๔ ปีก่อนครูเบ็น แอนเดอสันแห่ง IC (ชื่อย่อลูกคนดังของอาจารย์ คือ Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (1983) หรือนัยหนึ่งหนังสือ ชุมชนจินตกรรมฯ ในพากย์ไทย ได้บรรยายภาษา อังกฤษเรื่อง Monarchy and Nationalism โดยยึดประวัติศาสตร์ยุโรปและอังกฤษเป็นฐานข้อมูลและกรณีตัวอย่าง หลัก เสริมด้วยข้อมูลตัวอย่างเปรียบเทียบจากที่อื่นในโลกรวมทั้งไทย แล้วหนังสือพิมพ์ Bangkok Post นำไปลง โดยตัด ทอนย่อบางส่วน
พอดีผมเอาคำบรรยายฉบับเต็มที่ครูเบ็นกรุณาส่งให้ตั้งแต่ตอนนั้นมาให้นักศึกษาในชั้นเรียนปริญญาเอกวิชาการเมือง เปรียบเทียบอ่าน ก็เลยถือโอกาสนำเรื่องสนุก ๆ สำคัญ ๆ ที่ครูเบ็นวิเคราะห์วิจารณ์ไว้มาเล่าต่อในที่นี้
ก่อนอื่นเลย ครูเบ็นชี้ให้เห็นความแตกต่างขัดแย้งในสาระสำคัญระหว่างชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณา- ญาสิทธิราชย์แต่เดิม
กล่าวคือขณะที่ชาตินิยมยึดมั่นหลักความเสมอภาคของมนุษย์และถือว่าอำนาจอธิปไตยตั้งสถิตอยู่ที่ “ประชาชนเรา”
สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิมกลับยึดหลักความไม่เสมอภาคและเหลื่อมล้ำลดหลั่นกัน โดยไม่สนใจเสรีภาพ
ความแตกต่างขัดแย้งขั้นหลักการดังกล่าวเป็นมูลฐานที่มาของวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับชาติ นิยมใน ๔ ขั้นตอน กล่าวคือ
๑) ขั้นการปฏิวัติชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๘
๒) ขั้นการปรับตัวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและราชาชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐
๓) ขั้นการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพีในคริสตศตวรรษที่ ๒๐
๔) ขั้นสถาบันกษัตริย์ในยุควัฒนธรรมสื่อทีวีมหาชนปัจจุบัน
๑) ขั้นการปฏิวัติชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๘
ความแตกต่างขัดแย้งในหลักการมูลฐานของลัทธิชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนำไปสู่การเผชิญ หน้าปะทะต่อสู้กันระหว่างขบวนการชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมใหญ่ ๆ ๓ ครั้งใน คริสตศตวรรษที่ ๑๘ - ต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ได้แก่:
(พระเจ้าจอร์จที่สามแห่งอังกฤษ, พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกแห่งฝรั่งเศส, พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่เจ็ดแห่งสเปน)
๑) การปฏิวัติอเมริกัน เพื่อกอบกู้อิสรภาพจากอังกฤษในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่สาม ค.ศ. ๑๗๗๖ à ระบอบสาธารณรัฐ ในอเมริกา
๒) การปฏิวัติฝรั่งเศส เพื่อโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก ค.ศ. ๑๗๘๙ à ระบอบ สาธารณรัฐในฝรั่งเศส
๓) การปฏิวัตินำโดยไซมอน โบลิวาร์ในนานาประเทศเมืองขึ้นในลาตินอเมริกาเพื่อกอบกู้อิสรภาพจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่เจ็ดแห่งสเปน ค.ศ. ๑๘๑๐ à ระบอบสาธารณรัฐในนานาประเทศลาตินอเมริกา (ยกเว้นบราซิลที่กู้อิสรภาพจาก โปรตุเกสและยังคงระบอบกษัตริย์ ไว้ต่อไป)
ครูเบ็นสรุปว่าผลของการปฏิวัติชาตินิยมรอบนี้คือ: “ในครั้งนั้นกษัตริย์สเปนก็สูญเสียจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ไพศาลของ พระองค์ในซีกโลกตะวันตกไปทั้งหมด, กษัตริย์อังกฤษสูญเสียบรรดาอาณานิคมที่มีผลิตภาพสูงสุดของพระองค์ไป ขณะที่ กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์”
น่าสังเกตว่า:
-ในคำบรรยายครั้งนี้ ครูเบ็นย้ำยืนยันข้อเสนอเชิงลัทธิแก้ทางประวัติศาสตร์ของแกที่ว่าลัทธิ/ขบวนการชาตินิยมปรากฏขึ้น เป็นครั้งแรกในโลกใหม่ที่ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้, ไม่ใช่ในโลกเก่าที่ยุโรป
-วิธีการจัดแบ่งประเภท “การปฏิวัติ” ของครูเบ็นมีอะไรแปลกเตะตาต่างจากปกติ กล่าวคือขณะที่การปฏิวัติอเมริกันและ การปฏิวัตินำโดยโบลิวาร์ในลาตินอเมริกาเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างปกติธรรมดาว่าเป็น “การปฏิวัติชาตินิยม”, แต่ การปฏิวัติฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ มักไม่ถูกมองเช่นนั้น กล่าวคือมักถือว่านี่เป็นแม่แบบของ “การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี” ต่างหาก, อย่างไรก็ตามจุดร่วมที่การปฏิวัติทั้ง ๓ ครั้งมีตรงกันคือต่างต่อสู้กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูร- ณาญาสิทธิราชย์
การที่ครูเบ็นจงใจจัดกลุ่มการปฏิวัติทั้ง ๓ ครั้งไว้ด้วยกันและพูดถึงมันไปพร้อมกันสะท้อนว่าในวิธีมองและตีความ ของครูเบ็น [ชาตินิยม กับ ประชาธิปไตยกระฎุมพี] มีอะไรที่เกี่ยวข้องคล้องจองไปด้วยกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยก็ ในหลักการพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์และอำนาจอธิปไตยของประชาชน
๒) ขั้นการปรับตัวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นอยู่ใต้ รัฐธรรมนูญและราชาชาตินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐
ในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ลัทธิชาตินิยมที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกใหม่ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้เมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ก็แพร่หลายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคเข้าไปในโลกเก่าทวีปยุโรป ก่อเกิดเป็นขบวนการกู้ชาติต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประกาศ อิสรภาพสถาปนารัฐชาติเอกราชของตัวเองมากมายหลายขบวนการตามฐานชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่มชน
เป้าโจมตีได้แก่ราชอาณาจักร/จักรวรรดิที่ประกอบไปด้วยหลายชาติพันธุ์หลายศาสนา อาทิ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่มี ชนชาติเยอรมัน, โรมาเนีย, อิตาเลียน, เชค, โครแอต, โปล, ฮังกาเรียน, ฯลฯ สังกัดอยู่, หรือแม้แต่สหราชอาณาจักรที่มีชน ชาติอังกฤษ, สก็อต, เวลช์, ไอริช สังกัดก็เฉกเช่นกัน ต่างเผชิญการเคลื่อนไหวปฏิวัติชาตินิยมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในที่ ต้องการรัฐชาติอิสระของตนเอง
(จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี)
กระแสชาตินิยมแห่งยุคสมัยที่บ่าไหลแรงยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมของนานาประเทศ ยุโรปกลายเป็นเหมือนตัวประหลาดต่างด้าวในยุคชาตินิยม, จักรพรรดิออสเตรียกลายเป็นคนต่างชาติสำหรับราษฎรชาว ฮังการีของพระองค์ และราชวงศ์ผู้ปกครองสหราชอาณาจักรก็เริ่มอึดอัดขัดเขินที่เอาเข้าจริงตนเป็นเชื้อสายเยอรมันจากพื้น ทวีป ไม่ใช่ชาวอังกฤษหรือชาติพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ บนเกาะ
สถาบันกษัตริย์แห่งระบอบเก่าของยุโรปจึงต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ใน ๒ แนวทาง ได้แก่:
๑) ลดอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ลงมา กลายเป็นเพียงระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด (จาก absolute monarchy สมบูรณาญาสิทธิราชย์ à limited monarchy ปริมิตาญาสิทธิราชย์) โดยยอมให้สถาบันกษัตริย์ขึ้นต่อและ อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง
๒) ปรับตัวสถาบันกษัตริย์เองให้กลายเป็นสังกัดชาติ (royal self-nationalization) หรือนัยหนึ่งสร้างลัทธิชาตินิยมราชการ (official nationalism) ขึ้นมา - หรือถ้าใช้ศัพท์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลก็คือ สร้างลัทธิราชาชาตินิยม (royal-nationalism) - นั่นเอง ดังที่ราชวงศ์ Saxe-Coburg and Gotha เชื้อสายเยอรมันที่ปกครองสหราชอาณาจักรตัดสิน พระทัยเปลี่ยนพระนามเป็นราชวงศ์ Windsor ซึ่งฟังอังกริ๊ดอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษรบกับ เยอรมนีอยู่โครม ๆ จะให้ราชวงศ์อังกฤษคงพระนามเยอรมันต่อไปก็ดูกระไรอยู่)
สาแหรกราชวงศ์ Saxe Coburg and Gotha ที่เปลี่ยนพระนามเป็น Windsor ของอังกฤษ
และกุศโลบายเดียวกันนั้นก็เป็นที่มาของพระราชดำริและพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรีของสยาม ไม่ว่าการจัดตั้งกองเสือป่า, การสถาปนา [ชาติ-ศาสนา-พระมหา กษัตริย์] ขึ้นเป็นสามสถาบันหลักของชาติในทำนอง God-King-and Country ของอังกฤษ, พระราชนิพนธ์เรื่อง ปลุกใจเสือป่า, ความเป็นชาติโดยแท้จริง, พวกยิวแห่งบูรพทิศ, เมืองไทยจงตื่นเถิด, เป็นต้น
(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและกองเสือป่า)
อย่างไรก็ตาม ครูเบ็นประเมินว่าแนวนโยบายการปรับตัวแบบที่สองของสถาบันกษัตริย์ทั้งหลายไม่ค่อยประสบความ สำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศของยุโรปพากันล่มสลายลงในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือ หลังจากนั้นไม่นาน (ได้แก่รัสเซีย, เยอรมนี, ออสเตรีย, จักรวรรดิอ๊อตโตมาน) ส่วนระบอบกษัตริย์จีนในสมัยราชวงศ์เช็ง ก็ล่มสลายไปก่อนหน้านั้นเสียอีกในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยฝีมือของพวกชาตินิยมใต้การนำของซุนยัตเซ็น
๓) ขั้นการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพีในคริสตศตวรรษที่ ๒๐
ทุกวันนี้ ประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ๑๕% เท่านั้นที่เป็นราชอาณาจักร, โดยมีประชากรรวมกันทั้งหมดไม่ถึงครึ่ง ของอินเดียประเทศเดียวด้วยซ้ำ, ประเทศไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนข้างน้อยนี้มีประชากรมากเป็นอันดับสองรอง จากญี่ปุ่น, และมีขนาดพื้นที่ใหญ่อันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย
ยิ่งกว่านั้น พลวัตการเมืองของราชอาณาจักรก็เปลี่ยนไป ในอดีตราชวงศ์เก่าที่เคยปกครองบ้านเมืองมาอาจเสื่อมถอย บุญญาบารมีเดชานุภาพลง แต่ไม่ช้าก็จะปรากฏผู้มีบุญญาธิการปราบดาภิเษกก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาปกครองจรรโลง แผ่นดินให้สุขสงบเจริญวัฒนาแทน วนเวียนไปอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร ดังที่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
แต่ท่ามกลางโลกแห่งลัทธิชาตินิยมและระบอบสาธารณรัฐปัจจุบัน ความเสื่อมถอยของราชวงศ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งอาจนำ ไปสู่การสิ้นสุดของราชอาณาจักรแล้วแทนที่ด้วยระบอบอื่นเลยก็เป็นได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรลาวและเนปาล เป็นต้น
ความตระหนักว่าราชอาณาจักรเป็นระเบียบการเมืองส่วนข้างน้อยที่ใกล้สูญพันธุ์ในโลกแห่งชาตินิยมและสาธารณรัฐนี้เอง เป็นที่มาของการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพี (bourgeoisification) หรือแบบคนชั้นกลาง เพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ยุโรปแล้วแผ่กระจายไปทั่วโลก
สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นตัวอย่างที่แสดงออกซึ่งการปรับตัวนี้อย่างเห็นได้ชัด ขอให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบดู ความเปลี่ยนแปลงของพระราชจริยวัตรในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ดกับพระเจ้าจอร์จที่ห้าดู
(พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ด, และพระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ)
ขณะพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ด (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๑๐) ทรงมีพระสนมและชู้รักมากมายก่ายกอง (เดากัน ว่าราว ๕๕ คน) ใช้จ่ายพระราชทรัพย์อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ไม่ทรงห่วงใยพระราชบุตรและธิดานัก ทรงพระเกษมสำราญ ยิ่งและไม่ทรงดำริว่ามี “พระราชภารกิจ” แต่ประการใดในฐานะกษัตริย์
แต่พระเจ้าจอร์จที่ห้า (ราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวอร์ที่เจ็ดและพระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สองปัจจุบัน ครอง ราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖) กลับทรงเพียรพยายามวางพระองค์ให้น่าเคารพนับถือแบบกระฎุมพีอังกฤษโดย พระราชสำนึก ไม่ทรงมีสนมหรือชู้รักใด ๆ ทรงเป็นพระราชบิดาที่เข้มงวดกวดขัน ส่งพระโอรสธิดาไปโรงเรียนร่วมกับ ลูกหลานชนชั้นสูงอังกฤษอื่น ๆ ทรงถือว่าพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระองค์ต้องทรงประกอบเป็น “พระราชภารกิจ” ที่ตั้ง พระราชหฤทัยทำอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ทรงสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเยี่ยงคนชั้นสูงอังกฤษแต่เดิม มาแต่ประการใด
(พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปดและนางซิมพ์สัน)
และเมื่อราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าจอร์จที่ห้า ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปด (ครอง ราชย์ ๒๐ มกราคม ถึง ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖) แล้วทรงแจ้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะ อภิเษกสมรสกับนางวอลลิส ซิมพ์สัน แม่หม้ายชาวอเมริกันที่หย่าร้างสามีมาแล้วถึงสองคน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ลงมติ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง และละเมิดกฎของศาสนจักรอังกฤษที่พระองค์เองเป็นประมุขโดย นาม ส่งผลให้พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปดทรงประกาศสละราชสมบัติเพื่อเข้าสู่พิธีสมรสกับนางซิมพ์สัน แล้วให้พระอนุชาขึ้น ครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าจอร์จที่หก (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๙๓๖ - ๑๙๕๒ เป็นพระราชบิดาของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง องค์ปัจจุบัน เรื่องราวของพระองค์ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเรื่อง The King’s Speech เมื่อปี ๒๐๑๐)
(พระราชินีวิลเฮลมินา, พระราชินีจูเลียนา, พระราชินีบีอาทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์)
การปรับแปรพระราชจริยวัตรของกษัตริย์จากแบบศักดินาเดิมให้เป็นแบบอุดมคติอันดีงามของกระฎุมพี (แบบพระเจ้า จอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ) นี้ได้รับการยึดถือเป็นแบบแผนแนวทางปฏิบัติของกษัตริย์ในยุโรปและทั่วโลกอย่างแพร่หลาย และ ยิ่งง่ายเข้าสะดวกขึ้นเป็นอย่างยิ่งหากพระราชินีทรงครองราชย์ ดังกรณีราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ที่มีพระราชินีในบัลลังค์ ต่อกันถึง ๓ พระองค์ ได้แก่ พระราชินีวิลเฮลมินา (ครองราชย์ ๑๘๙๐-๑๙๔๘) à พระราชินีจูเลียนา (ครองราชย์ ๑๙๔๘-๑๙๘๐) à พระราชินีบีอาทริกซ์ (ครองราชย์ ๑๙๘๐-๒๐๑๓ โดยเพิ่งสละราชสมบัติให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน กลางปีนี้)
กล่าวโดยเปรียบเทียบ สถาบันกษัตริย์ในโลกอิสลามไม่อาจรับแบบแผน bourgeoisification มาปฏิบัติได้เพราะขัดฝืนกับ ธรรมเนียมมุสลิมที่อนุญาตให้สามีมีภรรยาได้หลายคน, ส่วนสถาบันกษัตริย์ในเอเชียแม้จะประพฤติปฏิบัติหลักมีพระสนม มากมายมาแต่เดิม ซึ่งช่วยให้มีราชโอรสมากหลายเผื่อเลือกผู้เก่งกล้าปรีชาสามารถสูงเด่นกว่าในบรรดาพี่น้องขึ้นมาเป็น กษัตริย์ได้ แต่ก็ก่อปัญหาแย่งชิงราชสมบัติฆ่าฟันกันบ่อยครั้ง (ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์อย่างน้อย ๑๑ พระองค์ ที่ถูกแย่งราชสมบัติและปลงพระชนม์โดยพระเชษฐา/อนุชาต่างพระมารดาหรือพระปิตุลา) อีกทั้งก็น้อยมากที่ราชินีจะได้ ขึ้นครองราชย์ในเอเชีย ดังนั้นในที่สุดสถาบันกษัตริย์ในเอเชียก็ปรับรับแบบแผน bourgeoisification ทางวัฒนธรรมมา เช่นกัน
(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี)
ครูเบ็นชี้ว่าพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งโดดเด่นแปลกต่างจากบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าใน แง่ที่พระองค์ทรงเป็นพระราชบิดาแบบอย่าง, ทรงรักถนอมพระราชินีพระองค์เดียวแบบสมัยใหม่, ทรงส่งราชโอรส บุญธรรมและพระนัดดาไปเรียนโรงเรียนยุโรปร่วมกับลูกขุนนางและสามัญชนอื่น ๆ , ไม่ทรงประพฤติล้นล้ำก้ำเกินไม่ว่าใน เรื่องพระราชทรัพย์หรือพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ ฯลฯ สะท้อนว่าพระองค์นับเป็นพระมหากษัตริย์ “กระฎุมพี” สมัยใหม่ พระองค์แรกของสยามเลยทีเดียว
๔) ขั้นสถาบันกษัตริย์ในยุควัฒนธรรมสื่อทีวีมหาชนปัจจุบัน
การปรับตัวเป็นแบบกระฎุมพีของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผสมผสานทั้งความน่าเคารพนับถือ ตามอุดมคติคนชั้นกลาง เข้ากับพระราชพิธีหรูเลิศอลังการและพระบุญญาบารมี
และทั้งหมดนี้ต้องกระทำภายใต้ตาวิเศษที่คอยตามซูมส่องเป็นสับปะรดไม่คลาดคลายตลอดเวลาของสื่อมวลชนสมัยใหม่ (ตากล้อง paparazzi) เพื่อจะนำไปแพร่ภาพต่อทางทีวี (รวมไปถึงสื่อออนไลน์อย่างคลิปอินเทอร์เน็ตบน YouTube เป็น ต้น)
การที่กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ทั้งหลายจะต้องทำตัวและประคองตนให้มวลมหาชนคนดูชนชั้นกลางเห็นทางจอแก้วแล้วรู้สึกว่า “เออ ท่านก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา(กระฎุมพี)นี่นา”, แต่ขณะเดียวกันในระหว่างประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ “ท่านก็ศักดิ์สิทธิ์สง่าขรึมขลังเหนือสามัญชนคนธรรมดาอย่างเรา(กระฎุมพี)ราวเทพมาจุติ” ใต้ตากล้องทีวี ๒๔/๗ (24 hours a day, seven days a week) ในยุคที่ศรัทธาศาสนาเสื่อมโทรม พิธีกรรมทั้งหลายสื่อส่งนัยทางศาสนาได้เพียงเบา บาง แต่กลายเป็นมหรสพทางทีวีสำหรับผู้ชมและทัวริสต์มาห้อมล้อมรุมดูมากกว่านั้น มันยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด
ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่ทีวีหลากช่องหลายสถานีต่างเป็นธุรกิจขายภาพลักษณ์ที่แข่งกันแพร่ภาพไม่หยุด นำเสนอมหรสพ นานาชนิดไม่เฉพาะพระราชพิธี มันจึงสร้าง “ดารา/เซเล็บ” ขึ้นมาเป็นจุดขาย-สินค้าภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจผู้ชมให้ลุ่มหลง คลั่งไคล้ติดตามใกล้ชิด ไม่ว่านักร้อง นักแสดง นักกีฬา นักธุรกิจไฮโซ นางงาม ฯลฯ
ปัญหาจึงอาจเกิดหากฝ่ายต่าง ๆ ไม่จำแนกแยกแยะบทบาทฐานะออกจากกันให้ชัดเจน เพราะเนื้อหาแก่นแท้แตกต่างกัน กล่าวคือ:
ในขณะที่เซเล็บดำเนินชีวิตโลดแล่นอยู่บนจอแก้วจอเงินท่ามกลางข่าวคาวอื้อฉาวชั่วครู่ชั่วยามเดี๋ยวคนก็ลืมนั้น (ใครคือ คู่รักคนล่าสุดของมาดอนน่าล่ะ?)
สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากเจ้านายกลับเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีที่บำเพ็ญรักษาไว้อย่างยั่งยืนสถาพรชั่วพระชนมชีพ
(เจ้าหญิงไดอาน่า, และภาพขณะเธอพักผ่อนล่องเรือกับโดดี อัล-ฟาเยด ลูกชายเศรษฐีพันล้านชาวอียิปต์ ที่ตากล้อง paparazzi แอบถ่ายมา)
ในกรณีราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงไดอาน่าผู้วายชนม์นับเป็นตัวอย่างของความสับสนปนเปดังกล่าว คือแยกบทบาทฐานะ ของตัวเองไม่ออก และวางตนประหนึ่ง “เจ้าเซเล็บ” ทั้งที่เนื้อแท้และความคาดหวังที่ประชาชนคนดูมีต่อ ๒ บทบาท ๒ ฐานะนั้นต่างกัน อีกทั้งจุดเด่นของเจ้าหญิงไดอาน่าจะสวยหรือเก่งเป็นพิเศษกว่าดารานักแสดงนางงามอื่น ๆ ทั้งหมดก็หา มิได้ หากอยู่ตรงฐานะราชนิกุลของเธอซึ่งได้รับการคาดหวังจากประชาชนอีกแบบหนึ่งต่างจากดาราเซเล็บทั่วไป
เมื่อความคาดหวังดังกล่าวไม่สมหวังเนื่องจากความผันผวนในชีวิตรักและครอบครัวของเจ้าหญิงไดอาน่า สภาพก็เหมือน แก้วที่ปริร้าวแล้ว แต่เจ้าของก็ต้องใช้ต่อไป ไม่อาจทิ้งขว้างเหมือนเลิกดูเลิกนิยมดาราเซเล็บธรรมดาได้
อันนับเป็นโศกนาฏกรรมของผู้ครองตำแหน่งเจ้าหญิงคนนั้นที่สะท้านสะเทือนความมั่นคงของราชบัลลังค์อังกฤษทีเดียว
*หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรงในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ระหว่างวันที่ 25 ส.ค.-2 ก.ย.56