Skip to main content

เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย

หรือคิดอีกที ขณะที่หลับไปเมื่อคืนนี้โลกมันอาจจะหมุนไปข้างหน้าเร็วขึ้น จนกระทั่งได้มีอัจฉริยะบุคคลกลุ่มหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในสังคมไทย เป็นกลุ่มคนผู้หยั่งรู้ได้ด้วยญาณทิพย์ว่าอะไรคือสิ่งถูกต้องเหมาะสมดีงามสำหรับประชาชนอีก 64 ล้านคน โดยประชาชนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องคิดหรือตัดสินใจอะไรเลยในทางการเมือง

คนมีการศึกษาจำนวนมากเห็นว่าคะแนนเสียงเลือกตั้งจากคนยากคนจนผู้มีการศึกษาน้อยเป็นคะแนนเสียง “ไม่มีคุณภาพ”  และไม่บริสุทธิ์ เพราะมาจากการซื้อเสียงของนักการเมือง หรือการลงคะแนนโดยไม่รู้จักคิด มีคนบอกว่าการเลือกตั้งทำให้เรามีความเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ 4 วินาทีที่เราใช้เวลาหย่อนบัตร

การคิดเช่นนั้นนอกจากจะสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในหลักสำคัญของ “ประชาธิปไตย” แล้ว ยังแสดงออกซึ่งทัศนะดูถูก “ประชาชน” อันหมายรวมถึงตนเองที่เป็นประชาชนคนหนึ่งด้วย

การหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางกลไกและกระบวนการอีกมากมายซึ่งต้องมีประกอบกัน แต่การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ ที่ขาดไม่ได้ และมีความหมายที่สุด   

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การเลือกตั้งในระบบ “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” เป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดที่แสดงถึงการยอมรับความสำคัญของ “ประชาชน” ว่าเป็นสถานะที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย    

นอกจากนั้น การเลือกตั้งยังทำให้ผู้คนที่เคยถูกมองข้ามอย่างไร้ความหมาย พอจะรู้สึกขึ้นมาได้บ้างว่าพวกเขาเป็น “ประชาชน” ที่ยังคงมีความสำคัญมีตัวตนอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้

สัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าเพิ่งได้คุยโทรศัพท์ถามสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์คนหนึ่ง ด้วยวัยไม่ถึงสี่สิบเธอเริ่มป่วยเป็นเบาหวานทำให้ต้องหมั่นเดินทางลงมายังโรงพยาบาลประจำอำเภอ  ส่วนญาติของเธออีกคนหนึ่งมีหน้าที่พาพ่อวัยหกสิบเดินทางมาโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกเดือนเพื่อรับเคมีบำบัดรักษามะเร็งกระเพาะ เพื่อนเล่าปรับทุกข์ถึงท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรของหมอพยาบาล  “คนเมือง” ต่อผู้ป่วย “คนดอย” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังอย่างซ้ำซากและในพล็อตแบบเดิม ๆ

นึกย้อนไปถึงสามปีก่อนเมื่อเธอครบกำหนดคลอดลูกคนเล็ก หมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอสั่งให้เธอเดินทางลงมาจากบนดอยเพื่อรอคลอด แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ไม่คลอดสักทีหมอจึงสั่งให้กลับขึ้นไปรอบนดอย  เธอกลับมาอีกครั้งเมื่อรู้สึกว่าใกล้คลอดเต็มที พยาบาลบอกให้เธอใช้มือคลำที่ท้องเพื่อเฝ้าดูอาการด้วยตนเองแทนที่จะเปิดใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิกส์มอนิเตอร์อาการทั้ง ๆ ที่เครื่องมือก็ตั้งอยู่ข้างเตียงนั้น พยาบาลให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า “เปลืองไฟ”

อีกคราวเมื่อลูกชายคนกลางวัยแปดขวบของเพื่อนคนนี้ตกจากรถกระบะจนกะโหลกร้าวเลือดออกปากและหู เขาถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลระดับอำเภอมายังโรงพยาบาลจังหวัด จากตอนเกิดเหตุประมาณบ่ายสามถึงสองทุ่มไม่มีกระบวนการรักษาใดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โรงพยาบาลประจำจังหวัดปล่อยให้เขานอนรอหมอมาอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ตั้งแต่ราวสองทุ่มยันเที่ยงคืน ขณะที่พยาบาลก็ทำเพียงการเช็ดเลือด และให้น้ำเกลือ

นั่นยังไม่นับรวมเรื่องเล่าจากเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์หลายคนเกี่ยวกับคำพูดเหยียดหยาม สายตาดูแคลน การเอารัดเอาเปรียบ โดยข้าราชการ พ่อค้า ครู และผู้คนสถานะอื่น ๆ ในสังคมที่กระทำต่อพวกเขาทุกเมื่อเชื่อวัน

จริงที่ว่า “คนดอย” เหล่านี้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่าข้อกำหนดให้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีสิทธิพลเมืองที่พึงได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐต่ำกว่าพลเมืองคนอื่น ๆ ในประเทศนี้ เพราะอันที่จริงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของผู้คนบนยอดปิรามิดทางเศรษฐกิจก็ล้วนเกิดจากการขูดรีดแรงงานและผลผลิตส่วนเกินจากคนจนคนยากเหล่านี้ ทั้งที่เป็นกรรมกรแรงงาน เกษตรกร พนักงานบริการ ลูกจ้าง ขึ้นไปจนถึงพนักงานตามบริษัทห้างร้าน ฯลฯ   

ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมเป็นเรื่องอุดมคติ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และความแตกต่างหลากหลายทาง เพศ สถานภาพทางสังคม วัย ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ของผู้คนเป็นเรื่องจริง และผู้คนที่แตกต่างหลากหลายและเหลื่อมล้ำเหล่านี้ต้องอยูร่วมในสังคมเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประชาชนกว่าครึ่งประเทศมีโอกาสทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประชาชนส่วนที่เหลือ ประกอบกับลักษณะชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างยังทำให้พวกเขามีโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และโอกาสอื่น ๆ ในสังคมด้อยกว่าประชาชนคนอื่นในสังคม   

แต่โอกาสอันจำกัดเหล่านี้จะต้องไม่ถูกใช้มาเป็นเหตุผลในการกีดกันสิทธิทางการเมืองซึ่ง “ประชาชน” ทุกคนมีสิทธินี้อย่างเท่าเทียมกัน 

ในบรรดาสิทธิต่าง ๆ มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยของประชาชนด้อยโอกาส สิทธิในการเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดพวกเขาพึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐเท่ากับประชาชนที่เป็นผู้ดีมีอันจะกินได้รับการคุ้มครอง และรัฐก็จะสามารถส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธินี้ได้โดยไม่ต้องอาศัยต้นทุนมากนัก

จะว่าไปแล้วอำนาจในการเลือก เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดและสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ เราเลือกอาหารการกิน เสื้อผ้าที่สวมใส่ คำพูดที่ใช้ ข้าวของที่ซื้อ เลือกคู่ครอง เลือกสถานศึกษา ฯลฯ ไม่มีมนุษย์คนใดอยากมีชีวิตภายใต้การถูกกำหนด ควบคุม หรือบังคับสั่งโดยที่พวกเขาไม่สามารถเลือกหรือตัดสินใจด้วยตนเอง ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดหนึ่ง ๆ แม้ว่าจะมีทางเลือกน้อยนิดเพียงใดเราก็ยังอยากที่จะเลือก เราเลือกด้วยเหตุของส่วนตัวขณะที่คนอื่นอาจไม่เห็นด้วยกับทางเลือกของเราก็ได้

ทำนองเดียวกัน ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีเหตุผลส่วนตัวในการเลือกกันทั้งนั้น จะรักใครชอบใคร อยากเลือกใครให้ไปใช้อำนาจ ”ประชาชน” แทนตนเองด้วยวิจารณญาณเช่นไรนั้น ทุกคนมี "หนึ่งสิทธิ" ในการเลือกเท่ากัน 

ประชาชนส่วนหนึ่งอาจใช้สิทธิเลือกผู้แทนที่เป็นคนดีมีคุณธรรมนำพาประเทศไปสู่หนทางที่พวกเขาปรารถนา ขณะที่ประชาชนยากจนด้อยโอกาสอาจใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อเลือกผู้แทนที่หวังว่าจะช่วยให้พวกเขาลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ เช่น ช่วยให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้ราคาดี มีแหล่งเงินกู้ มีถนน น้ำ ไฟ โครงสร้างพื้นฐาน หรือสามารถส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนได้ฟรี ฯลฯ

นั่นก็เป็นทางเลือกของพวกเขา และเป็น “สิทธิ” ที่พวกเขาจะเลือก 

จริงอยู่ที่คนยากจนในพื้นที่ห่างไกลไร้การศึกษาอาจไม่รู้ว่า สส. ที่พวกเขาเลือกนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่อย่างไรในรัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่พวกเขาเลือกมีภารกิจหน้าที่อะไรบ้าง แต่ชาวไร่ชาวนาเหล่านี้ย่อมรู้เห็นได้ด้วยตนเองว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไรในแต่ละสมัยรัฐบาล

ข้าพเจ้าเองไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายที่ทำให้สถานพยาบาลของรัฐมีระบบการรักษาและการบริการที่ขึ้นในฉับพลัน ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจะทำให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดีขึ้นมาในชั่วพริบตา ทั้งยังไม่กล้าหวังว่าสิ่งที่อยากเห็นให้เกิดการพัฒนาในเรื่องอื่น ๆ จะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะลำพังการเลือกตั้งอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาประเทศ

ไม่ว่าในที่สุดแล้วสิทธิการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนผู้ยากไร้เข้าถึงสิทธิและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้นจริงแค่ไหนก็ตาม การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหนือกว่าคนยากคนจนได้ตระหนักและยอมรับว่าในประเทศเดียวกันนี้ยังมีผู้คนที่ด้อยโอกาสกว่าพวกเขาอาศัยร่วมอยู่ด้วย และคนยากคนจนเหล่านั้นต่างหากที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ

และผู้คนยากจน การศึกษาน้อย ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจเหล่านั้นก็เป็น “ประชาชน” ที่มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกันกับพวกผู้ดีมีการศึกษาเช่นกัน

ข้าพเจ้าเห็นว่าการปฏิเสธการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการปฏิเสธสิทธิเสียงและการมีตัวตนของ “ประชาชน” ในประเทศเท่านั้น

แต่มันยังหมายถึงการปฏิเสธว่าประชาชนคนอื่นก็มีความเป็น “คน” ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกและกำหนดอนาคตตนเองเช่นเดียวกันกับพวกคุณ

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า