Skip to main content

 

ฉันเล่าให้เพื่อนฟังอย่างฉุนเฉียวถึงนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งที่ได้พบ “เขาตอบคำถามธรรมดา ๆ ไม่ได้หรือ ทำไมจะต้อง “เยอะ” ทำให้คำถามง่าย ๆ กลายเป็นเรื่องยากเย็นที่จะตอบแบบตรงไปตรงมา” ฉันถามเขาถึงหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจ แทนที่เขาจะตอบชื่อหนังสือ เขากลับย้อนมาอภิปรายถึงคำถามของฉัน “ไม่ชอบคำว่าแรงบันดาลใจ เพราะว่า...” ต่อด้วยการอภิปรายถึงการอ่านหนังสือว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะแนะนำหนังสือให้ใครอ่าน ถ้าเขาไม่อยากอ่าน...” ตกลงว่าฉันต้องรีดเค้นอยู่หลายประโยคเพื่อให้ได้ชื่อหนังสือมาสามเล่ม ซึ่งกว่าจะได้มาฉันก็เลิกสนใจรายชื่อหนังสือพวกนั้นแล้ว 

“เพื่อนเธอคนนี้แปลกประหลาด”  ฉันสรุปในตอนท้ายก่อนจะเปลี่ยนมาเล่าเรื่องตลกของตัวเอง

ฉันเล่าถึงการสัมมนาแห่งหนึ่งที่ไปร่วมเมื่อราวสิบปีก่อน ทุกคนแนะนำตัวว่าเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่...ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และยินดีที่ได้กลับมาเยือนอีกครั้ง ก่อนจะพูดเข้าเนื้อหาที่เตรียมมา เมื่อถึงช่วงที่ฉันต้องขึ้นนำเสนอบ้างในขณะที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากผู้คนที่แวดล้อมอยู่ถึงขีดสุด ฉันแนะนำตัวว่า “สวัสดีค่ะ ฉันไม่ได้เป็นศิษย์เก่าที่นี่ ไม่ได้เรียนจบด้านนี้ แต่ฉันอยากจะลองพูดเรื่องนี้” ทุกคนในห้องประชุมอึ้ง บางคนยิ้มน้อย ๆ และมีอีกคนหนึ่งถึงกับพลิกหาประวัติสั้น ๆ ของฉันที่แนบมากับเอกสาร ฉันไม่ชอบการอ้างอิงตนเองกับสถาบันใด ๆ อย่างมาก และแน่นอนที่ฉันตั้งใจอย่างยิ่งที่จะกวนประสาทผู้ฟังและผู้ที่นำเสนอก่อนหน้านี้ คำแนะนำตัวของฉันประสบผลที่ตั้งใจไว้อย่างไม่ต้องสงสัยและฉันรู้สึกสะใจ 

“เรื่องของเธอที่เล่ามา ต่างอะไรกับเรื่องของนักเขียนคนนั้น”  เพื่อนคนหนึ่งโพล่งขึ้นมาทันทีที่ฉันเล่าจบ “เธอก็แปลกประหลาดไม่ต่างกับเขานั่นแหละ”  ฉันนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ  ก่อนที่พวกเราจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาพร้อม ๆ กัน

มิวายที่ฉันจะถามเพื่อนซ้ำว่า “จริงเหรอ ฉันประหลาดจริง ๆ เหรอ ฉันว่าฉันปกติที่สุดแล้วนะ คนอื่นสิประหลาด” 

เพื่อนยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่จริง เธอไม่ปกติ เธอนั่นแหละประหลาด” แล้วเราก็หัวเราะกันอีก

ความปกติ-ความประหลาด เป็นหนึ่งในประเด็นที่พวกเราชอบใช้หยอกล้อกัน พวกเราชอบนินทาใครหลายคนว่า “พวกเขาแปลก ๆ”  แต่ความจริงพวกเราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าพวกเราเองนี่แหละที่แปลกประหลาด มองโลกไม่เหมือนคนอื่น เลือกทางชีวิตที่แปลกกว่าคนอื่น และต่างแปลกประหลาดต่อกันและกัน

พวกเราแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย มีอาชีพคนละอย่าง มีทางชีวิตคนละแบบ ชอบดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ  มีกิจกรรมในชีวิตแตกต่างกัน  แม้กระทั่งการจัดสรรเวลาให้ “ว่าง” เหมือนกันเพื่อมาพบกันและทำกิจกรรมเดียวกันบ่อยครั้งยังไม่ใช่เรื่องง่าย ในเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวฉันว่าพวกเราเห็นต่างมากกว่าเห็นพ้อง คุยกันคนละเรื่อง เล่า ถาม แย้ง แต่ก็แทบจะไม่เคยโต้เถียงกัน พวกเรารู้จักและคบหากันท่ามกลางความแปลกแตกต่างอย่างมาก นี่ยิ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด

ไม่ใช่ความเหมือนหรือการเห็นพ้อง ไม่ใช่การอยู่ร่วมหรือมีเวลามากพอที่จะเรียนรู้กันจึงทำให้พวกเราคบหากันได้ แต่เป็นความตระหนักและยอมรับในความแปลกประหลาดของกันและกันต่างหากที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเราคงอยู่มานานปี

หากมีมาตรฐานของ “ความปกติ” อยู่หนึ่งแบบ ฉันว่าโลกนี้คงมีคนแปลกประหลาดเต็มไปหมด เอาเข้าจริงผู้คนหลายร้อยหลายพันล้านในโลกนี้ไม่มีใครเลยที่เหมือนกัน   “คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน” ฉันเคยได้ยินใครก็ไม่รู้กล่าวไว้

ฉันว่าปัญหาในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในโลก ไม่ได้เป็นเพราะว่าใครไม่ปกติ หรือใครแปลกประหลาดกว่าใคร แต่เป็นเพราะว่าเรากำลังยึดเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานของ “ความปกติ” เพื่อที่จะได้ชี้หน้าผู้คนที่คิดเห็นแตกต่างจากเราว่า “ผิดปกติ”

ไม่ใช่เพราะความปกติ-ไม่ปกติ หรือคุณค่าถูก-ผิด ดี-เลว อะไรเลย ที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ยาก แต่เป็นเพราะว่าเรากำลังใช้คุณค่าพวกนี้มาสร้างมาตรวัดเพื่อกีดกันคนที่แตกต่างจากเราไม่ให้มีพื้นที่เหยียบยืนในสังคมนี้ต่างหาก 

คนที่เราเห็นว่าเขา “แปลก ๆ” นั้นความจริงเขาอาจไม่เคยคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย แต่เราเองต่างหากที่กำลังบอกว่าเขาเป็น “ปัญหา” เพื่อที่จะยัดเยียดปัญหาและความเดือดร้อนให้กับเขา

เรากำลังใช้มาตรวัดที่สร้างขึ้นจากตัวเองไปบอกว่าคนที่ต่างจากเราไม่สมควรจะอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

---

แด่ บัณฑิต อานียา ผู้อาวุโสคนหนึ่งที่ถูกบอกว่า “แปลก” และถูกทำให้ “ป่วย” เมื่อมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากคนอื่น
ฉันไม่รู้จักเขาเลย แต่เชื่อว่าเขา “แปลก”  เพราะฉันคิดว่าทุกคนในโลกนี้ต่างก็ “แปลก” และทุกคนควรมีสิทธิที่จะแปลกและแตกต่างบนทางที่เขาเลือกเอง

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า