Skip to main content

 

 

จากกรณีที่สนช.ผู้ทรงเกียรติกว่า 60 ท่านได้ร่วมกันเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ต่อไปจะเรียกว่า “ป.วิอาญา”) ซึ่งแม้ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ทรงเกียรติกลุ่มนี้จะขอถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปแก้ไข แต่แนวโน้มที่หลายฝ่ายหวาดกลัวก็คือ การกลับมาของร่างพ.ร.บ.ที่ตัดทอนเนื้อหาส่วนที่คุ้มครององคมนตรีออกไปเพื่อลดกระแสต่อต้านลง โดยที่ยังคง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ซึ่งกำหนดให้คู่ความสามารถ “ร้องต่อศาล เพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด”[1] เอาไว้

หลายคนซึ่งทราบว่า ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ที่สนช.ร่างมานี้ คือกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิ - เสรีภาพ - สวัสดิภาพของประชาชนผู้ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ต่างได้พากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน แต่ขณะเดียวกันสื่อมวลชนบางฉบับกลับออกมาแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างการปกป้อง “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นเหตุผล[2]

ซึ่งไม่ต่างกับกรณีการจับกุมคุมขังเจ้าของนามแฝง “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” ที่มีคนจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายรัฐ รวมทั้งประณามผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนทั้งคู่และเรียกร้องให้มีการเปิดเผยคดีนี้สู่สาธารณะ ว่าทำไปด้วยความเป็น “พวกเดียวกัน” คือเพราะ “เห็นด้วย” กับสิ่งที่ “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” กระทำลงไปจนถูกจับกุมเท่านั้น

ขณะที่ฝ่ายผู้ประณามเองก็ได้อ้างความไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมาสนับสนุนการกระทำของฝ่ายรัฐในกรณีนี้

 

กรณี “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน”:
ไม่ใช่เพราะเป็น “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน”

แม้ทั้ง “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” จะถูกระบุว่ามีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[3] แต่พฤติกรรมหรือ “วิธี” ที่ใช้ในการ “จับกุม” และ “ดำเนินคดี” ของผู้รักษากฎหมายก็ได้ทำให้เกิดข้อกังขา แม้แต่ในผู้ที่ไม่ได้ติดตามกรณีนี้มาโดยตลอด ว่า นี่คือ “คดีความผิดทางคอมพิวเตอร์” จริงหรือ?

แม้การกระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำต่อบุคคลใดก็ตาม ผู้กระทำต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้เสียหาย และเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน แต่การดำเนินคดี – ไม่ว่าด้วยข้อกล่าวหาใดก็ตาม – จะต้องเป็นไปโดยเปิดเผย

วิธีการ “อุ้ม” คือจับกุมและคุมขัง โดยปกปิดหรือทำให้กระบวนการทั้งหมดอยู่นอกการรับรู้ของสื่อและสาธารณชนนั้น ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

ซึ่งไม่ว่าผู้ถูก “อุ้ม” จะผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
ไม่ว่าพฤติกรรมและแนวความคิดของผู้ถูก “อุ้ม” จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกับความเชื่อของผู้ใดหรือไม่ อย่างไร พฤติกรรมการ “อุ้ม” ก็สมควรที่จะถูกคัดค้านและประณามอย่างถึงที่สุด

การเรียกร้องให้ดำเนินคดีอย่างเปิดเผย ตามกระบวนการยุติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนนั้น จึงไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” เป็น “ใคร”

เพราะไม่ว่า “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” จะเป็นใคร
จะเขียนอะไรในเวบไซต์
จะ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” อะไร
พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน

 

ป.วิอาญา มาตรา 14/1:
“ความมืด” ที่มีกฎหมายรองรับ?

ความบกพร่องของ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการคุ้มครองสถาบันฯ แต่ความบกพร่องที่สำคัญอันหนึ่งอยู่ตรงช่องโหว่ที่เปิดให้ “ใครก็ได้“ สามารถแจ้งความดำเนินคดีประชาชนคนใดก็ได้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้

ด้วยเหตุนี้ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จึงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมือง เพื่อจัดการกับคู่ปรปักษ์และบุคคลที่ไม่เห็นด้วยมานับครั้งไม่ถ้วน คนจำนวนมากจึงถูกกล่าวหาโดยไม่มีความผิด และต้องดิ้นรนต่อสู้คดีเป็นเวลานาน

ทว่า นอกจากสนช.ชุดนี้จะไม่เคยคิดจะอุดช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว ยังมีความพยายามที่จะฉุดลาก “คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เข้าสู่ “มุมมืด” ด้วยการร่าง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ขึ้นมาสร้างความชอบธรรมและสนับสนุนการดำเนินคดีแบบลับๆ

คำถามคือ

การอ้างความต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ของคณะสนช.ผู้เสนอ และการอ้าง “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ของผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้[4] แตกต่างอย่างไร กับการที่หลายคนใช้ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เป็นอาวุธทางการเมือง?

และ “ประเทศไทย” ที่คณะสนช.ผู้ร่าง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 รวมทั้งผู้สนับสนุนวาดหวังจะได้เห็น - เป็นเช่นไร?

ประเทศซึ่งเคยถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวนักการเมืองคดโกง จนต้องยอมทำลายประชาธิปไตย และกำลังจะถูกทำให้หวาดกลัวการบ่อนทำลาย “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จนต้องทำลายหลักธรรมในกระบวนการยุติธรรม ??

 

 

 

----------
[1] โปรดดู http://www.senate.go.th/agenda57-50/7.pdf
[2] โปรดดู ”, โพสต์ ทูเดย์, “บทบรรณาธิการ”, วันที่ 11 ตุลาคม 2550. http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=editorial&id=196716
[3] เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจากการแตกแตกแขนงของประเด็น ในบทความนี้จึงขอพักประเด็น “ความชอบธรรม” ของ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550” เอาไว้ก่อน (ถ้าหากยังมีชีวิตรอด จะหาโอกาสมาสะสางต่อไป)
[4] โพสต์ ทูเดย์. อ้างแล้ว

บล็อกของ กานต์ ณ กานท์

กานต์ ณ กานท์
ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”…
กานต์ ณ กานท์
  โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติดหลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิตย้ำจำ ย้ำคิด กำกวมโธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”หลักการวางไว้ (หลวมๆ)ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้วแหงนคอรอฟ้าล้าแววมืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอยอนิจจา… อนิจจัง…ความเอยความหวังอย่าถดถอยแม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอยฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่องงามหรูตรูตรามลังเมลืองเฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!
กานต์ ณ กานท์
  การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii…
กานต์ ณ กานท์
  ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ- ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน …ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
กานต์ ณ กานท์