Skip to main content

31สิงหาคม2550
22.40 น.

ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกา

นับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก

 

PICTURE1

 

เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว จึงมักถูกโยกย้ายถ่ายเทไปหลายหนแห่งหลายครั้งคราวอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว

ทว่าครั้งนี้ เมื่อชาวบ้านเงี่ยหูฟังรัฐที่ได้ยื่นมือลงมาปลดห่วงที่มองไม่เห็น ต้องการจัดตั้งหมู่บ้านถาวร โดยจะยกที่ดินที่ทำกินให้ดำเนินชีวิตอย่างชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ขณะที่เดียวกันก็ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นเดิม

จากการบังคับข่มขู่ให้ย้าย ก็กลายเป็นการขอร้องให้ย้ายด้วยความสมัครใจ ทำให้ 8 ครอบครัวจาก 26 ครอบครัว (รวม “กะยอ” หรือกะเหรี่ยงหูกว้าง 4 ครอบครัว) ตัดสินใจโยกย้ายตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ยิ่งใกล้วันย้ายปัญหาก็ยิ่งคุกรุ่น ชาวบ้านเริ่มแสดงตัวเป็นฝักฝ่ายชัดเจน ระหว่างกลุ่มผู้สมัครใจย้ายจากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและหมู่บ้านในสอย ไปอยู่ที่หมู่บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) ตามคำขอร้องของผู้ว่าฯ กับกลุ่มผู้สมัครใจอยู่ที่เดิม

ส่วนอีกกลุ่ม ที่แยกตัวกลับไปอยู่ในศูนย์พักพิงผู้อพยพในสอยนั้น ก็จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

 

PICTURE2

 

ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจของทั้งสองฝ่ายที่ไม่รู้ชะตาตัวเองว่า ไปแล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหลืออยู่จะอยู่อย่างไร ยิ่งข่าวลือที่กระพือมาเป็นระลอกเช่นว่า หมู่บ้านเดิมอาจถูกกดดันให้ปิดลงด้วยเหตุผล “ความมั่นคงแห่งรัฐ, ขัดต่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่นำคนมาเปิดแสดงดังสวนสัตว์ (Human Zoos)”

หรือไม่ก็ฝ่ายที่ย้ายจะถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าออกหมู่บ้าน ล้วนเป็นหัวข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา

สำหรับฉันซึ่งตัดสินใจหอบลูกชายวัยหกเดือนเศษย้ายติดตามสามีกะยันไปด้วย แม้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่เหล่าบรรดาพี่น้องของฝ่ายสามีส่วนใหญ่ตัดสินใจย้ายไปเกือบหมด ก็ทำให้นึกเป็นห่วงและไม่อาจดูดายได้

ด้วยความที่ฉันเป็นคนไทยคนเดียวที่มีบัตรประชาชน มีความรู้และยังสามารถสื่อสารกับหน่วยงานราชการได้ดีกว่าชาวบ้านที่ยังใหม่ต่อการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ

เพราะที่ผ่านมามีนายทุนคอยจัดการทุกอย่าง ทำให้ฉันต้องตกที่นั่งกลายมาเป็นที่ปรึกษาให้กับฝ่ายที่จะย้ายไปโดยปริยาย

และนี่ก็เป็นที่มาแห่งความกลัดกลุ้มของค่ำคืนนี้ หมู่บ้านที่เคยสงบสุขเริ่มแตกแยก พี่น้องที่เคยรักใคร่มาเป็นอริกัน หากมีใครที่ผ่าเหล่าเลือกในสิ่งที่ข้างมากไม่เลือก ทั้งๆ ที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พวกเขาได้มีโอกาสเลือก นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเลือกที่จะเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินมาขึ้นฝั่งไทยเมื่อ ปี 2527

เมื่อวานเจอปัญหาโลกแตก ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในทุกที่ก็คือเรื่องเงิน เงินกองทุนชาวบ้านที่แบ่งไม่ลงตัว แม้กะยันฝั่งที่ไม่ย้ายจะมีน้อยกว่าฝั่งที่ย้าย แต่คนที่ดูแลเงินคือมีทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ (ที่ตั้งกันเอง) มีอำนาจการต่อรองมากกว่า จึงสร้างรอยแค้นให้กับชาวพี่น้องที่ย้ายไปอยู่ไม่น้อย

พอเมื่อวานผ่านไปวันนี้ เงินกองทุนหมู่บ้านเหลือ 2,000 บาท ซื้อเนื้อซื้อเบียร์มาร่วมวงกินกันทั้งหมู่บ้าน ทุกคนเฮฮาปาร์ตี้เหมือนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจ นี่แหละหนาชาวบ้านไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ทะเลาะกันก็ฉะกันตรงๆ พอจบเรื่องแล้วก็แล้วกันไป

แม้ฉันจะยังไม่ค่อยเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างละเอียดลออ แต่ก็พอจะเข้าใจในวิถีชีวิตและลักษณะนิสัยของชาวกะยันอยู่บ้าง

จุดอ่อนของหมู่บ้านนี้(ที่ฉันอาศัยอยู่คือบ้านห้วยเสือเฒ่า) คือขาดผู้นำที่แท้จริง ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อผู้นำ การประชุมหมู่บ้านแต่ละครั้งจึงไม่ค่อยมีความหมาย เพราะต่างคนต่างคิดกันคนละอย่าง แต่ไม่เคยมาถกเถียงกันในกลุ่ม แต่ซุบซิบกันเอง แต่พอถกเถียงกันในกลุ่มจริงๆ ก็ไม่สามารถหาตกลงได้ เพราะพวกเขาใช้ระบบเครือญาติตกลงกัน ญาติใครเยอะกว่ากัน บางคนจึงต้องยอมรับข้อตกลงแบบจำยอม

ฉันจึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะย้ายไปที่แห่งใหม่ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าที่นั่นจะกินอิ่มนอนอุ่นเหมือนที่เดิมที่มีนายทุนดูแลอยู่หรือไม่

แต่ที่รู้ๆก็คือ ที่นั่นไม่จำเป็นต้องจำยอมก้มหัวรับคำสั่งของใคร และการลงชื่อย้ายของชาวบ้านบางส่วนก็นับเป็นการแสดงออกของการต่อต้านนายทุนที่มีมานานกว่า12 ปี.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ