Skip to main content

Kasian Tejapira(8/4/56)

ไซปรัส เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประชากรเกือบล้านคน เศรษฐกิจและแรงงานพึ่งพาภาคบริการมากที่สุด (๘๐.๙% ของ GDP, ๗๑% ของแรงงาน), ๓ กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว (โดยเฉพาะทัวริสต์เงินหนาจากยุโรปเหนือ), การขนส่งสินค้าทางเรือ (ทำเลเกาะเหมาะสม), และการเงินการธนาคาร

โดยเฉพาะเมื่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU ส่วนใหญ่เริ่มใช้เงินสกุลยูโร (ในทางบัญชี ๑๙๙๙, ในทางธนบัตรและเหรียญ ๒๐๐๒) และไซปรัสเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ๒๐๐๔ บรรดาธนาคารในไซปรัสก็ฉวยโอกาสเร่ล่าหาเงินฝากจากต่างประเทศโดยยื่นข้อเสนอที่ดึงดูดใจเศรษฐีทั่วโลก คือ:

- จะปริวรรตเงินฝากไม่ว่าสกุลใด ๆ จากนอกมาเป็นเงินตราสกุลยูโรซึ่งแข็งปั๋งคนอยากได้

- ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง

- ไม่ถามให้รำคาญใจผู้ฝากว่าเงินนี้ท่านได้แต่ใดมา....

ผลคือชั่วเวลาไม่ถึงทศวรรษ บรรดาธนาคารเอกชนในไซปรัสสูบดูดเงินฝากจากต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียมหาศาล คิดเป็น ๕ - ๘ เท่าของ GDP/ปีของประเทศตน (GDP ไซปรัส = ๒๒.๔๕ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ/๒๐๑๒) แล้วบรรดาธนาคารไซปรัสทั้งหลายก็เอาเงินก้อนนี้ไปลงทุน “ฉลาด ๆ” , “รอบคอบรัดกุม” เช่น ปล่อยกู้ให้รัฐบาลกรีซ เป็นต้น ผลก็คือประเมินความเสี่ยงผิด เกิดวิกฤตซับไพรม์และเงินกู้สาธารณะในยุโรปตามมา ส่งผลให้ระบบธนาคารไซปรัสเจ๊งกะบ๊งล้มละลาย เหลือวิสัยรัฐบาลไซปรัสจะอุ้มไว้อีกต่อไปโดยลำพัง จึงติดต่อขอความช่วยเหลือจาก EU-IMF-ECB ตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน

ข้อเสนอที่ EU-IMF-ECB ยื่นให้รัฐบาลไซปรัสแลกกับเงินกู้หมื่นล้านยูโรเพื่อประคองระบบการเงินการธนาคารและรัฐบาลไซปรัสไว้ก็คือ รัฐบาลไซปรัสจะต้องรีดไถเงินกินเปล่าหรือค่าต๋งหรือส่วยพิเศษ (ไม่รู้จะเรียกให้เพราะกว่านี้ได้ไง) จากบัญชีเงินฝากทุกบัญชีในธนาคารเอกชนในไซปรัสราว ๑๐% ของยอดเงินฝากทั้งหมด เพื่อเอามาชดเชยความสูญเสียจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นและอุ้มพยุงธนาคารที่เสี่ยงลงทุนแล้วเจ๊งนั้นเอาไว้

ประเด็นสำคัญคือนี่เป็นวิธีใหม่ที่ปฏิวัติสุดยอด ไม่เคยมีที่ไหนทำกันขนาดนี้ในโลก ประมาณว่าสงครามโลกครั้งที่สามทางการเงินว่างั้นเถอะ ปกติเขาก็ดึงเอาเงินงบประมาณรัฐบาล (ก็ภาษีชาวบ้านนั่นแหละ) มาอุ้มระบบธนาคารที่เจ๊ง โดยขึ้นภาษีเอากับชาวบ้าน (รีดเลือดจากปู) มั่ง ตัดลดงบประมาณโครงการสวัสดิการสังคมลงมั่ง เรียกว่าบีบรีดไถเอาแบบไฟเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ให้ชาวบ้านทนทุกข์ระทมขมขื่นค่อย ๆ สิ้นไร้ไม้ตอก ไร้บ้าน แห้งเหี่ยวอับเฉาหัวโตตายไปเองช้า ๆ แต่นี่มันสุด ๆ คือ “ปล้นกลางแดด” เอาจากบัญชีเงินฝากของชาวบ้านและชาวโลกที่ละโมบโลภมากหลงเชื่อเอาเงินมาฝากในไซปรัสกันเลยทีเดียว คุณฝากไว้ ๑๐๐ ยูโร รัฐบาลริบไปหน้าตาเฉย ๑๐ ยูโร เพื่อเอาไปใช้หนี้ อุ้มนายธนาคารเงินเดือนเป็นล้าน ๆ ที่ลงทุนเฮงซวยแล้วเจ๊ง แทนที่ธนาคารจะทำหน้าที่รับผิดชอบรักษาเงินฝากและดอกเบี้ยงอกเงยของคุณทุกเม็ดทุกสตางค์ไว้ด้วยชีวิต มันกลับสมคบกับรัฐบาลยึดเงินคุณไปร้อยชักสิบดื้อ ๆ เลย นี่ ระบบการเงินทุนนิยมเสรีมันดีอย่างนี้ (มิลตัน ฟรีดแมนและเสรีนิยมใหม่จงเจริญ!) ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการแก้วิกฤตการเงินการธนาคารที่เฉียบขาด ฉับพลัน เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรียบร้อยในทีเดียวจริง ๆ

แน่นอนครับ ชาวไซปรัสไม่ได้กินแกลบ ใครจะยอม เงินฝากที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาชั่วชีวิตของกู อยู่ดี ๆ มึงทำเจ๊งเองแล้วจะมาชุบมือเปิบหักเอาไปดื้อ ๆ ได้ไง ก็ต้องสู้ตายกันล่ะทีนี้ ดังนั้นก็ลุกฮือทั่วประเทศครับ นัดหยุดงาน นัดหยุดซื้อขาย ให้เศรษฐกิจตายคาที่ไปเลย พร้อมทั้งส่งสัญญาณให้ชาวบ้านร้านตลาดนานาชาติทั่วยุโรปที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารว่า พี่น้องเอ๊ย ดูตัวอย่างเราไว้นะ ปล่อยให้เกิดแบบนี้ที่นี่ได้ไง พี่น้องต้องลุกมาช่วยกันต่อต้านคนละไม้คนละมือ (solidarity) เพราะถ้ามันทำที่ไซปรัสนี่ได้ มันก็ทำที่อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฯลฯ กับเงินของพี่น้องได้เหมือนกัน.... เท่านั้นเอง ดีลหักส่วยเงินฝาก ๑๐% ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สภาไซปรัสไม่ยอมรับและแรงต้านใน EU ก็แรงมากจากมวลชนจนต้องล้มไป

ดีลใหม่ที่เบากว่าเก่าแต่โดยหลักการก็เหมือนกันคือ เล็งเอาเฉพาะบัญชีเงินฝากที่มียอดสูงกว่าแสนยูโร, แช่แข็งบัญชีเหล่านั้นไว้ห้ามเบิกจ่ายโยกย้ายเข้าออก, ให้รัฐบาลล้วงหยิบเงินฝากในบัญชีเหล่านั้นมาจ่ายหนี้โอบอุ้มระบบธนาคารได้ พร้อมทั้งปิดธนาคารเอกชน Laiki ใหญ่อันดับ ๒ ของไซปรัสทิ้ง (หนี้เน่าให้รัฐบาลไซปรัสแบกไป ส่วนสินทรัพย์ที่เหลือให้ธนาคารเอกชนอื่น ๆ มาแบ่งสันปันส่วนกันไปดำเนินการต่อ) ซึ่งแม้จะลดจำนวนผู้ฝากเงินที่เดือดร้อนรายย่อยลง แต่หลักการใหม่ที่ว่า “บัญชีเงินฝากของเอกชนในธนาคารบัดนี้ไม่ใช่เขตหวงห้ามศักดิ์สิทธิ์รัฐบาลล้วงลูกเข้าไปแตะต้องไม่ได้อีกต่อไป” แล้วก็ยังคงอยู่ เรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์กันกลาย ๆ ทีเดียว (ยกเว้นธนาคารเจ๊งกะบ๊งเฮงซวยเหล่านั้น ซึ่งรีดไถเงินผู้ฝากไปอุดรูรั่วตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นของเอกชนอยู่ดี)

สรุปก็คือ ตรวจดูยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของคุณหรือยัง? แน่ใจได้ไหมว่ามันจะปลอดภัยไม่ถูกรัฐบาลกับนายธนาคารปล้นกลางแดด? สู้เบิกเอามายัดที่นอนหรือฝังดินเก็บไม่ดีกว่าหรือ? เฮ้อ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง