Skip to main content

เหนืออำนาจรัฐ ยังมีอำนาจทุน: อองซานซูจี วีรสตรีผู้ยืนหยัดต้านอำนาจรัฐเผด็จการทหารพม่า อ่อนข้อให้อำนาจทุนจีน

Kasian Tejapira (14/03/56)


เหมืองทองแดงเล็ตปาดวง ณ เมืองโมนีวา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเครือบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings ของกองทัพพม่า กับ บริษัทหวันเป่าของจีน มูลค่า ๙๙๗ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โครงการดังกล่าวก่อปัญหาสารพัดแก่ชาวบ้านตั้งแต่ลงนามสัญญากัน (พ.ค.๒๐๑๐) โดยไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภาเพราะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร, มีการริบที่ดินชาวบ้านขนานใหญ่ไปใช้เตรียมขยายเหมืองดื้อ ๆ, จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม, ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมาก


ชาวบ้านและพระสงฆ์ในพื้นที่จึงรวมตัวประท้วงยึดบริเวณเหมืองยืดเยื้อเพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมืองนาน ๑๑ วันเมื่อปลายปีก่อน สุดท้ายตำรวจพม่าลุยปราบกลางดึกเมื่อ ๒๙ พ.ย. ศกก่อน มีผู้บาดเจ็บทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์เข้าโรงพยาบาลกว่าร้อยคนในนี้รวมทั้งพระ ๙๙ รูป หลายคนมีรอยแผลลวกไหม้ด้วย เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้อาวุธเคมีเล่นงานผู้ชุมนุม แต่มาปรากฏภายหลังว่ามีการใช้ระเบิดควันฟอสฟอรัสขาวด้วย (ตำรวจอ้างว่าเคยใช้เล่นงานม็อบพระสงฆ์พม่าเมื่อปี ๒๐๐๗ มาแล้ว ไม่เห็นมีใครถูกไหม้อะไรนี่นา...)

ประธานาธิบดีเต็งเส่งจึงสั่งตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาขึ้นสอบสวนเรื่องนี้โดยให้อองซานซูจีเป็นประธาน คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้สรุปและเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าโครงการเหมืองทองแดงไม่มีมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรง อีกทั้งไม่สร้างงานให้ชาวบ้านท้องถิ่น แต่ก็เสนอแนะให้เปิดเหมืองดำเนินโครงการต่อเพื่อรักษาสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีและไว้วางใจกันได้กับจีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและส่งเสริมการลงทุนต่างชาติซึ่งพม่าต้องการมาก

รายงานไม่ได้ระบุให้เอาผิดหรือดำเนินมาตรการใดกับเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้ปราบปรามการชุมนุมด้วย เพียงแต่เสนอแนะให้ทางการฝึกอบรมการปราบจลาจลที่ถูกวิธีแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, จ่ายค่าชดเชยที่ดินเพิ่มเติมแก่ชาวบ้านโดยยึดราคาตลาดปัจจุบัน, คืนที่ดินเพาะปลูกเกือบ ๒,๐๐๐ เอเคอร์ให้ชาวบ้าน, และตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่ายเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้

อองซานซูจีได้เดินสายชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการให้ชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านในพื้นที่เหมือง แต่บรรดานักเคลื่อนไหวและชาวบ้านจำนวนมากไม่พอใจข้อสรุปเสนอแนะในรายงานของคณะกรรมาธิการนี้และเรียกร้องให้ปิดเหมืองต่อไป
 


ผมมีส่วนที่เห็นใจเธออยู่ว่ามันไม่ง่าย ในโลกการเมืองแบบที่เป็นอยู่นี้ มันมีการแลกเปลี่ยนที่คุณต้องจ่ายไป ยังไม่ต้องพูดถึงโจทย์ทำนองเดียวกันอีกมากที่จะตามมา (AEC, ทุนไทยและนานาชาติที่เตรียมแห่เข้าไปเหยียบย่ำชาวบ้านและชนชาติส่วนน้อยแถวทวาย ฯลฯ) แต่ถ้าเธอถอยแต่ต้น ชาวบ้านก็คงหวังการนำจาก NLD ยาก คือการผิดหวัง (disillusionment) กับประชาธิปไตยภายใต้อำนาจทุนโลกาภิวัตน์มันต้องเกิดขึ้นแน่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อ่ะครับ อย่างที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้หลังล้มระบอบ Aprtheid และที่อื่น ๆ แต่คุณจะเหลือ "พื้นที่" ให้เขายืนสู้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีแฟร์ ๆ ได้แค่ไหน? อันนี้สำคัญ คุณให้โลกไร้ทุน อำนาจชาวบ้านเป็นใหญ่ในแผ่นดินกับเขาไม่ได้หรอก ใคร ๆ ก็รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณควรให้โอกาสที่เขาจะสู้เองอย่างสันติและแฟร์และเสรีและมีสิทธิพอสมควร อันนี้ผมคิดว่าไม่ควรถอย การประนีประนอมของซูจีหนนี้มากไป โดยเฉพาะไม่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่เลยเนี่ย มันไม่ไหว จะให้ชาวบ้านเขาสู้เวทีไหนได้บ้างล่ะครับ? ต้องมีเวทีให้เขาต่อรองบ้าง ไม่ใช่ไม่ปิดเหมือง แล้วไม่เหลือเวทีช่องทางต่อรองหลังจากนั้นแก่ชาวบ้านเลย แบบนี้ก็ผลักเขาลงถนนอีกเท่านั้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Aung San Suu Kyi support for copper mine outrages Burmese activists
Aung San Suu Kyi faces protesters at copper mine

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
บทกวีไว้อาลัยการจากไปของ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ที่ถูกยิงเสียชีวิตวันนี้ "เมื่อกวีจากไปไร้กวี.."
เกษียร เตชะพีระ
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้ คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้ ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร
เกษียร เตชะพีระ
พลังฮึกห้าวเหิมหาญของม็อบและขบวนการใดที่ก่อตัวขึ้นโดยกัดกร่อนบ่อนทำลายเหล่าสถาบันการเมืองของชาติให้เสื่อมทรุดถดถอยราบคาบลงไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา มีแต่พลังทำลาย ผลได้ของการเคลื่อนไหว ไม่ยั่งยืน เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็จะพบว่ามีแต่ซากปรักหักพังแห่งสถาบันการเมืองของชาติทั้งชาติ โดยไม่ได้ดอกผลการต่อสู้อะไรจริงจังยั่งยืนขึ้นมาเลย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อสังเกตหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างและปรับปรุงระบบลอจิสติกส์ของประเทศใหม่ ผิดรัฐธรรมนูญ
เกษียร เตชะพีระ
ผมอ่านข้อเสนอที่นายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแถลงล่าสุดแล้ว มีความเห็นว่ามัน "ไม่เป็นกลาง" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้...
เกษียร เตชะพีระ
วิธีการที่ผิด ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้ และคนอื่นเป็นเจ้าของประเทศไทยเหมือนกันเท่ากับผมและคุณ เท่ากันเป๊ะ