Skip to main content

ปกหนังสือ "ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง"

Kasian Tejapira (28/5/56)

ในหนังสือรวมงานในการประชุมวิชาการชื่อกิ๊บเก๋ว่า ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง (สกว.&จุฬาฯ, ๒๕๕๕ http://trf2.trf.or.th/website_7_001/detail.asp?pid=804) มีบันทึกการสนทนาน่าสนใจระหว่างอาจารย์หญิงนักพุทธปรัชญาชั้นแนวหน้าแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - รศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ กับ คุรุเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง TDRI - ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา (น. ๕๕๓ - ๖๗) ในจำนวนหน้าสั้น ๆ ๑๕ หน้านี้ มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นน่าคิดสำหรับสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันมากมายหลายเรื่องบรรจุอัดไว้ ยังไม่ต้องพูดถึงความน่าสนใจของคู่สนทนาเอง

รศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา

ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์

ภาษา สนทนาเรียบง่ายและดูตื้นกว่าประเด็นเนื้อหาที่เอาเข้าจริงลึกและไปไกลกว่า มาก และคงดีไม่น้อยในการอ่านตามทำความเข้าใจ หากผู้อ่านได้รู้จักบทตอนที่เกี่ยวกับ “ประโยชน์นคร” (Utilitaria) ใน การิทัตผจญภัย: นิยายปรัชญาการเมือง โดย สตีเว่น ลุคส์ (๒๕๑๔, ๒๕๕๔) หรือ บทที่ ๒ หลักความสุขสูงสุด/อรรถประโยชน์นิยม ในหนังสือ ความยุติธรรม ของไมเคิล แซนเดล (สฤณี อาชวานันทกุล แปล ๒๕๕๔) ก่อน

- ของต่าง ๆ ในโลกอาจมีทั้งคุณค่าที่สังคมวัฒนธรรมมอบให้ กับ มูลค่า/ราคาที่แลกเปลี่ยนกันทางเศรษฐกิจ ยกเว้นสังคมตกลงตัดสินใจกำหนดเป็นกฎเกณฑ์กติกาขึ้นว่าไม่ยอมให้ของนั้น ๆ เอาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน คือกีดกันหวงห้ามมันไว้ให้อยู่นอกตลาด นอกปริมณฑลแห่งการแลกเปลี่ยน เช่น คนเรา (นับแต่เลิกทาสเป็นต้นมา), หรืออวัยวะ (สำหรับปลูกถ่าย ในเมืองไทยไม่ให้ซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ใช้บริจาคโดยสมัครใจแทน)

- ปกติแล้ว ของที่สังคมวัฒนธรรมกันไว้นอกตลาด ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน มักมีลักษณะเด่นบางประการ เช่น ศักดิ์สิทธิ์, โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์, หาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้, one of a kind, เป็นเรื่องสิทธิที่ทุกคนพึงมีพึงได้ เป็นต้น

- ทว่าของที่ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน มีคุณค่า แต่ห้ามมีราคา ซึ่งเรามักให้เปล่าแก่กัน (แจกฟรี) เหล่านี้ ไม่ควรเข้าใจผิดไขว้เขวว่ามันถูกหรือย่อมเยา หรือไม่เสียต้นทุนในการผลิตขึ้นมา ตรงกันข้าม มันล้วนมีต้นทุนในการผลิต (cost) และอาจแพงมากด้วย (เพียงแต่ห้ามขาย) ดังนั้นบางทีก็ควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ดีว่า ของแบบนี้ (เช่นหนังสือพิมพ์แจกฟรี) ควรแจกฟรีหรือควรขายกันแน่ เพราะแจกฟรี ทำให้หายาก มีให้เฉพาะเจาะจงแก่บางคน คนอื่นหาไม่ได้, แต่ถ้าขาย มันก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนมือไปถึงใครก็ได้ตามอำนาจซื้ออย่างเป็นสากลทั่วไป

- ปัญหาลึกที่สุดของการตั้งมูลค่า/ราคาแก่สิ่งหนึ่ง ๆ คือมันละเลยกระโดดข้าม conflict of values หรือความขัดแย้งอันมีขึ้นได้เกี่ยวกับคุณค่าพื้นฐานของสังคมที่ย่อมเข้าไปพัวพันแฝงอยู่ในการตัดสินใจหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างกรณีปัญหาโรงเรียนเล็ก นักเรียน/ครูน้อย ด้อยคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ไม่คุ้มทุนค่าใช้จ่าย, ในสภาพที่งบประมาณการศึกษามีจำกัด ก็จำต้องใช้ให้คุ้มทุนคุ้มค่าก่อประสิทธิภาพสูงสุด และจัดลำดับก่อนหลังของการใช้จ่ายงบประมาณตามความคุ้มทุนและคุณภาพ/ประสิทธิภาพที่จะได้มานั้น ๆ จากจุดนี้ ก็เพียงแต่นำโรงเรียนใหญ่เล็กมาประเมินวัดด้วยเกณฑ์คุ้มทุน/ประสิทธิภาพ/คุณภาพ (ประโยชน์สาธารณะหรือ public utility) ออกมาเป็นตัวเลข แล้วชั่งวัด โรงเรียนไหนคุ้มกว่า ก็อยู่ต่อได้งบฯไป โรงเรียนไหนไม่คุ้ม ก็ตัดงบฯหรือยุบทิ้งเสีย จบ

- สิ่งที่เกิดขึ้นในย่อหน้าข้างบนคือ การลดทอนคุณค่าพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ลงจนหมดเหลือแค่ประโยชน์สาธารณะอันเป็นคุณค่าหนึ่งเดียว (reductionism --> public utility) จากนั้นก็ใส่ตัวเลขสะท้อน public utility ที่ต่างกันเข้าไป แล้วชั่งวัดตัดสินใจตามตัวเลขนั้น ด้วยความมั่นใจสิ้นสงสัย ก็เพราะมันชัดเจนแดงแจ๋เป็นตัวเลขไง ๑ ย่อมน้อยกว่า ๓ ซึ่งต้องมากกว่า ๒ หรือใครจะเถียง?

- นี่คือ false certainty หรือความหลงมั่นใจ ที่เกิดจากความแน่ชัดตายตัวของปริมาณตัวเลขที่ใช้เป็นฐานในการตัดสินใจ เป็นตัวเลขที่ได้มาหลังลดทอนคุณค่าอื่นทิ้งหมดแล้ว เหลือแค่ public utility เท่านั้น

- แต่จริงหรือว่ามันมีคุณค่าเดียวที่สำคัญในเรื่องนี้? แล้ว สิทธิของเด็กที่จะได้การศึกษาล่ะ? หรือ การมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตครอบครัวของเขาล่ะ? คุณค่าอื่น ๆ นอกเหนือจาก public utility เหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหน? ถูกกันออกไปได้อย่างไร? มันมีที่ทางไหมในการคำนวณที่ยึดมูลค่า/ราคาบนฐานประโยชน์สาธารณะ เป็นเกณฑ์?

- การตัดสินใจเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกันนี้บนฐานคิด utilitarianism/public utility มิติเดียว ทำให้มันคิดง่าย คำนวณง่าย เชื่อมั่นว่าถูกแน่ และเหมาะแก่วิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์, มันทำให้เรื่องยุ่งใจ (ต้องเลือกและให้น้ำหนักระหว่างคุณค่าพื้นฐานต่าง ๆ หลายคุณค่า) กลายเป็นแค่ยุ่งยาก (ในการคิดตัวเลขคำนวณเท่านั้นเอง) และมีแนวโน้มจะจับทุกอย่างมาให้ตัวเลขปริมาณ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ควรเอามาให้ตัวเลขปริมาณเลย อย่างสิทธิ, อำนาจมีส่วนร่วม เป็นต้น

- เพราะในที่สุดแล้วของสูงค่าที่สุดในชีวิตเราคืออะไรหรือ?............ แล้วมันเป็นของที่นับได้หรือนับไม่ได้ล่ะ? ถ้าเราบอกว่าของสำคัญคือของที่นับได้ งั้นของที่นับไม่ได้ ก็ไม่สำคัญล่ะสิ อย่างความรัก, ความกตัญญูรู้คุณ ฯลฯ

- ขณะที่การหยิบเอาจริยธรรมมาตบหัวข่มขู่กันเป็นเรื่องเหลวไหล แต่นี่มิได้หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์ต้องไม่ใส่ใจจริยธรรม ตรงกันข้ามทีเดียว ตราบเท่าที่พฤติกรรมของคนในสังคม (รวมทั้งพฤติกรรมผลิตซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ) ถูกกำกับด้วยหลักหรือกรอบจริยธรรม นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องสนใจสังเกตเรียนรู้กรอบจริยธรรมของสังคมดังกล่าว เพื่อเข้าใจและคาดหมาย พฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในสังคม (รวมทั้งพฤติกรรมเศรษฐกิจของพวกเขา) ได้ดีขึ้น, ส่วนตัวนักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนจะมีจริยธรรมหรือไม่ หรือเป็น “มนุษย์เลือดเย็นที่มีหัวใจอ่อนโยน” อันนั้นไม่เกี่ยว เป็นวิสัยสันดานของแต่ละบุคคล

- อัมมารเห็นด้วยกับสุวรรณาว่า: “ถ้ามนุษย์ไม่เก็บคุณค่าบางอย่างของชีวิตไว้นอกขอบข่ายข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจ ชีวิตมนุษย์จะกลายเป็น nihilist” (nihilist ในความหมายที่ว่าหมดคุณค่าและหมดความหมายในตัวเองเพราะว่าคุณค่าหรือความหมายถูกตีราคาและนำไปแลกเปลี่ยน.....มันถูกแลกเปลี่ยนกลายเป็นอะไรก็ได้ กลายเป็นตัวเลขที่ทำงานด้วยเงินหรือกลไกตลาด - น.๕๖๓ - ๔)

- แต่อัมมารก็เตือนในฐานะผู้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่วมคิดวางนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณการแพทย์และสาธารณสุข (๓๐ บาทรักษาทุกโรค) ว่า “ในบางครั้ง เราต้องประเมินด้วยความจำเป็น และอาจด้วยความขมขื่นด้วย เพราะเหตุสภาพแวดล้อมอะไรบางอย่าง...” ในสภาพที่งบประมาณมีจำกัด ทรัพยากรการแพทย์มีจำกัด การพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้มันรักษาดำรงชีวิตสุขภาพของใคร อย่างไร เท่าไหร่ นานเพียงใด เป็นสิ่งขมขื่นที่ต้องทำ และในกรณีนั้น ๆ “การแลกเปลี่ยน มันหลีกหนีไม่พ้น” (น. ๕๖๗) คำว่า “แลกเปลี่ยน” ในประโยคนี้ หมายถึง trade-off คือ “ได้อย่างเสียอย่าง” นี่ยังคงเป็นความเป็นจริงที่ขมขื่นแต่จริงทางเศรษฐกิจที่โลกเราเผชิญอยู่

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง