กฏหมายอุ้มบุญ ทางแพร่งที่ต้องเลือกเดิน
เกริ่นนำ บทความชิ้นนี้เคยเขียนเพื่อเผยแพร่ครั้งหนึ่งแล้วที่ www.prachatai.com และ www.thaingo.org เพื่อเปิดประเด็นกับสังคมเรื่องกฏหมายรับจ้างตั้งท้องแทน เพื่อขยายมุมมองมากขึ้น ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์แนวคิดตนเองลงไปในบทความและนี่ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะยังมีประเด็นที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่
ภาพจาก http://babyhothit.blogspot.com/2...399.html
"โดยที่เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธ์ในปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและได้ช่วยคู่สมรสฝ่ายหญิงซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ให้สามารถมีบุตรได้ด้วยการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน แต่การดำเนินการให้มีการรับตั้งครรภ์แทนอาจก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หรือจากเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทน ประกอบกับสถานภาพทางกฎหมายของเด็กที่รับตั้งครรภ์แทนยังขาดความชัดเจน ดังนั้น เพื่อควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการรับตั้งครรภ์แทนโดยมิชอบ และกำหนดสถานภาพทางกฏหมายของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนให้มีความชัดเจนและเหมาะสมจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" (ร่างหลักการและเหตุผล พระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. ....)
ท่ามกลางกระแสสังคมที่เร่งรีบและสับสนสังคมที่มุ่งสู่กระแสแห่งความโดดเดี่ยวที่ต้องทุ่มเทให้ทั้งเวลาการงานการดำรงชีพนั้น บางคู่บางครอบครัวถึงกับไร้ซึ่งเวลาที่จะอยู่ร่วมกันและทำให้สุขภาพทางใจ สุขภาพทางกาย รวมถึงสุขภาพทางเพศ อ่อนแรงและไร้พลังจนยากที่จะมีบุตรหลาน เพื่อยืนยันถึงความเป็นครอบครัวในฝัน ทางออกของบางคู่จึงเป็นต้องใช้กรรมวิธีช่วยการเจริญพันธุ์ (Reproductive) หรือ เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ (Reproductive Technology) เพื่อให้ได้ทายาทสัญลักษณ์ความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่ว่าการที่จะได้ครอบครัวที่สมบูรณ์นั้นได้มาอย่างไร? เป็นคำถามที่น่าคิด เมื่อเกิด "ร่างพระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ ...." อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือที่สร้างเพื่อให้ตอบปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกำลังเกิดขึ้นประเด็นอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นภาพที่ควรถูกหยิบยกมานำเสนอ เพื่อหาช่องว่างและร่วมแก้ไขไปพร้อมกัน
เมื่อผู้หญิงเป็นเครื่องมือเพื่อการสืบพันธุ์
ประเด็นดังกล่าวนอกจากเป็นสิทธิทางการอนามัยเจริญพันธุ์แล้ว ยังถือเป็น "สุขภาพทางเพศ (Sexual Right) และ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Right)" ซึ่งหมายถึง สิทธิในร่างกาย สิทธิความเป็นบุคคลและสิทธิที่จะตัดสินใจอย่างเป็นอิสระได้ด้วยตัวเอง อันเป็นหลัการที่มีความหมายมหาศาลภายใต้สังคมที่ถือความสำเร็จของครอบครัวคือการมีทายาท ข้อท้าทายในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวคือ เมื่อการตัดสินใจอุ้มบุญ (อุ้มท้อง) ให้ใครคนหนึ่งมันยากเพียงไร เพราะการที่จะตัดสินใจได้นั้นต้องประกอบด้วยการที่เข้าถึงและการับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน (Right to Information and Education) ทั้งผลที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ผลที่เกิดขึ้นต่อสถานะทางสังคม หรือเรื่องอื่นๆ หากการรับข้อมูลที่ไม่รอบด้านสิ่งอันตรายที่ตามมาคือ การตัดสินใจที่ผิดพลาด และผลที่ตามมานั้นอาจเป็นทั้งประเด็น การไม่อยากรับตั้งท้องต่อไปหรือแม้กระทั่งการทำแท้งเป็นต้น รวมถึงข้อมูลที่รอบด้านนั้นจำเป็นที่ต้องยังต้องคำนึงถึงหญิงที่รับจะมาตั้งครรภ์ที่ต้องดูสภาวะการตัดสินใจ โดยตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การศึกษา อายุ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เช่น เด็กหญิงที่อยู่ในระดับเยาวชน วันหนึ่งคิดอยากรับตั้งท้องโดยได้ข้อมูลต่างๆ มา แต่อีกวันไม่คิดสิ่งตามมาเป็นอย่างไร และการที่ยังต้องเรียนและยังต้องดำเนินชีวิตในสังคมเด็กหญิงหรือเยาวชนเหล่านั้นจะรับปัญหาได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าห่วงและจำเป็นหรือต้องระบุอายุของผู้ที่จะรับตั้งครรภ์แทน โดยร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวระบุไว้เพียง (มาตรา 10 (2) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์)
ลูกของเรา (แต่) พ่อแม่เขาเป็นใคร?
ท่ามกลางการตั้งท้องอย่างยากลำบากมานาน 9 เดือนเต็ม ของคุณแม่อุ้มบุญ (คุณแม่จำเป็น) พร้อมกับการยกลูกน้อยให้ พ่อแม่ (เจ้าของไข่และอสุจิ) คำที่ได้มานั้นเป็นเพียงการขอบคุณและสัญญาที่ทำไว้เป็นกระดาษเปล่าแต่เหมือนเครื่องพันธนาการแห่งพันธสัญญา เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าคิดถึงแม้ว่าจะคิดมากยังไง แต่สายสัมพันธุ์ที่หญิงคนหนึ่งต้องอุ้มท้องมา 9 เดือน คงยากมากกับการที่จะยกลูกตนให้ใคร และคงจะยากยิ่งกว่าเมื่อความรู้สึกของคนเป็นแม่นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว การกระดาษสัญญาเพียงแผ่นเดียว (สัญญาอุ้มบุญ) เป็นเครื่องมือเพียงไรในการประกันความรู้สึก หรือ แม้กระทั่งกันความสัมพันธ์ของคำว่า "แม่" ให้เหลือแต่เพียงคำว่า "แม่อุ้มบุญ" แม่ที่ผู้ที่เขาได้อาศัยท้องเกิดมาเพื่อการดูโลกและเป็นสิ่งที่เติมเต็มให้กับบางครอบครัว หรือ ชายหญิงคู่หนึ่งเท่านั้น
อุ้มบุญเมื่อความรักกลายเป็นธุรกิจ
"อุ้มบุญ" ชื่อที่เปี่ยมไปด้วยความรักและความห่วงใย แต่เมื่ความรักความห่วงใยภายใต้อุ้มบุญโอบอุ้มแห่งความรัก มีธุรกิจแอบแฝง แต่เมื่อร่างพระราชบัญญัติรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. .... (มาตรา 7 หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่จำเป็นตามสมควร และไม่มีลักษณะเพื่อความประสงค์แห่งการค้า ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดหรือ มาตรา 10 (6) การรับตั้งครรภ์แทนมิได้เป็นไปดพื่อประสงค์แห่งการค้า) ที่บอกว่าการอุ้มบุญหรือการับจ้างตั้งครรภ์แทนนั้นต้องมิได้เป็นไปเพื่อการค้า หรือแม้กระทั่งการหวังซึ่งผลประโยชน์ อามิสสินจ้าง การกระทำนั้นมีความผิด เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปได้อย่างไรกระทั่งว่าระบบการตรวจสอบดังกล่าวจะเป็นแบบไหน เพราะการที่จ้างบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาตั้งท้องนั้น ต้องตรวจสอบเขาก่อนหรือไม่ว่าเขามีเงินเพียงไรก่อนท้อง หรือ กระทั่งขณะ ท้องหลัง เงินทองและทรัพย์สินมีมากขึ้นจนเป็นที่ผิดปกติหรือไม่ ประเด็นมิได้อยู่เพียงคำตอบเดียวเมื่อมันกลายเป็นคำตอบที่เป็นธุรกิจมนุษย์ แล้วผลที่ร้ายแรงตามมาจะเป็นอย่างไร หรือกระทบแบบไหน
ทางเลือก (ทางเสี่ยง) ที่ต้องระวัง
ร่าง พระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. .... เป็นเสมือนหนึ่งเปลวเทียนที่เติมเต็มนิยามของครอบครัวที่หลากหลายคู่ใฝ่ฝัน แต่ท่ามกลางความฝ่ฝันของใครหลายคนก็เป็นความเสียงที่ต้องตามดู ทั้งความหมิ่นเหม่ต่อเรื่องศีลธรรม สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก หรือแม้กระทั่งอาชีพ "อุ้มบุญ" ที่อาจเป็นอาชีพยอดนิยมที่ทำรายได้งามอนาคตก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นท่ามกลางทางเลือกต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรัดกุมที่ต้องติดตามดูจาก ร่างพระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. ....
หมายเหตุ ภาพประกอบจาก www.thaingo.org