Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก


แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน


มันเป็นพิธีกรรมที่สานสายใยแห่งความรักของครอบครัวของเราที่นับวันจะเลือนหายไปจากสังคมไทย ที่มีครอบครัวเดี่ยวเกิดขึ้นมากกว่าครอบครัวขยาย พิธีกรรมที่ว่าก็คือ “การอยู่ไฟ” นั่นเอง


พิธีกรรมที่สำคัญของสตรีหลังคลอดบุตร ซึ่งไม่ใช่จะมีเฉพาะชาวกระยันเท่านั้น แต่คนไทยสมัยก่อนก็ยังถือว่า การ “อยู่ไฟ” เป็นสิ่งที่หญิงหลังคลอดทุกคนต้องปฏิบัติ เพราะว่ากันว่า หากผู้เป็นแม่อยู่ไฟอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้น้ำนมที่ออกมาดี เป็นการขับน้ำคาวปลาและส่งผลต่อสุภาพที่ดีในยามแก่เฒ่าด้วย


แม่ไม่รู้หรอกว่า การอยู่ไฟของประเพณีไทยเป็นอย่างไร แต่แม่คิดว่า การอยู่ไฟของกระยันก็คงจะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก


สำหรับการอยู่ไฟของชาวกระยัน มีอยู่สองแบบ แบบแรกจะเป็นแบบที่โบราญมาก ผู้อยู่ไฟจะต้องใช้ความอดทนอย่างสูง และต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยต้องใช้หินที่อังไฟร้อนๆแทนการใช้น้ำสมุนไพรต้มเดือด


ส่วนอยู่แบบที่สองคือการอาบสมุนไพรต้มเดือด ซึ่งขั้นตอนน้อยกว่า แต่ได้ผลไม่ต่างกัน แม่จึงเลือกแบบที่สอง

สำหรับสมุนไพรที่ใช้ในการต้มอาบนั้น ปัจจุบันหายากและต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องสั่งซื้อจากหมอสมุนไพรไว้ล่วงหน้า เพื่อนำมาตากจนแห้ง ซึ่งย่าเป็นผู้เตรียมไว้ให้แม่ก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว


ในทุก ๆ เช้าหลังจากที่แม่ให้นมลูกเสร็จแล้ว ก็จะลงมาใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นสถานที่อยู่ไฟ พ่อของลูกได้เตรียมไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดลูกแล้วอีกเช่นกัน


สถานที่ดังกล่าว จะประกอบไปด้วยกระโจมผ้าเป็นรูปวงกลม มีเก้าอี้สำหรับนั่งซึ่งจะเจาะรูไว้ตรงกลาง เมื่อแม่ขึ้นไปนั่งคร่อมบนเก้าอี้ จะใช้ผ้าคลุมตัวอีกหนึ่งผืน  จากนั้นพ่อของลูกก็จะยกหม้อยาสมุนไพรที่ต้มจนเดือด วางไว้ข้างใต้ของเก้าอี้ หม้อยาจะส่งไอร้อนผ่านรูที่เจาะไว้ อบรมตัวแม่จนเหงื่อไหลไคลย้อย  พ่อจะคอยคนให้น้ำยาถ่ายเทความร้อนขึ้นมา ซึ่งแม่จะรู้สึกร้อนมาก แม้ว่าจะเป็นฤดูหนาวบางครั้งถึงกับจะหน้ามืดเป็นลมเลยทีเดียว การรมยาจะใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งความร้อนของไอลดลง


เมื่อการรมยาเสร็จสิ้นลง แม่ต้องใช้น้ำยาที่เย็นลงแล้ว มาอาบอีกรอบ ขั้นตอนนี้จะยิ่งทรมานมากกว่า เพราะต้องรีบอาบน้ำยาที่ร้อนๆ ขัดถูเนื้อตัวโดยเฉพาะหน้าท้องซึ่งจะทำให้หน้าท้องไม่ยุ้ยยื่นจนเกินไป


ย่าของลูกจะเป็นผู้อาบน้ำร้อนให้ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ จนแม่ที่เคยคิดเหนียมอาย ก็ต้องรู้สึกว่าแม่ของพ่อก็ไม่ต่างจากแม่ของแม่ที่คอยเอาใจใส่ลูกสาวคนหนึ่งด้วยความรัก เมื่ออาบน้ำร้อนเสร็จจึงจะถือว่าเสร็จกระบวนการอยู่ไฟในภาคเช้า แต่พอตกบ่าย แม่ก็ต้องมาทำกาอยู่ไฟอีกครั้ง เช่นนี้เรื่อยไปจนครบหนึ่งเดือน


หลังจากการออกไฟแม่จะรู้สึกว่าน้ำหนักตัวลดลง ผิวพรรณผุดผ่องขึ้น ผิดกับเมื่อตอนตั้งท้อง  ที่สำคัญแม่รู้สึกว่าน้ำนมไหลได้ดีไม่คัดตึงความปวดเมื่อยก็ทุเลาลง นี่เป็นเพียงผลประโยชน์ในด้านร่างกาย


แม่รู้สึกว่าภูมิปัญญาการอยู่ไฟแบบโบราณเช่นนี้  คนที่ช่วยเหลือแม ไม่ว่าจะเป็นย่าที่คอยอาบน้ำร้อนให้  พ่อที่ต้องต้มน้ำเดือดต้องใช้ความอดทนอยู่กับเตาไฟ คอยเติมฟืนอยู่ตลอดเวลา และยังต้องดูแลขณะที่แม่อบรมไอน้ำอยู่ไม่ให้เป็นลมเป็นแร้งไปเสียก่อน  ยังมีน้องสาวที่ต้องคอยดูลูกในยามที่ห่างแม่ไม่ให้ร้องงอแง หรือมีสิ่งมารบกวน


การอยู่ไฟจึงเสมือนบททดสอบความรักของคนในครอบครัว  มันได้สร้างไออุ่นแห่งความผูกพันขึ้นระหว่างกัน โดยเฉพาะระหว่างแม่กับย่า ที่ช่องว่างและความรู้สึกที่ห่างเหินถูกขจัดไปจนหมดสิ้น


แม่รู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ไฟแบบโบราณ ในชุมชนโบราณที่หลายคนอาจจะดูถูก  แม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ กลับทำให้แม่รู้สึกว่าแม่มีแม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน
.

รักลูก
,
แม่


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…