Skip to main content

ค่ำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะฉันกำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างทาง บังเอิญพบเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่ปรี่เข้ามาทักด้วยความเป็นห่วง “กินคนเดียวเหงาไหมคะ” ความจริงฉันกินข้าวคนเดียวแบบนี้มาชั่วนาตาปีและไม่เคยมีความรู้สึกว่าเหงา ว้าเหว่ หรือห่อเหี่ยวใจ จนกระทั่งเมื่อถูกทักแบบนั้นจึงเกิดความรู้สึกว่าความปกติของฉันได้กลายเป็นความไม่ปกติขึ้นมาเสียแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวธรรมดา ๆ ในวันที่ใคร ๆ เขาทำอะไรพิเศษกันเป็นคู่ ๆ

ทางเลือกในการใช้ชีวิตของคนบางกลุ่มที่ผิดแผกไปจากความนิยมของคนส่วนใหญ่มักถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” แม้แต่เรื่องธรรมดาดังเช่นการกินข้าวคนเดียว การมีแฟน การแต่งงาน หรือการมีบุตรหลานสืบทายาท

กล่าวกันว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากคนมีอายุยืนกว่าเดิมจนกระทั่งจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากกว่าสัดส่วนของคนวัยทำงาน มีข้อมูลว่าหนึ่งในสิบของประชากรโลกเป็นผู้สูงอายุ และจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่าประชากรในวัยอื่น ๆ  สำหรับประเทศไทย ในปี 2552 มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 11.8 หรือ 7.5 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 14.4 ล้านคน และในปี 2593 ผู้สูงอายุจะล้นเมืองคือมีจำนวนมากถึงร้อยละ 27 ของพลเมืองทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าในปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีบุตรหลานเป็นที่พึ่ง[1]

นักประชากรศาสตร์จำนวนหนึ่งบอกว่าคนไม่แต่งงานมีครอบครัวจะกลายเป็น “ภาระ” ของสังคมเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา เพราะไม่มีคนดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและช่วยตนเองไม่ได้  ความเข้าใจนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำมายาคติว่าคนทั่วไปควรจะแต่งงานมีครอบครัวเมื่อถึงวัยอันควร ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่าอัตราการหย่าร้างมีสัดส่วนค่อนข้างสูง และมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีครอบครัวแต่ลูกหลานทอดทิ้งไม่เลี้ยงดูอีกเป็นจำนวนมาก

ไร้คู่ ผิดธรรมชาติ ?

การไม่มีคู่หรือไม่แต่งงานมักถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์รวมถึงสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปที่ควรสืบทายาทเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ในหลายวัฒนธรรมรังเกียจเดียดฉันท์หรือสมเพชเวทนาคนที่ไม่ได้แต่งงาน ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมปกาเกอะญอหากหญิงโสดเสียชีวิตชาวบ้านจะเหลาไม้ทำปลัดขิกฝังลงไปพร้อมกับร่างที่ไร้วิญญาณของเธอ นัยว่าเมื่อเธอเกิดใหม่จะได้มีสามีกับเขาบ้าง ชายหญิงปกาเกอะญอในบางชุมชนถูกผู้อาวุโสยื่นมือเข้ามาจัดการหาคู่ครองให้หากว่ายังไม่สามารถหาด้วยตนเองได้เมื่อถึงวัยอันควร ชายปกาเกอะญอคนหนึ่งที่ฉันรู้จักในวัยใกล้สี่สิบถูกผู้อาวุโสจากชุมชนอื่นจัดแจงสู่ขอหญิงสาวให้แต่งงาน หญิงปกาเกอะญอวัยสามสิบเศษอีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนของฉันก็ถูกผู้อาวุโสในหมู่บ้านจับคู่ให้แต่งงานกับชายจากต่างถิ่น

การจัดหาคู่ในทำนองนี้คงพบได้ในอีกหลายวัฒนธรรมไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพราะการไม่มีคู่แลดูเป็น "ความด้อย" และเป็น "ปัญหา" แบบหนึ่งซึ่งทำให้ผู้อื่นมีความชอบธรรมที่จะยื่นมือเข้ามาใช้อำนาจจัดการชีวิตของคนไร้คู่ โชคดีที่ชีวิตแต่งงานของคู่แรกที่ฉันเล่าข้างต้นดำเนินไปได้ด้วยดี อยู่กันมั่นยืนและสืบทายาทสมความประสงค์ดีของผู้อาวุโส แต่คู่หลังโชคร้ายที่เมื่อแต่งงานได้ไม่นานนักเพื่อของฉันก็ถูกสามีทอดทิ้งพร้อมกับลูกน้อยอีกสองคน กลายเป็นภาระให้เธอรับผิดชอบไปตลอดชีวิตเพิ่มขึ้นจากที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า

แม้ธรรมชาติจะสร้างสรีระของมนุษย์ให้สามารถสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์แต่คนที่เลือกวิถีชีวิตแบบไม่มีคู่ครองหรือไม่อยากสืบทายาทก็ไม่ควรถูกมองว่า “ผิดปกติ”  ในทำนองเดียวกันกับที่เพศทางเลือกไม่ควรจะถูกคนในสังคมมองว่า “ผิดปกติ” แม้ว่าธรรมชาติจะสร้างสรีระของมนุษย์มาแค่สองเพศก็ตาม

“ครอบครัว” ของคนไร้บ้าน

มีเหตุผลอันซับซ้อนและหลากหลายที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนเลือกวิถีชีวิตของตนเอง รวมทั้งการเลือกที่จะมีหรือไม่คู่ครอง และสังคมควรมีพื้นที่ให้กับทางเลือกเหล่านั้นแทนที่จะผลิตซ้ำมายาคติผ่านคำพูด คำเรียก สื่อ และถ้อยความรณรงค์ต่าง ๆ ในทำนองที่ว่าชีวิตที่สมบูรณ์คือชีวิตที่มีครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก (และปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา) ซึ่งเต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น  เพราะแม้จะมีองค์ประกอบครบครันดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชีวิต “สมบูรณ์” เสมอไป

คนไร้บ้านที่ฉันคุ้นเคยทั้งวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน และผู้สูงอายุ เลือกเดินหันหลังให้กับครอบครัวของตนเอง พวกเขาแตกต่างจากแรงงานที่อพยพจากชนบทสู่เมืองด้วยความขัดสนทางเศรษฐกิจ เพราะอย่างน้อยคนกลุ่มหลังยังพอมี “บ้าน” หรือถิ่นฐานบ้านเกิด หรือครอบครัว-ญาติพี่น้องให้กลับไปพึ่งพิง ส่วนคนไร้บ้านนั้นนอกจากจะยากจนข้นแค้นแล้วพวกเขายังอยู่ในภาวะที่เรียกว่าบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาเดิมให้กลับไปหรือไม่ก็ตาม หลายคนเลือกจะไม่กลับไปด้วยเหตุผลมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาไม่สบายใจที่ต้องอยู่กับ “ครอบครัว”  จึงเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตลำพัง และหลายคนอาจมาสร้างครอบครัวใหม่ในภายหลัง

“ลุงหนวด” ปฏิเสธที่จะเดินเรื่องทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อทราบเงื่อนไขว่าต้องมีญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกันมารับรองสถานะบุคคลของเขา 

“ลุงหวัง” บอกว่ามีที่ดินอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมแต่ไม่ยอมกลับบ้าน ทั้ง ๆ ที่ลูกหลานมาร้องขอหลายครั้งจนกระทั่งแกสิ้นลมหายใจลงไปในศูนย์พักคนไร้บ้าน 

“ลุงชัย” เองก็มีบ้านและมีหลานคอยเอาเงินมาส่งให้ทุกเดือนแต่แกอยากใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในศูนย์พักฯ ในที่สุดเมื่อหมดความสามารถในการจัดการร่างกายตนเองทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พักฯจึงติดต่อครอบครัวให้มารับกลับไปดูแล 

ไม่มีพื้นที่ให้คนไร้คู่

การมีครอบครัวคอยดูแลยามแก่ชราเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ นั่นอาจจะจริงในมุมมองของรัฐซึ่งไม่อยากสิ้นเปลืองประมาณในการจัดบ้านพักคนชราและจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยสร้างผลผลิตมวลรวมประชาชาติได้อีกต่อไป  การรณรงค์ส่งเสริมการสร้างครอบครัวเป็นสุข จริยธรรมในการครองเรือน ผัวเดียวเมียเดียว รวมทั้งความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ฯลฯ ที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นอย่างดี

แต่แทนที่จะมองว่าผู้สูงอายุไม่ว่าจะมีหรือไม่มีครอบครัวเป็น “ภาระ” ของสังคม รัฐน่าจะสร้างความเข้าใจเสียใหม่ว่าประชากรสูงวัยนั้นสามารถดูแลจัดการตนเองได้เป็นอย่างดีหากรัฐจัดสวัสดิการและบริการต่าง ๆ เอื้อให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นต้นว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย ใจเย็น คนขับไม่รีบร้อนกระชากรถออกทั้ง ๆ ที่คนชรายังไม่ทันก้าวขา มีสถานพยาบาลใกล้ชุมชน มี call center ที่เป็นที่พึ่งในยามฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ฯลฯ

คนไม่มีครอบครัวหลายคนพึงพอใจกับวิถีที่ชีวิตที่ตนเองเป็นผู้เลือก และไม่ได้คิดว่าตนเองผิดปกติหรือมีปัญหา อย่างฉันและเพื่อน ๆ ก็วางแผนกันไว้แล้วว่าพวกเราจะจัดการชีวิตในวัยสูงอายุกันอย่างไรโดยที่ไม่เป็นภาระของลูกหลานซึ่งพวกเราไม่มี แม้ว่าพวกเราจะพอใจกับเส้นทางชีวิตของตนเองในแบบนี้ แต่ก็อดหวั่นไหวไม่ได้เมื่อถูกกระทำ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผ่านคำพูด สายตา คำเรียก หรืออื่น ๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะทางสื่อสาธารณะซึ่งตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าการไม่มีคู่/ครอบครัวเป็น "ปัญหา" ไม่ว่าจะด้วยการวิเคราะห์เชิงวิชาการ การกล่าวถึงคนไม่มีคู่อย่างตลกขบขัน เสียดสีถากถาง รวมทั้งการเห็นใจหรือสมเพชเวทนา ฯลฯ ซึ่งต่างเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเสมอมา ไม่แตกต่างจากที่คนพิการ เพศที่สาม กลุ่มชาติพันธุ์ คนชรา และคนชายขอบในลักษณะอื่น ๆ ถูกกระทำอยู่เนือง ๆ 

คนด้อยโอกาสเหล่านี้ ที่ “ด้อย” ไม่ใช่เพราะความผิดปกติ บกพร่อง ในเรื่องสรีระ แม้ว่าบางคนจะมีลักษณะร่างกายแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ตาม แต่พวกเขา “ด้อย” เพราะถูกคนอื่นกดทับ ไม่มีพื้นที่ทั้งทางกายภาพและทางสังคมให้พวกเขาได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเทียบเทียมกับคนอื่น หากรัฐยังไม่สามารถดูแลพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกเขา  และตามบทบาทหน้าที่ของรัฐที่พึงกระทำ อย่างน้อยก็ไม่ควรกดพวกเขาให้ต่ำลง ด้วยการสร้างค่านิยมอันเป็นมายาคติว่าคนเหล่านี้เป็น “ปัญหา” หรือเป็น “ภาระ” ของสังคม

ชีวิตเป็นของเรา ร่างกายของเป็นของเรา อวัยวะเป็นของเรา เงินทองที่ใช้จัดการชีวิตก็เป็นของเรา  ดังนั้นสิทธิในการเลือกที่จะมีหรือไม่มีคู่/ครอบครัว ก็ควรจะเป็นของเราด้วย

ขอพื้นที่ให้คนที่ไม่มีคู่ได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีบ้างเถิด

 


[1] http://www.thaihealth.or.th/node/14100

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า