เรื่องเล่าของวัดเซนแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ว่าในห้องสมาธิ หมายถึงห้องที่ต้อนรับอาคันตุกะที่มาร่วมฝึกสมาธิที่วัด ในห้อง มีป้ายเล็กๆ เขียนบอกไว้ว่าให้เงียบ เพื่อจะได้ไม่รบกวนผู้อื่น จากประสบการณ์ เมื่อมีคนบางคนพูดอะไรสักอย่าง ก็มักมีคนบอกให้เงียบ และสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ จะมีคนพูดต่อกันอีกหลายคำ หลายคน เช่นนั้นเอง ภิกษุณีผู้ดูแลวัดก็เริ่มได้คิด ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนพูดขึ้นมา ก็ไม่มีใครต่อคำต่อความยาว เห็นอย่างนี้อยู่ไม่กี่ครั้ง บรรยากาศในห้องสมาธินั้นก็สงบเงียบไปเองโดยไม่มีใครคอยเตือนใคร
ในหนังจีนกำลังภายใน หรือแม้แต่หนังไทยส่วนหนึ่งในอดีต (อาจมีโผล่มาในปัจจุบันด้วย)พระเอกเดินทางกลับมาถึงบ้าน พบว่าพ่อ แม่ถูกฆ่าตาย แล้วเรื่องราวการแก้แค้นก็เริ่มขึ้น และเมื่อแก้แค้น ต่างฝ่ายต่างก็ตามล้างแค้น ความแค้นจึงดำรงอยู่ไม่จบไม่สิ้น...
เอ...แล้วมันเกี่ยวข้องกันยังไง
เพื่อนคนหนึ่งพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ หรือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเมื่อเราสามารถนำพาตัวเองไปสู่พื้นที่การเรียนรู้อย่างมีความหมาย ปรับกระบวนการภายในของตนได้อย่างลึกซึ้ง ช้าและอ่อนโยนลงอย่างงดงาม เมื่อนั้นเอง เมื่อเข้าสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ เราจะสามารถนำพาผู้คนเข้าสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ช้า และอ่อนโยนได้อย่างทรงพลังและเปี่ยมประสิทธิภาพ
เกี่ยวกันหรือยัง...
ความจริงง่ายๆ อันหนึ่งก็คือ เมื่อเรารักษาพลังของตัวเองให้มั่นคงแล้วนั้น มันย่อมมีแรงเหนี่ยวนำผู้คนได้ เช่นนั้นเองที่ชีวิตจึงมิใช่เพียงเทคนิค วิธีการ เพราะถ้าเพียงเทคนิควิธีการที่ขาดพลังนั้นก็ย่อมไม่มีแรงเหนี่ยวนำผู้คน หากแต่เราสามารถใช้เทคนิควิธีการผสานอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับพลังของเรา นั่นเองการกระทำใดๆ จึงมีความหมาย และนั่นคือการนำเข้าสู่การสืบค้นภายใน เพื่อเป้าหมายอันสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้
นี่คือพลังของการเหนี่ยวนำ เมื่อชีวิตเรามีความอ่อนโยนเป็นพื้นฐาน เราก็ย่อมสามารถสร้างบรรยากาศอันอ่อนโยน ในการพบปะสนทนาได้ หากแต่ว่า เพียงแต่เรารู้ว่าความอ่อนโยนมีพลัง แต่แสดงออกอย่างก้าวร้าวแล้วนั้น มันก็ย่อมไม่สามารถสร้างสนามพลังแห่งความอ่อนโยนได้เลย นั่นเป็นธรรมดาอยู่เอง…