Skip to main content

จริงทีเดียว ใกล้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่ทั้งศาลตุลาการ องค์กรอิสระและม็อบอนาธิปไตยรุมสาดสารพัดข้อหาใส่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนมอมแมม ทำให้บรรยากาศการเมืองเป็นดังมติชนระบุว่า “๒ ด้านการเมือง ′สุเทพ′ ฮึกห้าว เหิมหาญ ′ยิ่งลักษณ์′ หดหู่”

แต่ผมคิดใคร่ครวญไตร่ตรองไปมาหลายตลบ กลับรู้สึกว่าในความฮึกห้าวเหิมหาญของพลังฝ่ายแอนตี้เลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย มีความหดหู่ห่อเหี่ยวลึก ๆ อยู่

เป็นความหดหู่ห่อเหี่ยวที่แก้ผ้าล่อนจ้อน เทหมดหน้าตักแล้ว เอาเข้าจริง ๆ ไม่มีอนาคต ไม่รู้จะไปไหนข้างหน้านะครับ

ผมสังเกตว่ามี ๔ ลักษณะสำคัญของขบวนการแอนตี้เลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย ที่สืบทอดต่อเนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย —> ผ่านองค์การพิทักษ์สยาม —> กปปส./ปชป.ในปัจจุบัน

 

๑) moral absolutism & monism

๒) political deglobalization

๓) แบ่งแยก monarchy ออกจาก democracy อย่างสุ่มเสี่ยงอันตราย

๔) บ่อนทำลายและทอนความชอบธรรมของสถาบันการเมือง

 

การทำอะไรทวนกระแสโลก แหกคอกแตกเหล่าแยกหมู่นอกพวกจากประชาคมนานาอารยประเทศ แบบไม่ยอมรับว่าคนเท่ากัน ขัดขวางการเลือกตั้ง เอาเผด็จการจากการแต่งตั้งมาแทนประชาธิปไตยนั้น เป็นภาระเหนื่อยหนัก ต้องอาศัยพลังยาม้าของศีลธรรมสัมบูรณ์แบบและ เชิงเดี่ยว (ห้ามท้าห้ามถาม กดทับผ่านข้ามบรรทัดฐานศีลธรรมกฎหมายอื่นใดทั้งหมด ว่าด้อยกว่า ไม่สำคัญเท่าเรื่องของเรา อีกทั้งปฏิเสธความหลากหลายพหุนิยมทางศีลธรรมทั้งนั้นทั้งสิ้น ไม่ยอมรับไม่ยอมเห็นว่าเป็นไปได้ที่ในโลกกว้างของเราคนดี/ความดีไม่ได้มีหนึ่งเดียวอันเป็นความรู้ที่มนุษยชาติเรียนมาตั้งแต่เริ่มยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่มาร์โคโปโลไปเยือนจีนแล้ว ฯลฯ) มาบำรุงเลี้ยงให้กล้าและมุทะลุทำไปโดยไม่ฟังเสียงใครและเสียงอื่นใดในใจตัวเอง

ส่วนที่สุ่มเสี่ยงอันตรายที่สุดของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง คือมักอ้างอิงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการล้มการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย อันเป็นการทำลายฐานรากของระบอบการเมืองการปกครองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา นั่นคือ ประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เคียงข้างควบคู่ไปด้วยกัน การแบ่งแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไปและนำมาตั้งประจัญเผชิญหน้ากับประชาธิปไตยเป็นอันตรายระยะสั้นต่อประชาธิปไตยและสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาวที่สุด

ประเทศหนึ่งดำรงคงอยู่ได้โดยอาศัยสถาบันต่าง ๆ อันหลากหลายทำงานสอดบรรสานคล้องจองไปด้วยกัน ไม่สามารถจะอิงอาศัยเพียงสถาบันใดสถาบันเดียวท่ามกลางความเสื่อมทรุดถดถอยพังทลายของสถาบันอื่นทุก ๆ สถาบันได้ กล่าวเฉพาะในทางการเมือง ต้องอาศัยทั้งสถาบันประชาธิปไตย (รัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ฯลฯ) และสถาบันนิติรัฐ (ศาลสถิตยุติธรรมอิสระ, รัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย) ทำงานสอดคล้องรองรับไปด้วยกันอย่างเป็นที่ยอมรับจากผู้คนในสังคมการเมืองอย่างแทบจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ทว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและได้เกิดมานานเกือบทศวรรษคือมีการจงใจบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย (รัฐสภา, พรรคการเมือง, การเลือกตั้ง) ลงอย่างร้ายแรงถึงรากซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่ายุบ ยึด ล้มล้าง ยกเลิก/โมฆะ ในทางกลับกัน สถาบันนิติรัฐเท่าที่มีก็ทั้งถูกนำไปรับใช้การเมืองแบบเลือกข้างเลือกฝ่าย (politicized & partisan) จนกลายเป็นมีลักษณะสองมาตรฐาน ลำเอียง ไม่เที่ยงธรรม อาจเป็นที่ยินยอมพร้อมรับของฝ่ายหนึ่งมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่กลับต้องสงสัย, สูญเสียเครดิต, ไม่ได้รับการยอมรับหรือกระทั่งถูกปฏิเสธจากฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายอื่น ๆ มากขึ้น สถาบันนิติรัฐทำงานราบรื่นได้เพราะทุกฝ่ายยอมรับความชอบธรรม เที่ยงธรรม ไม่เลือกข้าง ไม่เล่นการเมืองของมัน เมื่อสถาบันนิติรัฐสูญเสียคุณสมบัติดังกล่าวไป ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็กลายเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ทุพพลภาพ พลอยทำงานไม่ได้และล้มเหลวไปกันด้วยกับรัฐที่ใช้การไม่ได้และรัฐล้มเหลวทั้งหมดนั่นเอง (dysfunctional/failed state)

พลังฮึกห้าวเหิมหาญของม็อบและขบวนการใดที่ก่อตัวขึ้นโดยกัดกร่อนบ่อนทำลายเหล่าสถาบันการเมืองของชาติให้เสื่อมทรุดถดถอยราบคาบลงไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา มีแต่พลังทำลาย ผลได้ของการเคลื่อนไหว ไม่ยั่งยืน เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็จะพบว่ามีแต่ซากปรักหักพังแห่งสถาบันการเมืองของชาติทั้งชาติ โดยไม่ได้ดอกผลการต่อสู้อะไรจริงจังยั่งยืนขึ้นมาเลย

 

หมายเหตุ : บทความนี้ เกษียร  เตชะพีระ ได้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Kasian Tejapira' วันที่ 3 เม.ย.57 เวลา 17.00 น.

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง