Skip to main content

31สิงหาคม2550
22.40 น.

ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกา

นับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก

 

PICTURE1

 

เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว จึงมักถูกโยกย้ายถ่ายเทไปหลายหนแห่งหลายครั้งคราวอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว

ทว่าครั้งนี้ เมื่อชาวบ้านเงี่ยหูฟังรัฐที่ได้ยื่นมือลงมาปลดห่วงที่มองไม่เห็น ต้องการจัดตั้งหมู่บ้านถาวร โดยจะยกที่ดินที่ทำกินให้ดำเนินชีวิตอย่างชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ขณะที่เดียวกันก็ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นเดิม

จากการบังคับข่มขู่ให้ย้าย ก็กลายเป็นการขอร้องให้ย้ายด้วยความสมัครใจ ทำให้ 8 ครอบครัวจาก 26 ครอบครัว (รวม “กะยอ” หรือกะเหรี่ยงหูกว้าง 4 ครอบครัว) ตัดสินใจโยกย้ายตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ยิ่งใกล้วันย้ายปัญหาก็ยิ่งคุกรุ่น ชาวบ้านเริ่มแสดงตัวเป็นฝักฝ่ายชัดเจน ระหว่างกลุ่มผู้สมัครใจย้ายจากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและหมู่บ้านในสอย ไปอยู่ที่หมู่บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) ตามคำขอร้องของผู้ว่าฯ กับกลุ่มผู้สมัครใจอยู่ที่เดิม

ส่วนอีกกลุ่ม ที่แยกตัวกลับไปอยู่ในศูนย์พักพิงผู้อพยพในสอยนั้น ก็จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

 

PICTURE2

 

ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจของทั้งสองฝ่ายที่ไม่รู้ชะตาตัวเองว่า ไปแล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหลืออยู่จะอยู่อย่างไร ยิ่งข่าวลือที่กระพือมาเป็นระลอกเช่นว่า หมู่บ้านเดิมอาจถูกกดดันให้ปิดลงด้วยเหตุผล “ความมั่นคงแห่งรัฐ, ขัดต่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่นำคนมาเปิดแสดงดังสวนสัตว์ (Human Zoos)”

หรือไม่ก็ฝ่ายที่ย้ายจะถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าออกหมู่บ้าน ล้วนเป็นหัวข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา

สำหรับฉันซึ่งตัดสินใจหอบลูกชายวัยหกเดือนเศษย้ายติดตามสามีกะยันไปด้วย แม้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่เหล่าบรรดาพี่น้องของฝ่ายสามีส่วนใหญ่ตัดสินใจย้ายไปเกือบหมด ก็ทำให้นึกเป็นห่วงและไม่อาจดูดายได้

ด้วยความที่ฉันเป็นคนไทยคนเดียวที่มีบัตรประชาชน มีความรู้และยังสามารถสื่อสารกับหน่วยงานราชการได้ดีกว่าชาวบ้านที่ยังใหม่ต่อการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ

เพราะที่ผ่านมามีนายทุนคอยจัดการทุกอย่าง ทำให้ฉันต้องตกที่นั่งกลายมาเป็นที่ปรึกษาให้กับฝ่ายที่จะย้ายไปโดยปริยาย

และนี่ก็เป็นที่มาแห่งความกลัดกลุ้มของค่ำคืนนี้ หมู่บ้านที่เคยสงบสุขเริ่มแตกแยก พี่น้องที่เคยรักใคร่มาเป็นอริกัน หากมีใครที่ผ่าเหล่าเลือกในสิ่งที่ข้างมากไม่เลือก ทั้งๆ ที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พวกเขาได้มีโอกาสเลือก นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเลือกที่จะเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินมาขึ้นฝั่งไทยเมื่อ ปี 2527

เมื่อวานเจอปัญหาโลกแตก ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในทุกที่ก็คือเรื่องเงิน เงินกองทุนชาวบ้านที่แบ่งไม่ลงตัว แม้กะยันฝั่งที่ไม่ย้ายจะมีน้อยกว่าฝั่งที่ย้าย แต่คนที่ดูแลเงินคือมีทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ (ที่ตั้งกันเอง) มีอำนาจการต่อรองมากกว่า จึงสร้างรอยแค้นให้กับชาวพี่น้องที่ย้ายไปอยู่ไม่น้อย

พอเมื่อวานผ่านไปวันนี้ เงินกองทุนหมู่บ้านเหลือ 2,000 บาท ซื้อเนื้อซื้อเบียร์มาร่วมวงกินกันทั้งหมู่บ้าน ทุกคนเฮฮาปาร์ตี้เหมือนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจ นี่แหละหนาชาวบ้านไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ทะเลาะกันก็ฉะกันตรงๆ พอจบเรื่องแล้วก็แล้วกันไป

แม้ฉันจะยังไม่ค่อยเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างละเอียดลออ แต่ก็พอจะเข้าใจในวิถีชีวิตและลักษณะนิสัยของชาวกะยันอยู่บ้าง

จุดอ่อนของหมู่บ้านนี้(ที่ฉันอาศัยอยู่คือบ้านห้วยเสือเฒ่า) คือขาดผู้นำที่แท้จริง ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อผู้นำ การประชุมหมู่บ้านแต่ละครั้งจึงไม่ค่อยมีความหมาย เพราะต่างคนต่างคิดกันคนละอย่าง แต่ไม่เคยมาถกเถียงกันในกลุ่ม แต่ซุบซิบกันเอง แต่พอถกเถียงกันในกลุ่มจริงๆ ก็ไม่สามารถหาตกลงได้ เพราะพวกเขาใช้ระบบเครือญาติตกลงกัน ญาติใครเยอะกว่ากัน บางคนจึงต้องยอมรับข้อตกลงแบบจำยอม

ฉันจึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะย้ายไปที่แห่งใหม่ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าที่นั่นจะกินอิ่มนอนอุ่นเหมือนที่เดิมที่มีนายทุนดูแลอยู่หรือไม่

แต่ที่รู้ๆก็คือ ที่นั่นไม่จำเป็นต้องจำยอมก้มหัวรับคำสั่งของใคร และการลงชื่อย้ายของชาวบ้านบางส่วนก็นับเป็นการแสดงออกของการต่อต้านนายทุนที่มีมานานกว่า12 ปี.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว