เมื่อศึกษาเรื่องอาชีพของคนไร้บ้าน เจ้าหน้าที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องคนหนึ่งถามว่า “ขอทานน่ะ จะจัดเป็นอาชีพด้วยหรือเปล่า”
ว่ากันตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 การขอทานมีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามกรอบนี้ ขอทานคงนับเป็น “อาชีพ” ไม่ได้ ในทำนองเดียวกันกับการขายบริการทางเพศและการทำมาหากินด้วยวิธีการอื่นที่กฎหมายไม่อนุญาต
แต่กฎหมายคงไม่สามารถผูกขาดการนิยามความถูกต้องไว้ได้เสียทั้งหมด
สำหรับข้าพเจ้าการขอทาน เป็น “การงาน” ที่สุจริตแบบหนึ่ง ยกเว้นการบังคับขอทานในขบวนการค้ามนุษย์
ด้วยโอกาสทางสังคมที่ได้รับไม่เท่ากัน และด้วยเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ทำให้อาชีพการงาน "ดี ๆ" ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ การขอทานจึงกลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่มีทางเลือกในการหาเลี้ยงชีวิตได้น้อยเต็มที
งานศึกษามากมายชี้ให้เห็นว่าคนทำงานขอทานนั้นมีอยู่ในทุกบ้านเมือง และการขอทานก็ไม่ใช่การงานที่ทำกันง่าย ๆ แต่มีระเบียบวิธีของตัวเอง มีเวลาและสถานที่เฉพาะเจาะจงที่ผู้ทำงานแบบนี้จะต้องเรียนรู้และฝึกฝน เช่นว่า จะเลือกไปนั่งตรงไหนไม่ให้ถูกตำรวจซิว ควรจะไปช่วงเวลากี่โมง จะใช้เทคนิคการขออย่างไรให้ได้เงิน จะเก็บเงินที่ได้มาได้อย่างไรไม่ให้นักเลงหรือมิจฉาชีพฉกชิงไป ฯลฯ
ในยามค่ำคืนข้าพเจ้าพบชายในภาพที่บริเวณตลาดโต้รุ่งแห่งหนึ่ง มองเห็นตั้งแต่เขาเริ่มเดินเข้ามาเพียงลำพังโดยใช้ไม้เท้าช่วยกำหนดทิศทาง ค่อย ๆ คลำทางมาตามแนวรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดเรียงรายอยู่ และเดินเข้ามาลึกจนถึงใจกลางตลาด
เขาไม่ได้แค่นั่งขอทานเฉย ๆ แต่ตะโกนร้องเพลงและตีขาของตนเองอย่างแรงให้มันมีเสียงดังประหนึ่งเครื่องดนตรีประกอบเพลง
ยืนดูอยู่ครู่ใหญ่ ข้าพเจ้าเห็นหลายคนเอาเงินมาใส่ตะกร้าให้ เมื่อหยุดพักระหว่างเพลง เขาเก็บเงินจากตะกร้าเข้ากระเป๋าก่อนจะร้องเพลงต่อไป
ข้าพเจ้าอยู่ไกลในระยะที่ฟังไม่ชัดเจนว่าเขาร้องเพลงอะไรบ้าง แต่เห็นความพยายามในการทำมาหากินของเขาแล้วรู้สึกบอกไม่ถูก
ผู้คนในสังคมล้วนแต่มีความไม่เท่าเทียมกัน แม้แต่ในบรรดาผู้ทำงานขอทานเองก็ยังมีทุนไม่เท่ากัน วณิพกจำนวนมากมีอุปกรณ์ทำงานดีกว่านี้ มีเครื่องดนตรี ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง หรือแม้กระทั่งมีคนดูแล แต่ขอทานอีกจำนวนมากทำได้เพียงนั่งขอทานอยู่เฉย ๆ
แม้ว่าจะเป็นการนั่งเฉย ๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดว่านั่นคือการ “ไม่ทำงานทำการอะไร”
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนขอทานมักถูกเข้าใจอย่างสับสนปนเปกัน ทำให้การทำงานขอทานซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีก เมื่อโดนรังเกียจเดียดฉันท์ ถูกประณาม และถูกทางการกวาดจับเป็นระยะ ๆ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้างต้น
เรื่องที่ควรเข้าใจก็คือ คนไร้บ้านบางส่วนทำงานขอทาน แต่คนทำงานขอทานไม่ได้เป็นคนไร้บ้านทั้งหมด
คนขอทานบางส่วนตกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ขอทานแบบเป็น “ขบวนการ” ในแง่นี้ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยแน่ใจนักว่าการรณรงค์ของหลายองค์กรที่ว่าอย่าให้เงินขอทานนั้นจะเป็นแนวทางที่ดีแล้วหรือไม่
เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าเมืองที่พัฒนาได้ดี ไม่มีควรมีคนทำงานขอทาน แต่ก็น่าแปลกที่เมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกเรากลับพบว่ามีขอทานและคนไร้บ้านอยู่มากมาย กลายเป็นความลักลั่นอันเหลือทนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเกี่ยวข้อง เพราะมันเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของโอกาสที่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้รับจากการพัฒนาอย่างชัดเจน
และนั่นยังหมายความว่ายังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในประเทศอื่น
การสงสารเห็นใจเพียงอย่างเดียวคงไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น แต่การที่รัฐกวาดจับก็ไม่น่าจะใช่ทางออก
หากรัฐไม่ยอมให้คนสิ้นไร้ไม้ตอกทำงานขอทาน สิ่งที่น่าจะถามกลับก็คือรัฐมีทางออกให้แก่คนเหล่านี้อย่างไร ที่นอกเหนือไปจากการกวาดล้าง หรือจับเข้าสถานสงเคราะห์ ซึ่งในความเป็นจริงก็พบว่าสถานสงเคราะห์นั้นไม่สามารถรองรับผู้ยากไร้ทั้งหมดในประเทศได้หมด และผู้คนเหล่านี้ก็เชื่อว่าตนเองยังมีเรี่ยวแรงที่จะหาเลี้ยงชีวิตด้วยตนเองได้โดยสุจริต
ก่อนจะรังเกียจเดียดฉันท์ขอทานว่า “ไม่รู้จักทำการทำงานอะไร”
ลองเปลี่ยนมาพยายามมองในจุดที่พวกเขายืนอยู่ดูบ้าง อาจจะช่วยให้เข้าใจอะไรมากขึ้น
(โปรดติดตามเรื่องเล่าของคนขอทานในตอนต่อไป)