ฉันมีเรื่องราวจะแลกเปลี่ยน ลองฟังดูนะ
ตาเก้กับการลงทุน
“คนอย่างผม ถ้าทำอะไรก็ต้องทุ่มหมดตัว” ตาเก้พูดเสียงต่ำ สีหน้ายิ้มเหยียดหน่อยๆ บ่งถึงความสาสมใจในชีวิต ขณะย่ำเดินไปบนพื้นดินทรายที่เพิ่งถูกผานไถพลิกพรวนให้กอหญ้าคว่ำหน้าลง
แกกำลังจะลงทุนอีกรอบบนผืนดินนี้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลฟันธงแล้วว่า “ดินเสื่อมสภาพหมดแล้ว”
สิบกว่าปี ที่แกซื้อที่ดินผืนนี้มาในราคาที่ถูกแสนถูก และเพียงแค่ปลูกอ้อยสองฤดูกาล ก็ได้เงินคืนมาหมดแล้ว ดังนั้นเรื่องความเสี่ยงใดๆ ไม่ต้องกังวลถึง ไม่ว่าราคาอ้อยจะสูงหรือต่ำ อย่างไรเสียแกก็ยังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีทางขาดทุน เพราะแรงงานเป็นของตนเองและภรรยาล้วนๆ บางอย่างที่พอพึ่งพาแรงงานลูกเล็กๆ ก็ช่วยกันไป
ต้นทุนที่มีจึงไม่มากนัก มีเพียงค่าน้ำมันรถแทรคเตอร์ ค่าหญ้าฆ่าหญ้าและปุ๋ยบ้างเท่าที่จำเป็น เพราะเนื้อดินยังมีอาหารธรรมชาติอยู่มาก
ครบสิบปีแล้ว ผืนดินอ่อนล้าไร้เรี่ยวแรง บางส่วนหน้าดินเสียชีวิตหมดแล้ว ยากที่หน่ออ้อยจะแทงยอดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะบำรุงบำเรออย่างไรก็ตาม จนแกเผลอบ่นออกมาว่า
“พอลูกๆโตจนใช้แรงงานได้เต็มที่แล้ว ดินก็มาเสื่อมสภาพเสียนี่”
ปีนี้ตาเก้จึงทุ่มเทกับการปลูกมันสำปะหลังให้มากขึ้น ทดแทนการปลูกอ้อย อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่ามีการเพาะปลูกสม่ำเสมอ มีการสร้างรายได้ให้กับตัวเองตลอดมา
เพื่อที่ว่า ในใบขอกู้เงินที่ยื่นต่อธนาคาร จะได้มีข้ออ้างว่าเพื่อนำมาปลูกมันสำปะหลังนั่นเอง
“คนอย่างผม ทำอะไรก็ต้องทุ่มหมดตัว” เสียงของแกสะท้อนก้องวนเวียนซ้ำซากอยู่ในหัวของฉันอย่างน่าสยดสยอง ไม่ใช่เพราะกลัวแทนแก แต่ฉันกลัวความคิดของคนที่คิดแบบนี้ จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนกระทั่งต้องฆ่าตัวตายกันทั้งโลก
เหมือนเลือกเดินไปในอุโมงค์คับแคบ ยิ่งปลายทางยิ่งเบียดเสียด แย่งอากาศกันหายใจ จนในที่สุดคนอ่อนแอก็ล้มลง คนอื่นๆก็ย่ำเหยียบลงไปอย่างไม่รู้สึกรู้สม เพียงเพราะในใจคาดหวังว่าที่ปลายทางจะมีอากาศสดชื่น มีพื้นที่กว้างใหญ่ให้ตนเองได้อาศัยอย่างมีความสุข
ฉันถามว่าแต่เดิมที่ดินแปลงนี้เจ้าของเขาเคยปลูกอะไรเอาไว้ คำตอบที่ได้ช่างน่าตกตะลึง
“เขาปลูกต้นสักและต้นประดู่ เต็มพื้นที่นี้แหละ แต่ผมก็ไถออกจนหมด ถ้าเหลือเอาไว้ ก็คงโตเท่าๆกับสองต้นนั่นล่ะ” แกชี้ไปที่ต้นสักริมรั้ว ซึ่งใหญ่โตขนาดทำเสาเรือนได้อย่างสบาย ความสูงจากโคนต้นไปถึงปลายยอดไม่ต่ำกว่ายี่สิบเมตร คิดราคาคร่าวๆ น่าจะไม่ต่ำกว่าพันบาท ถ้ามีต้นสักขนาดนี้เต็มพื้นที่จำนวนสิบไร่ หากตัดขายในวันนี้ เงินที่กำอยู่ในมือไม่ต่ำกว่าเลขเจ็ดหลักอย่างแน่นอน
แต่เพราะอะไรตาเก้จึงเลือกที่จะตัดต้นไม้ยืนต้นทิ้งเสียเล่า
ในทางเทคนิค การปลูกพืชไร่ต้องทำพื้นที่ให้เกลี้ยง ยิ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงามาบดบังยิ่งดี พื้นดินใหม่ที่เพิ่งปลูกอ้อยปีแรก จะได้ผลผลิตอย่างงาม กำไรเห็นๆ ปีที่สองก็ทำอย่างเดิม กำไรยังพอมี จนกระทั่งปีสุดท้าย ดินเสื่อมสภาพหมดแล้ว จะหากำไรจากการขายอ้อยได้อย่างไรในเมื่อ ลำอ้อยเล็กลง จำนวนต้นก็น้อยลง ขณะต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันที่ต้องใช้ปั่นเครื่องสูบน้ำมารดและราคาปุ๋ย ราคายาฆ่าหญ้า ล้วนแพงขึ้น
สรุปว่าสิบปีแห่งความหลัง แห่งความหอมหวานผ่านพ้นไปแล้ว ดินที่เหลือที่พอจะหากินได้ก็มีเพียงมันสำปะหลังที่เติบโตได้ดี แต่นั่นเท่ากับเร่งให้หายนะเกิดเร็วยิ่งขึ้น ปีต่อไปดินจะยิ่งเสื่อมอย่างรวดเร็ว การฟื้นฟูดินที่พอจะเป็นไปได้คือการปล่อยให้ดินฟื้นตัว สลับกับการปลูกพืชบำรุงดิน แต่ทว่า..วงจรหนี้สินมันไล่หลังมาติดๆ จะเอาเวลาที่ไหนมาทิ้งช่วงให้ดินฟื้นตัวได้เล่า
ถึงเวลาที่ตาเก้ต้องแก้ปัญหากันอีกหน เหมือนที่หลายๆคนทำ คือแบ่งขายที่ดินบางส่วน เพื่อใช้หนี้
เรื่องของตาเก้ ยังนับว่าเป็นนักลงทุนการเกษตรแบบพื้นๆไม่พิสดารนัก (ยังมีที่พิสดาร เอาไว้จะเล่าทีหลัง)แต่หลังจากแบ่งที่ดินบางส่วนออกขายแล้ว แกจะคิดอย่างไรกับการ “ลงทุน”
ฤดูหนาวนี้ บริเวณใกล้ๆไร่ฉัน มีหลายคนที่แบกภาระหนี้สินจนหลังแอ่นปางตาย จึงต้องตื่นขึ้นมาก่อนไก่ตื่น เพื่อมาผสมพันธุ์ดอกมะเขือเทศ และเข้านอนตอนไก่ละเมอครางในยามดึก เพียงเพื่อให้ได้เงินจากการทำงานให้กับบริษัทผูกขาดสินค้าการเกษตร เพราะเขาไม่อาจเสี่ยงกับการลงทุนปลูกพืชอะไรอื่นๆที่ไม่รู้ว่าจะขายใครที่ไหนได้อีกแล้ว
เกษตรที่นี่ใช้เวลาทุ่มเทกับการทำงานนานกว่าโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น นานกว่าคนขายของเป็นกะในร้าน 7-11 นั่น
น่าเสียดาย ที่เขาไม่คิดถึงการปลูกพืชบางอย่าง ที่แม้ไม่ให้ผลในวันนี้ แต่ในยามแก่เฒ่า เขาจะได้ประโยชน์จากมันอย่างแน่นอน
ฉันไม่อยากกล่าวว่า นี่คือความเขลา และไม่อยากกล่าวประณามผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้ ยิ่งได้เห็นโครงการโง่ๆบางอย่างของอบต. (ที่ไม่ขอเอ่ยในที่นี้) ที่คิดแค่การใช้เงินให้เป็นผลประโยชน์กับตัวเองในการเลือกตั้งสมัยหน้า แค่นี้ก็บ่งบอกแล้วว่า
“สังคมไทย ไปไหนได้ไม่ไกลหรอกพี่น้องเอ๋ย”