Skip to main content

ในสายวันอาทิตย์ฉันถูกปลุกด้วยเสียงออด ทั้งที่ตั้งใจว่าจะนอนพักผ่อนให้เต็มที่ เด็กสาวหนึ่งคนกับเด็กหญิงตัวน้อยยืนอยู่ริมรั้วบ้าน ฉันเปิดประตูให้พวกเธอเดินเข้ามาก่อนต้องเพ่งมองอีกนานจึงจะนึกออกว่านั่นคือทิพย์

“มาเที่ยวหาพี่ ไม่ได้เจอกันนานแล้ว” ทิพย์บอกพร้อมยื่นถุงฟักทองหนึ่งลูกและเผือกหนึ่งหัวให้ฉัน “แม่ฝากเอามาให้”  

ฉันยังมึนงงว่าจะต้อนรับขับสู้อาคันตุกะตัวน้อยอย่างไร ต่างมีอาการเคอะเขินเพราะไม่พบกันนาน

ทิพย์เป็นลูกสาวของพี่อัมพร ชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่ด้วยเมื่อครั้งเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ ฉันพบทิพย์ครั้งสุดท้ายเมื่อฉันเรียนยังไม่จบ แต่ได้ข่าวว่าหลังจากจบชั้น ม.๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในหมู่บ้านทิพย์ตัดสินใจไปกรุงเทพเพื่อทำงานในร้านขนมปังแล้วส่งเสียตนเองเรียน เมื่อจบ ปวส. เธอทำงานในร้านเดิมได้ประมาณหนึ่งปี ก่อนขอย้ายมาอยู่สาขาในจังหวัดบ้านเกิด

“ตัวเล็กนี่หน่อเดะสินะ” ฉันเอ่ยชื่อน้องของทิพย์คนหนึ่ง

“ไม่ใช่ นี่สุพิชชาต่างหาก” คำตอบของทิพย์บ่งบอกว่าฉันไม่ได้ไปหมู่บ้านนานมากจนกระทั่งจำเด็กน้อยที่เห็นมาแต่แรกเกิดและเป็นเพื่อนกินเพื่อนนอนของฉันไม่ได้เสียแล้ว  

ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นเขาคงความสัมพันธ์กับหมู่บ้านที่เคยไปทำการศึกษาวิจัยได้ยาวนานและเหนียวแน่นเพียงใด นักวิจัยภาคสนามรวมทั้งนักพัฒนามักมีสิ่งที่เรียกว่า My Village เอาไว้เล่าถึงอย่างภาคภูมิใจว่าตนเองเคยไปกินไปนอน ไปใช้ชีวิตแบบ “ชาวบ้าน” ซึ่งน้อยนักที่คนทั่วไปจะทำเช่นนั้นได้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของการทำวิจัยแล้วเล่า ปีละหน สองปีหน หรือไม่เลย ที่พวกเรา/พวกเขาจะได้ไปเยี่ยมเยือน “พ่อแม่พี่น้อง” ที่จากมา และการไปเยี่ยมเยือนเช่นนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่

วิทยานิพนธ์ที่เขียนขึ้นจากเรื่องราวของพวกเขา ช่วยให้ฉันเรียนจบจนมีหน้าที่การงานที่ดีมีฐานะมั่นคงขึ้น ฉันตระหนักในเรื่องนี้เสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตหลังจากนั้นทำให้ฉันเดินไกลจาก My Village ไปทุกที

ความเป็นกลาง กับความเป็นคน

ฉันถูกสอนมาว่าผู้คนที่เราไปศึกษาวิจัยไม่ใช่ “วัตถุแห่งการศึกษา” แต่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับเรา การลงสนามไปเรียนรู้ชีวิตของพวกเขาจึงต้องเป็นไปอย่างนอบน้อม เกรงอกเกรงใจและสำนึกขอบคุณในความเอื้อเฟื้อที่ได้รับ

ขณะเดียวกันฉันก็ไม่ได้มองอย่างโรแมนติกว่าชาวบ้านเป็นมนุษย์ผู้ใสซื่อที่รอคอยการหยิบยื่นช่วยเหลือจากเรา ฉันไม่ได้เป็นนักบุญที่จะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้ทุกคนได้ทุกอย่าง และฉันก็ไม่ได้เป็นพี่สาวใจดีที่จะมีน้ำจิตน้ำใจไมตรีกับทุกคน ฉันเลือกเป็นเพื่อนกับคนที่อยากเป็นเพื่อนกับฉัน และเลือกอยู่ห่าง ๆ คนที่มีท่าทีไม่เป็นมิตร แต่ก็อดทนที่จะไม่เป็นตัวของตัวเองมากเกินไปเมื่อไปอาศัยพื้นที่ของผู้อื่น

ภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน ชาวบ้านกับผู้คนรายรอบเต็มไปด้วยความแตกต่างและขัดแย้ง ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าไปในหมู่บ้าน การเลือกคนที่ติดต่อประสานงาน การเลือกบ้านที่อาศัยนอน การเลือกกิจกรรมที่ร่วมทำ ฯลฯ ล้วนทำให้ผู้วิจัยถูกจัดอยู่ในข้างใดข้างหนึ่งของความขัดแย้งเสมอ ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะเต็มใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม

ท่ามกลางความขัดแย้งฉันไม่เคยเป็นกลาง และโดยไม่ได้เลือกฉันมักสนิทสนมกับกลุ่มคนในฝ่ายที่ด้อยอำนาจกว่า เพราะวิทยานิพนธ์ของฉันมุ่งนำเสนอว่าผู้คนเหล่านั้นต่อสู้ดิ้นรนกับการถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่อย่างไร  การเขียนงานเช่นนั้นไม่ใช่เพราะฉันยึดถือความดีงามอะไร แต่กรอบความคิดและความรู้ที่ร่ำเรียนมามันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้อธิบายความเป็นมนุษย์ในมุมของฝ่ายที่เสียเปรียบกว่า

วิทยาพนธ์ของฉันไม่ได้อ้างว่านำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็น “ความจริง” หรือเป็นกลาง หากเป็นเพียงความจริงที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างฉันกับผู้ที่ฉันพบปะพูดคุยด้วยเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากเปลี่ยนฉันเป็นคนอื่น หรือหากเปลี่ยนตัวชาวบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์กับฉัน “ความจริง” จากเรื่องเล่าของฉันย่อมเปลี่ยนแปลงไป

ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักวิจัย นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง

หากฝักฝ่ายที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมอุปโลกน์กันขึ้นมาด้วยการสร้างความรู้สึกนึกคิดว่าผู้คนในฝ่ายเดียวกันมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาร่วม ฐานะทางเศรษฐกิจร่วม ผลประโยชน์ร่วม หรือสิ่งเทิดทูนบูชาร่วมกัน ความเป็นกลางก็จัดเป็นสถานะที่อุปโลกน์ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าตนเอง “เป็นกลาง” นั่นหมายความว่าพวกเขาสังกัดตนเองอยู่ใน “ฝ่ายเป็นกลาง” ซึ่งก็คือฝักฝ่ายหนึ่งอยู่นั่นเอง ส่วนจะเป็นฝักฝ่ายที่มีประโยชน์ เป็นภาระ หรือเป็นอุปสรรคต่อการคลี่คลายความขัดแย้งแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อ  

ผู้คนซึ่งฝักใฝ่ความเป็นกลางจำนวนมากที่ฉันพบ มักยึดมั่นความเป็นกลางจนกระทั่งลืมความเป็นคน ใช้ความเป็นกลางเป็นข้ออ้างในการนิ่งดูดายเมื่อเห็นฝ่ายหนึ่งถูกอีกฝ่ายหนึ่งคุกคามทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรม

นักวิจัยจำนวนไม่น้อยระแวดระวังที่จะตั้งมั่นอยู่ในความเป็นกลาง จนกระทั่งลืมมองเห็นน้ำใจไมตรีของผู้คนที่พวกเขาเข้าไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล ทั้ง ๆ ที่บ่อยครั้งข้อมูลที่ได้มาจากชาวบ้านนั้นไม่เคยเป็นประโยชน์สำหรับตัวชาวบ้านผู้ให้ข้อมูลเลยด้วยซ้ำ แต่การศึกษานั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวผู้วิจัยเองแต่ฝ่ายเดียว

นักวิจัยผู้ไร้ประโยชน์

ย้อนหลังกลับไปหลายปีก่อน ในระหว่างเป็นนักเรียน วิ่งเข้าออกห้องสัมมนาทางวิชาการและหมู่บ้าน

วันหนึ่งชาวบ้านถูกจับขังคุกและฉันช่วยอะไรเขาไม่ได้นอกจากนำอาหารและขนมไปเยี่ยม อีกวันหนึ่งชาวบ้านขอให้ฉันขับรถไปส่งทำธุระที่ต่างอำเภอ แต่ฉันปฏิเสธเพราะต้องเดินทางเข้าเมืองในวันเดียวกันนั้น แต่ฉันก็รู้สึกผิดและเห็นว่าตนเองช่างไร้ประโยชน์สิ้นดี มาอาศัยกินข้าวชาวบ้านนานหลายเดือนแต่ช่วยเหลืออะไรใครไม่ได้เลย

ฉันบอกกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่าจะเลิกเขียนวิทยานิพนธ์ เพราะไม่เห็นว่างานวิชาการจะมีประโยชน์อะไรต่อชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์นั่งอึ้งครู่ใหญ่ก่อนจะพยายามอธิบายว่าผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยมันอาจไม่ไปถึงชาวบ้านโดยตรงเช่นนั้น แต่ความรู้จากการศึกษาต่างหากที่จะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น

“มีคนอ่านไม่กี่คนหรอก เชื่อสิ” ฉันตอบ   

หลายปีมาแล้วที่ฉันเรียนจบ วิทยานิพนธ์หนาเตอะนอนแน่นิ่งให้ฝุ่นเกาะอยู่ในห้องสมุด ทุกอย่างเป็นไปตามที่เคยคาดไว้

หลายวันก่อนฉันตัดสายโทรศัพท์ของเพื่อนสนิทคนหนึ่งจากหมู่บ้าน เพราะมันดังขึ้นในขณะที่ฉันทำงานอยู่จึงไม่สะดวกที่จะรับสาย ทั้ง ๆ ที่ฉันรู้ว่าเธอต้องเดินไกลหลายกิโลเมตรกกว่าจะพบตำแหน่งที่มีคลื่นโทรศัพท์โทรมาหาฉัน และกว่าที่ฉันจะโทรกลับ เธอก็ได้ไปอยู่ในตำแหน่งอับสัญญาณเสียแล้ว  

ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านและอีกหลายคนที่ฉันรู้จักในหมู่บ้านอื่นเสียชีวิตโดยที่ฉันไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานศพ กว่าจะทราบข่าวก็ล่วงเลยไปหลายเดือน

เมื่อคิดเรื่องพวกนี้ ความรู้สึกหลายอย่างประเดประดังเข้ามา ก่อนที่ฉันจะสลัดมันทิ้งเพื่อรับมือกับภาระการงานตรงหน้า

...

ความมึนงงจากอาการตื่นนอนตอนสายวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นความยินดีที่ได้กลับมาเจอทิพย์และสุพิชชาอีกครั้งโดยไม่ได้คาดหมายล่วงหน้า เผือกและฟักทองเป็นของฝากที่น่าเอ็นดูเมื่อทราบว่าเด็กทั้งคู่ต้องแบกหนักลงมาจากบนดอยแสนไกลและเดินตากแดดกว่าจะมาถึงบ้านฉัน  

ที่บ้านไม่มีขนมนมเนยที่จะนำมาเลี้ยงรับรองน้องทั้งสองคน ฉันจึงพาทิพย์และสุพิชชาออกไปนั่งกินน้ำปั่นและขนมเค้กที่ร้านแห่งหนึ่ง นั่นเป็นการต้อนรับที่ดีที่สุดสำหรับน้องสาวสองคนเท่าที่ฉันพอจะคิดได้ในตอนนั้น จากนั้นจึงพาทั้งคู่ไปส่งขึ้นรถกลับหมู่บ้าน เมื่อพวกเธอขึ้นรถไปแล้วฉันค่อยนึกได้ว่าลืมอะไรไปอีกหลายอย่าง เช่น หาตุ๊กตาสักตัวให้สุพิชชา และเขียนจดหมายฝากไปถึงแม่ของพวกเธอ และเพื่อนสนิทของฉันอีกคนที่หมู่บ้าน

“เมื่อไหร่พี่จะขึ้นไปดอยอีก” ทิพย์ถามก่อนจากกัน

“พี่ไม่ได้ไปนานแล้วเนาะ อยากไป พี่อยากไป” ฉันพูดแค่นั้นและระวังที่จะไม่สัญญาอะไรเพราะไม่แน่ใจว่าตนเองจะรักษาสัญญาได้

ชีวิตจริงของมนุษย์ไม่ได้โรแมนติกอะไร ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่ฉันทำวิจัย เพื่อนเก่าสมัยประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย ญาติพี่น้องที่ไม่ได้พบเจอกันนาน และผู้คนอีกมากมายบนโลกใบนี้ จังหวะเวลาหนึ่งเรามีโอกาสพานพบ แต่วันหนึ่งก็ต้องแยกย้ายกันไปตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน

มาถึงวันนี้ ฉันบอกใครหลายคนว่าผลผลิตจากการเรียนจบของฉัน ไม่ใช่วิทยานิพนธ์หนาเตอะที่ไม่มีใครอ่านเล่มนั้น ไม่ใช่ชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านและปัญหาต่าง ๆ ที่คลี่คลายลง แต่เป็นตัวฉันเองที่เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองไปมากมาย ความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนในหมู่บ้านตลอดหลายปีของการศึกษาวิจัยทำให้ฉันเรียนรู้ที่จะมองตัวเองให้เล็กลงและเห็นตนเองเป็นคนธรรมดาเท่าเทียมกับคนอื่น  

ฉันไม่อาจหวังว่าการงานที่ทำอยู่จะย้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน และการงานของฉันมันอาจเล็กน้อยจนไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ฉันไม่เคยลืมว่า My Village ได้สร้างความเป็นตัวฉันในทุกวันนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการงานที่ฉันทำอยู่เสมอ 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ชีวิตเป็นของเรา ร่างกายของเป็นของเรา อวัยวะเป็นของเรา เงินทองที่ใช้จัดการชีวิตก็เป็นของเรา  ดังนั้นสิทธิในการเลือกที่จะมีหรือไม่มีคู่/ครอบครัว ก็ควรจะเป็นของเราด้วย
"ไม่มีชื่อ"
...น่าทึ่งอย่างมากที่มนุษย์จำนวนมากยังคงมุ่งมั่นที่จะดิ้นรนต่อรองแม้แต่ในเรื่องที่ไม่น่าจะต่อรองได้ สรรหาวิธีการอันแยบยลมาใช้ต่อรอง และต่อรองแม้กับเทพยดาฟ้าดินที่ดูราวกับมีอำนาจสูงส่งจนไม่น่ากล้าที่จะต่อรอง
"ไม่มีชื่อ"
การทำเกษตรอินทรีย์กลายมาเป็น “แบบอย่าง” หรือ “ต้นแบบ” ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคโดยทั่วไปยกย่อง และอยากให้เกษตรกรไทยหันมาทำตามอย่างจริงจัง...ทว่า เกษตรกรแต่ละคนมี “ต้นทุน”  ที่ต่างกัน การทำเกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก 
"ไม่มีชื่อ"
ความตายของ "คนไร้บ้าน" ช่างง่ายดายและแผ่วเบา หลายคนไม่มีโอกาสที่จะยื้อยุดลมหายใจของตนเอง และบางคนก็ไม่คิดพยายามที่จะทำเช่นนั้น อันที่จริง การมีอยู่ของคนไร้บ้านก็แผ่วเบาดุจเดียวกัน มีคนไม่มากนักที่รับรู้และสนใจการมีอยู่และการจากไปของพวกเขา