Skip to main content

Kasian Tejapira(16/4/56)

หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง (เพื่อความสะดวก ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์สีแทน) ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า:



หนึ่ง) ประเด็นหลักเรื่องอำนาจทุนในความคิดของอ.เสกสรรค์ค่อนข้างขาดหายไป 


กล่าวคือ อ.เสกสรรค์เสนอว่าเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้ อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเสื่อมโทรมลง --> แนวคิดชาตินิยมเสื่อมโทรมลง --> ส่งผลสืบเนื่องให้ฉันทมติและฉันทาคติทางการเมืองพลอยเสื่อมถอยไปด้วย (political consensus & consent หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองในทางการเมือง) ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมก่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรังเพราะรัฐขาดพร่องความชอบธรรม, ไม่มีความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองของสังคมภาคส่วนต่าง ๆ นอกคูหาเลือกตั้งคอยประคองรองรับอำนาจของรัฐไว้

หนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) เขียนโดย ณพัชราภา ตันตราจิน


สอง) น่าสนใจว่าประเด็นอำนาจทุนนี้ “เหลือง” มองเห็น แต่ “แดง” กลับมองข้าม 


สะท้อนออกในแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่นับได้ว่าเป็นคลังสมองหรือเสนาธิการทางแนวคิดการเมืองของนปช.และแนวร่วม กล่าวคือปัญหาทางการเมืองที่นิติราษฎร์มองเห็นและนำเสนอจะยุติแค่มิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (กล่าวคือจำกัดเฉพาะปัญหาอำนาจและเครือข่ายอำมาตย์อันสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์) นิติราษฎร์ยังไม่เริ่มขึ้นเดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยซ้ำไป (กล่าวคือไม่ได้เริ่มตั้งปัญหากับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี ดังที่อาจารย์ปรีดีวิเคราะห์วิจารณ์และนำเสนอทางออกไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๙ และต่อมา) ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อำนาจทุนโลกสำคัญขึ้นเรืื่อย ๆ และผูกมัดกลายเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐในสังคมไทย (ขอให้ดูตอนน้ำท่วมและบทบาทอิทธิพลโน้มนำกำกับของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติญี่ปุ่น เป็นตัวอย่าง) 
 

คณะนิติราษฎร์

สาม) แต่ขณะที่ “เหลือง” เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ มองเห็นปัญหาอำนาจทุน แต่วิธีแก้ที่นำเสนอคือเผด็จการทหารผ่านการรัฐประหาร หรือไม่ก็มอบหมายอำนาจพิเศษแก่คนดีผู้มีความเป็นไทยมากกว่าให้ถ่วงทานตรวจสอบอำนาจทุนไว้ ซึ่งปรากฏประจักษ์ชัดแล้วว่าใช้การไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและโลก รังแต่สร้างความขัดแย้งใหม่ซ้ำซ้อนเพิ่มเติมลุกลามออกไป

 

กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

ในทางกลับกัน ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่งในกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันที่ไม่ปรากฏในความคิดสังคมการเมืองช่วงหลังของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตามที่ศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือเรื่อง ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) ของคุณพัชราภา ตันตราจิน ก็คือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลากหลายด้านในชนบท จนนำไปสู่การปรากฏตัวขึ้นของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงในขอบเขตกว้างขวางหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน

นี่เป็นความรู้ที่ก่อตัวมานานแต่ค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการกระแสหลัก จึงเป็นธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักรับรู้ในวงวิชาการทั่วไปก่อนรัฐประหาร ๒๕๔๙ อันเป็นระยะที่งานความคิดสังคมการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงหลังของอ.เสกสรรค์ถูกผลิตออกมา 

ความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนหลายมิติในชนบทนี้มีหัวใจอยู่ที่กระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม (deagrarianization) แล้วหันไปสู่กิจกรรมหลักและรายได้หลักในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น เรื่องนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อย ๆ ก่อตัวคลี่คลายนับแต่ราว พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ เป็นต้นมาร่วม ๒๖ ปี กลุ่มนักวิชาการแรก ๆ ที่สังเกตเห็น ชี้ชวนให้สนใจและวิเคราะห์วิจัยจึงได้แก่นักเศรษฐศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองท้องถิ่น, เอ็นจีโอ, ปัญญาชนสาธารณะที่เกาะติดชนบทเป็นสำคัญ เช่น อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, บัณฑร อ่อนดำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นต้น 


อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการส่วนน้อยถูกปลุกกระตุ้นจากการปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วแข็งขันเหนียวแน่นใหญ่โตกว้างขวางของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ จนกลายเป็นกระแสการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ตีความความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในชนบทไทยขนานใหญ่แผ่กว้างขยายวงออกไปในปัจจุบัน ที่โดดเด่นสำคัญเช่นทีมวิจัย “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ของอ.อภิชาต สถิตนิรามัย, อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ.จักรกริช สังขมณี, อ.อนุสรณ์ อุณโณ, อ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์และคนอื่น ๆ , หนังสือ Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (2012) ของ Andrew Walker, งานเขียนบทความและปาฐกถาของ Charles F. Keyes, โยชิฟูมิ ทามาดะ เป็นต้น 
 

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ) มีดังนี้คือ: -

หนึ่ง) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชนบทรอบ ๒๖ ปีที่ผ่านมา
- สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง
- เกิดกระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม/เลิกเป็นชาวนา Deagrarianization/Depeasantization ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ
- resource flows ทรัพยากรไหลย้อนกลับตาลปัตรจากเมืองสู่ชนบท (เทียบกับช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฯระยะแรกซึ่งไหลจากชนบทสู่เมืองเป็นหลัก) ผ่านมาตรการโอบอุ้มของรัฐและการกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น
- ชาวนารายได้ปานกลางที่รายได้ส่วนมากมาจากนอกภาคเกษตรกลายเป็นคนส่วนใหญ่ 
- คนชนบทกลายเป็น cosmopolitans & extralocal residents มากขึ้น

สอง) สังคมการเมืองชนบทของชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำประคองไว้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ
- ปัญหาหลักของชนบทไม่ใช่ยากไร้ไม่พอกิน (food sufficiency) อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, ภูมิภาค, ภาคส่วนเศรษฐกิจ (inequalities)
- ปัญหาผลิตภาพต่ำเรื้อรังแก้ไม่หายในส่วนภาคเกษตรและการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ SMEs เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน เปลี่ยนตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ ฯลฯ ได้ผลจำกัด
- รัฐกระเตงอุ้มประชากรชนบทที่เป็นชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไว้มหาศาล แต่ผลักไม่พ้นไม่หลุดจากอก (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาททั่วประเทศ รวมทั้งเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท)

สาม) ธรรมนูญชนบท
- ชาวบ้านชนบทไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐแบบพึ่งพาการอุปถัมภ์อย่างหยุดนิ่งและเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว แต่ดึงรัฐเข้ามาเพื่อกล่อมเกลาเอาใจ ต่อรองกดดันแล้วหลอกล่อฉวยใช้ เหมือนเลี้ยงผีกุมารทอง (ชาวบ้านสัมพันธ์กับผี, รัฐ, ทุน, ชุมชน ในโหมดเดียวกัน) 
- แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย/ฉบับสากลตะวันตกของคนเมือง

ทั้ง ๓ ประเด็นนี้ นักวิชาการและปัญญาชนที่พยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงมองเห็น แต่นักวิชาการสนับสนุนพันธมิตรฯกลับมองข้าม เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ติดอยู่กับแค่ปัญหาคอร์รัปชั่น เผด็จการทุนผูกขาด ชาวนาโง่จนเจ็บ ทั้งที่ชนบทเปลี่ยนไปมหาศาลทุกด้าน รวมทั้งในความสัมพันธ์กับรัฐและเมือง

ทว่าในทางกลับกัน นักวิชาการและปัญญาชนพวกแรกออกจะมองข้ามจุดอับตันของสังคมการเมืองชนบท ๒ อย่าง
๑) ในทางเศรษฐกิจ ภาวะดังที่เป็นอยู่จะยั่งยืนยาวนานได้ยาก มีขีดจำกัด รัฐจะกระเตงอุ้ม เลี้ยงไข้ เลี้ยงต้อย ชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไปได้นานแค่ไหน? 
๒) ค่านิยมธรรมนูญชนบท แคบ เฉพาะส่วน parochial อย่างที่เป็นอยู่โดยไม่ปรับเปลี่ยนก็ยากจะพาไปสู่สังคมการเมืองร่วมกันที่เป็นที่รับได้ของหลักการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล เช่น กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด

 

----

หมายเหตุ : บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก “Kasian Tejapira” เมื่อ 16 เม.ย.56 ในบทความชื่อ "ความคิดของเสกสรรค์ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบัน (๑)" และ "ความคิดของเสกสรรค์ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบัน (๒)

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง