Skip to main content
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว"


และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้


หากให้แม่คำนวณจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยสายตา ในฤดูไฮท์ซีซั่นซึ่งจะในช่วงเดือน ตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่หมู่บ้านของเราไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคนต่อวัน ลูกคิดเอาเถอะว่าจะนำรายได้เข้าสู่นายทุนสักเท่าไร


แม่คิดว่านักท่องเที่ยวที่เสียเงินเข้ามาชมกะเหรี่ยงคอยาวในหมู่บ้าน อาจจะนึกไม่ถึงว่าเงินเหล่านี้ปันส่วนให้กับชาวบ้านเพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น แม้เวลาจะผ่านมาสิบปีแล้ว ชาวกระยันก็ยังคงได้รับค่าแรงเท่าเดิม ยังดีอยู่บ้างที่บางคนลงทุนซื้อของที่ระลึกมาขายให้กับนักท่องเที่ยว แม้จะไม่มากมายแต่ก็สามารถจุนเจือครอบครัวทั้งครอบครัวได้


เมื่อย่ามาอยู่เมืองไทยไม่นานก็ส่งข่าวให้ปู่พาลูกๆ ที่เหลืออพยพตามมายังฝั่งไทย


พ่อของลูกได้เดินมากับปู่ในเที่ยวหลังนี้ ตอนนั้นพ่อของลูกอายุได้เพียง 7-8 ปี จึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับทัศนียภาพรอบตัวเนื่องจากเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต


หากวันนั้นย่าไม่ตัดสินใจข้ามแม่น้ำสาละวินมาขึ้นฝั่งที่ไทย แม่จะมีโอกาสได้พบพ่อของลูกไหม ? และลูกสาละวิน จะได้ถือกำเนิดขึ้นจากสองสายเลือดหรือเปล่า


ย่าที่เป็นหญิงกระยันกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้ามาอยู่ในไทย โดยทางไทยก็อนุโลมให้อยู่นอกศูนย์อพยพ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน "กะเหรี่ยงคอยาว" ตามการเรียกขานของคนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน


และไม่นานนักหมู่บ้านลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายอำเภอของภาคเหนือ (ไม่จำเพาะแค่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น)


แม่ไม่รู้ว่าการนำเอาคนเป็นๆ มาเก็บบัตรเข้าชม เพียงเพราะเขามีวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนกลายเป็นลักษณะพิเศษ ถูกนำไปเรียกขานให้ผิดเพี้ยนจากความจริงว่า "คอยาว" ผิดปกตินั้น ถูกสร้างขึ้นจากน้ำมือการท่องเที่ยวหรือเป็นลักษณะนิสัยดั้งเดิมของคนไทยที่ชอบดูสิ่งแปลกประหลาด


เพราะแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน พวกเขาจะรีบๆ เดินดูและมองหาคนแก่ที่สวมห่วงไว้ยาวที่สุด บ้างซื้อของที่ระลึกด้วยการต่อราคาแล้วต่อราคาอีก


ซ้ำร้ายนักท่องเที่ยวบางคนยังถามคำถามที่หยาบคาย อย่างเช่น ในเวลาหลับนอนกับสามี ปลอกคอที่สวมนั้นเกะกะไหม อะไรทำนองนี้ โดยไม่นึกถึงจิตใจของผู้ที่ถูกถามว่าจะรู้สึกเช่นเดียวกันไหม เพียงเพราะว่ากระยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาเรียกขานมีวัฒนธรรมที่แตกต่างเท่านั้น ไม่ใช่ความเป็น "คน" ที่แตกต่าง หญิงสาวรุ่นหลายคนต้องอับอายกับคำสบประมาท ในขณะที่แม่เฒ่าชินชากับคำหยาบคายจนเฉยชา


ในขณะที่ชาวต่างชาติจากประเทศที่เจริญแล้วทางอารยธรรม เขาแวะเข้ามาชมหมู่บ้านเพื่อการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวัฒธรรมหรือสรีระวิทยา บางคนใช้เวลาศึกษาอาศัยอยู่กับชาวบ้านเป็นปี เพื่อสรุปข้อวิจัยของตัวเอง


สำหรับลูกของแม่เองก็มักมีคำถามจากนักท่องเที่ยวว่าโตขึ้นจะใส่ห่วงหรือเปล่า ซึ่งแม่ก็ตอบไปว่าลูกเป็นลูกชายคงจะไม่ใส่


เมื่อนักท่องเที่ยวถามต่อไปว่าแต่ถ้าหากลูกเป็นผู้หญิงล่ะ แม่จะให้ลูกใส่ห่วงคอเหมือนเช่นคนอื่นในชุมชนหรือไม่


แม่เองก็เคยนึกถามคำถามนี้กับตัวเองเช่นกัน แม่จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งคำตอบมันก็อยู่ที่ตัวของลูกเอง เพราะหากลูกอยู่ในหมู่บ้านที่มีใครๆ ก็ใส่กันหมด แม่ว่าลูกก็คงอยากจะใส่ให้เหมือนเพื่อนและคนที่นี่


แต่แล้วพอลูกโตขึ้นมา เห็นโลกใบกว้างขึ้นจากจอโทรทัศน์ ก็คงจะเห็นว่าการสวมห่วงไว้ที่คอเป็นสิ่งที่ไม่เท่เอาเสียเลย ความเชื่อแบบโบราณที่แม่เฒ่ารุ่นราวคราวเดียวกับย่ามองว่าความสวยเกิดจากการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอให้มากที่สุดนั้น กำลังจะหมดไปในรุ่นของลูก


แม้ในขณะที่แม่บันทึกอยู่นี้ เด็กสาวหลายคนก็กำลังทอนความยาวของห่วงทองเหลืองให้สั้นลงกว่าแต่ก่อน เพื่อที่จะไม่ให้คอยาวผิดปกติ และเริ่มเชื่อตามสายตาของผู้คนที่ทะลักล้นมาดูพวกเขา มองพวกเขาเป็นตัวประหลาด เด็กสาวรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเป็นตัวประหลาดของคนในสังคมภายนอก จึงหันมานิยมความสวยแบบกบ สุวนันท์ ดาราในจอตู้แทนความเชื่อแบบเดิมๆ ของคนรุ่นย่านั่นเอง


รักลูก

แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ