ดนตรีแห่งฤดูกาล กำลังเปลี่ยนผ่านจังหวะไปสู่ความรุนแรงร้อนรน แต่กระนั้นก็ยังหลอกล่อหัวใจผู้คนด้วยจังหวะผ่อนแผ่วของไอหนาว
เมื่อคืน ฉันเผลอเรอลืมห่อห่มร่างกายให้อบอุ่น จึงถูกไข้หวัดจู่โจม จะเรียกว่าเป็นความอ่อนแอของร่างกายหรือว่าเป็นความแข็งแรงอันร้ายกาจของไวรัสก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะรอบทิศทางของไร่ มีเปลวเพลิงลุกไหม้อยู่ทุกคืน การเผาซากอ้อยจึงกลายเป็นฤดูกาลเผาไร่...ฤดูกาลใหม่ของที่นี่
ถ้าบินขึ้นไปบนท้องฟ้าไกลลิบนั่น คงเห็นรอยไฟลามเลียเป็นหย่อมๆ แผ่กระจายไปทั่ว คล้ายสัตว์ประหลาดสีแดงเพลิงเคลื่อนไหวเพยิบกลืนกินผิวโลกจนไหม้เกรียม และทุกหัวค่ำ ยังมีของแถมเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง คือกลิ่นเหม็นเน่าของน้ำทิ้งจากโรงงานน้ำตาล ที่ลอยมาไกล มองไม่เห็นต้นทางแหล่งที่มา
ฉันทำใจกับโลกใบนี้แล้วล่ะ..หันไปทางไหนก็ล้วนแต่มีปัญหาจากน้ำมือคน
วันนี้..ออกไปสำรวจต้นไม้ ความแห้งแล้งมีผลต่อชีวิตจริงๆ ทั้งที่ฉันเชื่อมั่นเสมอว่า ทุกชีวิตต่างปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ แต่เรียวใบที่หรุบหรู่ดูแล้วใจหาย เปรียบกับคน คงหายใจอ่อนล้าเต็มที ถ้าเป็นเพราะความเหนื่อยล้าก็จะบอกว่าพักผ่อนก่อนเถอะ ถ้าเป็นความหิวโหยก็อาจหยิบยื่นอาหารให้ แต่ถ้าไร้แรงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ทำอย่างไรก็ไม่อาจเยียวยาได้
สำหรับต้นไม้ไม่เคยท้อแท้กับชะตากรรม มันต้องการมีชีวิต ต้องการน้ำ ต้องการอาหาร ฉันจึงต้องคิดหนัก...จะหาน้ำมาจากไหน
ไร่อ้อยทางทิศตะวันออก เพิ่งขุดเจาะบ่อบาดาล ราคา 35,000 บาท ไม่นับรวมเครื่องสูบน้ำ ไม่นับสายส่งน้ำ แล้วยังมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำ
“ผมบ่นๆกับทางโรงงานว่าขาดน้ำรดอ้อย รุ่งเช้าเขาก็ส่งรถมาเจาะให้เลยล่ะครับ” แววตาคนเล่าแจ่มใส อย่างน้อยก็ผ่อนลมหายใจไปได้ เพราะมันเป็นการผ่อนจ่ายปีละหมื่น ถ้าราคาอ้อยไม่ตกต่ำ โอกาสเก็บกำไรได้เป็นกอบเป็นกำคงจะมี แต่เมื่อฉันถามถึงจำนวนน้ำมันที่ใช้ไปแล้วในการสูบน้ำทั้งวันทั้งคืนร่วมอาทิตย์หนึ่งแล้วนี้ ตาเก้บอกว่า
“หมดน้ำมันไปแล้ว 50 ลิตร” ราคาน้ำมันเบนซินลิตรละไม่ต่ำกว่า 30 บาท การรดน้ำต้องทำสองครั้งต่อเดือน สรุปว่า ในหนึ่งเดือนค่าน้ำมันก็กินแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท
เอาล่ะ ฉันจะไม่คำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อเปรียบเทียบกับรายรับในตอนที่ขายผลผลิต ช่างมันเถอะ...ช่างมันเถอะ
ฉันมีปัญหากับความแห้งแล้ง เพราะต้นไม้ของฉันกำลังต้องการน้ำ แต่เท่าที่ฉันรู้มา แผ่นดินอีสานแห้งแล้งมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วนี่นา
ถ้าฉันลงทุน ฉันต้องคิดเรื่องผลผลิตที่คุ้มทุน ถ้าฉันลงแรง ฉันก็ปรารถนาผลผลิตที่คุ้มแรง แล้วความคิดแบบนี้มันผิดตรงไหน ไม่ผิด แต่จะได้อย่างใจหรือไม่ ฉันไม่รู้
ฉันคงต้องใช้วิธีบริกรรมภาวนา ขอให้ต้นไม้เติบโต แล้วเรียกตัวเองว่า “นักลงทุนทางจิตวิญญาณ”
เพราะฉันเบื่อคำว่า “ลงทุน” จนอยากเด็ดขั้วความคิดทำนองนี้ออกไปจากหัว
ยิ่งยามนึกถึงการลงทุนทางการเมืองของนักการเมืองเลวๆ ทั้งหลายนั้น