ในตอนหนึ่งของ “จดหมายถึงกวีหนุ่ม”
รินเค บอกว่า
“หากเธอสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเขียนบทกวี เธอก็ไม่ต้องเขียนมันหรอก แต่หากว่าเมื่อไหร่ที่เธอรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้เขียน เมื่อนั้นก็จงเขียนมันซะ” .........
หลายวันก่อน กวี คนหนึ่งบอกว่า
“อย่าขวนขวายที่จะพิมพ์บทกวีรวมเล่มเลย เพราะมันจะไปอยู่ในซอกที่มองไม่ค่อยเห็นในร้านหนังสือ”
ดูเหมือน บทกวี จะเป็นงานศิลปะที่เคลื่อนไหวอยู่ในยุคโลกตลาดเสรี น้อยที่สุด แต่กระนั้นกวีก็ยังไม่เคยหายไป ตราบที่ยังมีมนุษย์อยู่บนโลก หลายคนว่าไว้อย่างนั้น
ในบรรยากาศที่เงียบงันของวัฒนธรรมกวี คล้ายมิได้มีการแข่งขันอะไรนัก แต่มันก็ไม่ได้เงียบจนปราศจกการแข่งขันและการเคลื่อนไหว หากว่า กวีล้วนกำลังแข่งขันกับตัวเอง ว่าก็โดยเฉพาะ กวีรุ่นใหม่ ในสภาวะที่ มีพื้นที่ให้พวกเขาน้อยเต็มที และส่วนใหญ่ก็ดิ้นรนขนขวาย ตามลำพัง ไม่มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำ แต่ถ้าใครมี นั่นก็หมายถึงโอกาส.......ทั้งหมดนั้นสำคัญเพียงใด หากว่าเมื่อใดที่กวีไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่ได้เขียน พวกเขาก็คงจะเขียนมัน............ เขียนอะไรเล่า.... ยุคสมัย ปัจจัยจะเอื้อเพียงใดต่อการไปฟังเรื่องราวของโลก แผ่นดิน คนที่อยู่ตามทุ่งไร่ ปลายเขา ก็โชคดีไป นั่นเป็นแหล่งกำเนิดเรื่องราวโดยแท้ แต่คนที่ไม่มีทรัพยากรเล่า.......พวกเขาจะบอกเล่าสิ่งใด ในเมื่อพวกเขาไม่มีโอกาสได้ฟัง.....
ขณะที่โลกของคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งกำลังไต่ตามความฝันในแวดวงต่างๆ อันมีหน้ามีตา มีเงินมีทองในสังคม ก็ย่อมมีคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งที่ไต่ตามความฝันในหนทางแห่งบทกวี ในการประกวดงานเขียน มีนักเขียนชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ การเป็นดารา ซึ่งโก้เก๋ในสายตาคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่ง นั่นหมายความว่า การเป็นกวี นักเขียน ก็โก้เก๋ในสายตาของคนหนุ่มสาวอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นก็อาจไม่ใช่สาระสำคัญอะไร อาการอยากดังก็เป็นธรรมดาของปุถุชน แต่สิ่งที่น่าจะสำคัญกว่าก็คือ ไม่ว่า งานเขียนของพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการตอบรับมีคนอ่านหรือไม่ พวกเขาเขียนมันเพื่ออะไร พวกเขาเขียนเพื่อบอกเล่าอะไร พวกเขาเขียนเพื่อรับใช้สิ่งใด
มีตัวอย่างกวีรุ่นใหญ่ ในแผ่นดินปัจจุบัน ที่เขียนบทกวีเพื่อรับใช้ประชาชนโดยแท้ หลายท่านเขียนถ้อยคำคมคาย และแยบคาย พร้อมกับมีบทกวีในท้องตลาด แต่บางท่านก็มีงานอยู่ในตลาดน้อย หรือแทบไม่มี แต่บทกวีของท่านเหล่านั้นไปอยู่ตามเวทีการต่อสู้ของประชาชน เช่นนั้นแล้วคุณค่าของบทกวี ไม่ได้อยู่ที่ขายออก หรือขายไม่ออกหรอกกระมัง หากแต่มันอยู่ที่จุดมุ่งหมาย จุดประสงค์ของมันต่างหาก และดูเหมือนบทกวีอันเต็มความหมายเหล่านั้น และกวีผู้เขียนบทกวีเหล่านั้นก็ไม่ได้โหยหา ร้องขอหิ้ง เพื่อการประดิษฐานบทกวีนั้นแต่อย่างใด
เอ เจ มัสเต กล่าวคำหนึ่งว่า
“ปราชญ์ย่อมทำในสิ่งที่ถนัดและสามารถ โดยไม่สนว่าสังคมจะจ่ายค่าตอบแทนให้หรือไม่ก็ตาม แต่คนที่ไร้ความสามารถนั้นมักเสนอขายความไร้ความสามารถขอตัวเองในราคาที่แพงเสมอ”
นั่นแล้ว บ้านนี้เมืองนี้มีใครกี่คนที่ลงมือทำสิ่งที่ถนัดและสามารถ โดยไม่สนว่าสังคมจะจ่ายค่าตอบแทนให้หรือไม่ก็ตาม แต่เรามีคนที่พยายามเสนอขายความไร้ความสามารถของตนในราคาแพงมากมายเหลือเกินแล้ว