Skip to main content
ทุกอณูเนื้อบนผืนโลก เราล้วนต่างเหยียบย่ำซ้ำรอย น่าแปลก ที่ไม่มีใครจำได้ว่าได้ย่ำมาแล้วกี่ครั้งกี่หน

ฉันหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำซากในปัจจุบันชาติ หรืออาจลากพาย้อนกลับไปหลายอสงไขยชาติ มีบ้างไหมที่พบว่าบางพื้นถิ่นเรารู้สึกคุ้นชินเหมือนเคยอยู่ มีบ้างไหม กับบางคนที่รู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้ชิดใกล้กันมาก่อน

 

ถ้าไม่แข็งขืนปฏิเสธการมีอยู่ของความทรงจำซ้ำซาก ที่ไม่เคยชัดเจนแต่ทิ้งเค้าลางเอาไว้อย่างแนบเนียน ฉันว่าใครหลายคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมฉัน และทิ้งคำจำนรรเอาไว้บ้างนั้น เราล้วนเคยเป็นพี่น้องกัน ไม่เช่นนั้นหนทางโคจรจะวกวนให้มาเจอกันได้อย่างไร


ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันซุ่มเงียบเขียนเรื่องราวของแม่ชีน้อย ผู้ผ่านความเจ็บปวดด้วยโรคมะเร็งไปสู่การปล่อยวางร่างกายและจิตใจได้อย่างหมดจด จนนาทีสุดท้าย เธอได้จากไปอย่างสงบ สันติ เพียงวัย 12 ปี

 

ลองอ่านดูนะคะ...




อัศจรรย์จิต แม่ชีน้อย

ตอนที่ 1


21
สิงหาคม 2551

เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา เธอได้ละทิ้งร่างกายที่เจ็บป่วยไปอย่างสงบ งดงาม

เช้าตรู่ แม่ประคองลูกสาวให้ลุกนั่งเพื่อเช็ดหน้าตาเตรียมตัวรับประทานอาหารเช้า แม้จะรู้สึกว่าลูกมีเรี่ยวแรงที่ลดน้อยลงอย่างผิดสังเกต แต่ก็ไม่ได้ปริปากบอกใคร เพราะในหัวใจของแม่ไม่เคยยอมรับว่าลูกจะต้องจากไป ไม่เคยบอกกับตัวเองว่าลูกจะต้องทิ้งสังขารไปในเร็ววัน แม่เชื่อเสมอว่าลูกจะต้องมีชีวิตต่อไปอีกนาน และถึงแม้ร่างกายจะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปก็ตาม แต่ลูกก็ยังมีความหวังว่าจะต้องหายจากโรคนี้ ลูกยังมีความฝันอีกมากมายที่ต้องทำ และความฝันเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเองเลยทั้งสิ้น

 

แม้ว่าเมื่อคืนนี้ พ่อได้กระซิบกับแม่ว่า
"
ลูกเราอาการไม่ดีแล้วนะแม่ สงสัยว่าลูกจะคงอยู่กับเราได้อีกไม่นาน" แม่รับฟังอย่างนิ่งเงียบ จนกระทั่งเมื่อได้สัมผัสกับเนื้อตัวลูกสาวในเช้าวันนี้ ยามต้องประคองให้ลูกลุกนั่ง วันนี้ลูกนั่งตัวตรงไม่ได้แม่ต้องหาที่พิงให้ลูกพร้อมกับนั่งข้างๆลูกเหมือนทุกๆวันในเวลาที่ลูกรับประทานอาหาร

"เหนื่อยไหมลูก" เอ่ยถามด้วยความสงสาร แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเช่นทุกวัน

"ไม่เหนื่อยหรอกแม่" พร้อมส่ายหน้า น้ำเสียงใสๆ เล็กๆ เปี่ยมพลังยังคงเดิม สม่ำเสมอ


อาหารเช้าเป็นไปเช่นทุกวัน คือนานาผลไม้ที่พ่อกับแม่ผลัดกันลงไปซื้อหาจากตลาดและตามบ้านของชาวบ้านที่รู้จักคุ้นเคย มื้อนี้พิเศษด้วยข้าวเหนียวนึ่ง ที่ลูกร้องขอว่าอยากกินอีกสักมื้อหนึ่ง เพราะนานแล้วที่ไม่ได้กิน ลูกหยิบข้าวเหนียวมาป้อนให้แม่หนึ่งคำ ก่อนที่จะหยิบกินเองหนึ่งคำ แล้วลูกก็ไม่ได้แตะต้องมันอีกเลย แม้กระทั่งผลไม้ลูกก็ยังกินได้น้อยและมีอาการเชื่องช้ากว่าทุกวัน

 

แสงอาทิตย์เริ่มสาดผ่านยอดภูสูง แสงอุ่นอ่อนอาบแผ่นดินแผ่นหินรอบๆ แม่จึงอุ้มลูกมานอนอาบแสงแดดบนแคร่ไม้ไผ่ข้างที่พัก ลูกนอนหลับตานิ่ง แม่พิจดูรูปร่างผอมบางราวกับเปลือกไม้ แขนขาของลูกเล็กนิดเดียวยกเว้นช่วงท้องเท่านั้นที่โตขึ้น ใบหน้าที่เคยอิ่มเอิบเปล่งปลั่งไร้วี่แววของความป่วยกลับผิดปกติ ซีดเซียวกว่าทุกวัน ริมฝีปากที่เคยเป็นสีชมพู ก็ซีดลง ทั้งยังมีอาการเย็นเฉียบตั้งปลายเท้าจนถึงเข่า แม่ต้องพยายามนวดเฟ้นให้ความอบอุ่นอย่างเบามือ


ดวงตาที่ปิดลงทำให้มองเห็นขนตายาวดกดำงอนงาม จนแม่แปลกใจ ลูกแม่เป็นเด็กป่วย แต่ทำไมจึงมีแววตาดำสนิทสุกใส ในส่วนสีขาวไม่เคยมีความเหลืองเข้ามาเจือปนเช่นคนป่วยมะเร็งตับทั่วไป หรือว่าเป็นเพราะจิตใจของลูกได้พัฒนาไปสู่การปล่อยวางอย่างเห็นได้ชัด แม้แม่จะไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมที่ลึกซึ้งแต่แม่ก็รู้ว่าลูกของแม่ไม่ใช่เด็กธรรมดา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกจะมีความสงบนิ่งปราศจากความเจ็บปวดได้อย่างไร ในเมื่อไม่มียาระงับปวดใดๆทั้งสิ้น หรือเป็นเพราะอาหารตามแนวทางของบำบัดธรรมชาติ


ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ แม่คิดว่าเป็นเพราะลูกดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมจนใครๆรู้ว่าลูกเป็นคนป่วยที่ไม่ก่อภาระให้แก่คนดูแลเลยสักนิด

 

"วันนี้ลูกกินอาหารได้น้อยมาก" แม่บอกน้านีที่นั่งอยู่ใกล้ๆ

เย็นวาน ลูกยังนอนที่ระเบียงกุฏิ แม่ชีน้อยของแม่ได้อัดเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นไว้ในเอ็มพีสามที่พ่อเพิ่งซื้อให้ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แม้จะมีน้ำเสียงสะดุดและไอเล็กน้อยเป็นบางครั้งก็ตาม แต่ลูกก็พยายามสวดมนต์จนจบ จากนั้นแม่ก็ประคองให้ลูกเอนตัวลงนอน แล้วเราก็เปิดฟังเสียงสวดนั้นด้วยกัน


"ลูกแม่เก่งจังเลย" แม่หมายความตามนั้นจริงๆ

 

(ยังมีต่อ)

 

ฉันเขียนเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อว่าจะสรุปเป็นบทเรียนสำหรับคนที่มีลูก และสำหรับครอบครัวที่มีคนป่วยต้องดูแล แต่ที่อยากบอกเล่าต่อกัลยาณมิตรในที่นี้ คือ การเดินทางออกนอกไร่ของฉันแต่ละครั้ง ทำให้พบกับคนเดิมๆ ที่มีเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้องกันอีกครั้งอย่างไม่ตั้งใจ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ฉันใคร่ครวญครุ่นคิดและแสวงหาแทบทั้งนั้น น่าแปลก...ทุกคนกำลังหาในสิ่งเดียวกัน

 

การรวบรวมบทเรียนการดูแลคนป่วยที่เป็นมะเร็ง ในกรณีศึกษาของแม่ชีน้อย ป่าน หรือ วิมุตตา กุณวงษ์ จึงทำให้ฉันใจจดจ่อกับเรื่องนี้นานหลายเดือน

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ฉันสังเกตดูรอบๆ บ้านหลังน้อยของลุงลี แทบไม่มีพืชผักที่พอจะเก็บกินได้ สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมไม่ปลูก ในเมื่อแกเป็นคนเก่าแก่และเป็นคนเดียวที่อยู่ในป่านี้มานานถึง 20 กว่าปี ตอนที่ฉันได้หน่อกล้วยหอมพันธุ์ดีมาจากหนองคาย แกก็ยังอุตส่าห์เอาปุ๋ยขี้ควายมาให้ตั้งสามกระสอบ แถมยังสอนวิธีปลูกให้อีกด้วย เมื่อเห็นฉันลงมือขุดหลุมห่างๆ เพราะคิดว่าในอนาคตมันต้องแตกหน่อมาชนกันเอง แกกลับบอกว่าให้ชิดๆกันหน่อยจะดีกว่า เป็นแรงดึงดูดให้กล้วยโตเร็วขึ้น ฉันก็เอาตามนั้น ก้นหลุมกว้างลึกรองด้วยปุ๋ยมูลสัตว์สลับหญ้าแห้ง ดูเป็นวิชาการมากๆ ตามคำแนะนำของแกถามแกว่าจะเอาไปปลูกเองสักต้นไหม…
เงาศิลป์
ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเองหมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่…
เงาศิลป์
สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด.....หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน…
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (…
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน…
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป …
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย…