Skip to main content

โครงการเขื่อนแม่วงก์พับแล้วเรียบร้อย อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมีการจัดจ้างและทำการศึกษา EHIA รอบใหม่เสร็จสิ้น แต่การโต้แย้งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องเขื่อนแม่วงก์ยังมีออกมาอยู่เรื่อย ๆ เรื่องความฟิน หรือไม่ฟิน และชนชั้นกลางมีพลังจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันได้ จนกว่าจะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ออกมายืนยัน หรือพิสูจน์ด้วยปรากฏการณ์อื่น ๆ จากนี้ต่อไป   

แต่ข้อถกเถียงและคำถามที่น่าสนใจจนชวนให้ผู้เขียนกลับมาขบคิดต่อ ก็คือการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีมิติทางชนชั้นจริงหรือไม่ และใครคือ “ชนชั้นกลาง” ที่ผู้เขียน และผู้ที่ออกมาโต้แย้งกล่าวถึง  

พอกลับมาอ่านบทความของตัวเองก็พบข้อบกพร่องว่าผู้เขียนพูดถึง “ชนชั้นกลาง” โดยไม่ได้นิยามให้ชัด จะหมายถึง กลุ่มเอ็นจีโอที่นำการเคลื่อนไหว (ซึ่งทราบภายหลังว่ามีนักวิชาการ ปัญญาชน ร่วมด้วยจำนวนไม่น้อย) ศิลปิน กวี ฯลฯ  หรือจะหมายถึงประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเตรียมกิจกรรมมาแต่ต้น แต่ร่วมกิจกรรมด้วยความสนใจหลังจากได้รับข่าวและการประชาสัมพันธ์ และยังอาจหมายถึงสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ 

อันที่จริงกลุ่มคนที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนเป็น “ชนชั้นกลาง” ตามความเข้าใจผิว ๆ ของผู้เขียน  ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละกลุ่มมีที่มาและเหตุผลแตกต่างกันไปในการเข้าร่วมกิจกรรม พอผู้เขียนไม่ได้พูดแยกแยะลงไปจึงสมควรที่จะถูกโต้แย้งกลับมา

ชนชั้นกลางเป็นใคร

เวลาพูดถึงชนชั้น แนวคิดที่จัดว่าเป็นแม่บทก็คงเป็นแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ที่เน้นไปในเรื่องความสัมพันธ์ทางการผลิตโดยแยกแยะผ่านปัจจัยการผลิตที่คนแต่ละกลุ่มถือครอง แต่นอกจากการมองชนชั้นในพื้นที่ของความสัมพันธ์ทางการผลิตแล้วยังมีการจำแนกแยกแยะชนชั้นด้วยลักษณะอื่นอีกมาก อย่างเช่น เวเบอร์ พิจารณาชนชั้นตามสถานภาพที่ขึ้นกับแบบแผนการบริโภคของบุคคล หรือบูดิเยอร์ มองชนชั้นผ่านการครอบครองทุนต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะทุนทางการเงินอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และทุนทางสัญลักษณ์ ที่เอื้อให้แต่ละกลุ่มคนสามารถสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ

ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เวลาผู้เขียนกล่าวถึงชนชั้นกลางนั้น ผู้เขียนนึกถึงกลุ่มคนที่ให้ความหมายต่อทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะเฉพาะแบบหนึ่ง เน้นไปในทางที่ยกย่อง เชิดชู มองเห็นคุณค่า ฯลฯ  โดยที่วิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับทรัพยากรธรรมชาติมากนัก  นักวิชาการต่างประเทศพูดถึงเรื่องนี้ไว้อยู่บ้างว่าการมีทัศนะหรือให้คุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันมีนัยยะสัมพันธ์กับชนชั้นทางการผลิตอยู่เหมือนกัน กล่าวคือ ชนชั้นล่าง เช่น เกษตรกรรายย่อย มักจะให้คุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยโยงเข้ากับมิติทางการผลิต เนื่องจากทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ หรือ ป่า เป็นฐานการผลิตของพวกเขา การต่อสู้เพื่อให้สร้างหรือต่อต้านการสร้างเขื่อนจึงมีเหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่าโครงการนั้นจะไปกระทบโดยตรงต่อระบบการผลิตที่ส่งผลต่อปัญหาปากท้องของพวกเขาอย่างไร (ส่วนจะกระทบจริงหรือไม่แค่ไหนก็ถกเถียงกันต่อไปได้อีก)

ส่วนชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นสูงที่ผู้เขียนกล่าวถึง เป็นกลุ่มคนที่โดยทั่วไปแล้วให้ความหมายต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องปากท้องของพวกเขา ด้วยว่าอยู่ไกลจากพื้นที่ หรือประกอบอาชีพในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรัพยากร (แต่ไม่ได้หมายความว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่สำคัญต่อชีวิตของพวกเขา)  การต่อสู้เพื่อให้สร้างหรือไม่สร้างเขื่อนจึงวางอยู่บนฐานคิดที่แตกต่างจากคนกลุ่มแรก แต่เน้นไปที่คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ-ป่าไม้ สัตว์ป่า – ว่าควรปกป้องรักษาไว้ และอาจเกี่ยวโยงไปถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ของ “ส่วนร่วม” ประเทศชาติ และอื่น ๆ  

เมื่อผู้เขียนพูดถึงชนชั้นกลางในบทความก่อนหน้านี้ จึงมุ่งจำแนกแยกแยะด้วยทัศนะหรือความหมายที่คนแต่ละกลุ่มให้ต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยโยงกับเศรษฐกิจ ทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงชนชั้นกลางอย่างลอย ๆ แต่มุ่งเปรียบเทียบกับชนชั้นอื่น ๆ ในสังคมโดยเฉพาะชนชั้นล่าง ซึ่งจะเห็นว่าชนชั้นกลางมีความเหนือกว่าชนชั้นล่างในแทบทุกมิติ ทั้งทุนทรัพย์สิน ฐานะทางสังคม ระดับการศึกษา ฯลฯ ซึ่งย่อมส่งผลต่ออำนาจในการเปล่งเสียงที่ดังกล่าวไปด้วย ส่วนชนชั้นกลางแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทแตกต่างกันไปอย่างไรในการเคลื่อนไหวและคิดเห็นแตกต่างกันไปในรายละเอียดอย่างไรนั่นก็แยกแยะต่อไปได้อีก

ปัญหาของการจัดจำแนก

วิธีการแยกแยะแบบที่ผู้เขียนเลือกใช้มีประโยชน์และมีปัญหาในตัวมันเอง การจัดประเภทในทุกเรื่องและทุกแบบมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่แล้วคือมักจะมีกลุ่มคน/สิ่งที่จัดประเภทไม่ได้ปรากฏขึ้นเสมอ นั่นเป็นเพราะความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อบอกว่ามีชนชั้นกลาง กับชนชั้นล่าง ก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วชนชั้นกลางที่ไม่ได้ให้คุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติแบบนั้นเล่า หรือชนชั้นล่างที่คิดในเรื่องอื่น ๆ ที่มากกว่าเรื่องปากท้องก็มี

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะจัดประเภทหรือแบ่งแยกอะไรมันก็มีการเลื่อนไหลข้ามประเภทอยู่เสมอ โดยเฉพาะในโลกยุคนี้ที่ผู้คนเคลื่อนย้ายไปมาข้ามพื้นที่อย่างสะดวกและรวดเร็ว อัตลักษณ์ทางชนชั้นจึงไม่ได้แน่นอนและแน่นิ่งกลับแปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาเมื่อเปลี่ยนบริบทของสถานที่-เวลา รวมทั้งประเด็นที่กล่าวถึง เช่น ชนชั้นกลางตามแบบที่ผู้เขียนแยกแยะเอาเข้าจริง ๆ ก็อาจจะเป็นชนชั้นล่างร่วมด้วย คือมาจากครอบครัวที่มีระบบการผลิตสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทำให้พวกเขามีทัศนะต่อทรัพยากรธรรมชาติในแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปจากที่เคยมีทัศนะเมื่อครั้งที่ดำรงชีวิตอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด  เป็นต้น

อันตรายหนักหนาที่สุดของการพยายามจำแนกแยกแยะกลุ่มคน คือมันอาจนำไปสู่การตีตราผู้คนอย่างตายตัว เช่นว่าเมื่อเป็นชนชั้นกลางแล้วก็ต้องคิดแบบนั้น “เสมอ” จะคิดเห็นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะชนชั้นกลาง คิดในแบบที่ไม่เหมือนกันก็ย่อมเป็นไปได้

นอกจากการแยกแยะด้วยมิติทางชนชั้นดังกล่าวแล้ว การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้คนกับทรัพยากรธรรมชาติยังมีการแยกแยะกลุ่มคน ลักษณะของทรัพยากร และมุมมองของผู้คนที่มีต่อทรัพยากรในอีกหลายลักษณะ เช่น เมือง-ชนบท สังคมมนุษย์-ธรรมชาติ เกษตร-ป่า ท้องถิ่น-ชาติ  ส่วนตน-ส่วนรวม ฯลฯ ซึ่งการแยกแยะเหล่านี้ล้วนแต่มีปัญหาในทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมา โดยเฉพาะในเรื่องเส้นแบ่งที่คลุมเครือ และการทำให้สองฝ่ายดูเหมือนเป็นคู่ตรงกันข้ามและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

ถ้าเช่นนั้น เหตุใดผู้เขียนยังคงแยกแยะ และตั้งข้อสงสัยต่อ “ชนชั้นกลาง” ?

ทำไมต้องสงสัยชนชั้นกลาง

สังคมประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายก็จริง แต่การจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่ง ๆ จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ด้วยการจัดกลุ่มที่หลากหลายเหล่านั้นเข้าด้วยกันโดยอาศัยเกณฑ์บางอย่างที่แต่ละกลุ่มมีร่วมกัน หรือเกี่ยวโยงกัน  มิเช่นนั้นแล้วก็จะมีแต่ทัศนะ “ส่วนตัว” ของแต่ละปัจเจกบุคคลไปเสียหมดจนทำให้เราเข้าใจสังคมในภาพรวมไม่ได้เลย

เมื่อกล่าวถึงชนชั้นกลางในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงอย่างลอย ๆ แต่กำลังเปรียบเทียบกับชนชั้นอื่นในสังคมอยู่ในที  คือกล่าวถึงชนชั้นกลาง (รวมถึงชนชั้นนำ) เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับชนชั้นล่าง  และยังเกี่ยวโยงกับเรื่อง คนในเมือง-คนชนบท อยู่ด้วย เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนสองกลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญอย่างมาก 

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในสังคมไม่ได้มีเฉพาะปัญหาในเชิงเทคนิคที่ว่าเราควรจะสร้างเขื่อนหรือไม่ จะสูญเสียพื้นที่ป่าไปเท่าไหร่ มีกระบวนการครบถ้วนรอบด้านแล้วหรือยัง แต่ยังมีปัญหาสำคัญกว่านั้น คือ อำนาจในการตัดสินใจที่มีไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม

ในแทบทุกโครงการขนาดใหญ่ รัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นเป้าโจมตีสำคัญในการใช้อำนาจผ่านโครงการอย่างรวบรัดตัดตอนโดยไม่ได้ฟังสียงของประชาชน และโครงการเขื่อนแม่วงก์นี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วย

แต่ในหลายโครงการทั้งเพื่อการพัฒนาและการอนุรักษ์ เราอาจลืมมองไปว่าประชาชนด้วยกันเองก็มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องอำนาจในการส่งเสียงและผลักดันนโยบายด้วยเช่นกัน ในหลายกรณีเราพบว่าเสียงที่ดังกว่าในการบอกว่าควรจัดการทรัพยากรอย่างไรมักเป็นเสียงของชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่อยู่ในเมืองซึ่งมีฐานะและบทบาทต่าง ๆ กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเสียงของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ทั้งอ้างตัวและได้รับการสถาปนาจากผู้อื่น ด้วยสถานะทางสังคม ระดับการศึกษา ประสบการณ์ว่าเป็น “ผู้รู้” ในเรื่องนั้นมากกว่าประชาชนคนอื่น ๆ   

ขณะที่เราไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนที่อาศัยทรัพยากรเหล่านั้นในการดำรงชีวิตโดยตรงว่าเขาคิดเห็นอย่างไร

ผู้เขียนเห็นว่าไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง      

ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเพื่อค้านเขื่อน หรือเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในกรณีอื่น ๆ เมื่อคนในชนบท หรือคนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อปากท้องอยากส่งเสียงขึ้นมาบ้าง แต่บังเอิญว่าข้อเสนอของพวกเขาขัดแย้งกับวาทกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (และทัศนะแบบอนุรักษ์นิยม) ของชนชั้นกลางในเมือง เสียงเหล่านั้นก็ถูกลดทอนคุณค่าความสำคัญ ด้วยข้อกล่าวหาที่ได้ยินกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่าชาวบ้านเป็น “ผู้ไม่รู้”  แต่ถูกจ้างมา เป็นเหยื่อของทุนนิยม อยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่น เห็นแก่เงินหรือประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนกล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้แล้ว

เสียงของชนชั้นกลางที่ไม่สอดประสานกัน

ในบรรดาชนชั้นกลางด้วยกันเอง หากจะถามกันสั้น ๆ ว่า เห็นด้วย หรือไม่กับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หลายคนที่ผู้เขียนรู้จักตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่เห็นด้วย” แต่พวกเขาก็มีเรื่องอื่น ๆ ที่อยากพูดมากไปกว่านั้นอีก ครั้นเมื่อพยายามจะพูด ประเด็นถกเถียงก็มักถูกดึงกลับมาสู่คำถามห้วนสั้นว่า “จะเอาเขื่อน หรือจะเอาป่า” แม้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวจะสอดแทรกพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วยก็ตามแต่เหตุผลชูโรงในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ครั้งนี้ยังคงเน้นย้ำไปที่คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามวาทกรรมสิ่งแวดล้อมนิยมแบบเขียวเข้มเป็นสำคัญ

ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญและไม่คุ้มที่จะแลกกับโครงการพัฒนาอันไม่จำเป็น แต่หากไม่อินโนเซ้นท์กันเกินไปนัก หลายคนน่าจะพอรู้ว่าเหตุผล (ข้ออ้าง) และเบื้องหลังการสร้างเขื่อนนั้นยังมีสิ่งที่มากไปกว่าคำถามว่าจะอนุรักษ์ หรือจะพัฒนา (ด้วยเทคโนโลยีอย่างไร) หรือข้อถกเถียงเชิงตัวเลขในเรื่องต้นทุน-กำไร /ข้อดี-ข้อเสีย พื้นที่น้ำท่วม

ขยับพ้นจากเรื่องเชิงเทคนิคไปได้ ประเด็นในการค้านเขื่อนก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพล็อตเดิม ๆ ว่านักการเมือง (คนนั้น) เลว จึงผลักดันโครงการด้วยกระบวนการชั่วช้า และ “เกณฑ์ชาวบ้าน” ให้ออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน ดังนั้น จึงต้องอาศัยพลังคุณธรรมของนักอนุรักษ์มาต่อสู้อย่างสุดกำลัง

แล้วประเด็นถกเถียงก็วกวนอยู่ที่เรื่องคุณค่าทางจริยธรรม ความดี-ความเลว  (ความเสียสละ การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

และเหลือทางเลือกแบบปรนัยให้แก่ผู้ติดตามเรื่องนี้เลือกว่าจะเอา ก หรือ ข / ซ้าย หรือ ขวา ดี หรือ เลว 

ผู้เขียนเห็นความพยายามของใครหลายคนที่ตั้งโจทย์ขึ้นมาชวนคุยเพื่อขยายเพดานความเข้าใจในเรื่องเขื่อนและโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งอาจช่วยให้มองเห็นอีกหลาย “ความจริง” ที่พ้นไปจากกรอบข้อถกเถียงเดิม ๆ แต่ประเด็นต่าง ๆได้ถูกตบกลับไปอยู่ในประเด็นเดิม ส่วนผู้ที่พยายามตั้งโจทย์และหาข้อมูลมาสนับสนุนก็ถูกผลักไสให้ไปอยู่ฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนเสียอีก

จึงกลายเป็นว่า “ความจริง” เกี่ยวกับการคัดค้านเขื่อนในขณะนี้จะมีได้เพียงสำนวนเดียวที่ต้องสอดประสานกับข้อเสนอของ “ผู้รู้” เท่านั้น 

ถ้ารวมคนที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์จริง ๆ ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่าจำนวนคนที่ไปชุมนุมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาเสียอีก แต่ในจำนวนผู้คนมากมายที่มองเห็นและมองไม่เห็นย่อมมีน้ำเสียงที่แตกต่างหลากหลายผสมผสานกันอยู่ จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรกับเสียงเหล่านั้น จะคิดว่ามันฟังหนวกหูจึงผลักไสออกไปเสียเลย หรือจะหันกลับไปก่นด่าเจ้าของเสียงว่าวัน ๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่ส่งคลื่นแทรกเพื่อบ่อนทำลายขบวนการค้านเขื่อน   

สังคมประชาธิปไตยคงไม่ใช่สังคมที่ตัดสินที่จำนวนเพียงอย่างเดียวแน่ ๆ การไม่ฟังคนเห็นต่างการทำให้เสียงส่วนน้อยถูกเบียดขับ ถูกจำกัดเสรีภาพ  ขณะที่การอ้างตนว่าเป็น “ผู้รู้” เป็นการอ้างอำนาจแบบหนึ่ง และการอ้างว่าเป็น “ผู้รู้มากกว่า” ย่อมเท่ากับการลดทอนอำนาจในการส่งเสียงของผู้อื่นไปในตัว 

นอกจากเรื่อง ความรู้-ความไม่รู้ ที่ว่ามาแล้ว ทุกวันนี้ยังดูเหมือนว่าเสียงของการอนุรักษ์จะถูกเข้าใจว่าเป็นเสียงของฝ่ายคุณธรรม ส่วนเสียงอื่น ๆ ที่แตกแถวไปจากนั้นถูกเข้าใจว่าเป็นเสียงของฝ่ายอธรรมไปเสียง่าย ๆ

ในสังคมปรนัยที่มีแค่สองตัวเลือกแบบนี้ บางทีเราอาจต้องการโจทย์แบบอัตนัยให้ตอบกันมากขึ้น เพื่อจะไปให้พ้นจากพล็อตละครไทยที่เอะอะอะไรก็ตัดสินง่าย ๆ ว่า ดี หรือ เลว.

 

 

 

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า