Skip to main content

นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปภายใต้โลโก้ “ราษฎรอาวุโส” เป็น “ผู้ใหญ่” ที่ใครต่อใครรู้จักกันดี เพราะคำพูดคำอ่านหรือแนวคิดของท่าน ตกเป็นข่าวพาดหัวอยู่เสมอทางหน้าหนังสือพิมพ์และได้รับการขานรับจากกลุ่มคนน้อยใหญ่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม แม้กระทั่งข้าราชการ


บทบาทของนายแพทย์ประเวศ วะสี ในหลาย ๆ วาระและโอกาส มีความสำคัญและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยอย่างสูง จนคว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น บุคคลดีเด่นของชาติ รางวัลแมกไซไซ รางวัลจากยูเนสโก เหรียญเชิดชูเกียรติจาก WHO


เป็นที่ยอมรับโดยไม่มีข้อกังขาว่า นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีความเป็นห่วงเป็นใยในบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง พอมีเหตุอะไรที่อาจส่งผลกระทบให้บ้านเมืองเสียหาย นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นคนแรกๆ ที่ออกมา “เตือนสติ” หรือ “ชี้ทางออก” ให้แก่สังคมซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถจุดประเด็นได้เป็นที่น่าสนใจ


เป็นธรรมดาที่บ้านเมืองซึ่งประกอบด้วยผู้คนมากหลายจะต้องมีเหตุนั่น เหตุนี่ ให้ต้องคอยห่วงใยกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปทางการเมือง วิกฤติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตรงนั้นตรงนี้ ปัญหาเกี่ยวกับคนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาเรื่องบริโภคนิยม ฯลฯ


การ “เตือนสติ” เพื่อนำไปสู่การ “ชี้ทางออก” ให้แก่สังคมที่กำลังเตลิด บางครั้งจำเป็นต้อง “วาดภาพ” ให้ดูน่ากลัวเกินจริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นตามภาพที่วาดไว้ แบบเดียวกับที่วัดบางแห่งจำลองขุมนรกโลกันต์เพื่อขู่ให้มนุษย์หวาดกลัว ไม่กล้าทำผิด ซึ่งอาจใช้ได้ผลสำหรับบางคน


คำว่า “วิกฤติ” หรือ “นองเลือด” จึงมักจะมาควบคู่กับคำ “เตือนสติ” เพื่อ “ชี้ทางออก” ของนายแพทย์ประเวศ วะสี บ่อยครั้ง จนโดนค่อนขอดจากนักวิชาการบางรายว่าเป็น “หมอกลัวเลือด” หรือกระทั่ง “เซลแมนขายวิกฤติ”


คำค่อนขอดต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีสันติสุขเสมอหน้ากัน ในทุก “ภาคส่วน” สะดุดหยุดลงได้ นายแพทย์ประเวศ วะสี ยังคงทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่องและมีเว็บไซต์ของตนเองในการเผยแพร่ความคิดสู่สาธารณชน


ในเว็บไซต์ http://www.prawase.com นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เผยแพร่บทความของตนเองที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่อง “การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไช การเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย” ท่านเขียนไว้ว่า


การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไชเป็นที่เอือมระอาน่ารังเกียจเบื่อหน่ายแก่ผู้รู้เห็นทั้งแผ่นดิน จึงพากันพูดถึงการเมืองใหม่ คนไทยทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ควรเคลื่อนไหวทำความเข้าใจว่าการเมืองใหม่ที่เป็นอารยะประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร ในการมองระบบการเมืองเก่าและใหม่ควรมองทั้งระบบเหมือนมองคนทั้งคน จะไปมองเฉพาะอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ การมองทั้งระบบ ต้องมองทั้งที่เป็นนามธรรม (จิต) รูปธรรม รูปลักษณ์ การทำหน้าที่และผลลัพธ์”


นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าการเมืองเก่ากับใหม่นั้นต่างกันอย่างไร ท่านบอกว่าจิตสำนึกของการเมืองเก่านั้นเป็นแบบ “หีนจิต” ส่วนการเมืองใหม่ นั้นเป็น จิตสำนึกแห่งความเป็นคน ส่วนองค์กรทางการเมืองของการเมืองเก่ามีลักษณะ “อัปลักษณ์” ส่วนการเมืองใหม่เป็น “ศุภลักษณ์” ดูรายละเอียดใน (http://www.prawase.com/article/154.pdf)


สุ้มเสียงและศัพท์แสงของนายแพทย์ประเวศ วะสี แยกไม่ออกจากหลักธรรมในศาสนาพุทธ โลกทัศน์ทางการเมืองก็เช่นเดียวกันคือไม่อาจแยกออกหลักศาสนาและศีลธรรมได้ ท่านพูดอย่างชัดเจนว่า


ในสัจจะที่สุด มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน ไม่แตกต่างกันแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานต่างกันก็ตาม มายาคติที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทำให้ไม่เกิดระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรมพื้นฐานเช่นนี้จะกลายเป็นกลโกง เพราะประชาธิปไตยคือความเสมอภาคและภราดรภาพ ถ้าไม่มีศีลธรรมประชาธิปไตยก็เป็นแค่กลโกง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค ก็จะไม่เกิดภราดรภาพ ถ้าบางคนมีเงินแสนล้านกับอีกคนไม่มีเลย จะเกิดภราดรภาพได้อย่างไร(http://www.prachatai.com/05web/th/home/13856)


การทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ผ่านเลนส์ศาสนาทำให้เห็นโลกเป็นขาว-ดำ (นักการเมืองมี 2 ประเภทเท่านั้นคือ ถ้าไม่ดีก็เลว, แต่ส่วนใหญ่จะเลวและคนก็มีเพียง 2 ประเภทด้วยเช่นกัน) การมองสังคมการเมืองแบบนี้จะไม่เห็นความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ที่ไม่อาจตัดสินถูกผิดดีชั่วได้ง่าย ๆ โลกสมัยใหม่ที่(ต้อง)แยกศาสนาออกจากการเมือง การเมืองที่ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ไม่ใช่เรื่องของคนดีและคนเลว


การเรียกร้องให้นักการเมืองเป็นคนดีอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในบริบทแบบไทย ๆ แต่มันไม่ได้ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้สามัญชนเป็นเทวดาหรือเรียกร้องให้พุทธศาสนิกชนบรรลุนิพพาน เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดจากการไม่เข้าใจและรู้จักชีวิตดีพอ เป็นการเรียกร้องที่ไม่อยู่บนฐานความจริงของชีวิต


การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ โดยใช้หลักศีลธรรมอาจน่าสนใจและพูดอย่างไรก็ไม่มีทางผิดแต่ที่จริงแล้วไร้ประโยชน์ เมื่อนายแพทย์ประเวศ วะสี บอกว่า “ถ้าไม่มีศีลธรรม ประชาธิปไตยก็เป็นแค่กลโกง” แต่หากฉุกคิดสักหน่อย เราจะพบว่าความพยายามที่จะยัดเยียดศีลธรรมลงไปในประชาธิปไตยนั้นที่จริงแล้วก็เป็นกลโกงอีกแบบหนึ่งของพวกศักดินาที่ต้องการบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย.


บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ภายใต้การนำของ สาวิทย์ แก้วหวาน ผู้ซึ่งเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน ฯ เป็นการประท้วงในสไตล์เดียวกับการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร นั่นคือเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อให้ได้ตามความต้องการของตนเอง 
เมธัส บัวชุม
หลังจากอิดออดเพื่อรักษาท่าทีแต่พองามแล้ว “ผู้ร้าย” สองคนก็เปิดตัวเปิดใจกระโจนเข้าสู่วง ”การเมือง” เต็มตัว “ผู้ร้าย” คนแรก
เมธัส บัวชุม
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี นานมาแล้วที่ผมไม่ได้ออกไปไหน เพื่อนพาไปเที่ยวป่าและแวะที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่แลดูลี้ลับ วังเวงและยากไร้
เมธัส บัวชุม
สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่กับความโง่ มีความโง่เป็นเจ้าเรือน นับวันความโง่ยิ่งแผ่ขยายแพร่กระจายไปราวเชื้อโรค หลายคนโง่โดยสุจริต  คนเหล่านี้น่าเห็นใจ ถูกครอบงำด้วยความไม่รู้  อคติ ความเกลียดชังทำให้ประสิทธิภาพในการคิดเสื่อมถอย สติปัญญาถูกบิดเบือนไป คนประเภทนี้โง่เพราะถูกอคติทำลายจนมืดบอด
เมธัส บัวชุม
  ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังรวนเรเพราะความไร้ฝีมือและความเน่าจากภายใน แทนที่จะทุ่มสมองและแรงงานเพื่อกระหนาบกระหน่ำรัฐบาลโจร คนเสื้อแดงเฉดต่าง ๆ ก็กลับใช้โอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์กันรุนแรงกระทั่งแตกออกเป็นสาย
เมธัส บัวชุม
ในโลกโลกาภิวัฒน์ที่มนุษย์กำลังเดินทางไปในอวกาศเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก และเตรียมหาที่อยู่บนดาวดวงอื่น ทั้งวิตกกังวลกับโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจทำให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์ ประเทศไทยยังคงสนุกสนานเหมือนเด็กเล่นขายของกับการกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกระทั่งล้มสถาบันสนุกครับ สนุก
เมธัส บัวชุม
ตื่นเช้าขึ้นมา หากไม่มีอะไรเร่งด่วนต้องทำ ผมจะนั่งเขียนโน่น เขียนนี่พร้อม ๆ กับที่เข้าไปในบอร์ดประชาไท อ่านกระทู้ต่าง ๆ อยู่เงียบ ๆ มานานจนเกือบจะกลายเป็นกิจวัตร (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) แต่หลังเช้าไปแล้ว ผมก็ทำอย่างอื่น ไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จึงไม่อาจติดตามความเคลื่อนไหวในบอร์ดประชาไทได้อีก ดังนั้นจึงได้อ่านเพียงบางกระทู้เท่านั้นและล้วนแล้วแต่เป็นการอ่านผ่านๆ ทั้งสิ้น
เมธัส บัวชุม
พักหลัง ผมเข้าไปเยื่ยมชมเว็บไซต์ "ASTVผู้จัดการ" บ่อยครั้ง เพื่ออยากรู้ว่าชาวสีเหลืองหรือกลุ่มพันธมิตรคิดอ่านกันอย่างไร มีนวัตกรรมอะไรบ้างในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ศึกษากลวิธีในการเต้าข่าว การใส่ไคล้ การใช้ภาษาของบรรดาคอลัมนิสต์ กระทั่งแวะเข้าไปอ่าน "เรื่องนินทาราวตาเห็น" ของ "ซ้อเจ็ด" ผู้โด่งดัง
เมธัส บัวชุม
หลายวันก่อน ได้อ่านบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ทางออกจากทักษิณ” (มติชนรายวัน, 20 ก.ค. 52.) บทความนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมากเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อเหลืองและแดง  เนื้อหาของบทความ นอกจากปัญญาชนรายนี้จะออกตัวให้กลุ่มพันธมิตรหรือเสื้อเหลืองโดยยกระดับความคิด และการกระทำของคนกลุ่มนี้ว่าเกิดจากทัศนะและความเข้าใจในประชาธิปไตยที่แตกต่างจากกลุ่มเสื้อแดงซึ่งทั้งสองกลุ่มล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อน  
เมธัส บัวชุม
นานมาแล้ว ที่ผมไม่เคยเจ็บป่วยขนาดต้องไปโรงพยาบาลหรือหาหมอ อย่างมากก็แค่ซื้อยาแก้เจ็บคอมากิน แต่ครั้งนี้เจ็บคอหลายวัน บวกกับอาการมึนหัว เบื่ออาหาร เพลีย และปวดเมื่อยเนื้อตัวอย่างหนักขนาดทาถูสบู่ตามตัวยังรู้สึกปวดไปถึงกระดูก เวลานอนต้องนอนตะแคงอย่างเดียวจะนอนหงายหรือคว่ำไม่ได้เพราะปวดเมื่อย(ขนาดนั้น) ผมจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลแม้จะยังสงสัยอยู่ว่าคิดถูกหรือผิดกันแน่ น่าตกใจพอสมควรที่คนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เต็มล้นโรงพยาบาล (แต่แทบไม่มีคนที่อยู่วัยเดียวกับผม) ผมคิดในใจว่าถ้าตนเองเป็นเพียงโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ก็คงจะมารับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่โรงพยาบาลนี่แหละ…
เมธัส บัวชุม
การล่า 1 ล้านรายชื่อของสามเกลอแห่ง "ความจริงวันนี้" เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่อดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นประเด็นให้คนเสื้อแดงถกเถียงแก้เซ็งไปพลาง ๆ โหมโรงการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป มีความคิดเห็นค่อนข้างหลากหลายในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกัน ทั้งนี้เพราะคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายในตัวเองอยู่แล้ว คือมีตั้งแต่ "แดงอนุรักษ์" ไปจนถึง "แดงถอนรากถอนโคน" ซึ่งลักษณะที่ว่านี้ไม่มีในหมู่คนเสื้อเหลือง
เมธัส บัวชุม
เป็นความคิดที่ดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความพยายามจะ “รื้อฟื้น” วันชาติขึ้น เพราะมันมีความหมายและนัยสำคัญต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทยอย่างมาก วันชาติเป็นผลพวงของการยึดอำนาจของคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสียงและความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้หลักนิติรัฐที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอกัน