Skip to main content
 
โลกาภิวัตน์ทำให้คนในโลกเทียบเคียงใกล้ชิดกันขึ้นในมิติเวลาผ่านการสื่อสารรับรู้แทบจะทันควันพร้อมกันทั่วโลก (real time) แต่ในมิติสถานที่ ความแตกต่างหลากหลายของปัญหาขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองยังเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้ในสังคมประเทศเดียวกัน มิพักต้องพูดถึงนานาสังคมประเทศในโลก ดังที่ Doreen Massey นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อดังเรียกความหลากหลายของปัญหาและการต่อสู้แก้ไขที่เกาะเกี่ยวกับสถานที่เฉพาะทั้งหลายแหล่ว่า the politics of place https://itunes.apple.com/us/itunes-u/doreen-massey-space-place/id380231483
 
ประเด็นจึงอยู่ตรงตระหนักลักษณะและปัญหาเฉพาะของสถานที่ พร้อมกันนั้นก็ค้นคว้าวิเคราะห์เล็งเห็นความเชื่อมโยงของการเมืองอันหลากหลายของนานาสถานที่บนโลกในโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เพื่อผลักดันประเด็นการเมืองของแต่ละสถานที่ให้ไปพ้นสถานที่เฉพาะของตน ดังที่ Massey เรียกว่า the politics of place beyond place
 
ขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งเห็นแตกต่างขัดแย้งกับอาจารย์และผู้บริหารเรื่องการบังคับแต่งชุดนักศึกษา
 
นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาสารคามกลุ่มหนึ่งก็เห็นแตกต่างขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการจัดประชาพิจารณ์เหมืองทองซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวบ้านในจังหวัดเลย
 
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นแตกต่างขัดแย้งกับรัฐบาลโอบามาเรื่องการดำเนินสงครามโจมตีซีเรียเพื่อลงโทษรัฐบาลอัสซาดฐานใช้อาวุธเคมีต่อประชาชนตนเอง ทั้งที่การสอบสวนโดยสหประชาชาติยังไม่สรุปผลชัดเจน
 
และชาวโลกจำนวนมากก็เห็นแตกต่างขัดแย้งกับรัฐบาลนานาประเทศเรื่องมาตรการเศรษฐกิจที่ต้องเร่งทำเพื่อยุติความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่กำลังสายเกินการณ์เข้าไปทุกที
 
ในระดับมหาวิทยลัย, ชุมชน, ระหว่างประเทศ, และลูกโลก ประเด็นแตกต่างขัดแย้งย่อมต่างกันไป ส่งผลสะเทือนกว้างไกลลึกซึ้งไม่เท่ากัน สำคัญในขอบเขตต่างกัน อันเป็นธรรมดาของ “การเมืองเรื่องสถานที่” 
 
ถ้าจะบอกว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ควรรณรงค์เรื่อง “เล็กแคบจำกัดเฉพาะ” อย่างการบังคับใส่เครื่องแบบ, ก็อาจบอกได้เช่นกันว่านักศึกษาขอนแก่นไม่ควรรณรงค์แค่เรื่อง “เล็กแคบจำกัดเฉพาะ” อย่างผลกระทบเหมืองทองและกระบวนการประชาพิจารณ์ที่รวบรัดคัดออก, บอกได้อีกเช่นกันว่าชาวอเมริกันไม่ควรรณรงค์เรื่อง “เล็กแคบจำกัดเฉพาะ” อย่างการคัดค้านสงครามโจมตีซีเรีย, และทุกผู้ทุกคนทุกที่ของโลกควรหยุดทุกอย่างที่ “เล็กแคบจำกัดเฉพาะ” หันมารณรงค์แต่เรื่องหยุดโลกร้อน ซึ่งกระทบคนทั้งโลกและก่อหายนะภัยต่อดาวเคราะห์โลกทั้งใบ
 
อย่างนั้นหรือ?
 
ในโลกซังกะบ๊วยแบบที่เราอยู่ปัจจุบัน มีการรณรงค์ที่สำคัญกว่าที่เราทำในเงื่อนไขสถานที่ที่เราอยู่เสมอ ประเด็นจึงไม่ใช่หยุดหรือสละการต่อสู้เฉพาะที่เพื่อเห็นแก่เรื่องสำคัญ/ใหญ่กว่า แต่คือฟังกัน เห็นอกเห็นใจกัน เคารพกัน ขยายสร้างความเข้าใจเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ให้แก่กัน หาทางหนุนช่วยเชื่อมโยงกันบนฐานความเข้าใจจุดร่วมและความเชื่อมโยงที่มีอยู่จริงของปัญหาซึ่งกันและกัน
 
แทนที่จะไม่ฟังกัน ปรักปรำกัน ดูหมิ่นดูแคลนกัน อิจฉาริษยากัน รังเกียจเดียดฉันท์กัน เพิ่มความไม่เข้าใจให้แก่กัน โดดเดี่ยวออกจากกัน ให้โลกที่ซังกะบ๊วยอยู่แล้ว ยิ่งซังกะบ๊วยหนักเข้าไปอีก
 
ที่เราเรียนหนังสือกันมา ก็เพื่อมองโลกเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกว้างขึ้น ไม่ใช่แคบลง, คิดถึงคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลงไม่ใช่หรือ?

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
เหนืออำนาจรัฐ ยังมีอำนาจทุน: อองซานซูจี วีรสตรีผู้ยืนหยัดต้านอำนาจรัฐเผด็จการทหารพม่า อ่อนข้อให้อำนาจทุนจีน
เกษียร เตชะพีระ
...ในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้..
เกษียร เตชะพีระ
ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ กองทัพแก้ไม่ได้ เพราะโดยเนื้อแท้มันไม่ใช่ปัญหาการทหาร แต่เป็นปัญหาการเมือง ในที่สุดการแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนภาคใต้นี้ต้องทำโดยรัฐบาล
เกษียร เตชะพีระ
...ก้าวต่อไปที่น่าจะเป็นของงานการเมืองฝ่ายรัฐบาลคือการรุกด้วยข้อเสนอรูปธรรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้สิทธิอำนาจตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการบริหารท้องถิ่นตนเองมากขึ้น ข้อเสนอนี้จะเป็นตัวช่วงชิงชนะใจมวลชน และกดดันปีกการทหารของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบให้ยอมรับทางออกทางการเมืองในที่สุด... 
เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
ฝ่ายซ้ายมองสฤษดิ์เห็นเป็น "นัสเซอร์" ส่วนฝ่ายขวามองสฤษดิ์เห็นเป็น "เดอโกล" ส่วนสฤษดิ์นั้นเอาเข้าจริงเห็นตัวเองเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" กวาดล้างขุดรากถอนโคนมรดกการปฏิวัติ 2475 ทั้งทางสัญลักษณ์และโครงสร้างกฎหมาย เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตยแบบไทย " โดยอิงอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์
เกษียร เตชะพีระ
เรื่องให้ฝ่ายรัฐควักเงินหลวงมาจ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นไปไม่ได้ ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ไม่มีเยี่ยงอย่างที่ไหนในโลกทำกันครับ
เกษียร เตชะพีระ
มาตรา ๑๗๑ วรรคสี่ ของ รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันคนอย่างทักษิณ สะท้อนความหวาดระแวง - ไม่ไว้วางใจที่คณะผู้ร่าง รธน.ที่มีต่อตัวอดีตนายกฯทักษิณ และ เสียงข้างมากในสภาและเสียงสนับสนุนของประชาชนอีกชั้นหนึ่งเช่นกัน
เกษียร เตชะพีระ
ถึงปี ๒๐๓๐ สหรัฐฯจะไม่ได้เป็นอภิมหาอำนาจแบบที่เห็นอยู่ปัจจุบันอีกต่อไป, เศรษฐกิจจีนจะใหญ่ที่สุดในโลกและจะเติบโตไปแบบนั้นได้ต้องแก้ปัญหาใหญ่ ๒ อย่างใหญ่ ๆ จีนพึ่งพาทรัพยากรเข้มข้นในการเติบโต และทรัพยากรที่ว่ากำลังร่อยหรอ สังคมจีนกำลังชราภาพลงโดยเฉลี่ยอย่างรวดเร็ว, บทบาทของสหรัฐฯจะปรับเปลี่ยนเพราะโลกและนานาชาติคาดหวังให้สหรัฐฯทำตัวเป็นผู้บริหารจัดการจัดตั้งไกล่เกลี่ยหาทางออกข้อตกลงยุติความขัดแย้งรุนแรง
เกษียร เตชะพีระ
ความยุติธรรมที่ผู้มาทีหลังควรได้ร่วมบริโภคและยกระดับมาตรฐานการครองชีพดีขึ้นอย่างเท่าเทียม, กโลบายกระตุ้นเศรษฐกิจและอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์, ขีดจำกัดทางสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและชีวิตเมืองของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล