Skip to main content

ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง ว่ากันโดยส่วนใหญ่ตามประสบการณ์ที่เห็นอยู่  คงมีช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตก้าวลงสู่ช่วงตกต่ำ  ในแง่นี้อาจจะหนักกว่าคำว่า “ขาลง”  ว่าก็คือชีวิตเริ่มล้มเหลว ทุกข์แสนสาหัส  ดูเหมือนช่วงเวลานั้นไม่ว่าจะพยายามเพียงใด  ทุ่มเทเพียงใด  มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยังคงแย่ลงๆ เรื่อยๆ  บางครั้งมันก็หนักหนาเกินกว่าจะทนไหว  ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนหนึ่งทนไม่ได้กับสภาวะนั้น  กรณีฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้น  เพราะเมื่อคนยิ่งแย่ลง  ต่ำลง  มันก็ได้เข้าสู่จุดศูนย์ของความเปราะบางมากที่สุด  บริเวณจุดศูนย์ของความเปราะบางนี้เองที่มันก็มีความข้น – จางต่างไปของแต่ละคนตามแต่วิถีของชีวิต  บ้างก็เข้าสู่ภาวะนั้นยาวนาน  บ้างก็สั้นต่างกันไป 

ความสำคัญของจุดศูนย์นั้น  ว่าที่สุดแล้วมันก็เป็นทางผ่านอันหนึ่งที่ชีวิตจำเป็นต้องก้าวผ่าน  หากเราใช้ทางที่ดิ่งลงนั้นหรือใช้จุดศูนย์นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้  แน่นอนว่าเราก็จะเห็น  อันหมายถึงการเฝ้ามองภาวะนั้นตามที่มันเป็น  และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวผ่านมันไปได้อย่างมั่นคง  หรือแม้จะโงนเงนไปบ้าง  แต่ที่สุดเราก็จะผ่านมันได้อยู่ดี  ปัญหาก็คือว่า  เราจะก้าวและดำรงอยู่ในภาวะนั้นด้วยความเข้าใจได้อย่างไร  หากมองลึกลงไปอย่างแท้จริงในใจมนุษย์  ภาวะที่เป็นหลักการว่ามองมันอย่างเข้าใจจึงจะพบหนทาง  อย่างนี้เข้าใจได้ไม่ยากนัก  รับรู้ได้ไม่ยากนัก  แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจลึกลงไปในแง่การปฏิบัติ  นี่จึงเป็นเรื่องยากลึกลงไปกว่านั้น

ลองว่ากันดู…  ทางกายภาพคงต้องเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต  เช่น  ถ้าการทำ ยิ่งทำยิ่งล้มเหลว  ก็อาจเปลี่ยนเป็นทำให้น้อยลง  แต่หันมาลงลึกกับสิ่งที่ทำให้มากขึ้น  ทำให้ช้าลง  และเรียนรู้เฝ้ามองกระบวนการนั้นโดยตลอดและละเอียด  หรือถ้าหนักหนาสาหัสนักก็อาจถึงขั้นหยุดทำทั้งหมด  แล้วรอ  เฝ้าดูกระบวนการที่ทำมาทั้งหมดว่ามันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด  ในแง่นี้แน่นอนอยู่ว่า  ทั้งหมดมันมีกระบวนการเคลื่อนไหวของมัน  วิธีนี้ในขั้นแรกอาจต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น  ดังเช่น  คนป่วยที่ดื้อยา  เมื่อหยุดให้ยาก็อาจมีสภาพลงแดง  อันเป็นผลกระทบจากการหยุดยานั้นเอง  ซึ่งต้องใช้ความอดทนพอสมควร 

อีกวิธี… คือการเปลี่ยนทั้งขบวน  คือการเคลื่อนย้ายกระบวนการทั้งหมดของชีวิต  เปลี่ยนทุกสิ่งที่ทำ  ปล่อยให้ชีวิตก้าวลงสู่จุดศูนย์แล้วเริ่มต้นวิถีใหม่ทั้งหมด  อันนี้อาจยากกว่าแต่ก็เป็นไปได้  ในแง่นี้ก็คือการพาตัวเองมาจากสนามพลังอันนั้น  แล้วหันกลับไปมองมันอีกครั้ง  การเรียนรู้ก็จะผุดโผล่ขึ้นมา  ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องเผื่อใจยอมรับว่า  ที่สุดแล้วมันจะไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด  ความอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ  ในวาระนี้กัลยาณมิตรจึงสำคัญและมีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลง 

วิธีหนึ่ง…  ที่นำพาชีวิตสู่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ง่ายที่สุดในภาวะก้าวลงสู่จุดศูนย์นี้  คือการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมแบบใหม่  อาจเริ่มจากการปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น  แล้วออกไปเดิน  หรือออกกำลังกาย  หรือเดินแล้วค่อยออกกำลังกาย  เดินอย่างปราศจากจุดมุ่งหมาย  เดินช้าๆ  ไม่ต้องมีกระบวนวิธีอะไร  เพียงแค่เดิน  แค่เดินจริงๆ  วิธีนี้มีผู้คนใช้ได้ผลมาพอสมควรแล้ว  และถ้าว่าตามประวัติศาสตร์  ปราชญ์โบราณหลายคนล้วนเป็นนักเดินกันทั้งนั้น…เพียงแค่เดิน

นี่อาจเป็นวิธี…อาจตอบสนองต่อหลักการ (หรือเปล่า มั้ง) หรืออย่างไร…เชิญร่วมวงสนทนาหาทางร่วมกันเถิด

บล็อกของ นาโก๊ะลี

นาโก๊ะลี
เรื่องเล่าของวัดเซนแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ว่าในห้องสมาธิ หมายถึงห้องที่ต้อนรับอาคันตุกะที่มาร่วมฝึกสมาธิที่วัด ในห้อง มีป้ายเล็กๆ เขียนบอกไว้ว่าให้เงียบ เพื่อจะได้ไม่รบกวนผู้อื่น จากประสบการณ์ เมื่อมีคนบางคนพูดอะไรสักอย่าง ก็มักมีคนบอกให้เงียบ และสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ จะมีคนพูดต่อกันอีกหลายคำ หลายคน เช่นนั้นเอง ภิกษุณีผู้ดูแลวัดก็เริ่มได้คิด ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนพูดขึ้นมา ก็ไม่มีใครต่อคำต่อความยาว เห็นอย่างนี้อยู่ไม่กี่ครั้ง บรรยากาศในห้องสมาธินั้นก็สงบเงียบไปเองโดยไม่มีใครคอยเตือนใคร ในหนังจีนกำลังภายใน หรือแม้แต่หนังไทยส่วนหนึ่งในอดีต (อาจมีโผล่มาในปัจจุบันด้วย)…
นาโก๊ะลี
ทรงจำหนึ่งเมื่อวัยเยาว์ เมื่อหน้าน้ำ น้ำเต็มนา บ่ไหลจากคลองนั้นออกห้วยนี้ ท่วมถนนนั้น ล้นท่อนี้ สารพัดจะเป็นไป ด้วยว่าไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางทางน้ำได้ วิทยาการสมัยใหม่ที่เปลี่ยนทางน้ำ กักทางน้ำ สร้างทางน้ำ นั่นก็อาจเป็นไปได้ไม่นานนักหรอก โบราณว่าไว้ การขัดขืนวิถีของธรรมชาติ โลกจะวิบัติ ในวาระเวลาอย่างนั้น (หมายถึงเมื่อน้ำท่วมทุ่งในทรงจำ) เป็นเวลาแห่งความสนุกสนาน เพราะนั่นเป็นวาระของฤดูกาล เป็นวาระที่เป็นไปตามธรรมชาติ สม่ำเสมอ ทุกปีๆ หาใช่เรื่องอุทกภัยพิบัติอะไร แล้วเราก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ด้วยนอกจากว่ามันแปลว่าฟ้าฝนดี ซึ่งมันแปลว่าข้าว และพืชพรรณธัญญาหารก็จะดีแล้ว…
นาโก๊ะลี
ใต้ร่มไม้ สายลมพัดมาแผ่วๆ ทำให้ใบไม้โอนไหวและส่งเสียงระบัดใบแส่ส่าย กังวานในแต่หาได้รู้สึกหนวกหูรำคาญแต่อย่างใด นี่เป็นต้นไม้ไม่กี่ต้นในทุ่งหญ้ากลางหุบเขา นั่นเอง หญ้าจึงพลิ้วไหวพร้อมกับใบไม้ และกรุ่นกลิ่นดอกหญ้านั้นเล่าก็คละเคล้ามากับสายลมแผ่วนั้น ไม่ไกลออกไปเท่าใดนักลำธารไหล ส่งเสียงแว่วมาพอได้ยิน อิ่มเอมและผ่อนคลายเมื่อยามหลับตาลง เบิกบานและผ่อนคลายเมื่อยามลืมตามองออกไป ก้าวย่างแห่งการแสวงหาของมนุษย์ เริ่มต้นที่ใด ???? นั่นน่ะสิ โลกของวัยเยาว์มิได้แสวงหาสิ่งใดมากมายนัก การดำรงอยู่ และวิถีแห่งการเรียนรู้มันเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือเปล่า มั้ง ยุคสมัย วัย กาลเวลา ค่อยๆ…
นาโก๊ะลี
โลกเปลี่ยนทุกวัน นั่นเป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่โหยหาการเปลี่ยนแปลงเสมอ นั่นก็คงเป็นเรื่องดีงาม หรือเหมาะควรแล้ว แต่กระนั้น ยังมีอีกหลายผู้คนกระมังที่ใจหายกับการเปลี่ยนไปของหลายเรื่องหลายราวที่มันเคยมีอยู่ในชีวิต ว่าก็โดยเฉพาะช่วงเวลาที่โลกก้าวสู่ยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนเช่นนี้ การผันแปรเปลี่ยนไปของระบบวิถีชีวิต บางคราวก็ถึงกับไม่เชื่อสายตาตัวเอง โอ้....อะไรจะปานนั้น หนังสือเล่มเก่า เก็บอยู่ในกล่อง เนิ่นนานเพียงใดฝุ่นเกาะจนดูเก่า ความจริงหลายเล่มไม่ใช่หนังสือเก่า แต่มันถูกลืมเลือนไป ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอะไรต่อมิอะไรมากมายในชีวิต หรือไม่ก็บางเล่มเราก็ลืมไปแล้วว่าเราเคยมี…
นาโก๊ะลี
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ได้มีช่วงจังหวะการเดินทางของชีวิตที่ได้แวะเวียนไปที่บ้านหนองเต่า ขุนดอยแม่วาง เชียงใหม่ หมู่บ้านปกาเกอะญอ และบ้านของพะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ ผู้ที่ไม่ว่าจะได้รับการยอมรับหรือการยกย่องอย่างไรก็ยังใช้ชีวิตอยู่บนผืนดินดังเดิมตามที่บรรพชนเคยเป็นมา ว่าอันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสอยู่ร่วมในพิธีกรรมอันงดงามเช่นนี้ ว่าก็คือพิธีมัดมือ (กีจือ ในภาษาปกาเกอะญอ แปลออกมาตรงตัวว่า มัดมือ ก็คือการผูกแขน หรือบายศรีคล้ายของคนเมืองและลาว) คงจะไม่ว่าถึงรูปแบบพิธีกรรม หรือความเชื่อของประเพณีโดยละเอียดนักในวาระนี้ แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องพลังงาน…
นาโก๊ะลี
 เรื่องเล่าของคนธรรมดาผู้มีความฝันว่าจะเป็นจอมยุทธ์  ผู้เยี่ยมยุทธ์  ในขณะที่ ที่บ้านขายก๋วยเตี๋ยว  วันหนึ่งเขาถูกเลือกอย่างเหลือเชื่อ จากอาจารย์ผู้ทรงธรรม  ให้เป็นจอมยุทธ์มังกร  และจะได้สืบทอดวิชาจากคัมภีร์ ที่จอมยุทธ์มังกรเท่านั้นที่เปิดอ่านได้  ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายจากเหล่าจอมยุทธ์ แต่อาจารย์ผู้ทรงธรรมก็ยืนยันการตัดสินใจของตัวเอง  ในที่สุดจอมยุทธ์มังกร อ้วนตะกละ ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชา  และได้รับคัมภีร์มังกร  แต่เมื่อเปิดอ่านนั่นเอง เขาก็พบว่า ในคัมภีร์ม้วนนั้นมันไม่มีตัวอักษรอะไรเลย  ในความผิดหวังของทั้งหมด …
นาโก๊ะลี
อันที่จริงคงไม่ได้เป็นเรื่องราวในยุคปัจจุบัน หรือยุคใดยุคหนึ่งหรอกกระมัง แต่จากเรื่องราวมากมายทำให้พอเชื่อได้ว่า ในสังคมมนุษย์ เรามีการแบ่งข้างอยู่ตลอดเวลา ถ้าว่าตามทฤษฎีไท่เก๊ก จักรวาลก็ถูกแบ่งออกเป็นหยินกับหยาง เพียงแต่ว่าในทฤษฎีไท่เก๊กนั้น เมื่อพูดถึงการแบ่งข้างก็ได้พูดถึงความสมดุลอยู่ด้วย เช่นนั้นเองชีวิตก็จึงมีเขา มีเรา มีชอบ มีไม่ชอบ แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องของเราอย่างไร???? เมื่อเราพูดถึงความแตกต่างหลากหลาย นั่นเราก็ว่าถึงการแบ่งข้าง ว่าถึงข้างหลายๆ ข้าง ที่มากกว่าสองข้าง ว่ากันว่า ในความต่างนั่นเองที่ชีวิตจะหมายถึงความงอกงาม หมายถึงการเรียนรู้ร่วมกัน…
นาโก๊ะลี
จากหนังเรื่อง ชมรมกวีไร้ชีพ (Dead poet society) ช่วงแรกที่ครูคิตติงสอนวิชาที่ว่าด้วยกวีนิพนธ์ เขาร่ายบทกวีของ วอล วิทแมน ว่า *“ถามตัวเองใยชีวิตมากปริศนา ใยศรัทธายาวไกลไม่สิ้นสุด ลางคนโง่งมเขื่องเมืองมนุษย์ ไหนความดีบริสุทธิ์แห่งชีวี ตอบตัวเองความดีนี่ไงเล่า เมื่อชีพเรายืนยงคงศักดิ์ศรี ด้วยสร้างสรรค์คุณธรรมความงามดี บทกวีชี้พลังเพื่อสังคม”
นาโก๊ะลี
ทั้งหมดล้วนปรารถนาสิ่งดีงาม กี่คำกี่ความแสวงหา ชั่วชีวิตที่ผ่านในกาลเวลา กี่ครั้งกี่คุณค่าที่คู่ควร เสพย์สุขซึ้งถึงสวรรค์ จะชั้นนี้ชั้นนั้นก็บางส่วน ขณะวิถีชีวิตเคลื่อนขบวน หรือไม่ยอมเรรวนสักบางคราว จะอยู่ในโลกไม่ใยดีโลก แสวงแต่โชคไม่ยอมเจ็บร้าว สำหรับยุคสมัยที่ยืดยาว เลือกเสี้ยวใดในเรื่องราวที่เป็นไป หากเราคือเสี้ยวส่วนของจักรวาล จึงเกี่ยวโยงตำนานอันยิ่งใหญ่ สัมพันธ์สรรพสิ่งโยงใย ทั้งหมดนั้นคืออะไรในความจริง ทั้งหมดนั้นอาจคือชีวิต เคลื่อนไหวไปทีละนิดไม่หยุดนิ่ง ไม่มีสิ่งใดหล่นหายหรือถูกทิ้ง ทั้งหมดล้วนเอื้ออิงกันและกัน ทั้งความคิดและจิตวิญญาณ…
นาโก๊ะลี
เมื่อครั้งยังเด็ก โลกของเราอาจเล็กกระจ้อยร่อย นั่นก็อาจจะมีบ้าน หมู่บ้าน ตลาด และโรงเรียน นานๆ อาจจะสักครั้งที่โลกจะกว้างขึ้นเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมญาติ ในแถบถิ่นต่างบ้านต่างเมือง และช่วงเวลานั้นแต่ละบ้านแต่ละเมืองมันก็ไกลเหลือเกิน ยิ่งการเดินทางไม่ได้สะดวกสบายอย่างปัจจุบันนั้นด้วย บวกกับความเป็นมนุษย์ตัวเอง มันก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า มันไกลเหลือเกิน และธรรมดาอยู่เองที่ในช่วงเวลานั้น โลกที่ไกลออกไปก็ช่างเป็นโลกที่น่าตื่นตาตื่นใจนักหนา เมื่อชีวิตเจริญวัย เติบโตตามวิถีของตน โลกของเราก็กว้าง และไกลออกไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า..... โลกที่กว้างไกลออกไปนั้น…
นาโก๊ะลี
ฤดูฝน….เท่าที่พอจะจดจำสัมผัสได้ หลายปีมานี้ สายฝนเหือดหายไปจากฟ้ามากมายนักแล้ว แผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนแปรสภาพไป หลายปีก่อน....นับไปนับมา มันก็เลยเลขหลักสิบปีขึ้นไปแล้ว ในหมู่บ้านกลางขุนเขาแห่งหนึ่ง ป่าตะวันตกอันอุดมสมบูรณ์นั้น ฝนเริ่มตกลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ผืนดินท้องถนนเฉอะแฉะ เละลื่น ณ ช่วงเวลานั้น แสงแดดห่างหายไปจากหมู่บ้าน ผ่านวันไปแต่ละวัน ท่ามกลางสายที่ฝนสาดเท ผ่านวันไปทุกวันเช่นนั้น เริ่มต้นจากฤดูเพาะปลูก ผัก พืชพรรณ และข้าว งอกงาม เติบโต จากฤดูหนึ่ง ผ่านไปสู่ฤดูหนึ่ง ในฤดูเดียวกันนั้น จากปลูก มาเป็นเก็บหญ้า ถางหญ้าในไร่ วันทุกวันผ่านไป ถางหญ้าในสายฝน เปียก แฉะ หนาว…
นาโก๊ะลี
ภาษาหนังเขาก็คงจะบอกว่า ต้นกำเนิด หรือตำนานฟัด อะไรทำนองนั้นกระมังหากจะพูดถึงหนังเรื่องนี้ ของเฉินหลง นั่นคือ วิ่งสู้ฟัด หรือชื่อภาษาฝรั้งว่า Police Story ความแรกในหนังเล่าถึงการวิ่งไล่จับผู้ร้ายซึ่งเป็นเจ้าพ่อใหญ่ และพระเองก็สามารถจับผู้ร้ายได้ เรื่องดำเนินไปถึงศาล ในการใต่สวนคดี เจ้าพ่อกลับได้ยกฟ้อง ประเด็นหรือคำถามสำคัญที่ทนายจำเลยกล่าวอ้างคือ ระหว่างที่ไล่จับนั้น จำเลยได้หนีไปอีกทางของรถเมล์ แล้วตำรวจ(คือพระเอก) มองเห็นหรือไม่ว่า ระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือไม่เห็น คำถามต่อว่า เช่นนั้นแล้ว เมื่อไม่เห็นจะตัดสินได้อย่างไร ว่าจำเลยทำอะไร หรือไม่ทำอะไร…