Skip to main content

 

หลายเดือนก่อนฉันมีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับ "คนไร้บ้าน" ที่พักอยู่ในศูนย์พักของเครือข่ายคนไร้บ้านที่ดูแลโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ทำให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับพี่น้องคนไร้บ้านหลายคน ได้เห็นมุมน่ารัก ๆ และมุม "ธรรมดา ๆ" ของความเป็นมนุษย์สามัญซึ่งไม่ได้มีแต่ "ความสกปรก" "น่ารังเกียจ" "ไม่น่าไว้ใจ" แบบที่หลายคนเข้าใจ

ทำงานไม่ทันเสร็จดี ก็ได้ข่าวจากเพื่อนจาก มพศ.

"พี่เดี่ยวตายแล้วนะ แกนอนหลับแล้วก็ช็อคตายไปเลยในตอนใกล้สว่าง"

พี่เดี่ยวคือชายวัยกลางคนที่ฝันอยากซื้อรถกระบะมือสองไว้เร่ขายของ อาชีพหลักคือเก็บขยะขาย พี่เดี่ยวป่วยหลายโรค มีเลือดไหลซึมเป็นจุด ๆ ตามร่างกายตลอดเวลา แกไม่ค่อยใส่เสื้อ เนื้อตัวสกปรกมอมแมม ดูขัดแย้งกับคำพูดและน้ำเสียงที่ไพเราะอ่อนหวานเสมอ

พี่เดี่ยวแทนตัวเองว่า "พ่อเดี่ยว" ทุกครั้งเมื่อคุยกับ "ก้อนเมฆ" เด็กชายวัยสองขวบเศษที่แกรักเหมือนลูก ก้อนเมฆเป็นลูกของหญิงไร้สัญชาติกับชายไทยที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในศูนย์พักคนไร้บ้าน

อีกไม่กี่เดือนต่อมา...ฉันได้ข่าวอีก...

"ลุงเจตน์ตายแล้วนะ ไปขอทานกลับมาตอนเช้าแล้วก็นั่งตายอยู่บนรถเข็นของแก"

ลุงเจตน์เป็นชายวัยใกล้ห้าสิบที่เคยมีช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์เมื่อสมัยหนุ่ม ๆ แต่ชีวิตผกผันเมื่อตกนั่งร้านตอนเป็นช่างปูนอยู่กับบริษัท ช.การช่าง แกบาดเจ็บที่หลัง ทำให้นั่งนาน ๆ ไม่ได้ แข้งขาอ่อนแรง และต้องนอนคว่ำตลอดเวลา อาชีพสุดท้ายของลุงเจตน์คือขอทาน แลกเงินซื้อข้าวและเหล้ากินไปวัน ๆ ทุกหัวค่ำลุงเจตน์จะเข็นรถที่มีเก้าอี้ หมอน และเชือก เดินช้า ๆ จากซอย ระหว่างทางหากเจอขวด กระป๋อง กระดาษ ที่พอจะขายได้แกก็จะเก็บใส่รถเข็น เมื่อไปถึงริมถนนใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวลุงเจตน์จะใช้หมอนรองหลังแล้วใช้เชือกมัดตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ให้ทรงตัวอยู่ได้ แล้วนั่งขอทานอยู่อย่างนั้น หากได้เงินบ้างแกจะเข็นรถกลับมานอนที่ศูนย์พักฯ เพื่อไม่ให้เด็กวัยรุ่นมาฉกเงินไป แต่หากไม่ได้เงินแกก็จะนอนอยู่ตรงนั้นแล้วค่อยเข็นรถกลับมาตอนรุ่งสาง

และเมื่อสองสามวันก่อน...ฉันได้ข่าวอีก...

"ลุงชัยกลับบ้านไปแล้วครับ"

ลุงชัยวัยเจ็ดสิบกว่าถูกส่งกลับภูมิลำเนาในภาคใต้ เพราะเริ่มช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ก่อนหน้านี้ลุงชัยมีอาชีพ "ชนตังค์" หรือขอทาน เท่าที่ไปคลุกคลีอยู่ที่ศูนย์พักฯ ฉันไม่เคยเห็นลุงชัยหยุด "งาน" นอกเสียจากวันประชุมสมาชิกในศูนย์พักฯ ลุงชัยเล่าว่าแกเป็นญาติกับนายตำรวจใหญ่ทุกวันนี้ยังมีหลานนำเงินมาส่งให้เดือนละพันบาท แต่แกไม่เคยอยากกลับ "บ้าน"

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ลุงชัยเริ่มลุกเดินเหินไม่สะดวกและหาข้าวหาปลากินเองลำบาก เป็นภาระของลุงนึกวัยหกสิบเศษและพี่น้องคนไร้บ้านในศูนย์พักฯต้องคอยช่วยเหลืออยู่ระยะหนึ่งในที่สุดเจ้าหน้าที่ มพศ. จึงตัดสินใจโทรไปตามให้คนที่บ้านมารับตัวกลับไป แต่ก็ต้องโทรตามกันอยู่หลายครั้ง

...และรายล่าสุด...ที่ย่อมไม่ใช่รายสุดท้าย

"นกก็ตายแล้วนะ ติดเชื้อมานานแล้ว ป่วยอยู่สามวันก็ตาย หลังจากนั้นแฟนของนกก็ย้ายออกไปจากศูนย์พักฯ" นกเป็นหญิงสาวอัธยาศัยดี มีอาชีพขายพวงมาลัยริบบิ้นตามงานคอนเสิร์ตในช่วงฤดูฝนซึ่งไม่ค่อยมีงานกลางแจ้ง นกได้หยุดงานเป็นเวลานาน จึงคอยทำความสะอาดพื้นที่ส่วนของตนเองและพื้นที่ส่วนกลางในศูนย์พักฯ เกินเลยมาถึงหน้าห้องที่พวกเราไปขอพัก ฉันไม่เคยเอะใจสักนิดว่านกเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะแลดูสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี จนกระทั่งทราบข่าวการจากไปของเธอ

ความตายของ "คนไร้บ้าน" ช่างง่ายดายและแผ่วเบา หลายคนไม่มีโอกาสที่จะยื้อยุดลมหายใจของตนเอง และบางคนก็ไม่คิดพยายามที่จะทำเช่นนั้น อันที่จริง การมีอยู่ของคนไร้บ้านก็แผ่วเบาดุจเดียวกัน มีคนไม่มากนักที่รับรู้และสนใจการมีอยู่และการจากไปของพวกเขา

ในสายตาของหน่วยงานรัฐคนไร้บ้านไม่ใช่พลเมืองที่ "มีคุณภาพ" และ “คุณค่า” ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ “ทำประโยชน์” ให้แก่สังคมเท่าที่รัฐต้องการ หนำซ้ำพวกเขายังถูกมองเป็นปัญหาหรือ "ภาระ"  ดูเกะกะไม่เจริญหูเจริญตา ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง ๆ รัฐก็ไม่ค่อยได้ปกป้องดูแลพวกเขาได้รับสิทธิพื้นฐานตามที่ประชาชนทั่วไปควรจะได้รับ  

หลายชีวิตของคนไร้บ้านรวมกันมันช่างเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับหนึ่งชีวิตของคนบางคน และงบประมาณมหาศาลที่รัฐใช้ในการตอบแทนดูแลคนเหล่านั้น

ไม่ว่ารัฐหรือใครจะคิดอย่างไร ที่ฉันเห็นก็คือพวกเขาเป็นมนุษย์เท่า ๆ กับมนุษย์คนอื่นพยายามดิ้นรนหาเลี้ยงชีวิตโดยไม่งอมืองอเท้ารอโชคชะตา แม้แต่การขอทานหรือการเก็บหาขยะขายสำหรับพวกเขามันก็คือการทำมาหาเลี้ยงชีพเท่าที่จะทำได้ในเงื่อนไขและโอกาสอันจำกัด

คนไร้บ้านหลายคนเคยหนีออกมาจากสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐ  ทั้ง ๆ ที่มีอาหารเลี้ยงฟรี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นั่นคงพอจะสะท้อนได้ว่าสิ่งคนไร้บ้านต้องการไม่ใช่การช่วยเหลือแบบ “สงเคราะห์” แต่เป็นการยอมรับและเห็นคุณค่า หรืออย่างน้อยที่สุดคือการมองเห็นว่าพวกเขาก็เป็นคนที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ สามารถเลือกและกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ หรือแม้หากว่าจะต้องตายหลายคนก็ขอเลือกสถานที่และวิธีการตายด้วยตนเอง

 

หมายเหตุ: ศูนย์พักคนไร้บ้านที่บางกอกน้อยกำลังได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช, ศูนย์พักคนไร้บ้านเชียงใหม่เพิ่งย้ายที่เพราะเจ้าของตึกยกเลิกสัญญาการให้เช่า

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า