"อธิการบดี มธ.แจง ไม่มีกฎบังคับใส่ชุดนักศึกษา เตรียมเรียกตักเตือน นศ.ทำโปสเตอร์ต้านไม่เหมาะสม"
http://www.mcot.net/site/content?id=522b08b0150ba00e38000032#.UixgpURBlGF
"สัมภาษณ์ "อั้ม เนโกะ" ค้นความหมาย "4 ภาพ sex" เกี่ยวอะไรกับการต้าน "บังคับแต่งชุด นศ.มธ."
http://prachatai.com/journal/2013/09/48627
มองจากมุมรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัยก็เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบหนึ่ง
ในความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้น มีความเหลื่อมล้ำ (อำนาจแต่ละฝ่ายไม่เท่ากันและมีขอบเขตต่างกัน) ขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายก็มีพื้นที่สิทธิเฉพาะตนตามฐานะบทบาทที่มีอยู่ พื้นที่สิทธิแปลว่าเป็นเขตอัตวินิจฉัยปกครองตนเองตัดสินใจอิสระของบุคคลใน ฐานะบทบาทหนึ่ง ๆ ในพื้นที่สิทธินั้น อำนาจห้ามเข้ามาล่วงล้ำ ล่วงล้ำเมื่อไหร่เกิดเรื่อง
กรณีการบังคับให้แต่งเครื่องแบบนักศึกษาเข้าเรียนวิชาหนึ่งที่ตกเป็นข่าวก็ เป็นเรื่องทำนองนี้ คืออำนาจล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่สิทธิซึ่งไม่ใช่ธุระกงการอะไรของอำนาจ เมื่อบุคคล/กลุ่มบุคคลลุกขึ้นประท้วงปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ก็ชอบแล้วที่อำนาจจะถอยออกไป
ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และระหว่างพื้นที่สิทธิกับอำนาจบริหาร จะราบรื่นได้หากเข้าใจว่า
๑) ระเบียบที่มีอยู่ทั้งเป็นฐานให้ใช้อำนาจ และทั้งเป็นฐานคุ้มครองพื้นที่สิทธิ หรือพูดอีกอย่างเป็นหน้าที่ของอำนาจตามระเบียบของการอยู่ร่วมกันทำงานร่วม กันเป็นมหาวิทยาลัยที่จะต้องคุ้มครองปกป้องพื้นที่สิทธินั้นด้วย หากไม่ปกป้องสิทธิ อำนาจก็บกพร่องในหน้าที่ และในทางกลับกัน หากไม่มีอำนาจดำรงอยู่ ก็จะไม่มีกลไกป้องกันสิทธิเช่นกัน ภายใต้ระเบียบนี้ อำนาจบริหารกับพื้นที่สิทธิจึงกลายเป็นเงื่อนไขของกันและกัน และดำรงอยู่ด้วยกัน
๒) เหตุแห่งการมีอยู่คงอยู่ดำรงอยู่ของทั้งอำนาจและพื้นที่สิทธิก็เพื่อบรรลุ เป้าหมายร่วมกันของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นที่สุด เป้าหมายดังกล่าวไม่ควรคลาดหายจากสายตาเพราะในที่สุดมันเป็นตัวอธิบายให้ ความชอบธรรมและกำกับทั้งพื้นที่สิทธิและขอบเขตของอำนาจ
การใช้อำนาจเรียกให้มาชี้แจงหรือกระทั่งตั้งกรรมการสอบสวนไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหา เพราะมันหลอนใจว่าดูเหมือนกระทำซ้ำซากกับต้นตอบ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งแต่ต้น (คือการใช้อำนาจที่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่สิทธิของนักศึกษา) หากมีข้อกังวลห่วงใยเกี่ยวกับพฤติกรรมรูปแบบการเคลื่อนไหวประท้วงของนักศึกษาก็ชอบที่ผู้บริหาร คณาจารย์หรือนักศึกษาด้วยกันจะใช้สิทธิวิเคราะห์วิจารณ์ท้วงติงในพื้นที่สาธารณะเช่นกัน การให้ข้อคิดทักท้วงตักเตือนกันอย่างเสรีและฉันคนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน เพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ใช้ดุลพินิจถึงความเหมาะไม่เหมาะควรไม่ควรของการใช้สิทธิของตน ในลักษณะเห็นต่างกันได้ คุยกันได้ แนะนำกันได้ ฟังกันได้ และพอทนกันได้โดยไม่ต้องเห็นพ้องต้องกัน บนฐานเหตุผลข้อเท็จจริงน่าจะดีกับแนวทางการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่าง อำนาจกับพื้นที่สิทธิในมหาวิทยาลัยต่อไป
คำถามต่าง ๆ เช่น
- รูปแบบการแสดงออกสอดรับกับเนื้อหาที่ต้องการสื่อหรือไม่?
- หรือรูปแบบนั้นกลับฉีกดึงประเด็นและชักจูงความสนใจให้เบี่ยงเบนไขว้เขวไปจากเป้าที่ต้องการ/สารที่อยากสื่อ?
- การเลือกรูปแบบที่เหมาะกับเนื้อหาจำเป็นหรือไม่ หรือไม่จำเป็น?
- เมื่อใดอย่างไรรูปแบบจึงรับใช้เนื้อหาอย่างชัดเจนแม่นยำมีพลัง หรือเมื่อไหร่รูปแบบจึงสนองความสนใจและโน้มเอียงของผู้สื่อมากกว่าเนื้อหา?
ฯลฯลฯลฯ
คำถามเหล่านี้ถามกันได้และไม่แปลกที่จะถาม เห็นต่างกันได้และไม่แปลกที่จะเห็นต่าง เพราะพื้นที่สิทธิไม่ใช่พื้นที่อนาธิปไตย เหมือนกับที่อำนาจไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่โดยพลการ หากต้องมีเป้าหมายและความชอบธรรมกำกับรองรับ จึงจะอยู่กับพื้นที่สิทธิของฝ่ายต่าง ๆ ไปได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนและมีพลวัต