Skip to main content

คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก

เกษียร เตชะพีระ(3 ธ.ค.56)

 

ผมนั่งฟังมาในรถระหว่างกลับบ้าน ข้อสังเกตแรกคือคำปราศรัยครั้งนี้ของสุเทพโดยเนื้อหา (แม้ว่าอาจไม่ใช่โดยน้ำเสียงลีลา) น่าจะเป็นคำปราศรัยที่สนธิ ลิ้มทองกุล ณ พันธมิตรฯ อยากจะเป็นผู้กล่าวเองและสามารถกล่าวได้แนวเดียวกันเป๊ะแต่ไม่มีโอกาสเพราะติดคดีและไม่ได้เป็นแกนนำม็อบกปปส.เที่ยวนี้

 

มี ๓ เรื่องสำคัญในคำปราศรัยของสุเทพที่พอจะช่วยให้เข้าใจม็อบกปปส.เที่ยวนี้ชัดเจนขึ้น

 

๑) สุเทพพูดชัดว่าอย่าว่าแต่ยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลและทำเนียบรัฐบาลได้ (ก่อนที่จะรีบถอยออกมาเพราะเจอทหาร) เลย ต่อให้นายกฯยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและแถมด้วยลาออกจากตำแหน่งนายกฯ การต่อสู้ของกปปส.ก็ยังไม่ชนะ

จะชนะขั้นเด็ดขาดได้ สุเทพยืนยันว่าต้องจัดวางรากฐานระบบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขใหม่หมด กวาดล้าง "ระบอบทักษิณ" ให้หมดไป วางมาตรการหลักเกณฑ์ป้องกันเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดปัญหา "ระบอบทักษิณ" ขึ้นมาอีกในอนาคต

สรุปก็คือข้อเรียกร้องต้องการของ กปปส. นั้นเกินไปกว่าที่จะทำได้ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และเกินไปกว่าที่จะทำได้ด้วยวิถีทางเลือกตั้งประชาธิปไตยปกติธรรมดา สุเทพ ณ กปปส. ต้องการ "อำนาจตั้งแผ่นดิน" (ใหม่) Le pouvoir constituant เพื่อจัดวางระเบียบการเมืองใหม่หมดให้เป็นไปดังใจปรารถนาของตน

ทว่าอำนาจตั้งแผ่นดินนี้ ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นของพระมหากษัตริย์ และภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นของประชาชนและ/หรือผู้แทนจากการเลือกตั้งโดยชอบของประชาชน สุเทพกับกปปส.ปฏิเสธที่จะให้ประชาชน/ผู้แทนประชาชนใช้อำนาจนี้ ต้องการริบอำนาจมูลฐานที่สุดนี้จากประชาชน/ผู้แทนประชาชนมาเป็นของตนเองโดยสัมบูรณ์แล้วใช้ตามอำเภอใจแห่งตนโดยพลการ

นี่คือ อำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ (Ad Hoc Absolutism) ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการมาตลอด โดยขอให้ในหลวงทำ (นายกฯพระราชทาน, สภาประชาชนพระราชทาน, รัฐธรรมนูญปฏิรูปพระราชทาน ฯลฯ) ด้วยการอ้างมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ทว่าพระองค์ทรงปฏิเสธอย่างหนักแน่นชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้วว่านี่เป็นการทำให้พระองค์ทรงเดือดร้อน เป็นการปกครองแบบมั่ว ทำไม่ได้ มาครั้งนี้ สุเทพ ณ กปปส.จึงไม่ได้ขอพระราชทาน แต่คิดยึดอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์นั้นจากประชาชน/ผู้แทนประชาชนมาทำเสียเองโดยพลการผ่านการเคลื่อนไหวมวลชนลุกขึ้นก่อกบฎแบบอนาธิปไตย ล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภา ล้มรัฐธรรมนูญ แล้วจากนั้นสุเทพกับพวกจะตั้งนายกฯเอง ตั้งสภาประชาชนเอง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่เอง มิฉะนั้นไม่เลิกต่อสู้

 

๒) สุเทพระบุมูลเหตุแห่งปัญหาการเมืองไทยออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าได้แก่ "ระบอบทักษิณ" และ/หรือ "ระบอบเผด็จการโดยทุน" ซึ่งเหลือวิสัยจะแก้ปัญหานี้ได้ผ่านระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย มีแต่ต้องหยุดระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยและหยุดภาคการเมือง/นักการเมืองไว้ชั่วคราวก่อน ใช้อำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจเฉพาะกาลมาตั้งแผ่นดินใหม่ จัดระเบียบการเมืองใหม่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงค่อยกลับเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามปกติอีกครั้ง

สรุปคือสุเทพยืนกรานเด็ดขาดปัญหาอำนาจทุน แก้ไม่ได้ ไม่มีทางแก้ได้ ในกรอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ มีแต่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญและล้มประชาธิปไตยไปชั่วคราวก่อน จึงจะแก้ปัญหาอำนาจทุนได้ (เทียบกับข้อเสนอของผมทีให้แก้ปัญหาอำนาจทุน ถ่วงทานอำนาจทุนโดยอำนาจประชาชน ในกรอบเสรีประชาธิปไตย)

 

๓) เมื่อไล่เบี้ยไปถึงที่สุด สุเทพบอกว่าประชาธิปไตยหยุดอำนาจทุนไม่ได้ เพราะนายทุนใหญ่ซื้อเสียงการเลือกตั้งได้ทุกครั้ง (ซื้อ ซื้อ ซื้อ) เลือกตั้งตามระบอบประชาธฺปไตยเมื่อไหร่ กี่ครั้ง นายทุนก็ซื้อเสียงจนชนะเลือกตั้งอยู่ดี ไม่มีทางหยุดยั้งหรือถ่วงทานอำนาจทุนด้วยระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยได้

ข้อกล่าวอ้างของสุเทพนี้ unfalsifiable คือพิสูจน์ว่าไม่จริงหรือเป็นเท็จไม่ได้ มีการเลือกตั้งครั้งไหนในเมืองไทยหรือในโลกนี้หรือที่จะยืนยันได้ว่าไม่มีการซื้อเสียงเลยแม้แต่บาทเดียว/เสียงเดียว และถ้ามีแม้แต่น้อย ก็ถือว่าการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ ประชาธิปไตยล้มเหลวหมด กระนั้นหรือ? เราไม่สามารถเถียงหรือบอกได้ชัดทางวิชาการหรือตัวเลขสถิติได้ว่าการเลือกตั้งครั้งไหน ซื้อไปกี่เสียง ถึงจะล้มเหลว ๑๐% หรือ? ๒๐% หรือ? ๒๕% หรือ? ๕๐% หรือ? ๗๕% หรือ? หรือว่า ๑๐๐% กันแน่?

นี่ไม่ใช่การปฏิเสธว่าไม่มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง หรือปัญหาการซื้อเสียงไม่มีจริง มันมีแน่ แต่ถ้าเราใช้สิ่งนี้ไปเป็นเกณฑ์ลอย ๆ อย่างสมบูรณ์เพื่อปฏิเสธการเลือกตั้งทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ไม่มีระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่ไหนจะผ่านการทดสอบรอดจากเกณฑ์สมบูรณ์แบบลอย ๆ นี้ได้ ก็ต้อง "เผด็จการโดยธรรม/ของคนดี" เท่านั้นจึงจะสู้กับอำนาจทุนได้ลูกเดียว

ผมกลับคิดว่าเรื่องของเรื่องไม่ใช่ปัญหาการซื้อเสียงเลือกตั้งของอำนาจทุน เท่ากับการไม่ยอมรับแก่นแท้ของประชาธิปไตยโดยสุเทพ ณ กปปส.และมวลชนเสียงข้างน้อยในประเทศที่ถูกสะกดตรึงด้วยวาทกรรมนี้ พวกเขาไม่ยอมรับว่า...

 

"เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข"

 

พวกเขารับไม่ได้ว่าคนเราเท่ากัน คนเราไม่เท่ากันหรอก คนอย่างพวกเขาดีกว่า ฉลาดกว่า รวยกว่า คนอย่างพวกเอ็งเลวกว่า โง่กว่า จนกว่า คนอย่างพวกเขาจึงไม่ขายเสียง แต่คนอย่างพวกเอ็งขายเสียง ไม่มีทางมีประชาธิปไตยได้ตราบที่พวกเอ็งที่เลวโง่จนเป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยดีฉลาดรวยอย่างพวกเราไม่ยอมเว้ยเฮ้ย

และพวกเขาก็รับไม่ได้ว่าอำนาจจะเกิดจากตัวเลข ตัวเลขเสียงมากกว่ามีอำนาจมากกว่า ตัวเลขเสียงน้อยกว่ามีอำนาจน้อยกว่า สรุปคือพวกเขายอมรับการปกครองโดยเสียงข้างมาก (เหนือเสียงข้างน้อยอย่างพวกเขา) ไม่ได้นั่นเอง

พวกเขาคิดไม่ออกว่าจะสร้างแนวร่วมที่ทลายเส้นแบ่ง เสียงข้างมาก/เสียงข้างน้อย ในปัจจุบันอย่างไร ที่จะแปรข้อเสนอนโยบายปฏิรูปลดอำนาจทุนของพวกเขาให้กลายเป็นแนวนโยบายยอดนิยม ชนะใจเสียงข้างมาก ชนะเลือกตั้ง แล้วนำมาใช้ปฏิรูปประเทศ เพราะพวกเอ็งเสียงข้างมากโง่เกินกว่าจะยอมรับนโยบายฉลาด ๆ ดี ๆ อย่างของพวกเราได้ ส่วนพวกเราจึงต้องแพ้เลือกตั้งต่อไป เพราะที่เราแพ้เลือกตั้งเพราะพวกเราฉลาดดีและรวยเว้ยเฮ้ย

Mass Insurrection & Ad Hoc Absolutism จึงเป็นวิธีการและระเบียบอำนาจอันจำเป็นเพื่อคงอำนาจเสียงข้างน้อยของพวกเขาเหนือเสียงข้างมากเอาไว้ และต้องฝืน "ประชาธิปไตย" ในนาม "ความเป็นไทย" บ้าง, "ความดี" บ้าง, "ความฉลาด" บ้าง, "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" บ้างเท่านั้นเอง

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง