Skip to main content

 

พาดหัวข่าวและเนื้อข่าวของ Bangkok Post เช้าวันนี้ (อาทิตย์ที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๖ http://www.bangkokpost.com/news/local/356448/govt-urged-to-tackle-tate-killings ) ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าหากคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร ไม่ได้ถูกลักพาตัว, ข่มขู่กรรโชกทรัพย์, และฆาตกรรม โดยแก๊งคนร้ายเอกชนที่ประสงค์ต่อทรัพย์ (เท่าที่ปรากฏหลักฐานข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนถึงขณะนี้) จะมีการหวนรำลึกให้ความสำคัญกับคดี “อุ้มหาย” ของทนายสมชาย นีละไพจิตรและนักกิจกรรมภาคประชาชนท่านอื่น ๆ เช่นนี้หรือไม่?

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ในวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่ผมสอน หัวข้อระบอบเผด็จการอำนาจนิยม powerpoint แผ่นหนึ่งที่ผมใช้อธิบายว่า “ผู้ถูกจับกุม” (the arrested) แตกต่างจาก “ผู้ถูกอุ้มหาย” (the disappeared) โดยเจ้าหน้าที่รัฐตรงไหน อย่างไร? และมีองค์ประกอบอันถือเป็น “การก่อการร้ายโดยรัฐ” (state terrorism) เช่นใด? มีเนื้อหาดังนี้:

ปรากฏการณ์ “อุ้มหาย” เกิดขึ้นขนานใหญ่ระหว่าง “สงครามสกปรก” ในอาร์เจนตินาภายใต้เผด็จการทหาร เจ้าหน้าที่ทหารของทางการได้ “อุ้มหาย” นักศึกษา กรรมกร นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านและผู้ต้องสงสัยเป็นนักรบจรยุทธ์โดยเฉพาะที่เอียงซ้ายไปร่วม ๓ หมื่นคนระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๗๖ - ๘๓ (http://en.wikipedia.org/wiki/Dirty_War ) คนเหล่านี้หายสาบสูญไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย

เหตุดังกล่าวทำให้ความหมายของศัพท์ “disappear” ที่เดิมทีเป็นอกรรมกริยา (intransitive verb) ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “หายตัว, สาบสูญ (ไปเอง)” เปลี่ยนไปในทางกฎหมายและการเมือง โดยเพิ่มนัยใหม่ที่เป็นสกรรมกริยา (transitive verb) ขึ้นมาว่า to disappear someone หรือ “ทำการอุ้มใครสักคนหายไป”

ในที่สุด “การอุ้มหาย” ถูกบัญญัตินิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าจัดเป็นส่วนหนึ่งของ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ร่าง “อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทั้งมวลจากการบังคับอุ้มหาย” (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ออกมาเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ และมีผลบังคับใช้ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ โดยมีประเทศสมาชิกสหประชาชาติร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว ๙๑ ประเทศ, ให้สัตยาบันรับรองแล้ว ๓๗ ประเทศ, ส่วนประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามหรือรับรองแต่อย่างใด

 

อนึ่ง นายพล ฮอร์เฮ ราฟาเอล วิเดลา จอมเผด็จการผู้ปกครองอาร์เจนตินาระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๗๕ - ๘๑ และรับผิดชอบดำเนิน “สงครามสกปรก” โดย “อุ้มหาย” ประชาชน ๓ หมื่นคนรวมทั้งจับกุมทรมานอีกนับหมื่นคนดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีในกาลต่อมาเมื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นแล้ว และถูกตัดสินลงโทษฐานก่อ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” ด้วยการจำคุกตลอดชีวิต เขาถึงแก่กรรมในคุกไปเมื่อ ๑๗ พ.ค. ศกนี้เอง

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

หนังสือ อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย (๒๕๔๗) จัดพิมพ์โดย คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (ซึ่งมีบทความของผมเรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” รวมพิมพ์อยู่ด้วยที่หน้า ๓ - ๒๔) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทนายสมชาย นีละไพจิตรไว้ว่า:

ในฐานะประกอบวิชาชีพทนายความ ท่านได้ใช้ความรู้ทางกฎหมายว่าความรณรงค์ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ต้องหาทั้งคดีอาญาและคดีการเมือง/ความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง จนดำรงตำแหน่งประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม

การอุ้มหายท่านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลังเหตุปล้นปืนค่ายทหารกองพันพัฒนาที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ไม่นาน โดยทนายสมชายไม่เห็นด้วยกับนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทักษิณในขณะนั้นและเตรียมรณรงค์ล่ารายชื่อชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ดังกล่าว (หนังสือของชมรมนักกฎหมายมุสลิม เรื่อง ขอความร่วมมือลงชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกฯ ลงวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๔๗ และลงนามโดยทนาย สมชาย นีละไพจิตร ใน อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรฯ น. ๗๐ - ๗๓)

พร้อมกันนั้นท่านก็ได้เปิดโปงการจับกุมผู้ต้องหาคดีปล้นปืนฯไปกระทำทรมานทารุณของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทำหนังสือถึงศาล ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (หนึ่งวันก่อนถูกอุ้มหาย) ความบางตอนว่า:

“ข้าพเจ้าและคณะได้ไปพบผู้ต้องหาทั้ง ๕ คนที่ถูกควบคุมตัวที่กองปราบปรามและสถานที่ควบคุมโรงเรียนตำรวจนครบาล ได้ทราบข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาทั้งหมดว่าถูกตำรวจชุดจับกุมซ้อม ทำร้ายร่างกายและขู่บังคับให้รับสารภาพ ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ต.ตันหยง จังหวัดนราธิวาส มีรายละเอียดดังนี้

“๑.ผู้ต้องหาที่ ๑ ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง ๓ ครั้ง

“๒. ผู้ต้องหาที่ ๒ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอน แล้วคนปัสสาวะรดหน้า

“๓. ผู้ต้องหาที่ ๓ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง

“๔. ผู้ต้องหาที่ ๔ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง

“๕. ผู้ต้องหาที่ ๕ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง

“ผลจากการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้ง ๕ คนต้องยอมรับสารภาพตามที่เจ้าพนักงานตำรวจประสงค์ เป็นการแสดงคำรับสารภาพและทำแผนประกอบคำรับสารภาพโดยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่บังคับ มิได้รับการเยี่ยมญาติ และไม่มีโอกาสให้ได้พบทนายความในขณะสอบปากคำ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาทั้งสิ้น”

(อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรฯ, น. ๖๗ - ๖๙)

ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง