Skip to main content

20080116 วันเด็กทุกสัญชาติ

ลมหนาว ยังไม่จางหาย....

วันเด็กแห่งชาติเพิ่งจัดเสร็จไปไม่กี่วัน จนถึงวันนี้ วันเด็ก เสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ยังคงมีการจัดมาอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี นับตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2499 ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้มอบคติเตือนใจสำหรับเด็กๆ ปีละ 1 คำขวัญ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

วันเด็กที่ผ่านมา ผมได้ร่วมกิจกรรมที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง จ.เชียงราย ภายในงานจัดกิจกรรมในแนวว่า “ข้างหลังภาพ” ทำนองว่า ทำงาน ทำกิจกรรม กันมามากมาย ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ วันนี้น่าจะมาดูกันว่าได้ทำอะไรกันมาบ้าง ซึ่งเด็กๆ ก็ได้เตรียมจัดกิจกรรมในบู๊ธของตนเอง มีการเล่นเกม จัดนิทรรศการ การเรียนในเรื่องเอดส์ เพศ สิทธิเด็ก ส่วนผู้สูงอายุก็เตรียมของใช้ในอดีตมาแสดงให้เด็กๆ ดู เช่น เครื่องปั่นฝ้าย ที่จับปลา เป็นต้น

มีผู้ปกครองพาเด็กๆ ตัวเล็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม มีน้องคนหนึ่งถามผมว่า “วันเด็กมีจัดกี่ที่”

ผมเงียบไปสักพัก แล้วก็บอกว่า “น่าจะมีหลายที่นะครับ”

“แล้วประเทศอื่นมีวันเด็กไหม...” น้องผู้หญิงอีกคนถามผม ผมตอบว่า “ไม่รู้ครับ” เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าประเทศอื่นมีการจัดกิจกรรมวันเด็กแบบเมืองไทยไหม หรือถ้ามีก็คงจะไม่ใช่วันเดียวกัน แต่อาจเป็นวันอื่นๆ ก็ได้

พอนึกถึงเรื่องประเทศอื่น ก็นึกถึงเรื่องชาติขึ้นมา ..... เรื่องชาติ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในชาตินี้ แต่ไม่มีสัญชาติ เป็นคน “ทุกข์” เรื่องสัญชาติ ซึ่งก็คือ เด็กๆ เพื่อนๆ พี่น้องอีกหลายคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย แต่ไร้ซึ่งสัญชาติไทย

อย่างงานวันเด็กไร้สัญชาติ ก็ได้มีการจัดมาแล้วหลายครั้ง และแต่ละครั้ง ก็มีกระแสผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติของเด็ก เพราะเด็กๆ หลายที่ที่ไร้สัญชาตินั้น จะขาดหลักประกันในการเข้ารับการศึกษา หรือการบริการสาธารณสุขของรัฐ

ทั้งนี้แม้ว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการต่างๆ เช่น ในเรื่องสัญชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคี เมืองปี 2535 และได้ตั้ง ข้อสงวนไว้ สอง – สาม ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือเรื่อง “สัญชาติ” โดยความคืบหน้าปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอว่า ให้รัฐบาลดำเนินการ ถอนข้อสงวนข้อ 7 เรื่องสถานะบุคคล โดยการแก้ไข พ.ร.บ. สัญชาติ เพื่อไม่ให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยของพ่อและแม่ต่างด้าวเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เรื่อง มาตรา 7 ทวิ ตามพรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2535 ได้เปิดโอกาสให้คนที่ไร้สัญชาติสามารถร้องขอสัญชาติไทยต่อกระทรวงมหาดไทยเป็นรายๆ ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ยังพบว่ายังมีเด็กไทยบางส่วนที่ประสบปัญหาเรื่องเอกสารการเกิด ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนการเกิดและไม่ได้รับสัญชาติไทยด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการที่เด็กๆ ไม่ได้รับสัญชาติ บางส่วนเนื่องจากประชาชนที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่รู้กฎหมายและระเบียบขั้นตอนในการดำเนินการแจ้งเกิด หรือไม่เห็นประโยชน์ของการแจ้งเกิด หรืออุปสรรคในการเดินทางก็ตาม แต่สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐบางส่วนไม่อำนวยความสะดวก หรือเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ เช่น การเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ หรือเรียกหลักฐานประกอบมากเกินความจำเป็น ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์เข้าตนบนความเดือดร้อนของผู้อื่น

ทั้งนี้อย่างไรก็ตาม คณะทำงานที่ติดตามเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของประเทศได้มองว่าในเรื่องสิทธิที่จะมีชื่อ สัญชาติ และสถานะบุคคล (identity) นั้นรัฐจะต้องส่งเสริมการประกันให้เด็กที่เป็นคนไร้รัฐ (stateless) มีสิทธิที่จะมีสัญชาติ (รวมถึงสัญชาติไทย) และสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ นอกจากเรื่องแก้กฎหมายแล้ว จะมีการส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติ

ส่วนเด็กผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาแหล่งพักพิง บัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาแหล่งพักพิง และประกัน การเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) โดยเฉพาะเด็กที่เคยเป็นทหาร รวมทั้งพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธีสาร ค.ศ. 1967

หรือแม้แต่ (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ...... ก็ได้ระบุว่า “ให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนรับรองการเกิด การพัฒนา  การยอมรับ การคุ้มครองและโอกาสในการมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง การเกิดหรือสถานะอื่นของเด็กและเยาวชน บิดามารดา หรือผู้ปกครอง”

ฉะนั้นแล้ว ถือได้ว่าเรื่องของสัญชาติของเด็กนั้นไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ อย่างที่ได้เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา และเป็นเรื่อง “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนจริงๆ ซึ่งเมื่อย้อนกลับมายังวันเด็กที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจบอกได้ว่า ควรจะเป็นวันเด็กของเด็กๆ ทุกคน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีหรือไม่มีสัญชาติ ควรจะเป็นวันเด็กทุกสัญชาติ ที่ไม่แค่เฉพาะเด็กที่มีทุกข์จากเรื่องสัญชาติเพียงเท่านั้น

..........

ผมยังจำเรื่องของ มึดา นาวานารท เพื่อนเยาวชนจากแม่ฮ่องสอน ได้ว่า เธอเป็นเด็กคนเดียวร้องไห้หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันเด็กหลายปีก่อน เพราะนายกทักษิณเมื่ออดีต หนีพวกเธอออกทางหลังทำเนียบฯ ตอนนั้นเธอเล่าว่าที่ไปทำเนียบนั้นเพื่อจะไปบอกเล่าความรู้สึกและปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อน ๆ เนื่องจากประเด็นไร้สัญชาติเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยแก้ไข การได้รับสถานะความเป็นคนไทย คือ ของขวัญสำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มีสัญชาติ

มึดา เคยเสนอว่า “นายกรัฐมนตรี คือ คนที่มีอำนาจในการจัดการเรื่องสัญชาติสูงสุด หันมาสนใจเรื่องสัญชาติสักนิดก็จะดี แม้จะเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งเพียงหยิบมือในประเทศไทย แต่อยากให้คิดว่าพวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้อยากให้ลองเข้าหาคนรากหญ้าจริง ๆ เดินเข้าหาประชาชนที่ประสบปัญหาจริง ๆ มาดูกันว่าข้อเท็จจริง คือ อะไร มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้นบ้างเราน่าจะมาเปิดโอกาสคุยกันหรือเปล่า เปิดอกคุยกันดีกว่าจะปล่อยเอาไว้แบบนี้ หากยืดเยื้อไม่ยอมแก้ไข ปัญหาจะเรื้อรังขึ้นหรือเปล่าและอย่าแก้ไขที่ปลายเหตุ โยนเงินลงมาให้หรือส่งออกไปประเทศโลกที่สาม แก่นของปัญหาจริง ๆ ไม่ได้รับการเปิดออกมา”

วันเด็กปีนี้ แม้ว่าจะมีการแจกขนมอบกรอบต่างๆ มากมาย คละคลุ้งไปกับกลิ่นโชยแห่งความอาดูร ในการสูญเสียสมาชิกของราชวงศ์ แต่ปัญหาของเด็กทุกๆ คน ไม่ว่ามีหรือไม่มีสัญชาติยังคงเกิดขึ้นดั่งสายลมที่พัดพาความเยือกเย็นหนาว ผ่านมาและผ่านไป ทุกขณะ ...รัฐบาลแล้ว รัฐบาลเล่า.....


--------
แหล่งข้อมูล:
1. รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฉบับที่ 2 เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ โดย คณะอนุกรรมการเรื่อง “สิทธิเด็ก” คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
2. บทสัมภาษณ์มึดา นาวานารท เข้าถึงได้ที่ http://www.thaingo.org/man_ngo/muda.htm

 

บล็อกของ กิตติพันธ์ กันจินะ

กิตติพันธ์ กันจินะ
ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลังตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
 ลมฟ้าอากาศเริ่มเปลี่ยนแปรไปตามสภาพ ฝนตกเพิ่งหยุดได้ไม่นาน ลมหนาวเยือนมาพัดผ่านท้องทุ่งจนต้นข้าวโยกเอียง บ้างล้ม บางตั้งตระหง่าน ตอนเช้าๆ อากาศแถวบ้านผม, จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน ตำบลแม่อ้อ บ้านแม่แก้วเหนือ อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นทุกขณะ ชีวิตของผมทุกวันนี้ไม่เหมือนห้าเดือนก่อนที่ผ่านมา เพราะต้องย้ายสำมะโนครัวจากเชียงใหม่ กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลาสี่ปีที่อยู่เชียงใหม่ ผมได้พบเจอเรื่องราวหลายเรื่อง ทั้งการงาน ความรัก ชีวิต ความสัมพันธ์ เพื่อน ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับตอนที่อยู่บ้านที่เชียงรายอย่างมากสภาพอากาศ ความสงบ การดำเนินชีวิต…
กิตติพันธ์ กันจินะ
มาถึงเชียงใหม่แสงแดดยามเช้าตรู่ ปลุกให้ผมตื่นจากการหลับใหล – เวลาทั้งคืนที่ผ่านมา, ผมนอนไม่ค่อยหลับ กระวนกระวายใจ และไม่เป็นอันหลับอันนอน ไม่รู้ว่าพี่บัวจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเป็นจะตายยังไง เป็นเรื่องที่คิดมาตลอดเส้นทางพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าตรงกับฝั่งที่ผมนั่งบนรถ พนักงานบริกรประจำรถพาร่างเล็กๆ ของเขาหยิบข้าวของขนมหวานนมกล่องให้ผู้โดยสารแต่ละคน “ท่านผู้โดยสารทุกท่าน เรายินดีนำท่านมาสู่จังหวัดเชียงใหม่....” พนักงานหญิงแจ้งข่าวแก่ผู้โดยสาร ด้วยท่าทีกระฉับเฉงอรชร เชียงใหม่เช้านี้ ท้องฟ้าไม่ค่อยมีเมฆมาก พระอาทิตย์สีแดงที่เส้นขอบฟ้า ปล่อยแสงแสบปวดตา ผมลงจากรถทัวร์คันใหญ่ เดินมุงหน้าไปหารถแดง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมจะได้รู้จักชีวิตในอีกมุมหนึ่งของคนที่ถูกเรียกว่า “แก๊ง” ได้มากกว่าที่คิดไว้แม้ว่าในช่วงแรกๆ ความสัมพันธ์ของผมกับเขาจะเป็นแบบ ถามเพื่อเอาข้อมูลไปทำโครงการ แต่สิ่งที่ผมได้มากกว่าการเก็บข้อมูล นั้นคือความผูกพันธ์ มิตรไมตรี และการช่วยเหลือกันและกันของเพื่อนๆ พี่ๆ ผมได้เรียนรู้ว่า ความจริงใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเรา เมื่อก่อนมีเขาและมีผม แต่ตอนนี้คำว่า “เรา” มันทำให้ไม่มีเขา ไม่มีผม หลายสิ่งที่ผมได้ทำ หรือเพื่อนๆ ได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่วัยอย่างพวกเราต้องเผชิญ อาจต่างกันมากน้อยคละเคล้ากันไปตั้งแต่จบมัธยมปลายมาหลายปี…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ต้นเดือนเมษายน – เทศกาลปีใหม่เมืองหรืองานสงกรานต์ใกล้เข้ามาถึงในอีกไม่กี่วัน วันหนึ่งพี่เหน่งโทรศัพท์มาหาผมเพื่อชวนผมไปเยี่ยมรุ่นน้องคนหนึ่งที่คุกแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมไม่ปฏิเสธ และได้ตระเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อไปเยี่ยมรุ่นน้องพี่เหน่งไม่บอกว่าใครอยู่ในคุก เพราะอยากให้ผมได้รู้ด้วยตัวเองว่ามาหาใคร ไม่กี่นานพี่เหน่งก็มารับผมที่บ้านพัก แล้วรีบบึ่งรถไปยังจุดหมายโดยเร็วแดดร้อนแผดเผาไปทั่วใบหน้า รถชอบเปอร์คันโตของพี่เหน่งพาเราสองคนมาถึงคุกในไม่กี่อึดใจ พี่เหน่งเดินบ่ายหน้าเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องขัง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนทำงานด้านเยาวชน พบว่าวัยรุ่นชายที่อยู่ในกลุ่มมีความคึกคะนองสูง ดังนั้นในการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ หรือการดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย หรือมองข้ามความสำคัญไป หลายคนยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ มีความประมาท ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางอนามัย สลับกับไม่ใส่ แกล้งดึงหัวจุกถุงยางอนามัยออกเพื่อแกล้งให้เพื่อนหญิงท้อง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเลยเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องที่วัยรุ่น มีเรื่องชกต่อยกันทำให้เกิดการบาดเจ็บและถึงขั้นถูกดำเนินคดีและบางรายถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำ เป็นต้นนอกจากในกลุ่มจะมีเด็กชายและ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
หากวัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้ามาร่วมในกลุ่มนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการสมัคร หรือทดสอบก่อน คือ ใครต้องการเข้าร่วมกลุ่มก็สามารถเข้ามาทำความรู้จักได้เลย เพียงแค่มีความเป็นเพื่อนและจริงใจเท่านั้นการเข้ามาในกลุ่มแก๊งของคนใหม่ๆ หรือการพยายามสร้างตัวแทนของกลุ่ม นับว่าไม่ได้เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ เพราะการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มแก๊ง เกิดขึ้นโดยระบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน การเคารพผู้ที่อายุมากกว่าว่าคือรุ่นพี่ การเคารพผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือรุ่นน้อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ คือ การส่งต่อเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง…