ติดตามการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่มีนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าร่วมเปิดประชุมแล้ว มีความเห็นว่า ผู้ที่เสนอความคิดเห็นตรงกับปัญหาที่สุดคือ คุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นอกนั้นล้วนแต่ “ขี่ม้าเลียบค่าย”
การจะแก้ปัญหาของประเทศ ก่อนอื่นต้องเข้าใจสมมติฐานหรือต้นเหตุของปัญหา เหมือนคนป่วยต้องรู้สมมติฐานของโรคก่อน จึงจะรักษาได้อย่างถูกต้อง และจุดหมายปลายทางของการรักษาคือหายจากโรค ไม่ใช่รักษาเลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ ไม่หายสักที
สมมติฐานหรือต้นเหตุของปัญหาประเทศไทยปัจจุบัน เกิดจากความขัดแย้งของชนชั้นบนสุดของสังคม ระหว่างชนชั้นบนใหม่ คือ กลุ่มทุนใหม่โลกาภิวัตน์กับชนชั้นบนเก่า คือ กลุ่มทุนเก่าอนุรักษ์นิยม เป็นความขัดแย้งหลัก และกลุ่มทุนเก่าอนุรักษ์นิยมเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง แล้วลุกลามสู่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง เป็นความขัดแย้งทางโครงสร้างระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
มีตัวแทนและแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ตั้งแต่พรรคการเมืองและฐานมวลชนคือ พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม พรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อเหลืองหรือต่อมาใช้ชื่อกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ในเบื้องต้นผู้เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยจะยอมรับหรือไม่ว่า ที่อธิบายมานี้ คือ ต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ถ้าไม่ยอมรับก็ต้องเสนอบทวิเคราะห์เพื่อโต้แย้งอย่างมีเหตุผลให้ได้ข้อสรุปก่อน
เมื่อได้ข้อสรุปถึงสมมติฐานหรือต้นเหตุของปัญหา จากนั้นจึงกำหนดหรือมองให้ออกถึงจุดหมายปลายทางว่าจะจบลงอย่างไร แล้วจึงเริ่มต้นในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เพราะการเริ่มต้นแก้ปัญหาโดยไม่มีจุดหมายปลายทางหรือกำหนดจุดหมายปลายทางผิดก็เหมือนกับคนที่เดินทางโดยไม่มีจุดหมาย ก็คือ คนวิกลจริต หรือคนเร่ร่อนจรจัดนั่นเอง หรือไม่ก็เป็นคนหลงทิศผิดทาง
จริงๆ แล้วการใช้คำว่า “คณะกรรมการสภาปฏิรูปประเทศไทย” ไม่ค่อยจะสอดคล้องกับวิกฤตของประเทศไทยปัจจุบัน น่าจะใช้คำว่า “คณะกรรมการสภา เพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ” มากกว่า เพราะวิกฤตของประเทศไทยปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤต “หัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง” และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นวิวัฒนาการ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นวัฏจักร หมุนวนเป็นวงจรอุบาทว์อย่างที่ผ่านมาแปดสิบกว่าปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ส.2475
“คณะกรรมการสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ” จะต้องมีตัวแทนของชนชั้นบนสุดของทั้งสองฝ่าย และต้องมีตัวแทนมวลชนล่างสุดของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมด้วย
ตอนแรกๆ ฝ่ายอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมต้องปฏิเสธการเข้าร่วมอย่างแน่นอน เพราะยังหวังใช้ฐานอำนาจเก่าพลิกสถานะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างที่เคยประสบผลสำเร็จมาแล้วในปี 2549 และ 2551
แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไป ฝ่ายอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์เกือบสิ้นเชิง การเคลื่อนไหวมีเพียงยุทธวิธีเท่านั้น การเคลื่อนไหวต่อสู้จึงออกมาในสภาพดื้อรั้นดันทุรัง แบบเด็กดื้อและคนเกเร
ครั้งยิ่งมาเจอกับการตั้งรับของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบบนิ่มนวลอ่อนโยนเข้า เด็กดื้อและคนเกเรก็ตจะแค้นเคืองแทบกระอักเลือด สุดท้ายก็สิ้นฤทธิ์ยอมเข้าร่วมคณะกรรมการสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ
แต่เบื้องแรกก็ขัดขวางอาละวาดตามประสาคนฤทธิ์มาก ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงก็เป็นธรรมดาของกฎวิวัฒนาการที่จะไม่ราบรื่นและงายดายในทุกประเทศทั่วโลก
ประชาชนต้องอดทนและรอคอย อย่าเป็นโรคใจร้อนอยากเปลี่ยนแปลงเร็ว จนก่อเกิดความรุนแรงเป็นสงครามกลางเมือง
จุดหมายปลายทางของการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ คือ การเมืองเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมเสรี สังคมมุ่งสร้างรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ ใช้ระบบกฎหมายและภาษีอุ้มชนชั้นล่าง ลดความได้เปรียบของชนชั้นบน สร้างชนชั้นกลางให้เป็นชนชั้นส่วนใหญ่ของประเทศ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องมีการถ่วงดุลและตรวจสอบได้ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
ประเทศไทยโชคดีที่ไม่ได้เป็นประเทศแรกของการเปลี่ยนแปลง จึงมีความสุ่มเสี่ยงน้อย เรามีประเทศต้นแบบให้ศึกษามากมายในโลกอยู่ที่ว่า เราจะศึกษาจากประเทศใดที่มีลักษณะคล้ายกับประเทศไทย คือเป็นประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขและเจริญแล้ว
การแก้ปัญหาทุกปัญหาจะต้องจับจุดของปัญหาให้ถูกต้องและต้องมีจุดหมายปลายทางชัดเจน ถูกต้องด้วย มิฉะนั้น การตั้งคณะกรรมการใดๆ ขึ้นมาก็ล้มหลวอย่างที่ผ่านมา
จึงขอฝากข้อคิดนี้ต่อรัฐบาล ฝ่ายค้าน และคณะกรรมการสภาปฏิรูปประเทศไทยทุกท่านในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาคนหนึ่งด้วย
ขอแสดงความคาราวะ
คนรากหญ้า
สิงหาคม 2556