เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว มีหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าในช่วงเวลานั้นมีคนกล่าวขวัญถึงหนังเรื่องนี้กันพอสมควร ด้วยมันเป็นหนังที่คาดการณ์ความเป็นไปในช่วงล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด นั่นก็คือ 2001A Space Odyssey
เนื้อหาของหนังคงไม่ได้เอามาเล่า ณ ที่นี้ แต่ในภาคแรกของหนังเรื่องนี้นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง นั่นก็คือ เรื่องราวเริ่มขึ้นในโลกมนุษย์ ช่วงเวลาที่ยังไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา ลิงฝูงหนึ่ง ซึ่งตัวหนังเล่าว่า ลิงพันธุ์นี้เองที่กำลังจะวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ ช่วงเวลานั้น ลิงฝูงนี้ก็เริ่มมีปัญหากับลิงพันธ์อื่น เค้าลางแห่งความขัดแย้ง ปรากฏชัดเจน จนในที่สุดก็เกิดการต่อสู้ จากการใช้เขี้ยวเล็บในการต่อสู้ ลิงฝูงนี้ก็เริ่มคิดเป็น และสิ่งแอรกที่มันคิดได้ก็คือ จับไม้มาเป็นอาวุธในการต่อสู้ นั่นหมายความว่า สิ่งที่อยู่ลึกลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจมนุษย์นั้น มันคือการทำลาย ฆ่า หรือเอาชนะ อย่างนั้นหรือเปล่า แล้วหนังก็ตัดไปในปี ค.ศ. 2001
ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ดูเหมือนชีวิตเราถูกสอนให้แข่งขัน มันดำรงอยู่ตลอดเวลา พ่อ แม่ มักพอใจที่เรา พูดได้ก่อนเด็กคนอื่น ในรุ่นเดียวกัน หรือเราเดินได้ก่อนคนอื่นๆ ในเด็กรุ่นเดียวกัน หรือจะดีใจเป็นพิเศษ หากว่าเราสามารถสร้างปรากฏการณ์เหล่านี้ก่อนเด็กที่โตกว่า แต่หากว่า เราพูดหรือ เดินได้ทีหลังเด็กรุ่นเดียวกัน หรือร้ายหน่อยก็หลังเด็กรุ่นน้อง พ่อ แม่ก็สามารถหาเหตุผลมาอ้าง เพื่อปลอบใจตัวเอง และพยายามสร้างความรู้สึกที่ไม่ให้ด้อยไปกว่าเขา หรือไม่ก็หาจัดด้อยของเด็กคนอื่นๆ นั้น อย่างนั้นหรือเปล่า
โตมาอีกนิด หากเราสามารถอ่าน หรือเขียน หรือรู้จักหนังสือ ได้ดีกว่าเด็กอื่นๆ ก็ นั่นก็จะเป็นเรื่องให้ได้กล่าวขานดั่งว่านั่นเป็นเรื่องราวอันมหัศจรรย์ เรื่องนี้ดำรงอยู่นาน ตราบใดที่เรายังอยู่ในโรงเรียน และกว่าจะถึงวันนั้น ไม่ใช่เพียงพ่อ แม่ แต่ครูก็เข้ามามีส่วนอย่างยิ่งในการปลูกฝังการแข่งขันในสามัญสำนึกของเรา นับวัน นับนานก็ยิ่งติดแน่นมากขึ้น จนในที่สุด แรงขับเคลื่อนสำคัญของการเข้าสู่สนามการแข่งขันทั้งหมดก็คือ ตัวเราเอง
สังคม ผู้คน โลกทั้งหมดเป็นอย่างนี้ และยิ่งนับวันมันเข้มข้นขึ้นเรื่อย แข่งเรียน แข่งเก่ง แข่งสวย แข่งหล่อ แข่งใหญ่ แข่งเล็ก แข่งสารพัดแข่ง แล้วก็ประกาศกันอย่างไม่ได้ใครครวญครุ่นคิดว่า นั่นมันส่งผลอย่างไรต่อคนที่ ไม่ชนะ ทั้งหมดนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มันคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปในจิตใต้สำนึก หรือพูดภาชาวบ้านว่ามันเป็นสันดานร่วมของมนุษย์ ในแง่นี้เอง อิสรภาพของมนุษย์จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ในภาวะวิสัยเช่นนี้ นั่นก็ทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งของครูคิตติง แห่งชมรมกวีไร้ชีพว่า “มนุษย์เสรีได้เพียงในฝัน และจะเป็นเช่นนั้นนิรันดร์สมัย”
ทำอย่างไรกันดี ว่าก็ว่า มีผู้คนมากมายที่คัดค้าน ปฏิเสธการแข่งขัน แม้สังคมจะบอกว่า การแข่งขันก็เป็นไปเพื่อการพัฒนา แต่เราจะทำให้เกิดการพัฒนาโดยไม่แข่งขันได้หรือเปล่า และเมื่อเราสามารถเห็นคนอื่นดีกว่า เก่งกว่า อะไรๆ มากกว่าเรา ด้วยความชื่นชมยินดี นั่นคงดีไม่น้อย และนั่นก็คือหลัก มุทิตา นั่นเอง หรือเรามองคนที่ด้อยกว่าเราอย่างเข้าใจ ให้โอกาส นั่นก็คงเป็นธรรมในหัวข้อ เมตตานั่นเอง
เราจะแสวงหาโลกแห่งอุดมคติอย่างมีความหวังได้หรือไม่ เพราะวันนี้เมื่อเราสำรวจตัวเองลึกลงไปเรายังพบว่า เมื่อเราเป็นฝ่ายปฏิเสธการแข่งขันอยู่นั้น เราก็อยากเป็นผู้ที่ไม่แข่งขันมากที่สุดในโลก อย่างนั้นหรือเปล่า...มั้ง....