Skip to main content
 
เกษียร เตชะพีระ
 
พูดอย่างย่นย่อที่สุด ปมปัญหาว่าด้วย “รัฏฐาธิปัตย์” ไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาคือช่วงตกห่างระหว่าง “รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล” (effective sovereign อันได้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้จริงในช่วงจังหวะสถานการณ์หนึ่ง ๆ) กับ “รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม” (legitimate sovereign อันได้แก่ปวงชนชาวไทย), เงื่อนไขของช่วงตกห่างดังกล่าวคือจินตนากรรมเรื่องชาติ, ทำให้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัฏฐาธิปัตย์ไทยเต็มไปด้วยการทำให้เงียบ, การพูดแทน, การเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน
 
การประกาศตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของคุณสุเทพ ณ กปปส. (in all seriousness but may turn out to be merely เชิญยิ้ม.....อันที่จริงก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการประกาศตัวยึดอำนาจ อวดอ้างแสดงตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ “เชิญยิ้ม” ของพลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ณ กปท. กลางถนนราชดำเนินมาแล้ว) เกิดขึ้นก็ด้วยเงื่อนไขเชิงประวัติศาสตร์และโครงสร้างข้างต้นนี้
 
กล่าวในทางหลักการ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ก็เปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของจากพระมหากษัตริย์เป็นปวงชนชาวไทยแล้ว และไม่อาจหวนกลับไปอีกในเชิงโครงสร้างทางการอย่างยาวนาน 
 
ปัญหาของผู้เคยเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบเดิม (ancien regime) จึงเป็นว่าจะบริหารจัดการการที่อำนาจอธิปไตยหลุดมือสูญเสียไปแล้วอย่างไร จึงจะปกป้องรักษาพื้นที่อำนาจและผลประโยชน์สำคัญยิ่งของตนและเครือข่ายไว้ได้ภายใต้ระบอบใหม่ซึ่งอำนาจอธิปไตยตกเป็นของ “คนแปลกหน้า” นอกแวดวงโครงสร้างอำนาจเดิม?
 
คำตอบที่ค้นพบในประวัติศาสตร์คือการโต้อภิวัฒน์ทางการเมืองวัฒนธรรมเพื่อสถาปนาพระราชอำนาจนำขึ้นทดแทนอำนาจอธิปไตยที่สูญเสียไป (A cultural political counter-revolution to establish royal hegemony in lieu of the lost sovereign power) ซึ่งมาปรากฏเป็นจริงในช่วงสมัยรัชกาลปัจจุบันโดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมา (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลแย้งว่าเป็นจริงในช่วงพุทธทศวรรษที่ ๒๕๓๐) โดยเฉพาะหลังขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท.ล่มสลาย, กองทัพกลายเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, และคนชั้นกลางกระฎุมพีกำพร้าไร้รากพบผู้ให้กำเนิดทางการเมืองวัฒนธรรมของตนในราชาชาตินิยม
 
พูดในภาษา Ben Anderson ช่วงตกห่างระหว่าง effective sovereign vs. legitimate sovereign เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์หลัง ๒๔๗๕ คือหลุดจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไปไม่ถึงรัฐชาติประชาธิปไตยสมัยใหม่จริง ค้างเติ่งอยู่แค่ระบอบรัฐราชการหรืออำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) เนื่องจากการขาดหายไปของขบวนการชาตินิยมของประชาชน (popular nationalism) ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นตัวตนจริงขึ้นมาในการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ Ben เห็นว่าคือ “การปฏิวัติกระฎุมพี ค.ศ. ๑๗๘๙ ของไทย” 
 
อะไรคือปัญหา “ชาติ” กับ ๔๐ ปีของการถูกทำให้เงียบ, พูดแทนและเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบ?
 
มีปัญหาความสัมพันธ์อันยอกย้อนซับซ้อนอยู่ระหว่าง “ชาติ” กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน/ประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องอธิบายสักเล็กน้อย
 
ในโลกการเมืองสมัยใหม่ ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยย่อมไม่ใช่ประชาชนอะไรที่ไหนก็ได้ แต่ต้องมีหน่วยชุมชนการเมืองที่สังกัด มีพรมแดนรั้วรอบขอบชิดว่า “ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย” เริ่มที่ไหน, สิ้นสุดที่ไหน, นับใครบ้าง, ไม่นับใครบ้าง? ซึ่งหน่วยสังกัดที่เป็นพื้นฐานของระบบรัฐสมัยใหม่ทั่วโลกก็คือ “ชาติ” หรือ “รัฐชาติ” 
 
แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่ว่าในหน่วยชุมชนรวมหมู่ใหญ่กว่าหมู่บ้านที่พบปะสัมพันธ์รู้จักหน้าค่าตาทั่วถึงกันหมดขึ้นมา การรวมตัวเป็นชุมชนต้องผ่านจินตนากรรม ชาติเอาเข้าจริงจึงเป็นชุมชนในจินตนากรรม (Ben Anderson - nations as imagined communities) ตรงนี้เปิดช่องโหว่ช่องว่างหรือพื้นที่ในการขยับหมากเคลื่อนไหวให้สามารถจินตนากรรม “ชาติ” ไปได้ต่าง ๆ นานาในลักษณะที่มันหลุดลอย กีดกัน ผลักไสประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไปอยู่ชายขอบได้
ที่สำคัญคือการจินตนากรรมชุมชนชาติไทยแบบที่อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริเรียกว่า “เสนาชาตินิยม-อำมาตยาชาตินิยม” กล่าวคือทหารและข้าราชการอ้างตนเป็นตัวแทน “ชาติ” เข้าเคลมอำนาจอธิปไตยโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน หากผ่านการปฏิวัติรัฐประหารแทน โดยอธิบายว่า “ชาติ” ที่ตนเป็นตัวแทนนั้นกว้างไกลออกไปกว่า “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน” เพราะ “ชาติ” ย่อมต้องจินตนากรรมกว้างรับนับรวมเอา “บรรพบุรุษไทยในอดีต” (ผีไทยที่ตายไปแล้ว) และ “คนไทยในอนาคต” ”(วิญญาณไทยที่จะมาจุติ) เข้าไว้ด้วย จากนั้นก็อ้างผีและวิญญาณไทยเบียดขับผลักไสกีดกัน “คนไทยผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตในปัจจุบัน” ไปอยู่ชายขอบของอำนาจอธิปไตย
 
ส่วน “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย” ดังข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล (สรุปรวมความคือ ร.๕ ราชากู้ชาติ + ร.๗ กษัตริย์ประชาธิปไตย = ร.๙ พระผู้ทรงกู้ชาติจากคอมมิวนิสต์และทุนโลกาภิวัตน์ อีกทั้งทรงรักษาประชาธิปไตยจากเผด็จการฝ่ายซ้ายและขวา) ก็ทำให้ประชาชนซึ่งกว้างใหญ่หลากหลายคลุมเครือสามารถสำนึกสำเหนียกหมายอัตตา “ชาติไทย-ความเป็นไทย” รวมหมู่ของตนได้ง่ายขึ้นผ่านบุคลาทิษฐานซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขรัฐและสัญลักษณ์แห่งชาติในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน
 
ความคลุมเครือเรื้อรังของ “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย” ระหว่างผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับผู้ใช้อำนาจแทน (แสดงออกในมาตราหลักของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยว่ามันเป็น “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ปวงชนชาวไทยกันแน่?.....ซึ่งนำไปสู้ข้อตีความพิสดารของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนถือครองอำนาจอธิปไตยคู่กันในภาวะปกติ และพระมหากษัตริย์ถือครองอำนาจอธิปไตยฝ่ายเดียวในภาวะรัฐประหาร) ประการหนึ่ง, เมื่อกอปรกับการตีความ “ชาติ” กว้างไกลไปกว่า “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งปัจจุบัน” ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอีกประการหนึ่ง, ก็ทำให้เป็นไปได้ที่จะจินตนากรรม “ชาติ” ในลักษณะกีดกันผลักไสให้หลุดลอยออกไปจากประชาชน
 
ประชาชนที่จินตนากรรมตัวเองเป็นชาติเดียวกันหรือ “ประชาชาติ” จะออกเสียงแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองการปกครองของตนให้ปรากฏได้ยินได้ฟังกับหูกับตาอย่างไร? นี่เป็นปัญหาปรัชญาการเมืองคลาสสิกที่ทำให้มหาชนรัฐ “ประชาธิปไตยทางตรง” ของรุสโซในหนังสือสัญญาประชาคมมีขีดจำกัดทางขนาดในโลกปัจจุบัน ทางเลือกมีไม่มากที่เราจะได้ยินเสียงนั้น กล่าวคือ 
 
๑) ประชุมคน ๖๔.๘ ล้านคนพร้อมเพรียงกันในที่ประชุมมโหฬารสักแห่ง เปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางทั่วถึง แล้วลงมติ.... ความเป็นไปไม่ได้ของการณ์นี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัด แม้จะคิดถึงการใช้ IT, Computers, IPad, Wifi, 3G, 4G มาช่วย digital democracy ก็ตาม 
 
๒) สำรวจ poll สารพัดสำนักซึ่งเราก็ทำกันสม่ำเสมอ แต่ก็นั่นแหละ มันจะถูกทักท้วงได้เสมอว่าผล poll ที่ได้แทนตนมติมหาชนที่แท้จริงได้เที่ยงตรงเที่ยงแท้เพียงใด?
 
๓) หันไปใช้ “ประชาธิปไตยแบบแทนตน” ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป
ในความหมายนี้ “การเลือกตั้ง” จึงทำหน้าที่สำคัญน่าพิศวงในชุมชนชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน) เป็นช่องทางเปล่งเสียงของประชาชนให้ได้ยินออกมา มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ยินได้ฟังกัน กล่าวคือ....
 
เมื่อพวกเราประชาชนพลเมืองแต่ละคนแสดงตนเข้าไปโหวตในคูหาเลือกตั้งนั้น เอกลักษณ์หลากหลายนานัปการของเราไม่ว่าเพศ, ชาติพันธุ์, อายุ, ศาสนา, อุดมการณ์การเมือง, สมาชิกภาพพรรคการเมือง, ระดับการศึกษา, รสนิยมทางอาหาร, แฟชั่นการแต่งกาย, เชียร์ทีมฟุตบอลใด, แฟนคลับนักร้องดาราคนไหน ฯลฯ (เท่าที่เข้าเกณฑ์พื้นฐานเช่นอายุถึง ๑๘ ปี, ไม่ได้ติดคุกอยู่, ไม่ได้เป็นนักบวช, ไม่ได้วิกลจริตฟั่นเฟือน ฯลฯ) ไม่เกี่ยวข้องสำคัญเลย ไม่ถูกนึกถึงและนับเข้ามารวมเลย เราได้เข้าไปโหวตเพียงเพราะคุณสมบัติประการเดียวคือเราเป็นพลเมืองของรัฐชาติไทยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และเราแต่ละคนได้โหวตก็เพียงเพราะเหตุนั้นมันเหมือนเป็นการถอดประกอบเอกลักษณ์ทุกอย่างออกหมดจนแทบเปล่าเปลือย เหลือแต่เพียง “ความเป็นพลเมืองไทย” ไม่เลือกหน้าด้วน ๆ (individuals) เท่านั้นเอง และเราก็ถูกสมมุติคาดหมายให้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยสถานภาพโดด ๆ นั้น
 
แน่นอน ในทางเป็นจริง เราพกพาเอาเอกลักษณ์อันซับซ้อนหลากหลายของเราเข้าคูหาไปโหวตด้วยทั้งหมดนั่นแหละ และเราก็เลือกตั้งผู้แทนของเราด้วยข้อพินิจคำนึงประกอบจากอคติประดามีทั้งหมดนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พอเราโหวตในฐานะ individual citizens พรั่งพร้อมด้วยอคติจากเอกลักษณ์ประดามีของเรา พอมันหลุดผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเข้าไปคละเคล้าผสมปนเปกับบัตรเลือกตั้งแสดงเจตจำนงของเพื่อนพลเมืองปัจเจกคนอื่นทั้งหมด แล้วนับคะแนนรวม ผู้แทนที่ได้ชัยชนะเสียงข้างมากเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราและกลายเป็นผลลัพธ์บั้นปลายของการโหวตรวมหมู่ของเรา กลับไม่ใช่ตัวแทนของเราแต่ละคนเลย เราเคลมเขาเป็นของเราคนเดียวหรือแม้แต่เขตเลือกตั้งเดียวจังหวัดเดียวไม่ได้เลยในทางหลักการ พวกเขากลายเป็นตัวแทนของ “ชาติ” ไปเสียฉิบ และถูกคาดหมายให้ออกเสียงลงมติใช้อำนาจอธิปไตยที่เรามอบหมายไปเพื่อประโยชน์ของชาติ ในนามของชาติ เป็นตัวแทนชาติ
 
นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่า somehow ในท่อที่ผ่านจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไปสู่การนับคะแนนทั้งหมดรวมกัน แล้วประกาศผลนั้น “ชาติ” จุติขึ้นในกระบวนการนั้นเอง และได้ส่งเสียงดัง ๆ ให้เราได้ยินได้ฟังเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของ “ประชาชาติ” ในการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการเลือกตั้งนั้นเอง 
 
ควรกล่าวไว้ด้วยว่าอาจารย์ปฤณ เทพนรินทร์ได้วิเคราะห์เสนอไว้อย่างแหลมคมแยบคายในวิทยานิพนธ์ดีเด่นของเขาว่าระบบเลือกตั้งใหม่แบบบัญชีรายชื่อพรรค party list ที่ถือทั่วทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันซึ่งเริ่มไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ในการเมืองไทยให้เกิดขึ้น กล่าวคือ โดยผ่านการเลือกตั้ง party list พรรคที่ชนะได้เสียงข้างมากสามารถเคลมได้เป็นครั้งแรกว่าตนเป็นตัวแทนเจตจำนงทางการเมืองของคนไทยทั้งชาติในลักษณะที่การเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งย่อย ๆ แต่เดิมที่ผ่านมาไม่เปิดช่องให้เห็นชัดโดยตรงมาก่อน 
 
การเคลมนี้ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งในทางความชอบธรรมทางการเมือง เพราะมันทำให้ “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน” สามารถแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตัวออกมาเป็นตัวเป็นตนประจักษ์ชัดเจนว่านี่คือแนวนโยบายและตัวแทนที่พวกเขาต้องการให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน (เทียบกับผีไทย, วิญญาณไทย, ชาติไทยแบบอื่น ๆ) หรือกล่าวอีกในหนึ่งการเลือกตั้งระบบ party list ได้ทำให้ effective sovereign เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ legitimate sovereign ผ่านการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย
 
และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมมีความพยายามในสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดคมช.แต่งตั้งที่จะตราหน้าว่าการเลือกตั้งแบบ party list ที่ถือทั่วประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันไปกันไม่ได้กับระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี (จรัญ ภักดีธนากุล) และลดทอนมันลงมาทั้งในแง่จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เหลือ ๘๐ จากเดิม ๑๐๐ คน) และแบ่งแยกเขตเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศให้แตกย่อยออกไปเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดแทน ก่อนที่จะแก้ไขเขตเลือกตั้งกลับเป็นทั่วทั้งประเทศแบบเดิมและเพิ่มจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น ๑๒๕ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
 
ดังนั้น ไม่มีเลือกตั้ง ประชาชาติก็ไม่มีเสียง ออกเสียงให้ได้ยินได้ฟังไม่ได้ว่าประชาชนในชาติต้องการใช้อำนาจอธิปไตยไปทำอะไร พูดอีกอย่างถ้าคุณขัดขวางทำลายการเลือกตั้ง คุณก็กำลังทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของชาติและประชาชนนั่นเอง 
 
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้ คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้ ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร!
 
หมายเหตุ : บทความนี้นำมาจาก เฟซบุ๊ก 'Kasian Tejapira' ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 7 เม.ย.2557
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง