบทุนนิยมดังนั้น เคนส์จึงมิอาจก้าวพ้นกรอบการวิเคราะห์ของระบบทุนนิยมได้เมื่อทุนนิยมเกิด วิกฤติและแนวทางการกระตุ้นของเคนส์ไม่ได้ผลนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ก็ได้ แต่ปิดปักเงียบและเปิดโอกาสให้สำนักเสรีนิยมใหม่เข้ามามีบทบาทในการกำหนด เศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยสรุปแล้วกรอบการวิเคราะห์ของเคนส์มิได้เกี่ยวข้องกับการกดขี่ขูดรีด และไม่เป็นธรรมของชนชั้นล่างโดยชนชั้นปกครองแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปเพื่อเสถียรภาพของระบบเท่านั้น
ข้อวิพากษ์ของสำนักมาร์กซิสต์ ต่อลัทธิแก้
เมื่อกระแสเสรีนิยมใหม่ไหลบ่าลงมาหลายคนตั้งคำถามว่า คงถึงรัฐสวัสดิการคงถึงจุดจบและไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ดีแนวทางมาร์กซิสต์ได้มีข้อวิพากษ์ อย่างแหลมคมต่อแนวทางลัทธิแก้ ในประการแรกการที่ลัทธิแก้พูดถึงการที่ทุนนิยมสามารถพัฒนา ต่อไปได้เรื่อยๆ เบิร์นสไตน์พูดในบริบทที่ไม่เคยประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ1930 รวมถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นระยะในเวลาต่อมา ซึ่งพอเป็นภาพขยายว่ายิ่งระบบทุนนิยมพัฒนาขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติขึ้นทั้งในแง่การแย่งชิงทรัพยากรและการลดลงของอัตรากำไร [13]
ส่วนในประเด็นที่ว่าทุนนิยมสามารถดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการเป็นเจ้าของการผลิตร่วมกันผ่านการถือหุ้นนั้น ซึ่งเท่ากับว่าลัทธิแก้พยายามเสนอว่าปลายทางของระบบทุนนิยมก็คือสังคมนิยมนั่นเอง ซึ่งทางมาร์กซิสต์เสนอแย้งว่าฟหากเราถือเพียงการถือหุ้นร่วมกันว่าเป็นเจ้าของการผลิตร่วมกัน และความขัดแย้งทางชนชั้นจะหายไปและเกิดสังคมนิยมขึ้นมา เช่นนั้น สหรัฐอเมริกาก็คงเป็นประเทศที่เป็นสังคมนิยมมากที่สุดในโลกเพราะมีการถือหุ้นร่วมมากที่สุด....การพิจารณาความขัดแย้งทางชนชั้นติองพิจารณาจากกระบวนการทำงานกล่าวคือ แม้เสมียนผู้หนึ่งจะถือหุ้นร่วมในบริษัทก็มิได้หมายความว่าเขามีอำนาจบงคับบัญชาเหนือผู้บริหาร ดังนั้นความขัดแย้งทางชนชั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นร่วม เพราะเราต่างทราบดีว่าผู้กำหนดนโยบายคงเป็นเพียงแต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่กี่คนเท่านั้น [14]
การใช้แนวทางค้านท์ในการวิเคราะห์ทุนนิยมนั้น ดูจะเป็นการผิดฝาผิดตัวเพราะความเป็นจริงแล้วโลกปราศจากซึ่งความสมานฉันท์ และการสมานฉันท์ก็มิเคยเกิดขึ้นจริง แนวความคิดสมานฉันท์เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นคงมีเพียงแต่ในนิยายของชนชั้นปกครองเท่านั้น เพื่อที่จะป้องกันการลุกขึ้นเรียกร้องของชนชั้นล่างผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นการตอกย้ำแก่เราว่าแท้จริงแล้วรัฐคืออะไร ซึ่งไม่ได้มีความเป็นกลางตามที่ลัทธิแก้หรือสำนักพหุนิยมพยายามเสนอ หากแต่ในความเป็นจริงแล้วคือเครื่องมือทางชนชั้น นั่นหมายความว่ารัฐทุนนิยมย่อมสถาปนาเผด็จการโดยชนชั้นนายทุนเหนือชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้นเผด็จการโยชนชั้นกรรมาชีพจึงไม่ใช่เผด็จการตามที่ลัทธิแก้เสนอ หากแต่เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นส่วนใหญ่ในสังคม ส่วนเผด็จการเป็นคำในเชิงอัตวิสัยนั่นคือการมีอำนาจเหนือชนชั้นนายทุน ในบริบทของสังคมที่ยังคงมีความขัดแย้งทั่วไป
ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายลัทธิแก้บกพร่องคือ การประท้วงแต่ละครั้งของสหภาพแรงงานการพุ่งเป้าไปที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการ-เจ้า ของโรงงานนั้นๆเป็นการผิดประเด็น เพราะศัตรูของชนชั้นกรรมาชีพคือระบบทุนนิยมโลกหาใช่นายจ้างไม่กี่คน การเรียกร้องผลประโยชน์ระยะสั้นย่อมไม่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน รวมถึงอาจนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างชนชั้นกรรมาชีพด้วยกัน และในท้ายที่สุดเหล่านักปฏิรูปจะเป็นผู้ปกป้องทุนนิยมที่ดีที่สุดแต่เมื่อ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วเหล่านายทุนและชนชั้นปกครองแทบไม่เห็นพวกเขาอยู่ใน สายตา
มาร์กซิสต์กับการปฏิรูป
โรซา ลัคเซมเบิร์คผู้ซึ่งมีข้อโต้แย้งอย่างกว้างขวางกับเอ็ดเวิร์ดเบิร์นสไตน์ ได้เขียนในงานชิ้นเอกของเขา-ปฏิรูปหรือปฏิวัติ โดยชี้ว่า การปฏิรูปและการปฏิวัติต้องทำควบคู่กันไป และคงไม่มีฝ่ายซ้ายที่ไหนคัดค้านรัฐสวัสดิการ ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นระบบที่ฝ่ายซ้ายใช้หลังจากการปฏิวัติ สิ่งที่ต้องทำคือการโจมตีว่ามันไม่เพียงพอมิใช่ให้ยกเลิกมัน ซึ่งหากวิเคราะห์โดยหลักวิภาษณ์วิธี แล้วการปฏิรูปและการปฏิวัติเป็นสองขั้วที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือเมื่อปฏิรูปไประยะหนึ่งแล้วบรรยากาศของการปฏิวัติจะเข้ามาแทนที่เพราะการปฏิรูปมาถึงทางตัน หรือหากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นแล้วก็จะมีบรรยากาศของการปฏิรูปเข้ามาเช่นกันเมื่อสังคมตระหนักว่าการปฏิวัติครั้งเดียวไม่เพียงพอ [15]
นั่น หมายความว่ามาร์กซิสต์ไม่ได้คัดค้านการปฏิรูปแต่เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันชน ชั้นนายทุนและ การปฏิรูปอาจใช้เป็นวิธีการได้หากแต่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการปฏิวัติตลอด เวลา โรซาชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปต่อสู้เรียกร้องในแต่ละครั้ง จะทำให้ชนชั้นล่างตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองเมื่อได้รับชัยชนะ ในทางเดียวกันเมื่อมีการเรียกร้องปฏิรูปและประสบความล้มเหลวย่อมเป็นการ พิสูจน์ใจชนชั้นปกครองและชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการปฏิรูปในท้ายสุด และสิ่งที่ต้องเน้นย้ำสำคัญคือการปฏิรูปตามลำพังมิอาจทำให้ความขัดแย้งทางชน ชั้นหายไปได้ [16] สิ่งสำคัญคือการต้องชูธงปฏิวัติตลอดการเคลื่อนไหว
นิยายของชนชั้นนายทุน เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ [17]
เมื่อแนวคิดสังคมประชาธิปไตยถึงทางตันเหล่าชนชั้นนายทุนได้ใช้โอกาสนี้ในการผลิตคำอธิบายต่างๆเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ อาทิ
1.รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจไม่ไปทำงานทำให้อัตราการว่างงานสูง ซึ่งเป็นนิยายยอดนิยมของชนชั้นนายทุน ดังที่เราได้พูมาแล้วปัญหาของการว่างงานเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ การทำสงคราม ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของชนชั้นนายทุนทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การตกงานย่อมไม่เป็นความตั้งใจของใคร
2.รัฐ สวัสดิการล้มเหลวเพราะมีคนชรามากไป ประเทศะวันตกประสบกับปัญหาขาดดุลการชำระเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมทั้งโยนว่าเป็นเพราะการที่มีคนชราในวัยเกษียณมากเกินไปจึงทำให้ประเทศ ขาดดุล และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดทำรัฐสวัสดิการส่วนอื่น ข้ออ้างเหล่านี้ดูจะเกินจริงไม่น้อยเมื่อพิจารณาเราจะพบว่า ค่าใช้จ่ายของคนชราไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันการที่เงินทุนสำหรับจัดการรัฐสวัสดิการลดลงเป็นเพราะการที่รัฐ ยกเลิกนโยบายภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมาสร้างรัฐสวัสดิการ
3.รัฐสวัสดิการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพา ซึ่งขัดกับความเป็นจริงอีกเช่นกัน เพราะรัฐสวัสดิการจะสร้างวัฒนธรรมของการที่คนสามารถพึ่งตนเองและไม่ต้องไปแบมือขอใคร รัฐสวัสดิการไม่ใช่ให้ในความหมายของสังคมสงเคราะห์แต่ให้ในลักษณะการตอบแทนฐานะการเป็นพลเมือง ตรงกันข้ามระบบทุนนิยมเสียอีกที่สร้างวัฒนธรรมของการบริจาค โยนเศษเนื้อ และการอนุเคราะห์ ของชนชั้นนายทุนต่อชนชั้นล่างเมื่อฝ่ายหลังไม่มีหลักประกันอะไรเหลืออยู่ นอกจากการประจานความจนเพื่อขอความเห็นใจ
บทสรุปพรรคสังคมประชาธิปไตยหลังเสรีนิยมใหม่
พรรคสังคมประชาธิปไตยหลังจากเผชิญวิกฤติและข้อจำกัดในระบบทุนนิยม จึงมีการพัฒนาแนวทางใหม่ เรียกว่าแนวทางที่สาม ซึ่งพัฒนาโดยแนวคิดของ แอนโทนี กิดเดนส์ ซึ่งเมื่อศึกษาแนวทางของพรรคเหล่านี้เราจะเห็นถึงปลายทางของลัทธิแก้ที่สุดท้ายแล้ว แนวทางที่สามได้ประกาศจุดยืนในการประนีประนอมกับระบบทุนนิยม มากขึ้นกล่าวคือ การจัดสวัสดิการให้กับสังคมสามารถทำได้ตราบเท่าที่ประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แนวทางนี้ยังมีการเรียกร้องให้สภาพแรงงานลดท่าทีที่แข็งกร้าวลงเพื่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และสร้างบรรยากาศการลงทุน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าท้ายที่สุดแล้วหากเราประนีประนอมกับระบบทุนนิยม ปฏิรูปไปพร้อมๆกับปกป้องมัน เราก็จะติดอยู่ในกับดักของชาตินิยม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว รัฐชาติในระบบทุนนิยมก็มิได้เป็นอะไรมากกว่าเครื่องมือของชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ
………
อ้างอิง
[1] See “Bernstein” ใน Tom Bottomore A Dictionary of Marxist thought Cambridge, Mass. : Harvard University Press, 1983
[2] See “Bernstein” ใน Tom Bottomore A Dictionary of Marxist thought Cambridge, Mass. : Harvard University Press, 1983
[3] Subrata Mukherjee and Sushila Ramaswamy A history of socialist thought : From the Precursors to the present New Delhi, India : SAGE, 2000 p.210
[4] Subrata Mukherjee and Sushila Ramaswamy p..213
[5] Subrata Mukherjee and Sushila Ramaswamy p.199
[6] พฤทธิสาณ ชุมพล ,เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2549
[7] Rosa Luxemburg, Reform or Revolution Militant Publications, London, 1986 (no copyright) Rosa Luxemburg Internet Archive (marxists.org) 1999, http://www.marxists.org/archive/luxemburg/1900/reform-revolution/index.htm
[8] ดูเพิ่มเติม Philip Morgan , Privatization and the welfare state : Implications for consumers and the workforce Cambridge : Polity Press, 2000
[9] อ้างแล้ว กุลลดา เกษบุญชู
[10] อสันภินพงศ์ ฉัตราคม, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกา ,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,กรุงเทพ ,2522
[11] อ้างแล้ว ดูเพิ่มเติม Philip Morgan
[12] อ้างแล้ว ใจ อึ๊งภากรณ์ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ
[13] อ้างแล้ว ใจ และเก่งกิจ
[14] ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วิวาทะว่าด้วยบทบาททุนนิยมการเงิน, ฟ้าเดียวกันปีที่5 ฉบับที่3
[15] Ibrd., Rosa Luxemburg
[16] IBrd Rosa Luxemburg
[17] หัวข้อนี้ขยายความจาก รัฐสวัสดิการทางเลือกที่ดีกว่าประชานิยมของไทยรักไทย ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ