ข่าวสารในโลกวันนี้มีความหลากหลาย.......
หลายอย่างก็เป็นความจริงที่เสนอตัวเองอย่างครบถ้วนรอบด้าน พอๆกับที่หลายอย่างก็เป็นความเท็จหรือจริงปนเท็จที่แต่งเติมเสริมเรื่องราวจนโอเวอร์เกินไป
วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาผมได้เดินทางไป บ้านห้วยหก ต.เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เดินทางไปพร้อมกับข้าวสารห้ากระสอบ(กระสอบละห้าสิบกิโลกรัม) พร้อมขนมปี๊บและขนมขบเคี้ยวอื่นๆ มูลเหตุที่เดินทางไป ก็เพราะ ได้อ่านเจอข่าวชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนจากการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้,อุทยานแห่งชาติและทหารสนธิกำลังกันเข้าไปไล่ที่ของชาวบ้าน พร้อมทั้งตัดฟันพืช เช่นข้าวไร่และข้าวโพดของชาวบ้าน จากเพจองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ใช้ชื่อว่า มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
ทางเข้าไปหมู่บ้านห้วยหก จะผ่านทุ่งนาที่ราบริมน้ำผืนใหญ่ ตอนนี้เก็บเกี่ยวข้าวออกจนหมดแล้ว จึงกลายเป็นที่เลี้ยงสัตว์
ก็เดินทางไปกัน จริงๆ ทางเพจก็มีเขียนบอกว่า ให้ติดต่อไปที่องค์กรของเพจซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ได้ สำหรับผู้ที่อยากบริจาคข้าวหรือเงินทองสำหรับช่วยชาวบ้าน แต่ ก็พอดีวันที่10 เป็นวันหยุด อีกอย่าง ผมอยู่จังหวัดพะเยา หากเดินทางเอาข้าวสารห้ากระสอบมาส่งให้มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ระยะทางก็ไกล ไม่ต่างจากที่ผมเดินทางเข้าไปเวียงแหงเพื่อเอาไปให้ชาวบ้านเองอยู่แล้ว ผมเลยไม่เข้าไปทั้งไม่ติดต่อกับคนของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่ง ตรงนี้ก็เป็นนิสัยส่วนตัวของผมอยู่แล้วที่ว่า ชอบเดินทาง ชอบเข้าไปดูพื้นที่ที่เกิดปัญหาจริงๆว่ามันเป็นไง(ผมเชื่อคนยาก ผมเคยเรียนสื่อฯ นิสัยนี้อาจติดตัวมาจากตอนนั้น)
การเดินทางก็ไกล จากพะเยามาเชียงราย-พาน-แม่สลวย-ฝาง-ไชยปราการ-เชียงดาว ก่อนจะขึ้นเขาข้ามห้วยไปเวียงแหง จึงไปถึงเมื่อบ่ายแก่ๆ ราวบ่ายสามโมงเศษ คราวนี้ ทำไง? ไปถึงแล้ว จากประสบการณ์การเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เราก็ต้องติดต่อหาผู้นำชาวบ้าน ผู้นำชุมชนเสียก่อน เพราะจากข่าวที่ว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 15ครอบครัวนี่ เราจะเอาไปแจกเอง หรือให้เขาแจกเองก็คงไม่ใช่เรื่อง ผู้นำชุมชนจะรู้ดีมากกว่าว่า ใครบ้างที่ลำบากและได้รับผลกระทบมากที่สุด และจะสามารถจัดการแบ่งปันได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมที่สุด ผมจึงถามหาบ้านพ่อหลวงจากชาวบ้านที่เดินๆอยู่ข้างถนนในหมู่บ้าน ซึ่งเขาก็บอกทางไปบ้านพ่อหลวงให้
บ้านห้วยหกนี้ เป็นหมู่บ้านที่มีความเจริญพอสมควรทีเดียว มีสาธารณูปโภคครบครัน ไฟฟ้า ประปา สัญญาณมือถือ อินเตอร์เน็ต3G อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงประมาณ 2กิโลเมตร คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ซึ่งก็คือ คนเหนือทั่วๆไปนี่เอง พ่อหลวงสีทนต์หรือกำนันสีทนต์(เป็นกำนันของตำบลเวียงแหงด้วย)บอกว่า คนรุ่นพ่อของแกอพยพมาจากสันป่าตอง เชียงใหม่ มาตั้งรกรากที่นี่ตั้งแต่ก่อนแกเกิด บ้านห้วยหกเป็นชุมชนที่ใหญ่พอสมควร มีครัวเรือนราวร้อยกว่าครัวเรือน ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ และมีชาวลีซูอพยพมาอยู่ร่วมด้วยที่ท้ายหมู่บ้าน เริ่มอพยพมากันเมื่อราวปี พ.ศ.2542-2543มานี้เอง ก่อนที่หลังๆจะอพยพมาเพิ่มเรื่อยๆ
นั่งพูดคุยถามเรื่องราวกับพ่อหลวง หรือกำนันสีทนต์ แก้วฝั้น
เมื่อผมเข้าไปบ้านพ่อหลวงก็ยังไม่เจอใคร เรียกหาอยู่นานพอสมควร เมียพ่อหลวงจึงได้เดินออกมาจากป่าหลังบ้าน ก็จึงได้ทักทายคุยกัน ก่อนที่พ่อหลวงจะเดินมาจากทางหน้าบ้านเข้ามาสมทบ แกบอกว่า แกเพิ่งพา ท่านรองฯกระทรวงทรัพฯไปเดินสำรวจพื้นที่ป่ามา (ตอนผมเข้าไป ที่ปากทางหน้าหมู่บ้าน มีเฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายคนเฝ้าอยู่) สักพัก ระหว่างนั่งคุยกับพ่อหลวงเฮลิคอปเตอร์ก็บินขึ้นออกไปจากหมู่บ้าน
พ่อหลวงและภรรยา ก็มองดูผมอย่างชั่งใจ ว่าจะมาประมาณไหน? ก่อนที่แกจะถอนหายใจ แล้วบอกว่า จริงๆ แล้ว ไอ้เรื่องข่าวที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เน็ต ในเพจต่างๆนั้น มันไม่จริง มันไม่ถูกต้องทั้งหมด เป็นการเขียนขึ้นมาแบบเสริมแต่งของเพจ ซึ่งก็น่าจะเป็นNGOsขององค์กรนั้นๆ
พ่อหลวงบรรยายว่า จริงๆแล้ว เรื่องที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดฟันพืชไร่ของชาวลีซูนั่นเป็นจริง แต่ มีความจริงตรงนี้ว่า ไม่ได้เป็นการตัดฟันทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สมมุตว่า ชาวลีซูครอบครัวนี้ เมื่อตอนอพยพมาอยู่ ได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่นี่ 5ไร่ เขาก็จะมีที่ดินอยู่ห้าไร่ ที่ยังเป็นที่ไม่มีโฉนด อาจมีใบเสียภาษีดอกหญ้าบ้าง อันนี้ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็อนุญาตให้เขาสามารถเพาะปลูกทำมาหากินได้ แต่... แล้วชาวบ้านครอบครัวนี้ก็ได้ไปตัดฟันพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นเขตป่าอุทยานห้วยน้ำดังเพิ่ม สมมติว่าตัดฟันได้ประมาณสองงาน(เฉพาะครอบครัวนี้) แล้วทำการเพาะปลูกข้าวไร่และข้าวโพด(พื้นที่ ที่บุกรุกเพิ่มเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากพื้นที่ที่ตนซื้อมา) ซึ่งเมื่อตอนที่ชาวบ้านลีซูรุกป่าใหม่ๆ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทางพ่อหลวงก็ได้ไปบอกแล้วว่า ให้พวกเขาหยุดรุกล้ำพื้นที่ แล้วให้ถอยกลับมาอยู่เขตแดนเดิมของตน แต่ชาวลีซูก็ไม่ฟัง เมื่อรุกไปตัดฟันป่า เผาป่าให้พื้นที่เตียนแล้ว ก่อนที่พวกเขาจะเพาะปลูก ทางพ่อหลวงก็ได้เข้าไปบอกซ้ำอีกครั้งว่า อย่าได้ปลูก เพราะเดี๋ยวเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาจะเข้ามาผลักดันเอาพื้นที่ป่าคืนแน่ๆ แต่ชาวบ้านลีซูก็ไม่ฟัง ก็ปลูกไป เมื่อช่วงต้นฤดูฝน หลังเพาะปลูกแล้ว พ่อหลวงก็ยังได้เข้าไปบอกอีกว่า ไม่ต้องซื้อปุ๋ยมาใส่พืชที่เพาะปลูกในพื้นที่บุกรุกหรอก เพราะถ้าเจ้าหน้าที่มาไล่ยึดที่คืน เขาจะตัดฟันทิ้ง จะทำให้เสียปุ๋ยเสียเงินค่าปุ๋ยเปล่าๆ แต่ชาวบ้านลีซูก็ไม่ฟัง ก็ยังทำการใส่ปุ๋ยไปตามที่อยากจะทำ
พอเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกันเข้าไปยึดพื้นที่คืน ก็จึงได้ทำการตัดฟันพืชที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่บุกรุกออกจนหมด (เน้นว่าตัดเฉพาะที่ปลูกในพื้นที่บุกรุก) เพื่อเป็นการยึดพื้นที่ป่าคืนมา ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ชาวบ้านลีซูกลุ่มดังกล่าวที่มีคนรู้จักและทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่เชียงใหม่ ก็ได้ตีแผ่ข่าวออกมา ว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำการเข้าไปไล่พื้นที่ชาวบ้านตัดฟันพืชไร่ทั้งข้าวโพดและข้าวไร่ของชาวบ้านจนหมด จนชาวบ้านไม่มีข้าวไว้เก็บกิน จากนั้นก็ขอรับบริจาคกองทุนข้าวเพื่อชาวลีซูบ้านห้วยหก
ครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อ่านข่าวจากเพจดังกล่าวแล้วก็นึกว่า ทำไม?เจ้าหน้าที่ถึงได้โหดร้ายใจอำมหิตนัก ทำไมไปไล่ตัดฟันพื้นที่ของเขา ไม่รอให้เขาเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน... พ่อหลวงก็จึงได้บอกว่า มันเป็นการเขียนบอกข่าวแบบเกินจริง ไม่ใช่ความจริง แกเล่าต่อว่า จริงๆ ชาวลีซูกลุ่มนี้มีฐานะพอสมควร ทำการเกษตรเพาะปลูกพืช แต่ก็มีบางบ้านที่ลูกหลานไปทำงานต่างประเทศแล้วส่งเงินมา ได้สร้างบ้านใหม่ ซื้อรถราใหม่ขับ และทุกบ้าน ล้วนมีที่ทำกิน(ที่ซื้อจากชาวบ้านเมื่อตอนอพยพมาใหม่)กันอยู่แล้ว อาจจะคนละเล็กละน้อย 5ไร่ 8ไร่ (มีการแบ่งขายให้แก่ผู้ที่อพยพมาอยู่ทีหลัง) แต่ก็ถือว่ามี ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว และอยู่ที่นี่ ชาวลีซูคงรู้สึกว่าสบายดี เพราะจะมีการอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มเป็นประจำ วันปีใหม่ของลีซูทีหรือเทศกาลอื่นๆ พี่น้องชาวลีซูที่อยู่หมู่บ้านตามป่าเขาเขต อ.ปาย หรือชายแดนก็จะมาเที่ยว เมื่อมาเที่ยว บางคนก็อาศัยอยู่เลย โดยอยู่ร่วมในบ้านของชาวลีซูที่เข้ามาอยู่ก่อนนั่นเอง จากนั้นก็อาจจะหาคู่แต่งงานทำมาหากินสร้างครอบครัวอยู่ที่นี่ต่อไป ตอนนี้ชุมชนชาวลีซูบ้านห้วยหกจึงใหญ่มาก มีครัวเรือนประมาณ40ครัวเรือน มีเด็ก มีวัยรุ่นอยู่เยอะ และมีปัญหาในการปกครอง คือ ชาวลีซูไม่ยอมเข้ามาร่วมประชุมกับชาวหมู่บ้าน ประกาศเสียงตามสายเรียก ก็ไม่มา ไปบอกถึงบ้านก็ไม่มา อยู่กันอย่างเอกเทศ ไม่ขึ้นต่อการปกครองของพ่อหลวงและกำนัน(คนเดียวกัน) โดยที่ทางฝ่ายปกครองก็ได้เป็นผู้จัดหาไฟฟ้า ปะปาเข้าไปให้ในชุมชนลีซู
สภาพบ้านเรือนของชาวลีซูบ้านห้วยหกที่บุกรุกป่า ฐานะก็ปานกลางสำหรับชาวบ้านในชนบท มีหลังเดียวที่เป็นบ้านฝาไม้ไผ่พื้นดิน
(ผู้ถ่ายภาพ กำนันสีทนต์ แก้วฝั้น)
ในทัศนะของพ่อหลวง บอกว่า ชาวลีซูกลุ่มนี้ค่อนข้างมีปัญหา คือหัวแข็ง ไม่ยอมเชื่อฟังหรือเข้าร่วมประชาคมกับชาวหมู่บ้านดังกล่าว แกเล่าว่า เคยสืบไปถึงบ้านเดิมชุมชนเดิมของพวกเขา ก็พบว่า มีปัญหาอย่างนี้เช่นกัน คือกับชุมชนเดิมที่เป็นชาวลีซูเหมือนกันก็ไม่เชื่อฟังกลุ่ม ไม่เชื่อฟังแกบ้าน พ่อหลวงบ้าน เช่นกัน ตราบจนอพยพมาอยู่ที่นี่ ก็ยังเป็นอย่างที่กล่าวมา(กลุ่มอพยพมามีอย่างน้อยสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มาจากบ้านสาขาของบ้านห้วยหก เป็นหย่อมบ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างทางไปอำเภอปาย และอีกกลุ่มมาจากบ้านป่าแขม)
ผมจึงสงสัยว่า แล้วพวกเขารู้จักองค์กรพัฒนาเอกชนที่อยู่ในเชียงใหม่ได้อย่างไร พ่อหลวงบอกว่า ก็มีบางคนที่ได้ออกไปทำงานข้างนอกก็ได้รู้จักกันและมีสายสัมพันธ์กัน จริงๆ ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่านี้ มันเคยมีมาก่อนแล้ว ตั้งแต่สมัยที่พวกเขามาอยู่ใหม่ๆ คือ พ่อหลวง ที่เมื่อก่อนเป็นพ่อหลวงอย่างเดียว(ได้เลือกเป็นกำนันทีหลัง) ได้ขอกันเขตป่าจากอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มาทำเป็นพื้นที่ป่าชุมชนของบ้านห้วยหก ราวพันกว่าไร่เมื่อประมาณปี2546 เมื่อชาวลีซูเข้ามา ก็มีการรุกตัดฟันถางป่าชุมชนเช่นกัน พ่อหลวงกับชาวบ้านอื่นๆก็จึงไปเฝ้าบ้าง ไปห้ามบ้าง และจนถึงผลักดันให้ออกมา โดยการเข้าตัดฟันพืชที่ชาวลีซูเพาะปลูกในพื้นที่เขตป่าชุมชน จนผลักดันออกมาสำเร็จในปี พ.ศ.2552 ตอนนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนก็เข้ามา มีการเดินเรื่องฟ้องร้อง ว่าพ่อหลวงบุกรุกทำลายพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านลีซู มีการฟ้องกันในปี พ.ศ.2553 เพื่อจะให้พ่อหลวงพ้นจากตำแหน่งและโดนลงโทษในข้อหาละเมิดสิทธิชุมชน ก็มีการต่อสู้กันเรื่อยมา จนเรื่องเงียบจบไปไม่กี่ปีนี่เอง โดยคณะกรรมการสิทธิ์จากกรุงเทพฯได้เข้ามาสอบปากคำพ่อหลวงถึงบ้าน และได้มีมติพร้อมประกาศออกเป็นคำสั่งมาว่า การฟ้องร้องกล่าวหากันดังกล่าว ไม่เป็นความจริง พ่อหลวงสีทนต์จึงพ้นคดีเมื่อครั้งนั้นไป ก่อนที่จะมาเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกครั้ง คือ พอบุกรุกป่าชุมชนไม่ได้ ก็เปลี่ยนมารุกป่าด้านอุทยานฯแทน
โดยพ่อหลวงยืนยันย้ำว่า พื้นที่การเกษตรของชาวลีซูที่ถูกตัดฟันนั้น ตัดฟันเฉพาะตรงที่เพาะปลูกรุกพื้นที่ป่า ไม่ได้ตัดฟันทั้งหมด ส่วนที่เพาะปลูกในพื้นที่เดิมของพวกเขาก็ยังอยู่และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เช่นเดิม โดยพื้นที่รุกป่าของแต่ละครอบครัว มีประมาณครอบครัวละไม่มาก อาจจะสองงาน สามงาน และมีครอบครัวที่บุกรุกแค่ประมาณ 7ครอบครัวรวมๆพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่ยึดคืนจากชาวลีซูประมาณสิบกว่าไร่ และพื้นที่บุกรุกนั้นนอกจากชาวลีซูในบ้านห้วยหกที่บุกรุกแล้ว ก็ยังมีชาวลีซูจากหมู่บ้านอื่น เช่นบ้านปางควาย ซึ่งอยู่ไกลออกไปมาร่วมบุกรุกอีกด้วย พ่อหลวงเคยเชิญมาร่วมประชาคมในหมู่บ้านเลยว่าจะทำอย่างไร? จะแก้ปัญหาอย่างไร? แต่ชาวลีซูก็ไม่เข้ามาร่วม
ในการบุกรุกพื้นที่ป่านี้ นอกจากชาวลีซูที่บ้านห้วยหกและบ้านอื่นๆจะเป็นผู้บุกรุกดังที่กล่าว ก็ยังมีชาวบ้านคนเมืองบางส่วนร่วมบุกรุกเช่นกัน กระทั่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของพ่อหลวงเอง ก็มีหนึ่งคนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าราวสิบไร่ และก็ถูกตัดฟันพืชที่ปลูกเช่นกัน ก็มาขอให้พ่อหลวงช่วย แต่แกก็บอกว่าไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง ก็บุกรุกพื้นที่ป่ากันจริงๆ ก็มีแต่ต้องคืนพื้นที่ป่า หยุดรุก แล้วออกมาเท่านั้นเอง ทำให้ผู้ช่วยฯคนดังกล่าวก็ไปเข้าร่วมกับชาวลีซูเคลื่อนไหวเรียกร้องผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนอีกเช่นกัน
เมื่อถามว่า ที่สุดของข้อเรียกร้อง พวกเขาต้องการอะไร? พ่อหลวงบอกว่า ก็คงอยากได้ อยากครอบครองพื้นที่ป่าที่ตนบุกรุกนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ มันจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อตนทำผิด แล้วจะเรียกร้องให้ได้สิทธิ์ในการทำผิด ถ้ากลุ่มนี้ได้ ต่อๆไป มันก็จะมีกลุ่มอื่นๆทำตามๆกันอีก เพราะเห็นว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ บุกรุกป่าแล้วได้พื้นที่ป่า ต่อไป เขาแถบนี้ก็คงหัวโล้นกันหมด ส่วนความเห็นของชาวหมู่บ้านอื่นๆ บอกว่า ก็ไม่เห็นด้วยกับการจะเอาพื้นที่ป่าอย่างนี้ และบางคนก็กลัวว่า การเรียกร้องที่เกินเลยอย่างนี้จะทำให้ป่าไม้และอุทยานฯเข้ามายึดพื้นที่ของพวกเขา หรือเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินอื่นๆอีกด้วย (พื้นที่การเกษตรรอบหมู่บ้าน ส่วนน้อยที่มีเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. ภบท.5 ส่วนมาก จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้มาทำการสำรวจรังวัดไว้แล้วว่าพื้นที่เป็นยังไง ขนาดไหน และอนุญาตให้ทำกินได้ อย่ารุกเพิ่มเกินกว่านั้น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยอมตามข้อตกลงนี้) เหตุนี้ การเรียกร้องของชาวบ้านลีซูผ่านเพจขององค์กรพัฒนาเอกชนครั้งนี้ จึงไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวหมู่บ้านอื่นๆและผู้นำชุมชน ก็ด้วยเหตุ เช่นที่กล่าวมา
ครับ เมื่อรับทราบเรื่องราวอย่างนี้ ในมุมมองนี้แล้ว ก็ยอมรับเลยว่า ผมเงิบไปเหมือนกัน เงิบ จนต้องมาคิดว่าเราเงิบเพราะอะไรเลยทีเดียว คือ... ในการเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆที่ผ่านมา ส่วนมากชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะได้รับผลกระทบจริงๆ และชาวบ้านรวมทั้งผู้นำชุมชนก็จะร่วมใจกันต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เช่น ที่สะเอียบ ที่ผาวิ่งจู้ แม่แจ่ม แต่พอมาเจออย่างนี้ ผมก็เลยเงิบ ที่ชาวบ้านบางส่วนรวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกันต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ชาวบ้านได้สิทธิ์ในการบุกรุกพื้นที่ป่า...???
จากอาการเงิบดังกล่าว ผมก็จึงต้องกลับมาอ่านข้อความในเพจขององค์กรมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือซ้ำอีกที ว่า เขาเขียนอย่างไร จึงทำให้ผมรู้สึกว่าเงิบเมื่อเจอความคิดเห็นอีกชุด
ภาพที่เผยแพร่ในโพสต์ของเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ที่มีผลให้ผมออกเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านห้วยหก
เริ่มจาก ทางเพจใช้คำว่า “จากกรณีพี่น้องลีซูบ้านห้วยหก ต.เวียงแหง อ.เวียง” คำนี้ เมื่ออ่านครั้งแรก มันทำให้ผมคิดว่า นี่คือหมู่บ้านป่าที่เป็นของชาวลีซูทั้งหมด คือ ทั้งหมู่บ้านเป็นชาวลีซูหมดเลย ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น จากประสบการณ์ การรอนแรมในแถบตะวันออกของภาคเหนือมาหลายปี มันก็ให้ภาพว่า เป็นหมู่บ้านชนเผ่า ที่ปลูกเรือนอยู่ตามไหล่ดอย บ้านไม้ไผ่ มุงด้วยจากหรือตองตึง อย่างมากก็สังกะสี น้อยหลังจะเป็นกระเบื้อง แม้จะแปลกใจอยู่บ้างกับ เขตตำบล ที่มันเป็นตำบลเวียงแหงที่อยู่ในตัวอำเภอ และเมื่อเข้าไปดูในแผนที่กูเกิลก็เห็นว่ามันอยู่ใกล้อำเภออย่างมากก็ตาม แต่ผมก็ยังคิดว่า เออ.. มันอาจเป็นบ้านป่าที่อยู่หลังเขาอีกฟากดอยก็เป็นไปได้ ก็นึกภาพเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางดงดอยหัวโล้นที่มีไร้ข้าวโพดข้าวไร่รายรอบ เช่นเมืองน่าน
ประโยคต่อมา “ ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานห้วยน้ำดังเข้าตัดฟันข้าวไร่ข้าวโพด จำนวน 15ครอบครัว เป็นพื้นที่ราว 40ไร่ ส่งผลให้พี่น้องได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้าวที่ถูกตัดฟันไปนั้น เป็นข้าวที่ปลูกไว้กินในครอบครัวตลอดทั้งปี” ครับ ประโยคนี้สั้นๆ ไม่กี่บรรทัด แต่กินใจอย่างแรก และเรียกไลค์ เรียกแชร์ รวมทั้งเรียกคนให้มาด่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และฝ่ายปกครองอื่นๆได้มากมายมหาศาล(เข้าไปอ่านความเห็นในเพจได้) พ่อหลวงบอกว่า เมื่อข่าวเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป บ้านห้วยหกก็ดังขึ้นมาทันที มีหลายคนที่บึ่งรถเข้าไปในหมู่บ้าน ไปถึงก็ด่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กันฉอดๆ พ่อหลวงก็ถูกด่าเช่นกัน ว่าไม่ทำการปกป้องชาวบ้าน.... (และนี่ก็คงเป็นเหตุที่ทำให้แกมองผมอย่างชั่งใจตอนแรกเจอหน้ากัน) ซึ่งจากข้อความวรรคข้างบน พ่อหลวงบอกว่า เรื่องจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ มีชาวลีซูในบ้านห้วยหก 7ครอบครัว มีคนเมือง คือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และลีซูจากหมู่บ้านอื่นอีกบางส่วน ส่วนพื้นที่ที่ถูกตัดฟันนั้น พ่อหลวงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตัดฟันเฉพาะส่วนที่ปลูกบนพื้นที่บุกรุก รวมๆแล้ว ประมาณสิบกว่าไร่ ไม่ถึง 40ไร่ อย่างที่ทางเพจเขียนมา ดังนั้น หากข้อความที่ทางพ่อหลวงพูดมานี้เป็นจริง มันก็จะมาแก้ข้อความที่ตามหลังอื่นๆในเพจดังกล่าว ที่ว่าชาวบ้านถูกตัดฟันข้าวไร่จนไม่มีข้าวไว้เก็บกินได้หมดเลย เพราะ เมื่อตัดฟันเฉพาะพื้นที่ ที่บุกรุก ส่วนที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เดิมของชาวบ้านก็ยังอยู่ และพวกเขาก็ได้เก็บเกี่ยวไปจนหมดแล้ว มีข้าวใหม่ไว้ทานแล้ว(แต่อาจมีน้อยลงหน่อย)
ผมจะไม่ขอพูดถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับบริจาคต่างๆของทางองค์กรแล้วกัน แต่เอาเป็นว่า จากเฉพาะสองข้อความกินใจที่ผมยกมาข้างบนนี้ ในตอนนี้ มันมีข้อมูลที่แตกต่างมาโต้แย้งแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า ในเรื่องนี้ มันมีข้อเท็จจริง สองทาง ที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมีสักทางแน่ๆที่ผิด ไม่ถูกต้อง ส่วนจะเป็นทางไหนนั้น สาธารณชน คนผู้ติดตามข่าวนี้ก็ควรจะได้เปิดรับข้อมูลใหม่ๆจากแหล่งต่างๆให้ครบถ้วนรอบด้วน และ/หรือหากสามารถ จะเข้าไปเยี่ยมเยือนพื้นที่ ที่เกิดปัญหาด้วยก็ได้ ซึ่งสำหรับทางพ่อหลวงบ้านห้วยหกที่เป็นกำนันตำบลเวียงแหงด้วย นายสีทนต์ แก้วฝั้น ท่านก็ยินดีต้อนรับ แขกผู้มาเยือนทุกๆท่านเช่นกัน ครับ
และผมขอเพิ่มข้อสังเกตเกี่ยวกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกว่า ตอนที่ชาวลีซูบุกรุกป่าชุมชนของหมู่บ้านห้วยหก ทำไม? องค์กรพัฒนาเอกชนจึงได้เข้าไปร่วมช่วยเหลือชาวลีซูทันที ทั้งที่ การบุกรุกพื้นที่ของชาวลีซูครั้งนั้นผิดกฎหมู่บ้าน และผิดกฎหมายชัดเจน ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลใดๆเลยหรือว่า ชาวบ้านทำอะไร? บุกรุกพื้นที่ไหน? จึงได้ถูกผลักดันออกมา คุณเรียกร้องสิทธิ์ของชาวบ้าน พาชาวบ้านไปฟ้องร้องผู้นำชุมชนที่ทำหน้าที่รักษาป่าชุมชน ผมว่า มันเป็นการตัดสินใจทำงานด้านสิทธิ์ที่ตลกและห่วยแตกมาก
จนมาถึงกรณีที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ข้อมูล สิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือได้ทำการเผยแพร่ในโลกอินเตอร์เน็ต ก็แตกต่างจากปากคำของฝ่ายชาวบ้านอื่นๆ เจ้าหน้าที่ฯและผู้นำชุมชนชัดเจน เอาแค่ข้อมูลที่ผมยกมาวางไว้ข้างบน ก็คงจะเห็นแล้วว่า มันต่างกันขนาดไหน ยังมีอย่างอื่นอีกด้วยนะ เช่น NGOsท้าให้เจ้าหน้าที่ เอาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมายืนยันว่า พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ยึดเป็นของชาวบ้าน โดยNGOsเสนอให้เอาแผนที่ในปี พ.ศ.2545 แต่ทางพ่อหลวงยืนยันว่า การบุกรุกเพิ่งมีขึ้นเมื่อสองปีที่ผ่านมานี่เอง ไม่ต้องใช้แผนที่ทางอากาศในปี2545หรอก เอาแผนที่ทางอากาศในปี2548มายืนยันก็ได้ ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าจริง! พวกเขาบุกรุกป่าชุมชนก่อน เมื่อถูกผลักดันออกจากป่าชุมชน จึงเปลี่ยนมารุกพื้นที่ป่าอุทยานฯทางนี้แทน
ก็เท่าที่ทราบ องค์กรดังกล่าวก็ไม่เข้าไปหาผู้นำชุมชน เข้าหาแต่ชาวบ้าน พาชาวบ้านลีซูไปเดินเรื่อง เรียกร้องสิทธิ์ตามที่ต่างๆ รวมทั้งเอามาเขียนบนหน้ากระดานเฟซบุ๊ก สร้างความเข้าใจเฉพาะในมุมที่ตนต้องการกับสังคม เรียกไลค์ แชร์ และก็ขอรับบริจาคกันไป
หมู่บ้านห้วยหก ถูกล้อมด้วยป่าเขาที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนประมาณพันกว่าไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
พื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่พิพาทของชาวบ้านอยู่ตีนดอยเบื้องหน้า
และในความเห็นส่วนตัวของผม ที่เป็นคนที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสิทธิชุมชนมานานพอสมควร การที่ผมอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ อยู่ติดจังหวัดน่าน ที่มีการบุกรุกป่าจนเทือกดอยหัวโล้นกันมาก ผมเห็นว่าการจะอนุรักษ์ป่า คุณจะต้องให้สิทธิ์ในการรักษาป่าแก่ชุมชนรอบป่า ซึ่งการรักษาป่าของชาวบ้านนั้นๆ จะเข้มแข็งหรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้นำชุมชน ถ้าผู้นำชุมชนเข้มงวด รักษากฎจริงจัง ป่าไม้รอบชุมชนก็จะยังอยู่ กันพื้นที่ป่าเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรบางอย่างได้อย่างมีกฎเกณฑ์ คนก็อยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆควรที่จะสนับสนุนส่งเสริม ให้ชาวบ้านชุมชนมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่ไปใส่ใจแก่คนผิด คนบุกรุกป่า มาเดินนำช่วยเหลือเรียกร้องสิทธิ์ในการบุกรุกและครอบครองพื้นป่าให้แก่คนที่บุกรุก สร้างกระแสในสังคมให้เกิดความเกลียดชังกับคนที่รักษาป่า พิทักษ์ป่า เพื่อให้ผู้บุกรุกป่าได้รับสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ป่า ซึ่งมันตลกและผิดปกติมากๆ
ในเรื่องนี้ ถ้าไม่มีองค์กรเอกชนจากภายนอกเข้ามาดันหลัง ชาวบ้านก็คงจะยอมตามข้อตกลงของเจ้าหน้าที่อย่างง่ายๆ และอาจจะมีท่าทีอ่อนลงแล้วเข้าร่วมประชุมประชาคมกับทางหมู่บ้านห้วยหก เรื่องทุกอย่างก็จะไม่ดราม่าบานปลายจนผมต้องขับรถขนข้าวข้ามจังหวัดไปอย่างนี้ ซึ่งก็ขอยืนยันซ้ำอีกครั้งตรงนี้ว่า พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านลีซูบ้านห้วยหกที่ถูกตัดฟันนั้น ถูกตัดเฉพาะพื้นที่ที่รุกคืบเข้าไปในเขตป่า ที่ทางอุทยานได้มีการกันเขตไว้ให้แล้ว ไม่ได้ตัดทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ที่อุทยานทำข้อตกลงไว้นั้น ก็ยังอยู่เหมือนเดิม และชาวบ้านก็ได้ทำการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยไปแล้ว การเอามาเขียนดราม่าว่า ถูกตัดฟันหมด ได้รับผลกระทบมากจนไม่มีข้าวไว้เก็บกินทั้งปีนี่ มันตลกมาก เราก็ไม่รู้จะพูออย่างไรแล้วนอกจากพูดว่า ตลกมาก เพราะสำหรับคนเงิบอย่างผมนี่ มันรู้สึกเหมือนเป็นไอ้โง่ที่เชื่อเรื่องโกหกจนหัวปักหัวปำจนมืดบอดแล้วได้เดินเข้าไปชนกับความจริงอย่างจัง จนรู้สึกเงิบอย่างแรก... แรกๆก็พูดไม่ออก แต่ตอนนี้ ถ้าไม่ให้พูดว่ามันตลกมาก ก็คงจะมีแต่คำด่าอย่างเดียว ไม่ใช้ด่าชาวบ้านนะ แม้จะรุกป่า ผมก็ไม่ด่าหรอก แต่จะด่ากลุ่มคนที่เอาเรื่องมาเขียนแต่งเติมสีใส่ไข่ดราม่าจนผมเชื่อแล้วเงิบมากกว่า แต่... ก็ไม่อยากจะด่าใครในพื้นที่ตรงนี้ ผมก็ขอใช้คำว่า มันตลกมาก ก็แล้วกัน
ส่วนเรื่องการเยี่ยวยา ที่ทางเพจเขียนว่า อุทยานฯให้เงินเยียวยามาหนึ่งหมื่นบาทนั้น ตรงนี้เป็นความจริงครับ ให้มาหนึ่งหมื่นบาทเพื่อให้แบ่งกัน7-8ครอบครัวที่รุกป่านั้น ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นค่าเมล็ดพันธุ์พืชที่ซื้อมาปลูกและถูกตัดฟันไป ไม่ใช่เป็นค่ายึดคืนพื้นที่ครับ
ทางเพจเรียกร้องว่า การยึดคืนพื้นที่ควรใช้กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีส่วนร่วม อันนี้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบนว่า เมื่อมีการประชาคมหมู่บ้าน ชาวลีซูก็ไม่เข้ามาร่วมกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน ทำให้นำมาอ้างว่า ข้อตกลงต่างๆที่ทางป่าไม้อุทยานทำไว้กับชาวบ้านห้วยหก(คนเมือง)นั้นไม่เกี่ยวข้องกับตน พฤติกรรมการตั้งตัวเป็นเอกเทศอย่างนี้ของชาวลีซู ถือว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ทุกท่านที่อ่านตรงนี้ ควรพิจารณากันเองครับ(จากข้อมูลที่เพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือโพสต์ในวันที่ 27 พ.ย. 2557)
อีกเรื่อง คือ ที่ทางเพจบอกว่าชาวบ้านถูกยึดคืนพื้นที่ราว 40ไร่ เรื่องนี้ น่าสนใจจนผมต้องโทรฯกลับไปถามย้ำกับพ่อหลวงอีกที แกก็ยืนยันว่า ที่ไปยึดคืนนี่มีแค่ราวสิบไร่เศษๆ และแกก็ตั้งข้อสังเกตว่า หรือพวกเขาจะคิดรวมพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่ยึดไปก่อนหน้านี้ด้วย คือ มันมีพื้นที่ป่าที่ถูกตัดฟันไม้ออกกลายเป็นที่โล่งเตียนอยู่ในหุบดอยหลายสิบไร่เช่นกัน ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปทำการยึดคืนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ไม่สามารถจับผู้บุกรุกได้ ไม่มีใครแสดงตัวว่าเป็นพื้นที่ของตน แต่พื้นที่นั้นอยู่ห่างจากเขตที่อนุญาตให้ทำกินได้ และอยู่กลางป่า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บอกว่า หากมีใครกล้ายืนยันว่าตนเป็นผู้บุกรุก เขาก็จะนำตัวส่งฟ้องดำเนินคดีทันทีเช่นกัน อันนี้ก็น่าคิด ถ้าองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจะพยายามเมคตัวเลขพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกยึดให้เยอะจริงๆ
สรุป วันนั้น เพราะเข้าไปบ้านห้วยหกเมื่อบ่ายแก่มากแล้ว ก็ทำให้หมดเวลาไปกับการพูดคุยกับพ่อหลวงอย่างเดียว ทางผมและคนที่ไปด้วยจึงตกลงกันว่าจะกลับเลย ออกมานอนข้างนอกกันดีกว่า เพราะพรุ่งนี้ตอนบ่ายมีประชุม เราจึงตกลง มอบข้าวสารและสิ่งของอื่นๆให้แก่พ่อหลวงบ้านห้วยหกเพื่อให้นำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านห้วยหกที่ยากไร้และขาดแคลน ตามแต่ที่พ่อหลวงจะพิจารณา ซึ่งทางพ่อหลวงก็รับปากว่าจะให้ทางคุ้มบ้านต่างๆ นำรายชื่อครอบครัวที่ยากไร้ของตนมายื่น เสร็จแล้วก็จะได้จัดการแจกจ่ายกันต่อไป ผมจึงถามแหย่ว่าจะเรียกชาวลีซูมาด้วยไหม? พ่อหลวงบอกว่า ก็มี บ้านที่ยากจนก็มี ก็จะเรียกมารับเช่นกัน ครับ พ่อหลวงจะแจกจริงหรือไม่แจกจริง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าจะกลับไปตรวจสอบอีกเช่นกัน(ก็อย่างที่บอก ผมไม่เชื่อคนง่ายๆ)
มอบข้าวสารที่นำไปห้ากระสอบให้กำนันสีทนต์ แก้วฝั้น นำไปบริจาคให้แก่ชาวบ้านที่ยากไร้ในหมู่บ้านห้วยหกต่อไป
จากนั้น เราก็เดินทางออกมากัน โดยที่ผมก็พกพาความเงิบมาด้วยตลอดทาง โดยสอง-สามวันมานี้ ก็มานั่งคิดแบบเงิบๆว่า จะเขียนเรื่องนี้บอกกล่าวแก่สังคมหรือเปล่า? เพราะข้อมูลที่ได้มา มันหักล้างกับข้อมูลของทางเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ยิ่งมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือยกชูชาวบ้านขึ้นมาว่าเป็นผู้อ่อนแอที่ถูกกระทำ ต้องการความช่วยเหลือ แต่ข้อมูลที่ผมนำมาเล่านี่ กลับเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านเป็นผู้กระทำ โดยมีองค์กรอย่างมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เข้าร่วมกระทำอีกด้วย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจเขียน ก็เพราะ ทางเพจของมูลนิธิฯดังกล่าว ยังมีการออกข่าวป่าวประกาศเรื่องนี้ต่อมา รวมทั้งมีประกาศขอรับบริจาคข้าวเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย ผมจึงคิดว่า ไหนๆ ผมก็มีข้อมูลที่แตกต่างจากทางเพจ รวมทั้งผมยังถือว่าตัวเองเป็นผู้ประสบภัยเงิบจากข้อความของเพจดังกล่าวด้วย ก็เลยจะนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่ต่างจากเพจให้สังคมได้อ่านและพิจารณาเพื่อจะได้ร่วมกันทำการพิสูจน์หาความจริงกันต่อไปก็แล้วกันครับ
อีกอย่าง ข้าวที่ผมนำไปห้ากระสอบนั้น ก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว เป็นของที่ทำงานของผมส่วนหนึ่ง และเป็นของเพื่อนในเฟซบุ๊กด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเธอทราบว่าผมจะเดินทางเอาข้าวสารไปช่วยชาวบ้าน เพื่อนที่ได้อ่านข้อความจากทางเพจเช่นกัน ก็จึงติดต่อโอนเงินเข้ามาร่วมซื้อข้าวให้เอาไปบริจาคด้วย อดคิดไม่ได้ว่า การเดินทางเข้าไปหาความเงิบของผมครั้งนี้มีมูลค่าเท่าไร........ ข้าวห้ากระสอบ กระสอบละพันบาท เป็นห้าพันบาท น้ำมันรถไป-กลับเติมไปสองพันกว่าบาท ค่าที่พัก อาหารรวมทั้งหมดประมาณคนละพัน ก็คิดเล่นๆนะครับ ไร้สาระ.... ก็หวังว่า พ่อหลวงจะทำตามเจตนารมณ์ของเรา เพื่อให้ชาวบ้านผู้ยากไร้ทั้งคนเมืองและลีซูจะได้รับในสิ่งที่เรานำไปให้ก็แล้วกัน
ภาพของผมเอง ผู้ประสบภัยเงิบ... เพราะเรื่องที่ผมนำมาเขียนนี้ มันเป็นมุมที่แตกต่างจากที่ทางเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือนำมาลง
ดังนั้นผมจึงคิดว่า มันจะไม่แฟร์ หากผมจะเขียนลอยๆโดยไม่เปิดเผยตนเอง ก็จึงต้องเปิดเผยตัว(รูป)พร้อมชื่อ นายธรรมรงค์ ภูมิสีคิ้ว
เพื่อยืนยันว่าผม มีตัวตนจริงๆ และข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นี้ก็ได้มาจากกำนันสีทนต์ แก้วฝั้น จริงๆ
สำหรับท่านที่ได้เข้ามาอ่านบันทึกอันนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ผมเขียนไปนะครับ ผมอาจจะเขียนเพราะกำลัตกอยู่ในห้วงความเงิบก็ได้ ในการพิสูจน์ความจริง พ่อหลวง,กำนันสุทนต์ แก้วฟั่น แกบอกว่า ไม่มีวิธีไหนดีกว่าการเดินทางเข้าไปดู ไปถามคนในพื้นที่เอง ไปคุยกับชาวลีซู แล้วก็ไปคุยกับพ่อหลวง ซึ่งแกก็พร้อมจะยินดีต้อนรับ และพาไปดูพื้นที่พิพาท หนาวนี้ หากว่างก็เดินทางไปเที่ยวเวียงแหง แล้วแวะบ้านห้วยหกกันครับ ไม่ไกลจากตัวอำเภอเลย ห่างจากเซเว่นประมาณสองกิโลเมตร ไปพักแรมแล้วเดินดูพื้นที่ด้วยก็ได้ มีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ท้ายหมู่บ้านห้วยหก สามารถตั้งแคมป์ได้ และจริงๆแล้ว ผมก็ยังเล่าเรื่องที่รับฟังมาไม่หมดเช่นกัน เช่นเรื่องพฤติกรรมของผู้ประสานงานระหว่างชาวบ้านลีซูกับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ไม่เล่าเพราะมันจะเป็นการกล่าวหาส่วนบุคคล ใครอยากฟังก็เข้าไปสอบถามพ่อหลวงเอาเองแล้วกันครับ
ส่วนสำหรับองค์กรมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หากท่านบังเอิญได้ผ่านมาเห็นและอ่านข้อมูลที่ผมเขียนโต้แย้ง แตกต่างกับข้อมูลของท่านนี้แล้ว เกิดรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจก็ตาม หากอยากพบปะ พูดคุย ก็สามารถแชร์ข้อความนี้ไปที่หน้าเพจของท่านได้ เพื่อที่ผม(กดติดตามอยู่) จะได้เข้าไปพูดคุย เจรจา พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับท่านได้ด้วย หรือหากอยากโทรมาพูดคุยก็ให้ไปติดต่อขอเบอร์โทรผมได้กับพ่อหลวงสีทนต์ แก้วฝั้น ไม่สะดวกไปเองก็ใช้ผู้ประสานงานของท่านไปติดต่อขอเอาก็ได้ เพื่อที่เราจะได้พูดคุยกัน เจรจากัน และอาจนัดพบเจอกันเพื่อปรับทัศนคติอะไรก็ว่ากันไป เพราะผมก็ยังข้องใจและรู้สึกว่ายังเงิบอยู่....
ปล. ล่าสุด ในภาพโปสเตอร์ชวนผู้คนร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวลีซูบ้านห้วยหกที่ทางเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือได้จัดทำออกมาใหม่ มีข้อความว่า "ข้าว ที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้บริโภคในครอบครัว และกำลังจะได้เก็บเกี่ยวอีกไม่กี่วันก็ได้ถูกตัดฟันลง บางพื้นที่ก็ถูกลอบวางเพลิงยุ้งฉางกลางไร่" มีข้อความว่า ถูกลอบวางเพลิงยุ้งฉางกลางไร่.... อันนี้เป็นข้อความใหม่ ที่ผมเพิ่งเห็น จึงได้โทรสอบถามกำนันว่า มันเป็นอย่างไรกันแน่ กำนันบอกว่า แกก็เพิ่งทราบจากผมเช่นกัน แกจึงสอบถามทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แล้วโทรกลับมาหาผม เล่าว่า เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะตอนที่เข้าไปยึดพื้นที่คืนนั้น เป็นช่วงที่ฝนตก(เดือนสิงหา-กันยา) และอีกอย่าง ชาวบ้านแถบนี้ไม่มีใครไปทำยุ้งฉางอยู่ในไร่ เพราะกลัวจะถูกขโมย ครับ กำนันให้ข้อมูลแย้งมาอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือทางเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเมคขึ้นอย่างจับแพะชนแกะ ก็ในฐานะที่ผมเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา และผมก็อยากจะพิสูจน์ความจริงเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่ทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจะได้นำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้ละเอียดมากขึ้น ว่าเกิดขึ้นช่วงไหน? และในพื้นที่ใด? การนำข้อความและภาพมาแปะลอยๆแบบไม่อ้างอิงพิกัดหรือช่วงเวลาที่เกิดเลยนี่ มันไม่ค่อยน่าเชื่อถือนะครับ อย่างที่บอก ว่าผมก็เชื่อคนยาก แม้กำนันและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะพูดมาอย่างนี้ แต่ผมก็ยังไม่เชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ก็อยากให้ทางเพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ช่วยยืนยันข้อมูลที่ตนนำมาเผยแพร่ให้มากขึ้นกว่านี้ ละเอียดกว่านี้นะครับ ผมยังรอรับฟังอยู่...
แต่ถ้ามันไม่จริง ก็พิจารณาตัวเองด้วยครับ.........
ปล.อีกครั้ง หลังจากได้เข้าไปอ่านข้อเขียนของเพจมูลนิธิภาคเหนือหลายๆครั้ง พบว่า การเขียนสั้นๆ ให้ข้อมูลน้อยๆ ที่ทางเพจใช้นั้น เป็นเทคนิกวิธีการเขียนที่เยี่ยมมากทีเดียว คือเขียนน้อย ให้ข้อมูลเฉพาะที่ตนต้องการเปิดเผย เหลือพื้นที่ให้จิตนาการของผู้อ่านได้ทำงานเยอะๆ นับเป็นการใช้เทคนิกการเขียนสื่อสารแบบวรรณกรรมที่ดี ในฐานะที่ผมก็เป็นคนที่สนใจวรรณกรรมอยู่ ก็ยอมรับว่าทำได้ดีมากเลยครับ
/////////////
ลิ้งค์ไปเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ข่าวสารทั้งหมดในโลกออนไลน์ที่ผมได้อ่านและชักนำให้ผมเข้าไปบ้านห้วยหก ก็ล้วนมาจากเพจนี้ ข้อความที่ผมยกมาอ้างอิงหรือโต้แย้งหลายๆประเด็นก็ยกมาจากเพจนี้ ดังนั้น ท่านใดต้องการจะอ่านเรื่องราวในมุมที่เพจเขียนไว้ประกอบการพิจารณาก็เชิญเข้าไปดูได้ครับ
หรือเปิดเฟซบุ๊กแล้วพิมพ์ค้นหาว่า มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ก็ได้