Skip to main content

เหนืออำนาจรัฐ ยังมีอำนาจทุน: อองซานซูจี วีรสตรีผู้ยืนหยัดต้านอำนาจรัฐเผด็จการทหารพม่า อ่อนข้อให้อำนาจทุนจีน

Kasian Tejapira (14/03/56)


เหมืองทองแดงเล็ตปาดวง ณ เมืองโมนีวา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเครือบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings ของกองทัพพม่า กับ บริษัทหวันเป่าของจีน มูลค่า ๙๙๗ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โครงการดังกล่าวก่อปัญหาสารพัดแก่ชาวบ้านตั้งแต่ลงนามสัญญากัน (พ.ค.๒๐๑๐) โดยไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภาเพราะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร, มีการริบที่ดินชาวบ้านขนานใหญ่ไปใช้เตรียมขยายเหมืองดื้อ ๆ, จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม, ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมาก


ชาวบ้านและพระสงฆ์ในพื้นที่จึงรวมตัวประท้วงยึดบริเวณเหมืองยืดเยื้อเพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมืองนาน ๑๑ วันเมื่อปลายปีก่อน สุดท้ายตำรวจพม่าลุยปราบกลางดึกเมื่อ ๒๙ พ.ย. ศกก่อน มีผู้บาดเจ็บทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์เข้าโรงพยาบาลกว่าร้อยคนในนี้รวมทั้งพระ ๙๙ รูป หลายคนมีรอยแผลลวกไหม้ด้วย เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้อาวุธเคมีเล่นงานผู้ชุมนุม แต่มาปรากฏภายหลังว่ามีการใช้ระเบิดควันฟอสฟอรัสขาวด้วย (ตำรวจอ้างว่าเคยใช้เล่นงานม็อบพระสงฆ์พม่าเมื่อปี ๒๐๐๗ มาแล้ว ไม่เห็นมีใครถูกไหม้อะไรนี่นา...)

ประธานาธิบดีเต็งเส่งจึงสั่งตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาขึ้นสอบสวนเรื่องนี้โดยให้อองซานซูจีเป็นประธาน คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้สรุปและเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าโครงการเหมืองทองแดงไม่มีมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรง อีกทั้งไม่สร้างงานให้ชาวบ้านท้องถิ่น แต่ก็เสนอแนะให้เปิดเหมืองดำเนินโครงการต่อเพื่อรักษาสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีและไว้วางใจกันได้กับจีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและส่งเสริมการลงทุนต่างชาติซึ่งพม่าต้องการมาก

รายงานไม่ได้ระบุให้เอาผิดหรือดำเนินมาตรการใดกับเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้ปราบปรามการชุมนุมด้วย เพียงแต่เสนอแนะให้ทางการฝึกอบรมการปราบจลาจลที่ถูกวิธีแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, จ่ายค่าชดเชยที่ดินเพิ่มเติมแก่ชาวบ้านโดยยึดราคาตลาดปัจจุบัน, คืนที่ดินเพาะปลูกเกือบ ๒,๐๐๐ เอเคอร์ให้ชาวบ้าน, และตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่ายเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้

อองซานซูจีได้เดินสายชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการให้ชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านในพื้นที่เหมือง แต่บรรดานักเคลื่อนไหวและชาวบ้านจำนวนมากไม่พอใจข้อสรุปเสนอแนะในรายงานของคณะกรรมาธิการนี้และเรียกร้องให้ปิดเหมืองต่อไป
 


ผมมีส่วนที่เห็นใจเธออยู่ว่ามันไม่ง่าย ในโลกการเมืองแบบที่เป็นอยู่นี้ มันมีการแลกเปลี่ยนที่คุณต้องจ่ายไป ยังไม่ต้องพูดถึงโจทย์ทำนองเดียวกันอีกมากที่จะตามมา (AEC, ทุนไทยและนานาชาติที่เตรียมแห่เข้าไปเหยียบย่ำชาวบ้านและชนชาติส่วนน้อยแถวทวาย ฯลฯ) แต่ถ้าเธอถอยแต่ต้น ชาวบ้านก็คงหวังการนำจาก NLD ยาก คือการผิดหวัง (disillusionment) กับประชาธิปไตยภายใต้อำนาจทุนโลกาภิวัตน์มันต้องเกิดขึ้นแน่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อ่ะครับ อย่างที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้หลังล้มระบอบ Aprtheid และที่อื่น ๆ แต่คุณจะเหลือ "พื้นที่" ให้เขายืนสู้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีแฟร์ ๆ ได้แค่ไหน? อันนี้สำคัญ คุณให้โลกไร้ทุน อำนาจชาวบ้านเป็นใหญ่ในแผ่นดินกับเขาไม่ได้หรอก ใคร ๆ ก็รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณควรให้โอกาสที่เขาจะสู้เองอย่างสันติและแฟร์และเสรีและมีสิทธิพอสมควร อันนี้ผมคิดว่าไม่ควรถอย การประนีประนอมของซูจีหนนี้มากไป โดยเฉพาะไม่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่เลยเนี่ย มันไม่ไหว จะให้ชาวบ้านเขาสู้เวทีไหนได้บ้างล่ะครับ? ต้องมีเวทีให้เขาต่อรองบ้าง ไม่ใช่ไม่ปิดเหมือง แล้วไม่เหลือเวทีช่องทางต่อรองหลังจากนั้นแก่ชาวบ้านเลย แบบนี้ก็ผลักเขาลงถนนอีกเท่านั้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Aung San Suu Kyi support for copper mine outrages Burmese activists
Aung San Suu Kyi faces protesters at copper mine

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง