Skip to main content

นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ

อดีตนักเรียนที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งเดินมาหาที่หน้าลิฟท์ "มีเรื่องจะบอก" 
ข้าพเจ้าสวนกลับไปว่า "อะไร มีแฟน แฟนทิ้ง ออกจากงาน ?"
เขาตอบกลับ "ได้งานใหม่แล้ว  สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำหนังสือนะ ทำทัวร์"
ข้าพเจ้าตาลุก "เฮ้ย ! ดี ๆ คืนนี้คุยกัน" แล้วก็รีบรุดเดินขึ้นบันได 
"รีบไปไหนล่ะ" เขาตะโกนตาม
"สอนหนังสือดิวะ"
- - - 
ขณะเดินไต่ขึ้นไปชั้น 6 ของอาคาร ฉากแรก ๆ ของการพบเจอนักเรียนคนนี้ก็เริ่มฉายขึ้นมาในความคิด ข้าพเจ้าจำเขาได้ตั้งแต่วันสอบสัมภาษณ์ ท่าไหว้เก้ ๆ กัง ๆ เหมือนนักมวย หน้าตาลูกทุ่ง ดูตลก ๆ

"คุณชอบเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง" นั่นคือคำถามของข้าพเจ้าเพื่อสัมภาษณ์เข้าเรียน
เขาตอบอย่างไม่ลังเล "เสื้อแดง" แล้วก็อธิบายเหตุผล
เหตุผลในการเลือกรับเขาไม่ใช่ฝักฝ่ายที่เขาเลือก แต่เป็นความรอบรู้เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น และความคิดอ่านที่เขากล้าแสดงออก มิไยที่อาจารย์ผู้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งจะหว่านล้อมให้เขาเห็นถึงความน่ารังเกียจของนโยบายทักษิณต่าง ๆ นานา แต่เขายังคงยืนยันความคิดของตัวเอง

ในวันแนะนำตัวนักศึกษาใหม่ เขาบอกความใผ่ฝันว่าเมื่อเรียนจบอยากจะไปทำงานเป็นภัณฑารักษ์หรือคนดูแลพิพิธภัณฑ์ ข้าพเจ้าจำเหตุผลไม่ได้ แต่จำได้ว่านั่นเป็นความใฝ่ฝันที่แปลกมากเท่าที่เคยได้ยินมาสำหรับนักศึกษาในยุคสมัยนี้

เราสนิทกันมากขึ้นในพื้นที่นอกห้องเรียน ท่ามกลางความเกเรของเขาในพื้นที่การเรียน เข้าเรียนสาย หลับเกือบทุกคาบ การแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนดี แต่ตอบข้อสอบไม่ได้เรื่อง เหมือนคนขี้เกียจเขียน ขี้เกียจอธิบาย และระดับผลการเรียนอยู่ในขั้นกลางค่อนไปทางล่าง ๆ

ข้าพเจ้าต่อว่าเขาหลายครั้งว่าเขามีความคิดอ่านดี แต่ความกระตือรือร้นและขยันหมั่นเพียรต่ำมาก เขายอมรับและยังทำตัวเหมือนเดิมแบบคงเส้นคงวา
...
ภาคการศึกษาท้าย ๆ เรานั่งคุยกัน "อาจารย์ ทำไมผมไม่เหมือนคนอื่น ผมไม่อยากสมัครงาน ไม่อยากทำอะไรเลย ผมแปลกไหม ผมผิดไหม" เขาถาม

ข้าพเจ้าตอบว่า "คุณมันก็อย่างนี้ ขี้เกียจ เฉื่อย ไปขับวินไป๊" ข้าพเจ้าตอบทีเล่นทีจริงเพราะอาชีพของพ่อเขาคือขี่มอเตอร์ไซค์วินอยู่ใน กทม.

ข้าพเจ้าถามเขาว่างานที่พิพิธภัณธ์ที่คุณเคยบอกว่าชอบล่ะ ยังอยากทำอยู่ไหม เขาตอบเชิงถามว่า เขามีรับสมัครกันไหมงานแบบนั้น ...แต่แล้วเราก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น 
...
เราห่างหายวงนอกห้องเรียนกันไปพักใหญ่ และเพิ่งจะมีโอกาสกลับมาคุยกันอีกเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเขาได้กลายเป็นลูกจ้างรายวันของร้านขายน้ำปั่นแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย ดูราวกับว่าจะไม่มีอนาคตอะไรที่สดใสไปกว่านั้น

เพื่อนสนิทของเขาเล่าว่า เขาไปสมัครงานน้อยแห่งมาก และไม่น่าจะได้ ด้วยบุคลิกท่าทาง ผลการเรียน และวิธีการนำเสนอตนเองในแบบของเขา

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับเพื่อนของเขาว่าโลกไม่มีพื้นที่ทางเลือกสำหรับคนแบบนี้มากนัก และคนแบบเขาก็ไม่ได้อยากหยิบฉวยทางเลือกต่าง ๆ ที่โลกมีให้เสียด้วย

ข้าพเจ้าลอบมองการเลือกทางเดินชีวิตของเขาอยู่เงียบ ๆ ขำบาง กังวลบ้าง ..บางทีอดไม่ไหวก็ถามไปว่าถ้าจะขายน้ำปั่นจริง ๆ ทำไมไม่ทำกิจการของตัวเองไปเลย ไม่ต้องเป็นลูกจ้างเขา ไม่มีคำตอบหรือเหตุผลอะไรชัดเจนจากเขา 
...
ข้าพเจ้าอยู่กับนักศึกษารุ่นนี้มาตลอดตั้งแต่พวกเขาเริ่มเข้าเรียน และข้าพเจ้าเริ่มเข้ามาทำงาน อาจารย์ในภาควิชาบางคนส่ายหน้าและขอถอนตัวจากวิชาที่จะต้องสอนพวกเขาด้วยเหตุผลทำนองที่ว่ารับมือกับพวกเขาไม่ไหว เหลือขอ หัวดื้อ และหลายคนก้าวร้าว

ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่าตั้งแต่สอนมา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่สองที่รู้สึกว่าสอนสนุกมาก พวกเขาเป็นนักศึกษาในอุดมคติของข้าพเจ้าในเรื่องความคิดอ่านและการเป็นตัวของตัวเอง เราทำกิจกรรมด้วยกันเยอะและบ่อยทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จนบางครั้งการลากเส้นแบ่งระหว่างสองพื้นที่ ทำให้ข้าพเจ้าเองนี่แหละที่ปวดหัว ..

พวกเขาสนใจเรียนรู้โลกกว้างมากกว่าการนั่งจับเจ่าอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมติดแอร์ พวกเขามักตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ในเชิงสังคมสงเคราะห์หรืออยากช่วยเหลือใครในแบบที่คนจำนวนมากมักมองเห็นว่าตนเองดีเหนือกว่าคนอื่น

พวกเขาเป็นปัจเจกชนธรรมดา ๆ เป็นผลผลิตของสังคมปัจจุบันผู้แสวงหาทางเลือกในการดำเนินชีวิตของตนเอง ชอบเที่ยว รักสนุก ตามวัยและยุคสมัยของพวกเขา และเชื่อมั่นว่าตนเองมีเสรีภาพที่จะเลือก

นอกจากคนที่เล่ามา อีกหลายคนในรุ่นยังอยู่ในระหว่างการเลือกทางเดินชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งในสายตาของคนอื่นอาจมองว่าไม่เป็นโล้เป็นพาย บางคนหน่วงเวลาการตัดสินใจด้วยการไปหางานทำเมืองนอกในระยะสั้น หนึ่งคนรับจ้างรายวันที่ร้านเบเกอรี่ หนึ่งคนเปลี่ยนงานทุก ๆ ครึ่งถึงหนึ่งเดือน และอีกหลายคนเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตแทบทุกวัน

แต่ละคนมีเงื่อนไขครอบครัว เศรษฐกิจ และมีปัญหาชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ส่วนข้าพเจ้าเองก็ไม่ใช่ “ครู” ในอุดมคติที่จะสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือใครได้ นอกจากรับฟังและเฝ้ามองว่าพวกเขาจะก้าวข้ามเงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีอยู่ไปได้อย่างไร

"อยู่กับคนอื่นยากนะอาจารย์ เราเป็นตัวของตัวเองเกินไป" เขาตัดพ้อ เมื่อเล่าถึงเพื่อนอีกหลายคนในรุ่น

ข้าพเจ้ารู้สึกผิดเล็ก ๆ อยู่ในใจที่มีส่วนทำให้พวกเขาเป็นแบบนี้ เพราะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นเกินไปว่าชีวิตเรากำหนดเองได้

"สักพักจะดีไง เราจะอยู่แบบเข้าใจคนอื่นมากขึ้น" ข้าพเจ้าตอบออกไป ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ยังเผชิญชะตากรรม "อยู่กับคนอื่นยาก" ในแบบเดียวกับที่นักศึกษาเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่

...

ที่สะพานริมน้ำแห่งหนึ่งเรานั่งคุยกันตั้งแต่สามทุ่ม และออกไปซื้อเบียร์เพิ่มเป็นรอบที่สอง ก่อนกลับมานั่งคุยต่อในที่เดิม เรามีเรื่องมากมายแลกเปลี่ยนกันทั้งเรื่องทางเดินชีวิต ความฝัน และความรัก

"แฟนกำลังจะเรียนจบพอดี โชคดีมากผมได้งาน"
"เอาจริงนะ คนนี้ ?"
"อือ ผมก็จริงกับทุกคนนะ" 
เขาเล่าต่อถึงแผนการต่าง ๆ หลังจากคนรักเรียนจบ ก่อนจะวกกลับมาพูดเรื่องงาน

"ผมจะได้เที่ยวแบบไม่เสียตังค์ ได้ถ่ายรูป ได้เดินทาง"

"ใช่ มันคล้ายกับที่คุณฝันไว้ไง คุณอยากทำอะไรแบบนี้มาตั้งแต่ตอนเริ่มเข้ามาเรียน คุณจะได้ใช้ความรู้วิชาโทประวัติศาสตร์ของคุณ ไม่ใช่วิชาเอก"

"วิชาเอกสังคมศาสตร์ มันเอาไปทำงานไม่ได้เลยนะ"

"อือ มันเป็นวิธีคิดในการใช้ชีวิตและมองโลกต่างหาก มันอยู่ในตัวคุณแล้ว แต่คุณอาจไม่รู้สึกหรอก มันอยู่ในนั้น มันทำให้คุณมองโลกต่างออกไปจากคนอื่น"

"แต่มันทำให้อยู่ยากนะ" เขาย้ำ

"เริ่มงานต้นเดือนหน้านะ”

"คุณต้องทำให้ดี โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ เมื่อได้มาแล้วอย่าให้มันหลุดไปด้วยสาเหตุโง่ ๆ เช่น คุณไปทำงานสาย หลับในที่ทำงาน ไม่ขยัน ไปใหม่ ๆ ต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน ด้วยฝีมือ" ข้าพเจ้าขุดเอาพฤติกรรมเก่า ๆ ของเขามาบ่น

"อือ รู้"

"เสื้อผ้าล่ะ ซื้อหรือยัง" ข้าพเจ้าผู้มีรสนิยมการแต่งตัวห่วยที่สุด ยังอุตส่าห์ห่วงเรื่องเสื้อผ้าของคนอื่น

"ให้แม่ดูอยู่" เขาตอบ

เบียร์ดาวแดงกระป๋องที่สองของข้าพเจ้าหมดแล้ว หลังจากเบียร์กระป๋องที่สามของเขาเองหมด บทสนทนาเรายังมีได้อีกยืดยาว แต่เวลาล่วงไปอีกวันหนึ่ง และพรุ่งนี้ข้าพเจ้าต้องทำงาน

"มีวันหยุดก็แวะมานะ" 
...
ในฐานะคนสอนหนังสือ การงานและความรับผิดชอบของข้าพเจ้าต่อนักศึกษารุ่นนี้จบไปนานแล้ว แต่ในฐานะมิตรสหาย ข้าพเจ้ายังคงเฝ้ามองดาวแต่ละดวงว่าจะโคจรไปทิศทางไหน และมันจะส่องแสงได้แรงกล้าเพียงใด

ความฝันของพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น...ส่วนความฝันและความเชื่อมั่นในเสรีภาพของข้าพเจ้ายังหลงเหลืออยู่ไหม...ข้าพเจ้าเองก็ไม่แน่ใจ...

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า