Skip to main content
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว"


และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้


หากให้แม่คำนวณจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยสายตา ในฤดูไฮท์ซีซั่นซึ่งจะในช่วงเดือน ตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่หมู่บ้านของเราไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคนต่อวัน ลูกคิดเอาเถอะว่าจะนำรายได้เข้าสู่นายทุนสักเท่าไร


แม่คิดว่านักท่องเที่ยวที่เสียเงินเข้ามาชมกะเหรี่ยงคอยาวในหมู่บ้าน อาจจะนึกไม่ถึงว่าเงินเหล่านี้ปันส่วนให้กับชาวบ้านเพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น แม้เวลาจะผ่านมาสิบปีแล้ว ชาวกระยันก็ยังคงได้รับค่าแรงเท่าเดิม ยังดีอยู่บ้างที่บางคนลงทุนซื้อของที่ระลึกมาขายให้กับนักท่องเที่ยว แม้จะไม่มากมายแต่ก็สามารถจุนเจือครอบครัวทั้งครอบครัวได้


เมื่อย่ามาอยู่เมืองไทยไม่นานก็ส่งข่าวให้ปู่พาลูกๆ ที่เหลืออพยพตามมายังฝั่งไทย


พ่อของลูกได้เดินมากับปู่ในเที่ยวหลังนี้ ตอนนั้นพ่อของลูกอายุได้เพียง 7-8 ปี จึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับทัศนียภาพรอบตัวเนื่องจากเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต


หากวันนั้นย่าไม่ตัดสินใจข้ามแม่น้ำสาละวินมาขึ้นฝั่งที่ไทย แม่จะมีโอกาสได้พบพ่อของลูกไหม ? และลูกสาละวิน จะได้ถือกำเนิดขึ้นจากสองสายเลือดหรือเปล่า


ย่าที่เป็นหญิงกระยันกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้ามาอยู่ในไทย โดยทางไทยก็อนุโลมให้อยู่นอกศูนย์อพยพ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน "กะเหรี่ยงคอยาว" ตามการเรียกขานของคนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน


และไม่นานนักหมู่บ้านลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายอำเภอของภาคเหนือ (ไม่จำเพาะแค่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น)


แม่ไม่รู้ว่าการนำเอาคนเป็นๆ มาเก็บบัตรเข้าชม เพียงเพราะเขามีวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนกลายเป็นลักษณะพิเศษ ถูกนำไปเรียกขานให้ผิดเพี้ยนจากความจริงว่า "คอยาว" ผิดปกตินั้น ถูกสร้างขึ้นจากน้ำมือการท่องเที่ยวหรือเป็นลักษณะนิสัยดั้งเดิมของคนไทยที่ชอบดูสิ่งแปลกประหลาด


เพราะแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน พวกเขาจะรีบๆ เดินดูและมองหาคนแก่ที่สวมห่วงไว้ยาวที่สุด บ้างซื้อของที่ระลึกด้วยการต่อราคาแล้วต่อราคาอีก


ซ้ำร้ายนักท่องเที่ยวบางคนยังถามคำถามที่หยาบคาย อย่างเช่น ในเวลาหลับนอนกับสามี ปลอกคอที่สวมนั้นเกะกะไหม อะไรทำนองนี้ โดยไม่นึกถึงจิตใจของผู้ที่ถูกถามว่าจะรู้สึกเช่นเดียวกันไหม เพียงเพราะว่ากระยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาเรียกขานมีวัฒนธรรมที่แตกต่างเท่านั้น ไม่ใช่ความเป็น "คน" ที่แตกต่าง หญิงสาวรุ่นหลายคนต้องอับอายกับคำสบประมาท ในขณะที่แม่เฒ่าชินชากับคำหยาบคายจนเฉยชา


ในขณะที่ชาวต่างชาติจากประเทศที่เจริญแล้วทางอารยธรรม เขาแวะเข้ามาชมหมู่บ้านเพื่อการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวัฒธรรมหรือสรีระวิทยา บางคนใช้เวลาศึกษาอาศัยอยู่กับชาวบ้านเป็นปี เพื่อสรุปข้อวิจัยของตัวเอง


สำหรับลูกของแม่เองก็มักมีคำถามจากนักท่องเที่ยวว่าโตขึ้นจะใส่ห่วงหรือเปล่า ซึ่งแม่ก็ตอบไปว่าลูกเป็นลูกชายคงจะไม่ใส่


เมื่อนักท่องเที่ยวถามต่อไปว่าแต่ถ้าหากลูกเป็นผู้หญิงล่ะ แม่จะให้ลูกใส่ห่วงคอเหมือนเช่นคนอื่นในชุมชนหรือไม่


แม่เองก็เคยนึกถามคำถามนี้กับตัวเองเช่นกัน แม่จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งคำตอบมันก็อยู่ที่ตัวของลูกเอง เพราะหากลูกอยู่ในหมู่บ้านที่มีใครๆ ก็ใส่กันหมด แม่ว่าลูกก็คงอยากจะใส่ให้เหมือนเพื่อนและคนที่นี่


แต่แล้วพอลูกโตขึ้นมา เห็นโลกใบกว้างขึ้นจากจอโทรทัศน์ ก็คงจะเห็นว่าการสวมห่วงไว้ที่คอเป็นสิ่งที่ไม่เท่เอาเสียเลย ความเชื่อแบบโบราณที่แม่เฒ่ารุ่นราวคราวเดียวกับย่ามองว่าความสวยเกิดจากการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอให้มากที่สุดนั้น กำลังจะหมดไปในรุ่นของลูก


แม้ในขณะที่แม่บันทึกอยู่นี้ เด็กสาวหลายคนก็กำลังทอนความยาวของห่วงทองเหลืองให้สั้นลงกว่าแต่ก่อน เพื่อที่จะไม่ให้คอยาวผิดปกติ และเริ่มเชื่อตามสายตาของผู้คนที่ทะลักล้นมาดูพวกเขา มองพวกเขาเป็นตัวประหลาด เด็กสาวรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเป็นตัวประหลาดของคนในสังคมภายนอก จึงหันมานิยมความสวยแบบกบ สุวนันท์ ดาราในจอตู้แทนความเชื่อแบบเดิมๆ ของคนรุ่นย่านั่นเอง


รักลูก

แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…