เวลา 7 ปีนี่ผ่านมาเร็วพอสมควรเลยนะครับ
ใครจะคิดล่ะครับ ว่าเวลาจะเป็นสิ่งที่ผ่านไปรวดเร็วราวกับโกหก นั่งหายถอนหายได้ไม่กี่ครั้งก็ผ่านหนึ่งปีแล้ว สมดังสำนวนว่า เวลาไม่เคยคอยใคร
และเวลา 7 ปีนี้เองก็เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเชื่อว่า หากเป็นคนที่คบกันแล้วคบกันเจ็ดปีเมื่อไหร่หากไม่แต่งงานกันก็จะเลิกกันไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้น 7 ปีที่ว่านี้จึงเป็นสภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 7 ปีนี้ผมนึกถึงว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของผม พอมานั่งนึกอีกที
เราก็ผ่านอะไรมามากมายเหลือเกิน
เช่นเดียวกับบริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่มีอายุครบ 7 ปีพอดิบพอดีในปีนี้และได้สร้างหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำการเฉลิมฉลองในวาระครบ 7 ปีของบริษัทที่ตอนแรกเป็นเพียงบริษัทภาพยนตร์น้องใหม่ที่จับตามองในช่วงแรกและผงาดเป็นบริษัทภาพยนตร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดและหนังทำเงินสูงสุดในรอบหลายปีมานี้ก็เป็นของบริษัทนี้เสียส่วนมาก แถมหลายเรื่องไปถึง 100 ล้านด้วยซ้ำไปครับ
ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้มีชื่อว่า รักเจ็ดปี ดีเจ็ดหน ครับ
เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นสามเรื่องที่มีจุดเชื่อมโยงแตกต่างกันไป โดยแบ่งเป็นผลงานของผู้กำกับสามคนได้แก่ ปวีณ ภูริจิตปัญญา (บอดี้ศพ 19) , อดิสรณ์ กิตติเกษม(รถไฟฟ้า มาหานะเธอ), จิระ มะลิกุล (15 ค่ำเดือนสิบเอ็ด)
14 เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่อัพคลิปวีดีโอของแฟนตัวเองลงยูทูปด้วยความภาคภูมิใจ และคลิปพวกนี้ก็ดังขึ้นมาในหมู่ใครหลายคน จนกระทั่งเขาเกิดนำคลิปของแฟนที่มีภาพวาบ ๆ ไปลงยูทูปทำให้คลิประบาดไปทั่วและส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแฟนต้องระหองระแหงกันไปในที่สุด
21/28 เป็นเรื่องราวของอดีตดาราสาวชื่อดังในอดีตอย่าง แหม่มที่พยายามตามง้อจอห์น อดีตแฟนเก่าให้กลับมาเล่นหนังภาคต่อเรื่องดังของตัวเองในอดีตอีกครั้ง ซึ่งแหม่มนั่นคิดว่า ถ้าเธอกลับมาเล่นหนังเรื่องนี้ เธอจะกลับมาดังอีกครั้ง ทว่าการมาพบกันอีกครั้งของทั้งสองคนก็ทำให้เรื่องราวในอดีตที่ทั้งสุขและทุกข์ได้กลับคืนมาทำให้พวกเขาได้ทบทวนเรื่องราวในอดีตว่า พวกเขาทั้งคู่นั้นรักได้อย่างไรและเลิกกันได้อย่าง
42.195 เรื่องสุดท้ายที่เสมือนเป็นจุดไคล์แม็กซ์ของเรื่องนี้ เรื่องราวของผู้ประกาศข่าววัย 40 ที่กำลังเสียศูนย์หลังการตายด้วยอุบัติเหตุของสามีทำให้ชีวิตของเธอต้องจมอยู่กับความทุกข์จนกระทั่งเธอได้พบกับนักวิ่งมาราธอนหนุ่มที่ชักนำเธอให้มาวิ่งเพื่อเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ในการแข่งขันมาราธอนครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เรื่องราวที่ถ่ายทอดทั้งสามเรื่องนี้ต่างสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงไปของ GTH ได้อย่างน่าสนใจ หากนับย้อนไปยังรายชื่อหนังของค่ายนี้ก็พอจะทำให้เราเข้าใจถึงการตลาดที่ได้ผลของบริษัทนี้ที่เลือกสถาปนาตัวในฐานะค่ายหนังขวัญใจชาวกรุงและคนชนชั้นกลางได้อย่างเหนียวแน่นตลอดมา
เริ่มต้นจากหนังเรื่องแรกอย่างเป็นทางการของค่ายนี้อย่าง แฟนฉัน ที่แม้จะดำเนินเรื่องอยู่ในต่างจังหวัดตลอดเวลาก็จริง แต่ตัวหนังก็มีสภาพเป็นหนังล้วนระทึกอดีตหรือ Nostalgia ที่ใช้เพื่อปลอบประโลมคนดูส่วนใหญ่ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนทำงานในช่วงวัยสามสิบถึงสี่สิบปลายที่เหนื่อยหน่ายกับชีวิตและต้องการลืมปัจจุบันอันเส็งเครงด้วยภาพความฝันในวัยเด็กที่แสนสวยงามชวนระลึกถึง ซึ่งเรื่องราวของแฟนฉันก็ประสบความสำเร็จอย่างมากจนเป็นหนังทำเงินสูงสุดของค่ายนี้ไปพักใหญ่
และส่งให้มีหนังเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก
เช่น ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ สายล่อฟ้า แจ๋ว มหาลัยเมืองแร่ วัยอลวน 4 เพื่อนสนิท เด็กหอ แก๊งชะนีกับอีแอบ โกยเถอะโยม เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หมากเตะรีเทิร์น เก๋า เก๋า Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ แฝด ตั๊ดสู้ฟุต สายลับจับบ้านเล็ก บอดี้ศพ 19 กอด ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น สี่แพร่ง รักสามเศร้า โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต ความจำสั้นแต่รักฉันยาว หนีตามกาลิเลโอ ห้าแพร่ง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ บ้านฉันตลกไว้ก่อน พ่อสอนไว้ กวนมึนโฮ กระดึ๊บ Suckseed ห่วยขั้นเทพ ลัดดาแลนด์ วัยรุ่นพันล้าน ATM เออรักเออเร่อ และรัก 7 ปี ดี 7 หน
หากลองแบ่งตามหนังที่ว่ามาแล้วหนังของค่ายนี้ส่วนมากจะเล่าเรื่องคนชนชั้นกลางหรือคนเมืองมากเสียส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่เล่าเรื่องของคนชนล่างจริง ๆ ไม่กี่เรื่องกวาดสายตาก็จะมีหนังอย่าง สายล่อฟ้า แจ๋ว โกยเถอะโยม ตั๊ดสู้ฟุต ห้าแพร่ง เท่านั้นที่บอกเล่าเรื่องของคนชนชั้นล่างและคนชายขอบของสังคมไทย
สายล่อฟ้า บอกเล่าเรื่องราวของเซียนพระคนหนึ่งที่แอบหลงรักโสเภณีคนหนึ่งจนหลอกขายพระปลอมให้กับเสี่ยคนหนึ่งทำให้ต้องเสี่ยงภัยต่าง ๆ นานาในเมืองใหญ่อย่างพัทยา โดยมีเพื่อนจอมหาเรื่องอีกคนที่พยายามหาเงินมาใช้ แต่กลับทำเรื่องราววุ่นวาย เรื่องราวชายขอบส่วนนี้อาจจะแปลกสำหรับค่ายนี้ แต่ไม่แปลกสำหรับผู้กำกับที่ชื่อว่า ยุทธเลิศที่ทำหนังสำรวจชายขอบเหล่านี้มานักต่อนัก
แจ๋ว เป็นเรื่องราวของกลุ่มสาวใช้บ้านนอกที่กลายเป็นสายลับปกป้องประเทศชาติจากศัตรู
โกยเถอะโยม มีตัวละครเป็นชาวบ้านธรรมดากับหลวงพระที่มีอดีตฝังใจและต้องเผชิญหน้ากับการอาละวาดของเด็กผีที่สร้างความหลอนไปทั่วหมู่บ้าน ตัวละครชาวบ้านนับได้ว่าเป็นสิ่งแปลกตาในหนังของ GTH ที่เรามักจะเห็นแพลทเทิร์นเดิม ๆ ตัวละครอย่าง คนกรุงเป็นส่วนประกอบเสมอ นอกจากนี้หนังอย่าง
ตั๊ดสู้ฟุต ก็เสนอภาพของกระเทยในที่ทางที่แตกต่างออกไป (นั้นคือหนังแอ็คชั่น) และขยับขยายตั้งคำถามไปยังพื้นที่ของเพศอีกด้วย
หรือห้าแพร่งที่มีตัวละครชายขอบของสังคมไทยมาปรากฏไม่ว่าจะเป็น เด็กแว๊นปาหิน พระ เด็กขนยา นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่ล้วนแล้วแต่ประสบเคราะห์กรรมต่างวาระกันไป
และนี่น่าจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่บอกเรื่องถึงเรื่องของคนชายขอบที่ GTH เคยเล่า
ปัจจุบันไม่มีอีกเลย
ที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าของคนชนชั้นกลางเปลี่ยนไปพอสมควร โดยเฉพาะหนังปีนี้ที่มีความแตกต่างยิ่งราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบกับหนังปีก่อนทั้งคุณภาพและประเด็น
ในปี 2554 นั้น GTH มีหนังฉายสามเรื่องและสามเรื่องก็ทำเงินและบทวิจารณ์ไปได้อย่างดี อาทิ
Suckseed ห่วยขั้นเทพก็เป็นตัวแทนของแฟนฉันในยุคปัจจุบันที่ชวนให้คนอายุไม่ถึง 30 และมหาลัยได้หวลกลับไปรำลึกถึงอดีตในช่วงที่ชีวิตที่เป็น ม.ปลาย อันเป็นช่วงเวลาของความฝันที่จะได้ฝันเป็นนักร้องดังแบบพวกศิลปินต้นแบบบ้าง ซึ่งเอาจริงแล้วก็คงมีแต่คนในเมืองที่เข้าใจถึงความฝันส่วนนี้ได้อย่างไม่ขัดเขิน
ลัดดาแลนด์ หนังผีว่าด้วยคนชนชั้นกลางที่ทั้งแสบสันต์และบอกเล่าเรื่องราวของ ผี ได้น่าสนใจที่สุดนับจากมีการสร้างหนังผีเรื่องนี้มา ผีในเรื่องไม่ได้มีแค่ผีพม่าที่มีในเรื่องนั้นแต่ยังมีผีอื่น ๆ หลบซ่อนและหลอกหลอนในหมู่บ้านนี้เพื่อล่อลวงให้ผู้คนหลงเข้ามาในวังวนนี้ที่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นใครหลุดผีตนนี้ไปได้เสียที
วัยรุ่นพันล้าน หนังที่บอกเล่าการสร้างตัวของเศรษฐีหนุ่ม ต๊อบ ผู้สร้าง เถ้าแก่น้อยขึ้นมาเป็นแบรนด์ชื่อดังของประเทศที่เรื่องราวบอกเล่า การสร้างตัวของเด็กชายคนหนึ่งที่ต้องพิสูจน์ตัวเองกว่าจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจกลายเป็นหนังดีอีกเรื่องที่มีไว้ปลอบใจเหล่าผู้พ่ายแพ้ (อนึ่งคือการบอก คนชนชั้นกลางว่า อย่ายอมแพ้)
กระนั้นหนังในปีนี้ก็ทำให้ผมต้องหันมามองค่ายนี้ใหม่ว่า บางครั้งพวกเขาก็สนใจเพียงมูลค่าของรายได้มากเกินไปไหม
ATM เออรัก เออเร่อ คือตัวอย่างของการสนใจเพียงสิ่งที่เรียกว่า จำนวนเงิน มากกว่าคุณภาพของหนัง (เช่นเดียวกับตัวหนังที่พูดเรื่องของความโลภด้วยมุขตลกที่ไม่ตลก หลุดโลก ไม่เมคเซ็นท์ด้วยประการทั้งปวง) การทำเงินมหาศาลของหนังเรื่องนี้ถูกมองว่า น่ากังขาทั้ง ๆ ที่คุณภาพของหนังไม่สมศักดิ์ศรีของเงินได้ไปแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับรักเจ็ดปีดีเจ็ดหนที่เพียงแค่หน้าหนังก็ทำให้เราคาดว่า มันคงจะทำเงินมหาศาลเป็นบ้าเป็นหลังแบบเดียวกับ ATM ทำเอาไว้ เพราะเพียงแค่โปสเตอร์ก็เห็นว่า หนังมั่นใจว่า หนังจะทำเงินมหาศาล เพราะ นอกจากนักแสดงขาประจำอย่าง เก้า จิรายุ ปันปัน ซันนี่ คริส หอวังแล้ว หนังยังสร้างความฮือฮาด้วยการดึงตัว สู่ขวัญ บูลกูล และ นักร้องไทยจากวงเกาหลีอย่าง นิชคุณ มาเล่นหนังเป็นครั้งแรก แค่นี้ก็พอรู้แล้วว่า หนังต้องทำเงินแน่ ๆ เช่นเดียวกันคนหลายคนที่คาดหวังคุณภาพของหนังจะดีขึ้นกว่าเรื่องที่แล้ว
ซึ่งแน่นอนว่า หนังทำเงินไปมากพอสมควรด้วยตัวเลข 70 ล้านแต่ถามว่า ตามคาดไหม ผมว่าผิดคาดเพราะ ใครจะคิดว่า หนังจะทำเงินได้แค่นี้ทั้ง ๆ มันควรจะทำเงินมากนี้ด้วยซ้ำ (หลายคนบอกว่า อาจจะแตะร้อยล้าน)
ทำไม
สิ่งที่เราควรจะสังเกตเห็นก็คือ การที่หนังเรื่องนี้มีสภาพเป็นหนังที่สะท้อนตัวตนของคนกรุง คนเมืองได้อย่างไม่ต้องปิดบังว่า นี่คือ หนังที่ถูกสร้างมาเพื่อคนกรุงเทพโดยเฉพาะ
เริ่มต้นจากเรื่องแรกอย่าง 14 ที่บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นในยุค Social Network และ Internet กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว เราได้เห็นว่า เด็ก ๆ ในเรื่องต่างสนุกสนานกับการถ่ายรูปอัพลงเฟชบุ๊คบ้าง ยูทูปบ้าง เราได้เห็นกิจวัตรประจำวันของยุคนี้อย่างการไปเดินสยาม เดินพารากอน กินฟาสฟู้ด ถ่ายรูปอาหารโชว์ชาวบ้านที่เหมือนได้กลายเป็นเหมือนชีวิตที่ต้องทำไปแล้วในหมู่เด็กกลุ่มผู้มีอันจะกิน
และชีวิตก็ไม่มีอะไรนอกจากการทำตัวให้ดัง โดยใช้สื่อเหล่านี้ทำให้ตัวเองกลายเป็นจุดสนใจ (ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่หนังรวมเหล่าดาราชื่อดังของอินเตอร์เน็ตยุคนี้มามากมายตั้งแต่ โดม ปกรณ์ลัม พุด เดชอุดม โจ๊ก โซคูล ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเสมือนไอดอลในโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่รวมตัวละครอย่าง เมธาวี จากหนังชื่อดังในรายการบันทึกกรรมที่สะท้อนภาพของโลกยุคไซเบอร์)
และหนังสะท้อนให้เห็นภาพว่า เรื่องหนักใจในชีวิตของเหล่าวัยรุ่นในหนังเรื่องนี้มีแค่เรื่องรัก งอนง้อที่แสนน่าเบื่อ น่ารำคาญ จนมานั่งคิดว่า พวกเขาควรจะมีเรื่องอื่นให้คิดมากกว่านี้ (ยิ่งฉากการคุยกันในเว็บพันทิปนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นพวกที่อ่อนในด้านการสื่อสารกับคนรอบข้าง ตรงข้ามกับตัวตนใน Social Network อย่างยิ่ง)
สรุปคือ เรื่องราวของ 14 คือปัจจุบัน
หากตัวตนของวัยรุ่นในเมืองถูกสะท้อนออกมาจากหนังเรื่อง 14 เรื่องราวของตอนที่มีชื่อว่า 21/28 ก็พูดถึงเรื่องไร้สาระที่คนทั่วไปสนใจอย่าง เรื่องรักดารา โดยผ่านภาพของอดีตคู่รักดาราอย่าง แหม่มกับจอห์นที่เลิกรากันไปเพราะ แหม่มมีคนอื่นทำให้ทั้งคู่ทำลายซึ่งกันและกันจนไม่เหลือเยื่อใยให้กัน ภาพที่เราได้เห็นก็คือ ภาพของตัวละครที่ยังฟุ้งเฟืออยู่กับอดีต การหลงนึกว่าตัวเองยังคงดังอยู่ การใช้ของราคาแพงที่เราเห็นแล้วก็สมกับการเป็นดาราแต่ภาพมันสะท้อนถึงคนกรุงที่วัน ๆ ชีวิตวนเวียนอยู่กับ สยาม แค่นั้น
เอาแค่จอห์นทำงานเป็นนักประดาน้ำในอควอเลียมก็พอจะเข้าใจแล้วครับ
หนังสะท้อนความไร้แก่นสารของคนกรุงที่ยึดมั่นถือมั่นอดีตจนไม่มองปัจจุบัน
นี่คือเรื่องราวของอดีต
เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องราวของสู่ขวัญ ที่สูญเสียสามีจากอุบัติเหตุทำให้ชีวิตของเธอตกอยู่ในความมืดมนจนได้พบกับนักมาราธอนหนุ่มที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิต ซึ่งสะท้อนภาพถึงอนาคตการก้าวต่อไปของบริษัทแห่งนี้
หากมองจากหนังที่คงสภาพสาวใหญ่กินเด็กที่ออกมามากมายในช่วงนี้ ตอนนี้อาจจะตอนที่หลายคนคาดหวังที่สุด แต่ก็เป็นตอนที่ต้องถามว่า หนังเรื่องนี้ Big Idea หรือ ไอเดียหลักนั้นคืออะไรกันแน่
ผมไม่เข้าใจว่า หนังตอนนี้ต้องการจะบอกอะไร
ถ้าท้อใจจงวิ่งหรือ หรือว่า อะไร ผมไม่เข้าใจในสิ่งที่หนังเรื่องนี้พูดเลยแม้แต้นิดเดียว
แต่ที่แน่ ๆ เราได้เห็นวิถีชีวิตที่เสมือนถูกเลือกสรรมาอย่างดีเพื่อสะท้อนความเป็นคนเมืองได้แบบไม่ขัดเขิน ไม่ว่าจะเป็นคอนโดหรูกลางกรุง การวิ่งแข่งมาราธอน(ที่ให้ตายคนชนบทต้องถามว่า วิ่งไปเพื่ออะไร) รถยนต์หรู ชีวิตอันแสนสบาย ซึ่งเมื่อมองจากการสร้างเรื่องและตัวคนรับสารหรือผู้ชมส่วนมากแล้วไม่ผิดที่เขาจะทำหนังมุ่งเน้นให้คนกรุงสนุกสนานกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ตรงนี้แหละครับที่ไปยิ่งเพิ่มความสำคัญให้คนกรุงมากขึ้นทุกที
ถามว่าหนัง GTH มักจะได้ใจคนกรุงหรือคนรุ่นใหม่ต่างจากคนรุ่นเดิมหรือคนต่างจังหวัดที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนผูกผันใด ๆ กับเรื่องราวในหนังนี้เลยไม่ต้องไปไกลมากแค่สาวโรงงานหรือหนุ่มโรงงานก็พอเป็นตัวอย่างว่าพวกเขาต่างกันอย่างไร
ซึ่งนี่เองที่ทำให้ GTH ดำรงสภาพค่ายหนังของคนกรุง คนเมืองต่อไป แม้ว่าจะสลัดภาพค่ายหนัง Feel Good ไปแล้วแต่เรื่องราวของคนชนชั้นกลางก็ยังถูกเล่าต่อไปอย่าง Countdown เองก็เป็นตัวอย่างว่า เราให้ความสำคัญกับบางอย่างน้อยลงไป
เมื่อคนดูส่วนใหญ่คือคนกรุง คนเมือง เหตุใดจะต้องไปทำหนังที่มีคนชายขอบต่าง ๆ เป็นตัวเอกหรือดำเนินเรื่องกันเล่า
แต่นับจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ได้ผ่านไปคนกรุงได้พบกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่ทำให้จิตใจของพวกเขาอาจจะใฝ่หาเพียงแต่เรื่องเบาในสมองที่พอจะผ่อนคลายตัวเองไปวัน ๆ พวกเขาไม่จำเป็นต้องสนใจข่าวสาร พวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าอะไรคือ สิทธิมนุษยชน พวกเขาไม่เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นในรอบหลายปีนี้
พวกเขาไม่เคยเข้าใจและไม่เคยรับรู้
ได้แต่หวังว่าค่ายหนังนี้จะตาสว่างและหันมาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจกว่านี้ในอนาคตมากกว่าวิ่งวนอยู่กับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ พวกนี้เสียที เพราะ สังคมไทยยังมีเรื่องราวที่น่าเล่ามากมายกว่ามาก (และหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่การฉลองของจริง)
เพียงแต่ค่ายหนังจะเข้าใจไหม
คงยากจะตอบ
บล็อกของ Mister American
Mister American
พึ่งผ่านเหตุการณ์สั่นสะเทือนมาไม่กี่วัน หลังการสลายตัวไปของม๊อบองค์การพิทักษ์สยามของพลเอก บุญเลิศแก้วประสิทธิ์ สังคมไทยก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังตื่นตระหนกตกใจว่า ประเทศนี้อาจจะกำลังเข้าสู่สภาวะสุญญากาศเหมือนช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เ
Mister American
พูดถึง James Bond แน่นอนว่า ไม่มีใครไม่รู้จักชายคนนี้แน่นอนหากคุณเป็นแฟนนิยายอมตะของเอียน เฟลมมิ่ง หรือ เป็นแฟนภาพยนตร์สายลับที่สร้างติดต่อกันมานานถึง 50 ปี เรียกได้ว่า เป็นภาพยนตร์ที่มีซีรีย์ยืนยาวมากที่สุดและยังคงความนิยมอยู่ได้ตลอดกาล และภาพยนตร์ตอนที่
Mister American
Believe none of what you hear and half of what you see : Benjamin Franklin
Mister American
กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งออกเดินทางไปเที่ยวกันในป่าลึก ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาหวังว่านี่จะเป็นการไปเที่ยวที่สนุกสุดเหวี่ยงจนกระทั่งพวกเขาได้พบว่า ในป่าลึกแห่งนี้ไม่ได้มีแต่พวกเขาเพียงกลุ่มเดียว แต่มีบางอย่างอยู่ที่นั้น