Skip to main content

ผมอ่านข้อเสนอที่นายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแถลงล่าสุดแล้ว http://www.posttoday.com/สังคม/สาธารณสุข/277289/นายกแพทยสภาแถลงจี้ยิ่งลักษณ์ลาออก มีความเห็นว่ามัน "ไม่เป็นกลาง" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:

 

๑) ผู้ไปออกเสียงเลือกตั้งทั้ง ๒๐.๔ ล้านคน ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกพรรคใด เลือกส.ส.เขตคนไหน, หรือ vote no, หรือทำบัตรเสีย การที่พวกเขาอุตส่าห์ออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้ง แสดงบัตรประจำตัวเป็นหลักฐาน ลงนาม และกาบัตร/ทำบัตรเสีย ทั้ง ๆ ที่ถูกห้ามปราม ด่าประณาม ข่มขู่ คุกคาม กระทั่งยิงทำร้ายด้วยอาวุธสงครามจากม็อบกปปส. มันแสดงว่าพวกเขาเลือกเอา, เข้าข้าง, สนับสนุน, เข้าร่วม "การเลือกตั้ง" อันเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ในวิถีทางและกระบวนการประชาธิปไตย

การที่ท่านนายกแพทยสภาตีความว่าเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ๑๔ ล้านคนในการเลือกตั้งเท่านั้นที่สนับสนุนการเลือกตั้งในกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการตีความที่ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงอย่างไม่น่าเชื่อและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความเอนเอียงเข้าข้างการโฆษณาชวนเชื่อของกปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ผู้บอยคอตการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นกลางโจ๋งครึ่มยิ่ง

 

๒) การที่นายกแพทยสภามาเรียกร้องหานายกฯ "คนกลาง" นอกและเหนือรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย แสดงว่าท่านปฏิเสธวิธีการได้มาซึ่งผู้กุมอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตยปกติ แสดงว่าท่านไม่เป็นกลางต่อรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย และเลือกข้างตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย โดยไม่ตระหนักว่าอำนาจอันไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยและฉันทมติของเสียงส่วนใหญ่ ย่อมไม่สามารถปฏิรูปอันใดได้ยั่งยืน สุดท้ายก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามปฏิเสธ นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในบ้านเมืองไม่สิ้นสุด ดังการปฏิรูปที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยรัฐบาลจากการรัฐประหารของคณะปฏิรุปฯ (คปค.) และรัฐบาลจากการแทรกแซงหนุนหลังของทหารนับแต่ปี ๒๕๔๙ มาเป็นตัวอย่าง

 

๓) รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์จักต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและกฎหมายกับผลลัพธ์ของนโยบายจำนำข้าวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ประเทศของเรามีขื่อมีแป ไม่ใช่ระบบศาลเตี้ย ที่รวมม็อบมาลงโทษคนที่ถือว่าผิดอย่างอนาธิปไตย การกระทำเช่นนั้้นสะท้อนว่าท่านไม่เคารพความเป็นกลางของระบบยุติธรรมและดุลพินิจของผู้เลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าพวกเขาคิดเองเป็น ตัดสินเองเป็น ลงโทษรัฐบาลคอร์รัปชั่นด้วยกฎหมายและโหวตทางการเมืองของตัวเองเป็น ในบรรดาวิธีการได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งหลายแหล่นั้น ศาลเตี้ยและม็อบอนาธิปไตยไม่เคยยังความยุติธรรมให้แก่ใครได้สำเร็จเลย มีแต่ถมทับความอยุติธรรมลงไปบนความอยุติธรรม พอกพูนปํญหาซ้ำซ้อนไม่สิ้นสุด

 

๔) การจำแนกหลักกฎหมายออกจากหลักจริยธรรมหรือศีลธรรมอย่างตื้น ๆ และตายตัวสะท้อนความไม่เข้าใจเนื้อแท้ของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย, ศีลธรรม, และการเมืองอันเป็นประเด็นพื้นฐานของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตย ขณะที่กฎหมายเป็นหลักร่วมยึดถือกันของสังคมที่สังคมจัดร่างสร้างขึ้นด้วยกระบวนการการเมืองสาธารณะ ศีลธรรมนั้นเป็นหลักยึดถือของกลุ่มฝ่ายศาสนิกต่าง ๆ ที่นับวันหลากหลายแตกต่างออกไปเป็นพหูพจน์อย่างไม่มีทางบังคับย่นย่อให้เหลือเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวได้ เพราะเหตุนี้ สังคมสมัยใหม่ที่เป็นพหุสังคม ยอมรับความหลากหลายทางแนวคิดศีลธรรม จึงใช้กฎหมายเป็นหลักเกณฑ์แก้ไขความแตกต่างขัดแย้างทางแนวคิดและผลประโยชน์ ด้วยความเข้าใจว่า "การเมืองคือการใช้กฎหมายไปบรรลุเป้าหมายทางศีลธรรม" (politics as the legal realization of moral ends) การตัดกฎหมายออกไป แล้วอ้างศีลธรรมมาแทนที่ ก็คือการเอาศีลธรรมของฝ่ายตนเป็นใหญ่ ถือว่าตนเองถูก เป็นศูนย์กลางโลก แล้วบังคับยัดเยียดด้วย "อำนาจเป็นธรรม" ให้ฝ่ายอื่นต้องยอมรับ อันรังแต่จะนำไปสู่การกดขี่ ความขัดแย้งและรุนแรงต่อไปข้างหน้า (เช่นที่เกิดขึ้นในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ของนปช.เมื่อปี ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ เป็นต้น)

 

หว้งว่าผู้รักความเป็นกลางอย่างท่านนายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านจะใช้ดุลพินิจใคร่ครวญไตร่ตรองข้อเรียกร้องเหล่านี้ใหม่ว่ามัน "เป็นกลาง" ในทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จริงหรือไม่?

 

ด้วยความนับถือ

เกษียร เตชะพีระ

ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กีรตยาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๕๕

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira เมื่อวันที่ 11 ก.พ.57 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง