๕ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย
ผมได้ยินกิตติศัพท์บาบู Chatterjee มานานในฐานะผู้บุกเบิกก่อตั้ง Subaltern Studies (ศึกษาความทันสมัยของประเทศ หลังอาณานิคมทั้งหลายจากจุดยืน/มุมมองของชนชั้นผู้ถูกกดทับ) โดยเฉพาะเมื่อแกตีพิมพ์หนังสือ Nationalist Thought and the Colonial World (1986) เพื่อวิจารณ์งานเรื่อง Imagined Communities ของครูเบ็น แอนเดอร์สัน แต่เพิ่งเจอะเจอและได้เสวนากับตัวจริงในคราวไปประชุมวิชาการที่เมืองเฟซ ประเทศโมร็อกโก เมื่อปี ๒๐๐๔ ก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่รอบรู้มาก แกอภิปรายในที่เสวนาแต่ละทียังกับขนหอจดหมายเหตุยุคอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย มาแบกางให้ดูแล้ววิเคราะห์ตีความและบ่นอุบว่ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมกาใช้งานแกหนักมาก ให้แกดูแลวิทยานิพนธ์เด็กนับสิบ ซึ่งแกก็ใจอ่อน ไม่อยากปฏิเสธ.....
หลังเจอกันหนนั้น ผมก็ตามเก็บงานวิชาการประเภทบทความและหนังสือของแกเท่าที่หาได้มาเรื่อย ๆ รวมทั้ง "Peasant cultures of the twenty-first century" (2008 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2009/08/Chatterjee-peasant-cultures.pdf ) ด้วย แต่มาถูกระตุกกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของบทความนี้อีกทีเมื่ออ่านงานของ Andrew Walker เรื่อง Thailand's Political Peasants (2012 http://www.eastasiaforum.org/2012/08/29/thailands-political-peasants/ ) เมื่อต้นปีนี้แล้วพบว่า Walker ชี้แจงว่าเขาดึงแนวคิดพื้นฐานในการตีความเข้าใจสถานการณ์ชาวนาไทยมาจากบทความนี้ของบาบู Chatterjee
บทความนี้เป็นบทวิจารณ์ตัวเองของ Chatterjee ในฐานะตัวแทนสำนัก subaltern studies โดยรวมก็ว่าได้ กล่าวคือแกเสนอว่าแนวทางศึกษาชาวนาแบบเดิมของ subaltern studies ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์และใช้ ไม่ได้แล้ว จนต้องรื้อโละเครื่องมือคิดวิเคราะห์สังคมชาวนาเอเชีย(โดยเฉพาะจีน อินเดีย เอเชียอาคเนย์ รวมทั้งไทย) ใหม่หมด ในบรรดา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่แกอ้างอิงถึง ได้แก่:
๑) รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกอีกต่อไป
๒) เนื่องจากเกิดการปฏิรูปโครงสร้างทรัพย์สินภาคเกษตรใหม่ บัดนี้ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้าชนชั้นขูดรีด(เช่นเจ้าที่ดินศักดินา/กึ่งศักดินา) โดยตรงในหมู่บ้านอีกต่อไป
๓) ในสภาพที่ภาษีที่นาลดความสำคัญลงสำหรับรัฐ รัฐจึงไม่ได้มารีดไถชาวนาโดยตรงอีกต่อไป
๔) การที่ชาวชนบทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าเมือง เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมไม่ใช่เพราะยากจน สิ้นหนทาง แต่เพราะมองเห็นโอกาสยกระดับตัวเองทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงอยากเสี่ยงไปเองแม้รู้ว่าจะลำบากก็ตาม
๕) หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยาก เลิกเป็นชาวนาต้องการเข้าเมืองเพื่อเลื่อนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและปลดปล่อยตัวเองจาก เอกลักษณ์เดิม
๔ concepts หลักที่ Partha Chatterjee ประยุกต์มายึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชนบทเอเชีย: ๑) การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ
ในบทความ "Peasant cultures of the twenty-first century" (2008) มี ๔ แนวคิดหลักที่ Partha Chatterjee ใช้ มาจัดระเบียบคัดกรองตีความข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของ สังคมชาวนาในชนบทเอเชียภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ได้แก่
๑) the primitive accumulation of capital การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ
๒) non-corporate capital ทุนที่ไม่ใช่เป็นบรรษัท/ทุนนอกบรรษัท
๓) informal economy เศรษฐกิจนอกระบบ
๔) political society สังคมการเมือง
ผมขอเล่าไปตามลำดับโดยสังเขป:
the primitive accumulation of capital การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ
นี่เป็น concept คลาสสิกของเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์ มาร์กซใช้แนวคิดนี้มาอธิบายการก่อตัวระยะแรกของทุนนิยมผ่านการสะสมทุนขั้น ปฐมภูมิ โดยรวบรวม (สูบรีด โยกย้ายถ่ายโอน ปล้นชิง) ส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาจากแหล่งต่าง ๆ อาจผ่านกลไกเช่น การกำหนดราคาแบบเอารัดเอาเปรียบหรือเก็บภาษี เพื่อเป็นทุนประเดิมในการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น ในยุคอาณานิคมระยะแรก การปล้นชิงแร่ธาตุสินทรัพย์จากอาณานิคมโดยกองเรือของยุโรป ทำให้ได้สะสมทุนมาใช้เพื่อการนี้, หรือในยุคพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติของไทย การสูบรีดส่วนเกินเศรษฐกิจจากภาคเกษตรชนบทมาหล่อเลี้ยงเมือง ในรูปกดราคาผลผลิตเกษตรให้ต่ำ หรือเก็บพรีเมี่ยมสินค้าเกษตรส่งออก เช่น ข้าว ก็ทำให้ได้สะสมทุนมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม, หรือในประเทศสังคมนิยม กระบวนการเดียวกันก็เกิดขึ้นเพื่อโยกส่วนเกินเศรษฐกิจจากชนบทมาเมือง ผ่าน collectivization (นารวม) เช่นในรัสเซียสมัยสตาลิน เป็นต้น
หัวใจของ the primitive accumulation of capital ในความเข้าใจของ Chatterjee คือ การพรากผู้ใช้แรงงานไปเสียจากปัจจัยการทำงาน (dissociation of the labourer from the means of labour) เช่น พรากชาวนาจากที่ดิน เป็นต้น อันเป็นการยกสลายสังคมชาวนาดั้งเดิม (gemeinschaft) ที่มีห่วงเชื่อมสายสัมพันธ์สมานฉันท์ของชุมชนชนบทท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่บนฐาน เอกภาพของแรงงานกับปัจจัยการทำงาน (the unity of labour with the means of labour) ไปเป็นสังคมสมัยใหม่ --> gesellschaft
นี่เป็นภาพความเปลี่ยนแปลงคลาสสิกที่เกิดกับชนบทเพราะฝีมือทุนนิยมแบบเดิม ทว่าภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ได้เกิดปทัสถานใหม่/ความเข้าใจใหม่ที่กำหนดกะเกณฑ์เรียกร้องให้รัฐทั้งหลาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนามีหน้าที่ขั้นพื้นฐานต่ำสุดและมีเทคโนโลยีการ บริหารปกครองในมือที่จะต้องเข้าไปช่วยอุ้มชูประคับประคองชาวนาชนบทที่ถูกริบ ปัจจัยการทำงาน (ที่ดิน) ไปในกระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (กำลังเร่งขยายตัวเร็วขึ้นพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดในยุคโลกาภิวัตน์) หาช่องทางชดเชยให้พวกเขายังชีพอยู่ต่อได้ โดยสนองชีวปัจจัยขั้นพื้นฐานให้ผ่านเงินงบประมาณในรูปต่าง ๆ หน้าที่ดังกล่าวภาคเอ็นจีโอในและนอกประเทศรวมทั้งองค์การระหว่างประเทศก็ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทำด้วย การปล่อยให้พวกเขาสิ้นไร้ไม้ตอกไปในกระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิเหมือนดังที่เคยเกิดมายุคทุนนิยมคลาสสิก เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในโลกปัจจุบันอีกต่อไป
ผลก็คือ ภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ได้เกิดกระบวนการ ๒ กระบวนการที่สวนทวนเส้นทางกัน ได้แก่
๑) กระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ ริบปัจจัยการทำงานไปจากแรงงานชนบท ซึ่งเร่งเร็วขึ้นพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มี
๒) กระบวนการสวนทวนย้อนทางกลับตาลปัตรผลกระทบของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ โดยรัฐเป็นตัวการหลัก และอุดหนุนโดยเอ็นจีโอและองค์การระหว่างประเทศ ทุ่มงบประมาณสนองชีวปัจจัยขั้นพื้นฐานผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ให้แก่ชาวนาชนบทเหล่านั้นพร้อมกันไป
ผลลัพธ์คือสังคมชาวนาเปลี่ยนสภาพ จากเดิมอยู่ในระยะเปลี่ยน่ผ่านรอการแตกแยกสูญสลายเนื่องจากการพัฒนาทุนนิยม ในขั้นตอนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (ริบทรัพยากรไปจากมือชาวนา) ==> สังคมชาวนาดำรงอยู่ต่อไปโดยการอุ้มชูประคับประคองของรัฐและองค์กรอื่น ๆ สนองชีวปัจจัยมูลฐานต่าง ๆ ให้อยู่รอดได้ พลิกกลับสวนทวนกระแสผลกระทบของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมินั้น แต่เป็นการอยู่ต่อบนการอุดหนุนค้ำจุนของรัฐ และอยู่ท่ามกลางตลาด/ผลิตเพื่อขายอย่างเต็มตัว ไม่ใช่สังคมชาวนาแบบผลิตพึ่งตนเองพอเพียงนอกตลาดดังก่อนอีกต่อไป
Chatterjee พิเคราะห์ชาวนาเอเชีย: ชนิดของทุนและที่ตั้งทางเศรษฐกิจใหม่ของชาวนายุคโลกาภิวัตน์
การที่เศรษฐกิจชาวนาเปลี่ยนสภาพจากการผลิตเลี้ยงตนเอง --> บูรณาการเข้ากับตลาดและเพาะปลูกผลิตเพื่อขาย --> การผลิตของชาวนามากหลายอยู่ใต้การกำกับของ ทุน --> ก่อเกิดเป็นสายใยเชื่อมโยง [การเพาะปลูกพืชผลของชาวนา+ เครือข่ายการค้าพืชเศรษฐกิจ+เครือข่ายสินเชื่อ+เครือข่ายขนส่งคมนาคม+ อุตสาหกรรมและบริการรายย่อยในตลาดชนบทและอำเภอ] เข้าด้วยกันเป็นหน่วยซับซ้อนองค์เดียว
หน่วยซับซ้อนองค์เดียวที่ว่านี้ก้คือ เศรษฐกิจนอกระบบ หรือ informal sector of the economy อันเป็นที่ตั้งที่อยู่ที่ยืนหลักอันใหม่ของชาวนาเอเชีย
วิธีนิยามจำแนก formal sector ออกจาก informal sector of the economy ของ Chatterjee น่าสนใจเพราะเขาใช้ ชนิดของทุน เป็นปัจจัยหลักในการจำแนก กล่าวคือ:
การจำแนกแยกแยะเศรษฐกิจในระบบกับเศรษฐกิจนอกระบบทุกวันนี้ ตั้งอยู่บน ความแตกต่างระหว่างทุนบรรษัท (corporate capital) กับ ทุนนอกบรรษัท (non-corporate capital) นั่นเอง
แล้วอะไรคือทุนบรรษัท/ทุนนอกบรรษัทล่ะ?
Chatterjee นิยามว่า ทุนบรรษัทได้แก่ทุนที่ดำเนินการตามตรรกะมูลฐานแห่งการสะสมทุน ที่สำคัญคือกำไรสูงสุด
ขณะทุนนอกบรรษัทได้แก่ทุนที่แม้จะเอากำไร แต่ตรรกะหลักที่ครอบงำการดำเนินการของทุนดังกล่าวกลับเป็นการสนองตอนความ จำเป็นด้านชีวิตความเป็นอย/ู่ ชีวปัจจัยของผู้ทำงานอยู่ในหน่วยการผลิตทุกคน กล่าวคือยังไงก็ต้องให้สมัครพรรคพวกทุกคนพอมีพอกินเอาตัวรอดได้ก่อน ฉะนั้นลักษณะร่วมของทุนนอกบรรษัทคือการรวมตัวของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ทั้งหลายจัดตั้งกันขึ้นเป็นสมาคมเพื่อเคลื่อนไหวต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มทุนในตลาด และกำกับควบคุมคนเข้าใหม่ให้พอเหมาะพอสม ไม่ให้คนนอกกลุ่มแห่เข้ามาแย่งอาชีพในเขตพื้นที่จนระส่ำระสายไปไม่รอดกัน ทั้งหมด ในแบบแผนพฤติกรรมเดียวกับหาบเร่แผงลอยข้างถนน, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, กิจการวิ่งรถสองแถวนั่นเอง
(อันเป็นกิจกรรมในลักษณะกักตุนโอกาส/ปิดกั้นทางสังคม (opportunity hoarding/social closure) ไว้เฉพาะกลุ่มตัวเองตามทฤษฎีชนชั้นของ Max Weber แบบหนึ่งนั่นเอง)
ข้อเสนอของ Chatterjee เรื่องนี้คือสังคมชาวนาปัจจุบันดำเนินงานอยู่ใต้ทุนนอกบรรษัทเป็นหลัก และฉะนั้นจึงมีพลวัตขับเคลื่อนไปสู่การเป็น สังคมการเมือง political society อยู่ในตัว
สังคมการเมืองของชาวนาชนบท: ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฎชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม
ข้อเสนอของ Partha Chatterjee เกี่ยวกับสังคมชาวนาภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ (ซึ่งสร้างขึ้นจากการสังเกตศึกษาวิจัยและประสบการณ์อินเดีย แล้วขยายออกไปครอบคลุมเอเชียอาคเนย์และจีนด้วย) นั้นเมื่อบวกกับการประยุกต์ตีความใช้มันในขอบเขตสังคมชนบทไทยของ Andrew Walker แล้ว กล่าวในมิติการเมือง มันปฏิเสธการวิเคราะห์ตีความการเมืองของสังคมชาวนากระแสหลักต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งหมด
- สังคมชาวนาไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) แบบดั้งเดิม (เจ้าที่ดินกับลูกนา) หรือแบบใหม่ (เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล-นายทุนท้องถิ่น-นักการเมือง-รัฐราชการ กับ ชาวนา) เพราะเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว, ชนชั้นขูดรีดเดิมออกไปแล้ว, ตลาดและทุนเข้ามาแล้ว (สะสมทุนขั้นปฐมภูมิ พรากชาวนาจากปัจจัยการทำงาน), รัฐเข้ามาแล้ว (ดำเนินนโยบายโอบอุ้มประคับประคองชาวนา สวนทวนกระแสผลลัพธ์ของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ), ชาวนาเปลี่ยนไปแล้ว
- สังคมชาวนาไม่ได้เป็นเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองพึ่งตนเอง (subsistence economy) อีกต่อไป แต่เชื่อมผนึกกับตลาด/ทุนเป็นหนึ่งเดียว เพาะปลูกผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อไว้กินเอง เพียงแต่มันเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ (ไม่ใช่ในระบบ) และทุนนอกบรรษัท (ไม่ใช่ทุนบรรษัท) เพราะฉะนั้นปัญหาหลักของชาวนาไม่ใช่ไม่พอกิน แต่คือไม่เสมอภาคในมิติต่าง ๆ (เมือง/ชนบท, ภูมิภาค, ภายในหมู่บ้านเอง)ในเงื่อนไขดังกล่าว จึงไม่มีเอกภาพหนึ่งเดียวระหว่างชาวนาผู้ใช้แรงงานกับปัจจัยการทำงาน, ไม่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงแบบชุมชนสมานฉันท์ท้องถิ่นในหมู่ชาวนาอีกต่อไป, ไม่มีเศรษฐกิจศีลธรรม (moral economy), และดังนั้นจึงไม่มีกบฎชาวนาอีก
- สังคมชาวนาแบบนี้ส่วนใหญ่จึงไม่มีการเมืองภาคประชาชน (people’s politics แบบสมัชชาคนจนและ
ชุมชนที่รวมตัวต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรในที่อื่น ๆ) เพราะในข้อเท็จจริง พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยทำมาหากินบนฐานทรัพยากรร่วมกันอีกต่อไปแล้ว (อาชีพเปลี่ยนและหลากหลาย รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม ในเศรษฐกิจนอกระบบต่าง ๆ) การเมืองภาคประชาชนกล่าวให้ถึงที่สุดจึงเป็นการเมืองของคนชนบทส่วนน้อย ไม่อาจเป็นตัวแทนการเมืองสังคมชาวนาทั้งประเทศได้
- แต่ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่และเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมชาวนา ก็ไม่ใช่ประชาสังคม (civilsociety) แบบคนชั้นกลางในเมือง ข้อเสนอหลักใจกลางเรื่องนี้ของ Chatterjee คือ:
“ประชาสังคมคือที่ซึ่งทุนบรรษัทครองอำนาจนำ
ขณะที่สังคมการเมืองคือพื้นที่แห่งการบริหารจัดการทุนนอกบรรษัท”
พร้อมกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียในสามทศวรรษที่ผ่านมา ทุนบรรษัทและชนชั้นนายทุนบรรษัทได้ขึ้นกุมอำนาจนำเหนือประชาสังคม กล่าวคือตรรกะแห่งการสะสมทุน (กำไรสูงสุด) ซึ่งเรียกร้องให้เศรษฐกิจแห่งชาติเติบโตในระดับสูงและความต้องการของทุนบรรษัทสำคัญเหนือสิ่งอื่น ครองอำนาจนำเหนือประชาสังคมแห่งคนชั้นกลางชาวเมือง ความทะยานอยากทางการศึกษา วิชาชีพและสังคมของคนชั้นกลางเหล่านี้ผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับความเจริญมั่งคั่งของทุนบรรษัทจากนี้แนวโน้มหลักในประชาสังคมจึงเป็นการยืนกรานสิทธิตามกฎหมายของพลเมือง, ให้มีการจัดระเบียบพลเมืองในสถานที่และสถาบันสาธารณะต่าง ๆ , มองความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบของ
เศรษฐกิจนอกระบบและสังคมการเมืองของชาวนา/คนรากหญ้าอย่างอิดหนาระอาใจ, เชื่อว่าเศรษฐกิจโตเร็วจะแก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำทางโอกาสได้ทุกประการ
ส่วนเศรษฐกิจนอกระบบของชาวนาชนบท/คนรากหญ้าจำต้องมีการจัดตั้งรวมตัวกันขึ้นเพื่อดูแลจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุนนอกบรรษัทของพวกเขากับรัฐและตลาดซึ่งมีกฎเกณฑ์ของมันเอง รูปการจัดตั้ง/รูปแบบการปกครองดังกล่าวซึ่งมีทั้งมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน ก็คือสังคมการเมือง (political society) นั่นเอง
สังคมการเมืองของชาวนาชนบทคือรูปแบบการปกครองของคนที่อยู่ปริ่ม ๆ ตรงชายขอบกฎหมาย(ต่างจากประชาสังคมซึ่งเป็นพื้นที่ของพลเมืองผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายชัดเจน) มันมีลักษณะเป็นกรณียกเว้น ไม่ปกติ ที่อยู่ได้ด้วยนโยบายเฉพาะพิเศษของรัฐที่เอื้อเฟื้อโอบอุ้ม, บรรดาสมาชิกของสังคมการเมืองนี้จึงต้องเจรจาต่อรองทางการเมืองกับรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา, เพราะภาวะเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขาไม่นิ่ง ไม่แน่นอนตายตัว ไม่ใช่ค้ำจุนรองรับด้วยสิทธิมั่นคงตามกฎหมายอย่างประชาสังคม, การจัดตั้งรวมตัวเป็นสมาคมต่าง ๆ แบบทางการ/กึ่งทางการจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขาเพื่อบริหารจัดการทุนนอกบรรษัทของตน ในอันที่จะประกันการสนองตอบความจำเป็นด้านชีวปัจจัย/การดำรงชีพของสมาชิกทุกคน ท่ามกลางกฎระเบียบของตลาดและรัฐราชการน
โยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาท, นโยบายคืนภาษีรถคันแรก, นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ฯลฯเหล่านี้มีฐานที่มาทางการเมืองจากสังคมการเมืองของชาวนาชนบทนี่เอง