ฉันหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำซากในปัจจุบันชาติ หรืออาจลากพาย้อนกลับไปหลายอสงไขยชาติ มีบ้างไหมที่พบว่าบางพื้นถิ่นเรารู้สึกคุ้นชินเหมือนเคยอยู่ มีบ้างไหม กับบางคนที่รู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้ชิดใกล้กันมาก่อน
ถ้าไม่แข็งขืนปฏิเสธการมีอยู่ของความทรงจำซ้ำซาก ที่ไม่เคยชัดเจนแต่ทิ้งเค้าลางเอาไว้อย่างแนบเนียน ฉันว่าใครหลายคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมฉัน และทิ้งคำจำนรรเอาไว้บ้างนั้น เราล้วนเคยเป็นพี่น้องกัน ไม่เช่นนั้นหนทางโคจรจะวกวนให้มาเจอกันได้อย่างไร
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันซุ่มเงียบเขียนเรื่องราวของแม่ชีน้อย ผู้ผ่านความเจ็บปวดด้วยโรคมะเร็งไปสู่การปล่อยวางร่างกายและจิตใจได้อย่างหมดจด จนนาทีสุดท้าย เธอได้จากไปอย่างสงบ สันติ เพียงวัย 12 ปี
ลองอ่านดูนะคะ...
อัศจรรย์จิต แม่ชีน้อย
ตอนที่ 1
21 สิงหาคม 2551
เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา เธอได้ละทิ้งร่างกายที่เจ็บป่วยไปอย่างสงบ งดงาม
เช้าตรู่ แม่ประคองลูกสาวให้ลุกนั่งเพื่อเช็ดหน้าตาเตรียมตัวรับประทานอาหารเช้า แม้จะรู้สึกว่าลูกมีเรี่ยวแรงที่ลดน้อยลงอย่างผิดสังเกต แต่ก็ไม่ได้ปริปากบอกใคร เพราะในหัวใจของแม่ไม่เคยยอมรับว่าลูกจะต้องจากไป ไม่เคยบอกกับตัวเองว่าลูกจะต้องทิ้งสังขารไปในเร็ววัน แม่เชื่อเสมอว่าลูกจะต้องมีชีวิตต่อไปอีกนาน และถึงแม้ร่างกายจะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปก็ตาม แต่ลูกก็ยังมีความหวังว่าจะต้องหายจากโรคนี้ ลูกยังมีความฝันอีกมากมายที่ต้องทำ และความฝันเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเองเลยทั้งสิ้น
แม้ว่าเมื่อคืนนี้ พ่อได้กระซิบกับแม่ว่า
"ลูกเราอาการไม่ดีแล้วนะแม่ สงสัยว่าลูกจะคงอยู่กับเราได้อีกไม่นาน" แม่รับฟังอย่างนิ่งเงียบ จนกระทั่งเมื่อได้สัมผัสกับเนื้อตัวลูกสาวในเช้าวันนี้ ยามต้องประคองให้ลูกลุกนั่ง วันนี้ลูกนั่งตัวตรงไม่ได้แม่ต้องหาที่พิงให้ลูกพร้อมกับนั่งข้างๆลูกเหมือนทุกๆวันในเวลาที่ลูกรับประทานอาหาร
"เหนื่อยไหมลูก" เอ่ยถามด้วยความสงสาร แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเช่นทุกวัน
"ไม่เหนื่อยหรอกแม่" พร้อมส่ายหน้า น้ำเสียงใสๆ เล็กๆ เปี่ยมพลังยังคงเดิม สม่ำเสมอ
อาหารเช้าเป็นไปเช่นทุกวัน คือนานาผลไม้ที่พ่อกับแม่ผลัดกันลงไปซื้อหาจากตลาดและตามบ้านของชาวบ้านที่รู้จักคุ้นเคย มื้อนี้พิเศษด้วยข้าวเหนียวนึ่ง ที่ลูกร้องขอว่าอยากกินอีกสักมื้อหนึ่ง เพราะนานแล้วที่ไม่ได้กิน ลูกหยิบข้าวเหนียวมาป้อนให้แม่หนึ่งคำ ก่อนที่จะหยิบกินเองหนึ่งคำ แล้วลูกก็ไม่ได้แตะต้องมันอีกเลย แม้กระทั่งผลไม้ลูกก็ยังกินได้น้อยและมีอาการเชื่องช้ากว่าทุกวัน
แสงอาทิตย์เริ่มสาดผ่านยอดภูสูง แสงอุ่นอ่อนอาบแผ่นดินแผ่นหินรอบๆ แม่จึงอุ้มลูกมานอนอาบแสงแดดบนแคร่ไม้ไผ่ข้างที่พัก ลูกนอนหลับตานิ่ง แม่พิจดูรูปร่างผอมบางราวกับเปลือกไม้ แขนขาของลูกเล็กนิดเดียวยกเว้นช่วงท้องเท่านั้นที่โตขึ้น ใบหน้าที่เคยอิ่มเอิบเปล่งปลั่งไร้วี่แววของความป่วยกลับผิดปกติ ซีดเซียวกว่าทุกวัน ริมฝีปากที่เคยเป็นสีชมพู ก็ซีดลง ทั้งยังมีอาการเย็นเฉียบตั้งปลายเท้าจนถึงเข่า แม่ต้องพยายามนวดเฟ้นให้ความอบอุ่นอย่างเบามือ
ดวงตาที่ปิดลงทำให้มองเห็นขนตายาวดกดำงอนงาม จนแม่แปลกใจ ลูกแม่เป็นเด็กป่วย แต่ทำไมจึงมีแววตาดำสนิทสุกใส ในส่วนสีขาวไม่เคยมีความเหลืองเข้ามาเจือปนเช่นคนป่วยมะเร็งตับทั่วไป หรือว่าเป็นเพราะจิตใจของลูกได้พัฒนาไปสู่การปล่อยวางอย่างเห็นได้ชัด แม้แม่จะไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมที่ลึกซึ้งแต่แม่ก็รู้ว่าลูกของแม่ไม่ใช่เด็กธรรมดา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกจะมีความสงบนิ่งปราศจากความเจ็บปวดได้อย่างไร ในเมื่อไม่มียาระงับปวดใดๆทั้งสิ้น หรือเป็นเพราะอาหารตามแนวทางของบำบัดธรรมชาติ
ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ แม่คิดว่าเป็นเพราะลูกดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมจนใครๆรู้ว่าลูกเป็นคนป่วยที่ไม่ก่อภาระให้แก่คนดูแลเลยสักนิด
"วันนี้ลูกกินอาหารได้น้อยมาก" แม่บอกน้านีที่นั่งอยู่ใกล้ๆ
เย็นวาน ลูกยังนอนที่ระเบียงกุฏิ แม่ชีน้อยของแม่ได้อัดเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นไว้ในเอ็มพีสามที่พ่อเพิ่งซื้อให้ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แม้จะมีน้ำเสียงสะดุดและไอเล็กน้อยเป็นบางครั้งก็ตาม แต่ลูกก็พยายามสวดมนต์จนจบ จากนั้นแม่ก็ประคองให้ลูกเอนตัวลงนอน แล้วเราก็เปิดฟังเสียงสวดนั้นด้วยกัน
"ลูกแม่เก่งจังเลย" แม่หมายความตามนั้นจริงๆ
(ยังมีต่อ)
ฉันเขียนเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อว่าจะสรุปเป็นบทเรียนสำหรับคนที่มีลูก และสำหรับครอบครัวที่มีคนป่วยต้องดูแล แต่ที่อยากบอกเล่าต่อกัลยาณมิตรในที่นี้ คือ การเดินทางออกนอกไร่ของฉันแต่ละครั้ง ทำให้พบกับคนเดิมๆ ที่มีเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้องกันอีกครั้งอย่างไม่ตั้งใจ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ฉันใคร่ครวญครุ่นคิดและแสวงหาแทบทั้งนั้น น่าแปลก...ทุกคนกำลังหาในสิ่งเดียวกัน
การรวบรวมบทเรียนการดูแลคนป่วยที่เป็นมะเร็ง ในกรณีศึกษาของแม่ชีน้อย ป่าน หรือ วิมุตตา กุณวงษ์ จึงทำให้ฉันใจจดจ่อกับเรื่องนี้นานหลายเดือน